ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

คำบริกรรมแต่ละแบบมีผลต่อจิตอย่างไร



ถาม - ผมเคยได้ยินว่าคำบริกรรมแต่ละแบบจะส่งผลต่อจิตและพลังงานของจิตแตกต่างกัน
อยากขอให้คุณดังตฤณช่วยยกตัวอย่างคำบริกรรม และผลต่อจิตที่เกิดขึ้นครับ


เอาแบบที่จับต้องได้เข้าใจง่ายๆ อย่างคำว่า "พุทโธ" มีอยู่แค่สองพยางค์นะครับ
คือคำว่า “พุทโธ”จะแตกต่างแน่นอนจากความคิดแบบสุ่ม
คือปกติคนเรานะ คิดเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เหมือนจิตนี่ล่องลอย
ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะคิดอะไรที่นาทีนี้
อย่างนาทีนี้เราบอกว่าเราปล่อยใจให้อยู่ในอารมณ์พักผ่อน รีแลกซ์ (
relax)
คำว่ารีแลกซ์ของคนทั่วไปก็คือปล่อยใจให้ตระเวนไปได้ไม่จำกัด
นี่คือคำว่ารีแลกซ์ของคนทั่วไป


ทีนี้ตอนที่มันกำลังตระเวนไปแบบมั่วๆ
บางทีอาจจะไปคิดเรื่องดี อันนี้ก็เสมอตัวไปหรือว่าได้ดีไป
แต่หลายครั้งมันไปคิดเรื่องไม่ดี มันไปคิดเรื่องที่ทำให้จิตเป็นอกุศล
มีความแค้น มีความอาฆาต มีความพยาบาท
มีความอยากโน่นอยากนี่ต่างๆ นานา ยังไม่พร้อมจะมีแต่อยากที่จะมีเดี๋ยวนี้เลย
หรือสิ่งที่มันเสียไปแล้วเอากลับคืนมาไม่ได้แล้ว ก็ไปเสียดายมันซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำซาก
อันนี้ตอนปล่อยใจ ปล่อยจิตปล่อยใจ ปล่อยอารมณ์
ลักษณะของจิตมันเป็นแบบนี้ มันเอาเรื่องดีบ้างไม่ดีบ้างมา
แล้วส่วนใหญ่จะเป็นอกุศล ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไม่ดีเข้ามาสู่จิตใจ
แล้วก็เกิดภาพทางใจ ภาพแบบมั่วๆ
เราไม่สามารถกะเกณฑ์ได้เลย
ว่าจะให้ภาพนั้นเป็นภาพที่เราชอบใจหรือเป็นภาพที่เราเกลียดขัง
เป็นสิ่งที่เราอยากให้อยู่ในใจหรือว่าเป็นสิ่งที่เราอยากเอาออกจากใจ
อันนี้เราไปกะเกณฑ์ไม่ได้เลย เพราะว่าการที่เราให้อิสระกับจิตที่จะตระเวนไป
มันก็คือการให้อิสระที่จิตมันจะฟุ้งซ่านเรื่องไหนก็ได้นะครับ


แต่ถ้าเรากะเกณฑ์ว่าต่อไปนี้นาทีนี้เราจะมีแต่คำว่า "พุทโธ" อยู่ในหัว
อันนี้ตัวนี้ต่างไปแล้วคือคำว่าพุทโธ เป็นคำที่เรารู้นะว่าแทนความเป็นพุทธ
แทนพระพุทธเจ้า หรือภาวะของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
อันนี้อย่างน้อยที่สุดลึกๆ ในใจจะมีความสำเนียกแล้ว
ว่าอารมณ์ของจิต อารมณ์ของใจในขณะนี้เป็นกุศล
มันค่อนไปในทางสว่าง มันมีความตั้งใจที่ดีที่เป็นกุศล
แล้วคำพูดที่กระซิบอยู่ในหัวอยู่ตลอดเวลา มันเปลี่ยนจากเดิมที่สุ่มเลือกคำอะไรก็ได้
กลายเป็นเหลือแค่สองคำสองพยางค์ "พุท" กับ "โธ"
พุทโธๆ พุทโธไป อันนี้จิตมันโน้มเอียงที่จะสว่างแล้ว


แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ เราพุทโธได้แค่สองสามอึดใจ
คนส่วนใหญ่นะ สองสามอึดใจแล้วลืม
เปลี่ยนจากความคิดแบบสุ่มให้กลายเป็นความคิดที่มีระเบียบ เป็นเส้นตรงชัดเจน
เป็นคำว่า "พุทโธ" แค่สองคำ ได้ไม่กี่อึดใจ ก็เกิดความเบื่อหน่าย
เพราะคนส่วนใหญ่มีคำว่า "พุทโธ" อยู่ในย่านเดียวกันกับความฟุ้งซ่าน
คือความฟุ้งซ่านเป็นกลุ่มเมฆหมอกในหัว
แล้วคำว่าพุทโธของคนส่วนใหญ่ก็มาแบบเมฆหมอก คือพุทโธๆ พุทโธแบบอ้ำๆ อึ้งๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนไม่เคยสวดมนต์แบบเปล่งเสียง
ถวายแก้วเสียงแบบเต็มอกเต็มใจ
ก็จะมีเสียงพุทโธในงึมงำ คือเคยสวดแบบงึมงำอย่างไรนะ
คำว่าพุทโธในหัวก็จะงึมงำแบบนั้นเช่นกัน


ผมถึงให้คำแนะนำว่าจะเอาคำว่าพุทโธ หรือจะเอาคำบริกรรมแบบไหนก็ตาม
ขอให้ลองเขียนใส่กระดาษดูก่อน แล้วก็เอามาอ่าน
อ่านด้วยสายตา อ่านซ้ำไปซ้ำมา
สมมติว่าเขียนไปบรรทัดหนึ่งนะ พุทโธๆ พุทโธ เขียนไปบรรทัดหนึ่ง
แล้วอ่าน อ่านดูเหมือนกับอ่านหนังสือธรรมดา
พอจับจุดได้ว่ามีเสียงกระซิบพุทโธๆ พุทโธ อยู่ในหัวประมาณนี้
ก็ให้จำเสียงนั้นไว้ มันจะพอดี เป็นเสียงกระซิบ
ไม่ใช่ตระโกน ไม่ใช่ตะเบ็ง แล้วก็ไม่ใช่งึมงำ
มันจะอยู่ตรงกลางๆ พอดีคำว่าพุทโธๆ พุทโธ และขอให้มีจังหวะสม่ำเสมอ
ตัวนี้มันจะช่วยได้ ปรับจิตปรับใจของเราจากเมฆหมอกของความคิดแบบสุ่ม
ให้กลายเป็นคำสองพยางค์ที่มีความชัดเจน เป็นเส้นตรงเป็นระเบียบ มีเป้าหมาย
แล้วก็มีความเป็นเครื่องตรึงจิต ให้มันอยู่กับที่ ไม่ใช่ว่าล่องลอยไปแบบสุ่ม


หรืออย่างถ้าบางคนชอบสัมมาอะระหัง
หรือบางคนชอบนะโมพุทธายะ
หรือจะมีคำบริกรรมอื่นใดที่ครูบาอาจารย์ของเรา ที่เราเคารพศรัทธา
ได้ให้เป็นคาถามา หรือว่าให้เป็นคำแนะนำมา
ไม่จำกัด แต่ขอให้มีความเข้าใจว่าลักษณะของจิต
เรียกว่าทำจิตให้เป็นเหมือนกับพานทองรองรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเรา
มันอยู่ตรงนั้นด้วยความเข้าใจ
ด้วยความมองเห็นปฏิกิริยาทางใจของตัวเองเพียงใดด้วย
เพราะอย่างถ้าเราบริกรรมคำที่เราพอใจ
แล้วเกิดเป็นสมาธิขึ้นมา จิตไม่ตระเวนไปเป็นความฟุ้งซ่าน
นี่ก็ถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จ
ในการบริกรรมเฉพาะตนของเรา เฉพาะตัวของเราแล้ว
คือไม่จำเป็นต้องไปเทียบเขาเทียบเรา ไม่จำเป็นต้องไปเทียบสำนัก
แต่ขอให้มีความพอใจเฉพาะตนว่าเราสามารถที่จะสยบความฟุ้งซ่านลงได้
เปลี่ยนความคิดแบบสุ่มให้กลายเป็นความคิดที่เป็นระเบียบ
มีเป้าหมายได้แค่นั้นพอแล้วนะครับ


ที่มันจะส่งผลเป็นพลังงานหรือจะเป็นความศักดิ์สิทธิ์ สว่าง อะไรทั้งหลาย
มันก็แปรไปตามศรัทธาของแต่ละคนด้วย
แต่ว่าถ้าเรามีความเข้าใจแบบพุทธที่ตรงกันนะครับ
ว่าเราจะเอาความฟุ้งซ่านลง เอาชนะความฟุ้งซ่าน
ปรับคำในหัวที่มันเหลวไหลไปเรื่อยเปื่อย
ให้กลายเป็นคำแค่สองสามคำ สองสามพยางค์ได้
ด้วยความเข้าใจอย่างนี้มันจะเริ่มเข้ามาเป็นสมาธิแบบพุทธ
แต่ถ้าเราไปหวังแบบว่าให้จิตเกิดปาฏิหาริย์ หรือว่าเกิดฤทธิ์ เกิดอะไรทางใจขึ้นมา
ตามแบบวิธีตามแนวทางที่เราเคารพเลื่อมใสศรัทธาเฉพาะตัว
แบบนั้นไม่ใช่การบริกรรมแบบพุทธ ไม่ใช่การบริกรรมเพื่อให้เกิดจิตหรือว่าสติแบบพุทธ
เป็นการบริกรรมเพื่อให้เกิดฤทธิ์เกิดเดชตามความเชื่อนะครับ
ไม่ได้บอกว่าจริงหรือไม่จริงนะ เรื่องทางจิต
เราจะบริกรรมแบบไหนก็ตามมันจะเกิดผลเสมอ
ถ้าหากว่าจิตของเรารวมลงเป็นสมาธิได้


แต่ถ้าจะเอาสมาธิแบบที่มันรวมลงแบบพุทธ เป็นพุทธิปัญญา
เราต้องทำความเข้าใจตรงนี้ ว่าเราเอาชนะความฟุ้งซ่าน
เพื่อที่จะให้จิตมันรวมลงเป็นสมาธิ มีความพร้อมตื่น พร้อมรู้ พร้อมเบิกบาน
พร้อมที่จะเห็นเข้ามาข้างในว่าลมหายใจก็ไม่เที่ยง
คำบริกรรมก็ไม่เที่ยง อาการของจิตก็ไม่เที่ยง
เพื่อที่จะได้ผลสุดท้ายเป็นอะไร
คือทิ้งอุปาทานว่านี่เป็นตัวเป็นตนนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP