จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

เป็นผู้เลิศกว่า ก็ด้วยธรรม


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



382 destination


ในช่วงกลางเดือนมีนาคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา
มีข่าวเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับผู้อำนวยการโรงเรียนท่านหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด
ไม่พอใจเมื่อเห็นครูผู้น้อยนั่งเก้าอี้ผู้บริหารของผู้อำนวยการในห้องประชุม
โดยตำหนิว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
กล่าวว่าสมัยผู้อำนวยการเป็นครู ก็ไม่เคยนั่งเก้าอี้ผู้บริหาร
และเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้อำนวยการเสียใจมากจนแขนขาอ่อนแรง


แม้ครูผู้น้อยจะขอโทษแล้ว แต่เรื่องราวก็ไม่ยุติ
โดยผู้อำนวยการได้สั่งครูคนอื่นให้ไปซื้อเก้าอี้ตัวใหม่มาให้ โดยใช้งบของโรงเรียน
แต่ครูผู้น้อยก็ได้ไปซื้อเก้าอี้ตัวใหม่มาให้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ
และไม่ต้องการให้ใช้งบของโรงเรียนซื้อ เนื่องจากงบมีไม่มาก
เรื่องราวนี้เป็นข่าวจนกระทั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่สืบสวนหาข้อเท็จจริง
เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
พร้อมทั้งมีคำสั่งย้ายผู้อำนวยการคนดังกล่าวชั่วคราว
เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการสืบสวน


ต่อมาผลการสืบสวนข้อเท็จจริง พบว่าพฤติการณ์ดังกล่าวของผู้อำนวยการนั้น
เป็นการไม่ประพฤติตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ชุมชน สังคม
ไม่รักษาความสามัคคี หรือให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างข้าราชการ
หรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการด้วยกัน ถือเป็นกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง
จึงให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
ซึ่งจากเรื่องเล็กที่ไม่ควรจะมีปัญหากัน และสามารถให้อภัยกันได้
ก็กลายเป็นเรื่องกระทำผิดวินัย และกลายเป็นข่าวให้เสื่อมเสียชื่อเสียงได้
https://www.nationtv.tv/news/social/378941987


ในเรื่องของตำแหน่งหรือยศถาบรรดาศักดิ์นี้
ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาแบ่งแยกได้ว่าบุคคลใดจะดีกว่าหรือเลวกว่าบุคคลใด
ในประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาล ก็มีการยึดถือวรรณะ
โดยแบ่งระดับชั้นของบุคคลออกเป็น ๔ วรรณะ
ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร
รวมทั้งยังมีกลุ่มที่ไม่มีวรรณะที่เรียกว่า จัณฑาล อีกด้วย
ในเรื่องของวรรณะนี้ ตามคำสอนในพุทธศาสนาแล้ว
บุคคลจะเลิศกว่ากันไม่ใช่เพราะวรรณะ แต่เป็นเพราะธรรม
เพราะเหตุว่าธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชน


ใน “อัคคัญญสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
วรรณะเหล่านี้ มีอยู่สี่คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
ซึ่งในทั้ง ๔ วรรณะเหล่านี้ หากเป็นผู้มีปกติประพฤติผิดศีลแล้ว
ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล มีโทษ ไม่ควรเสพ ไม่ควรเป็นอริยธรรม
เป็นธรรมดำ มีวิบากดำ วิญญูชนติเตียน
อกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อมมีปรากฏอยู่ในบุคคลผู้ประพฤติผิดศีลนั้น


ในทั้ง ๔ วรรณะเหล่านี้ หากเป็นผู้มีปกติรักษาศีลแล้ว
ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล ไม่มีโทษ ควรเสพ ควรนับว่าเป็นอริยธรรม
เป็นธรรมขาว มีวิบากขาว วิญญูชนสรรเสริญ
กุศลธรรมธรรมเหล่านั้น ย่อมมีปรากฏอยู่ในบุคคลผู้รักษาศีลนั้น

 

บรรดาวรรณะทั้งสี่เหล่านั้น ผู้ใดเป็นภิกษุสิ้นกิเลสและอาสวะแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ได้วางภาระเสียแล้ว
ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว สิ้นเครื่องเกาะเกี่ยวในภพแล้ว หลุดพ้นไปแล้วเพราะรู้โดยชอบ
ผู้นั้นเป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายโดยชอบธรรมแท้ มิได้ปรากฏโดยไม่ชอบธรรมเลย
ด้วยเหตุว่าธรรมเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชน

 

ดังนี้ การที่บุคคลใดจะอวดอ้างว่า วรรณะตนเองประเสริฐที่สุด วรรณะผู้อื่นล้วนเลวทราม
วรรณะตนเองเป็นวรรณะขาว วรรณะผู้อื่นเป็นวรรณะดำ
วรรณะตนเองพวกเดียวบริสุทธิ์ วรรณะผู้อื่นหาบริสุทธิ์ไม่
ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมไม่รับรองถ้อยคำเช่นนั้น
เพราะแท้จริงแล้ว ขึ้นอยู่กับอกุศลธรรมหรือกุศลธรรมของบุคคลนั้น
ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับวรรณะของบุคคลนั้น
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=11&A=1703&Z=2129&pagebreak=0

 

ใน “มธุรสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)
พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรได้ตรัสสอบถามท่านพระมหากัจจานะว่า
ข้าแต่ท่านกัจจานะผู้เจริญ พราหมณ์ทั้งหลายล้วนกล่าวว่า
วรรณที่ประเสริฐคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณอื่นเลว
วรรณที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณอื่นดำ
พวกพราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์
พราหมณ์ทั้งหลายเป็นบุตรของพรหม เป็นโอรสเกิดแต่ปากพรหม
เกิดแต่พรหม อันพรหมสร้าง เป็นทายาทของพรหมดังนี้
ในเรื่องนี้ท่านพระกัจจานะจะว่าอย่างไร
?


ท่านพระมหากัจจานะได้ทูลอธิบายโดยสอบถามว่า
ถ้าหากความปรารถนาจะพึงสำเร็จแก่บุคคลในวรรณะทั้งสี่
ด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก เงินหรือทองแล้ว
บุคคลในวรรณะทั้งสี่จะยินดีลุกขึ้นก่อน นอนหลัง คอยฟังรับใช้ ประพฤติให้ถูกใจ
และพูดไพเราะต่อบุคคลผู้ยังความปรารถนานั้นให้สำเร็จ เสมอกันหรือไม่
พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรได้ตรัสตอบว่า
บุคคลในวรรณะทั้งสี่ย่อมเป็นผู้เสมอกัน ไม่มีอะไรต่างกัน ในเรื่องดังกล่าว


ท่านพระมหากัจจานะได้ทูลถามต่อไปว่า
ถ้าหากบุคคลในวรรณะทั้งสี่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มักโลภ มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ
เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เสมอกันหรือไม่
พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรได้ตรัสตอบว่า
บุคคลในวรรณะทั้งสี่ย่อมเป็นผู้เสมอกัน ไม่มีอะไรต่างกัน ในเรื่องดังกล่าว


ท่านพระมหากัจจานะได้ทูลถามต่อไปว่า
ถ้าหากบุคคลในวรรณะทั้งสี่ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์
เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ
เว้นขาดจากคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำหยาบ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ
ไม่มักโลภ มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ
เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์ เสมอกันหรือไม่
พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรได้ตรัสตอบว่า
บุคคลในวรรณะทั้งสี่ย่อมเป็นผู้เสมอกัน ไม่มีอะไรต่างกัน ในเรื่องดังกล่าว


ท่านพระมหากัจจานะได้ทูลถามต่อไปว่า
ถ้าหากบุคคลในวรรณะทั้งสี่ ตัดช่องหรือย่องเบา ทำการปล้น
หรือดักคอยทำร้ายคนที่ทางเปลี่ยว หรือพึงคบหาภริยาของผู้อื่น
เมื่อราชบุรุษทั้งหลายจับเขาได้แล้ว
พระองค์จะลงพระราชอาญาสถานแก่บุคคลในวรรณะทั้งสี่นี้
โดยพึงให้ฆ่าเสีย หรือพึงให้ผ่าอกเสีย พึงเนรเทศเสีย
หรือพึงทำตามสมควรแก่เหตุ โดยเสมอกันหรือไม่
พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรได้ตรัสตอบว่า
ตนเองย่อมลงพระราชอาญาแก่บุคคลในวรรณะทั้งสี่นี้
โดยเสมอกัน ไม่มีอะไรต่างกัน ในเรื่องดังกล่าว


ท่านพระมหากัจจานะได้ทูลถามต่อไปว่า
ถ้าหากบุคคลในวรรณะทั้งสี่ ได้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ
เสด็จจากพระราชนิเวศน์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ ฉันภัตตาหารหนเดียว
ประพฤติพรหมจรรย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม
พระองค์จะพึงกราบไหว้บ้าง พึงลุกรับบ้าง พึงเชื้อเชิญด้วยอาสนะบ้าง
พึงบำรุงราชบรรพชิตนั้นด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารบ้าง
พึงจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองอันเป็นธรรมแก่บรรพชิตนั้น โดยเสมอกันหรือไม่
พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรได้ตรัสตอบว่า
ตนเองย่อมพึงปฏิบัติต่อบุคคลในวรรณะทั้งสี่ที่เป็นบรรพชิตนั้น
โดยเสมอกัน ไม่มีอะไรต่างกัน ในเรื่องดังกล่าว


ท่านพระกัจจานะจึงสรุปว่า ดูกรมหาบพิตร คำที่กล่าวนี้ว่า
วรรณที่ประเสริฐคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณอื่นเลว
วรรณที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณอื่นดำ
พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้มิใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์
พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตรพรหม เป็นโอรสเกิดแต่ปากพรหม
เกิดแต่พรหม อันพรหมนิรมิต เป็นทายาทของพรหม
นั่นเป็นแต่คำโฆษณาในโลกเท่านั้น และบัณฑิตพึงทราบโดยปริยายนี้


เมื่อท่านพระมหากัจจานะกล่าวอย่างนี้แล้ว พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรได้ตรัสว่า
ข้าแต่พระกัจจานะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่พระกัจจานะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด
พระกัจจานะผู้เจริญ ประกาศธรรมโดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าแต่พระกัจจานะผู้เจริญ ข้าพเจ้าจึงขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า
พร้อมทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ
ขอพระกัจจานะผู้เจริญ จงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=7474&Z=7662&pagebreak=0



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP