ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

อัฏฐานบาลี ว่าด้วยฐานะและอฐานะ


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๑๕๓] ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
จะพึงยึดถือสังขารไร ๆ โดยความเป็นสภาพเที่ยงนั้น
มิใช่ฐานะ (เป็นไปไม่ได้) มิใช่โอกาสที่จะมีได้
ภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่ปุถุชนจะพึงยึดถือสังขารไร ๆ
โดยความเป็นสภาพเที่ยงนั้น เป็นฐานะ (เป็นไปได้) ที่จะมีได้.


[๑๕๔] ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
จะพึงยึดถือสังขารไร ๆ โดยความเป็นสุขนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้
ภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่ปุถุชนจะพึงยึดถือสังขารไร ๆ
โดยความเป็นสุขนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้.


[๑๕๕] ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
จะพึงยึดถือธรรมไร ๆ โดยความเป็นตนนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้
ภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่ปุถุชนจะพึงยึดถือธรรมไร ๆ
โดยความเป็นตนนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้.


[๑๕๖] ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
จะพึงฆ่ามารดานั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้
ภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่ปุถุชนจะพึงฆ่ามารดานั้น เป็นฐานะที่จะมีได้.


[๑๕๗] ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
จะพึงฆ่าบิดานั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้
ภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่ปุถุชนจะพึงฆ่าบิดานั้น เป็นฐานะที่จะมีได้.


[๑๕๘] ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
จะพึงฆ่าพระอรหันต์นั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้
ภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่ปุถุชนจะพึงฆ่าพระอรหันต์นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้.


[๑๕๙] ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
จะพึงเป็นผู้มีจิตประทุษร้ายยังพระโลหิตของพระตถาคตให้ห้อนั้น
มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้
ภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่ปุถุชนพึงเป็นผู้มีจิตประทุษร้าย
ยังพระโลหิตของพระตถาคตให้ห้อนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้.


[๑๖๐] ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
จะพึงทำลายสงฆ์ให้แตกกันนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้
ภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่ปุถุชนจะพึงทำลายสงฆ์ให้แตกกัน
เป็นฐานะที่จะมีได้.


[๑๖๑] ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
จะพึงถือศาสดาอื่นนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้
ภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่ปุถุชนจะพึงถือศาสดาอื่น เป็นฐานะที่จะมีได้.


[๑๖๒] ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพระองค์
จะพึงเสด็จอุบัติขึ้นพร้อมกันในโลกธาตุเดียวกันนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้
ภิกษุทั้งหลาย แต่ข้อที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว
จะพึงเสด็จอุบัติขึ้นในโลกธาตุอันหนึ่งนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้.


วรรคที่ ๑ จบ



บางส่วนจากอรรถกถาของอัฏฐานบาลี วรรคที่ ๑


ในเหตุเหล่านั้น พึงทราบวินิจฉัยโดยกรรมก่อน.
แท้จริง ผู้ที่เป็นมนุษย์เท่านั้น ปลงชีวิตมารดาหรือบิดาผู้เป็นมนุษย์
ซึ่งยังไม่เปลี่ยนเพศจากมนุษย์ จึงเป็นอนันตริยกรรม.
ผู้ทำอนันตริยกรรมคิดว่า เราจักห้ามวิบากของกรรมนั้น
ดังนี้ จึงสร้างสถูปทองคำขนาดเท่าพระมหาเจดีย์ให้เต็มห้วงจักรวาลทั้งสิ้นก็ดี
ถวายมหาทานแด่พระภิกษุสงฆ์ที่นั่งเต็มสากลจักรวาลก็ดี
ไม่ละชายผ้าสังฆาฏิของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเที่ยวไปก็ดี
เมื่อกายทำลายแตกตายไปก็เข้าถึงนรกเท่านั้น.
ส่วนผู้ใด ตนเองเป็นมนุษย์ ปลงชีวิตมารดาหรือบิดาผู้เป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ดี
ตนเองเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ปลงชีวิตมารดาหรือบิดาผู้เป็นมนุษย์ก็ดี
ตนเองเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ปลงชีวิตมารดาบิดาผู้เป็นสัตว์ดิรัจฉานด้วยกันก็ดี
กรรมของผู้นั้นไม่เป็นอนันตริยกรรม
แต่เป็นกรรมหนักตั้งจดอนันตริยกรรมทีเดียว.
แต่ปัญหานี้ ท่านกล่าวสำหรับผู้ที่เป็นมนุษย์.
ในปัญหานั้นควรกล่าวเรื่องเอฬกจตุกกะ สังคามาจตุกกะ และโจรจตุกกะ
ก็บุคคลแม้เข้าใจว่า เราจะฆ่าแพะ
แล้วฆ่ามารดาหรือบิดาผู้เป็นมนุษย์ ซึ่งตั้งอยู่ในที่อยู่ของแพะ
ชื่อว่าต้องอนันตริยกรรม.
บุคคลผู้ฆ่าแพะ ด้วยเข้าใจว่าเป็นแพะ หรือด้วยเข้าใจว่าเป็นมารดาหรือบิดา
ชื่อว่าไม่ต้องอนันตริยกรรม.
บุคคลผู้ฆ่ามารดาหรือบิดา โดยเข้าใจว่าเป็นมารดาหรือบิดา
ชื่อว่าต้องอนันตริยกรรมโดยแท้.
ใน ๒ จตุกกะนอกนี้ก็นัยนี้เหมือนกัน.


พึงทราบจตุกกะเหล่านี้ แม้ในพระอรหันต์ ก็เหมือนในมารดาหรือบิดา.
บุคคลผู้ฆ่าพระอรหันต์ผู้เป็นมนุษย์เท่านั้น ชื่อว่าต้องอนันตริยกรรม.
ฆ่าพระอรหันต์ผู้เป็นยักษ์ ชื่อว่าไม่ต้องอนันตริยกรรม.
แต่เป็นกรรมหนัก เหมือนอนันตริยกรรมทีเดียว.
เมื่อบุคคลใช้ศัสตราประหาร หรือวางยาพิษพระอรหันต์ผู้เป็นมนุษย์
เวลาที่ท่านยังเป็นปุถุชน
ผิว่าท่านบรรลุพระอรหัตมรณะลงด้วยการประหารด้วยศัสตราหรือยาพิษนั้นนั่นแล
ผู้นั้นย่อมชื่อว่าฆ่าพระอรหันต์โดยแท้.
ทานใดเขาถวายเวลาที่ท่านเป็นปุถุชน ท่านบรรลุพระอรหัตแล้วบริโภค
ทานนั้นก็ยังชื่อว่าให้แก่ปุถุชนอยู่นั่นเอง.
บุคคลผู้ฆ่าพระอริยบุคคลที่เหลือ (โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี )
ไม่เป็นอนันตริยกรรม แต่เป็นกรรมหนักเหมือนอนันตริยกรรมทีเดียว.


พึงทราบวินิจฉัยในอนันตริยกรรมข้อโลหิตุปบาท ดังต่อไปนี้ :-
ชื่อว่าบุคคลผู้เป็นข้าศึกจะตัดพระจัมมะ (หนัง) ในพระวรกาย
ที่ยังไม่แตกของพระตถาคตให้พระโลหิตไหลออกไม่ได้.
เว้นแต่พระโลหิตจะคั่งค้างอยู่ในที่หนึ่งภายในพระวรกายเท่านั้น.
สะเก็ดหินที่กะเทาะจากก้อนหินที่พระเทวทัตทิ้งลงไป
กระทบปลายพระบาทของพระตถาคต
พระบาทเหมือนถูกทุบด้วยขวาน ได้มีโลหิตคั่งอยู่ข้างในเท่านั้น.
กรรมของพระเทวทัตผู้กระทำอย่างนั้น ชื่อว่าเป็นอนันตริยกรรม.
ส่วนหมอชีวกตัดพระจัมมะด้วยศัสตราตามความชอบพระทัยของพระตถาคต
นำโลหิตเสียออกจากที่นั้น ได้กระทำให้ทรงผาสุก.
กรรมของหมอชีวกผู้กระทำอย่างนั้น เป็นบุญกรรมโดยแท้.


ถามว่า เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว
คนเหล่าใดทำลายพระเจดีย์ ตัดต้นโพธิ์ เหยียบย่ำพระธาตุ
กรรมอะไรจะมีแก่บุคคลเหล่านั้น ?


ตอบว่า กรรมนั้นเป็นกรรมหนักเช่นเดียวกับอนันตริยกรรม.
แต่กิ่งโพธิ์ที่เบียดสถูปหรือพระปฏิมาที่มีพระธาตุ (บรรจุ ) จะตัดเสียก็ควร.
แม้ถ้าพวกนกจับที่กิ่งโพธิ์นั้น ถ่ายอุจจาระรดพระเจดีย์ ก็ควรตัดเสีย.
เพราะพระเจดีย์บรรจุพระสรีรธาตุ
สำคัญกว่าบริโภคเจดีย์ที่บรรจุเครื่องบริโภค.
จะตัดรากโพธิ์ที่ไปทำลายเจดีย์วัตถุออกไปเสียก็ควร.
แต่กิ่งโพธิ์ที่เบียดเรือนโพธิ์ จะตัดกิ่งโพธิ์เพื่อจะรักษาเรือนโพธิ์ไม่ได้
เพราะเรือนโพธิ์มีไว้เพื่อประโยชน์แก่ต้นโพธิ์
(แต่) ต้นโพธิ์หามีไว้เพื่อประโยชน์แก่เรือนโพธิ์ไม่.
แม้ในเรือนเก็บอาสนะ (พระแท่น) ก็นัยนี้เหมือนกัน.
จะตัดกิ่งโพธิ์เพื่อรักษาเรือนอาสนะ ที่เขาบรรจุพระธาตุก็ควร.
เพื่อบำรุงต้นโพธิ์ จะตัดกิ่งที่แย่งโอชะ (คืออาหาร)
หรือกิ่งผุเสีย ก็ควรเหมือนกัน.
แม้บุญก็มีเหมือนดังปรนนิบัติพระสรีระพระพุทธเจ้าฉะนั้น.



(อัฏฐานบาลี วรรคที่ ๑ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๓)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP