จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ทุนนิยม และธรรมนิยม


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

105 destination

ในวันวิสาขบูชาที่ผ่านมาคือวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นั้น
ผมได้อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง และได้พบข่าวการฆ่าตัวตาย ๒ ข่าวในหน้าแรก
ทั้ง ๒ ข่าวนั้นเป็นการฆ่าตัวตายเนื่องจากปัญหาเรื่องเงินทอง
โดยข่าวแรกเป็นเรื่องปัญหาหนี้สิน และข่าวที่สองเป็นเรื่องปัญหาค้าขายขาดทุน

ในข่าวแรกเล่าว่ามีพ่อคนหนึ่งเครียดเรื่องหนี้สินของครอบครัว
จึงได้ตัดสินใจใช้ปืนยิงตัวตายพร้อมกับลูก ๒ คน (๘ ขวบและ ๕ ขวบ)
อ่านเข้าไปในเนื้อหาข่าวแรกนั้นแล้ว ก็พบว่ามีข่าวแทรกเล่าถึงอีกครอบครัวหนึ่ง
โดยมีพ่อคนหนึ่งตกงาน และถูกภรรยาทอดทิ้ง
เขาไม่ต้องการที่จะเป็นภาระแก่ญาติและคนอื่น ๆ
จึงตัดสินใจกรอกยาพิษลูก (๒ ขวบ) และตัวเองจนตายไปทั้ง ๒ คน

ในข่าวที่สองเล่าว่าผู้หญิงคนหนึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหาร และประกอบกิจการขาดทุน
เธอจึงตัดสินใจไปกระโดดน้ำฆ่าตัวตายที่สะพานสูงแห่งหนึ่ง ซึ่งเธอก็ได้เสียชีวิตลง
โดยปล่อยให้สามีและลูก (๑๒ ขวบ) ต้องร้องไห้เสียใจ
รวมทั้งหมดใน ๒ ข่าวนี้ก็มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดใน ๓ ครอบครัว
ก่อนอื่น ผมขอแสดงความเสียใจต่อทั้ง ๓ ครอบครัวสำหรับความสูญเสียดังกล่าวครับ

เรื่องข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายเพราะปัญหาเรื่องหนี้สินหรือเงินทอง
หรือข่าวการทำร้ายคนอื่นหรือฆ่าคนอื่นเพราะปัญหาเรื่องหนี้สินหรือเงินทองนั้น
ผมได้อ่านพบในหนังสือพิมพ์อยู่เป็นระยะ ๆ นะครับ
แต่คราวนี้ ผมสนใจจะหยิบยกมาคุยเพราะมี ๒ ข่าวในหน้าแรกในวันเดียว (๓ ครอบครัว)
และยังเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับวันวิสาขบูชาอีกด้วย

เรา ๆ ท่าน ๆ อาจจะรู้สึกว่าในครอบครัวมีปัญหามากมายเหลือเกิน
และมอง ๆ ไปแล้ว ก็รู้สึกว่าในสังคมและในบ้านเมืองเราก็มีปัญหามากมายเช่นกัน
หลายคนอาจมองว่าปัญหาส่วนใหญ่มาจากเรื่องปัญหาเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
จึงมุ่งแต่ว่าทำอย่างไรเศรษฐกิจจึงจะดี ฐานะการเงินจึงจะดี
แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าปัญหาส่วนใหญ่นั้น
มาจากการที่เราไหลตามระบบทุนนิยม และให้ความสำคัญกับทุนมากจนเกินไป
ชีวิตเราให้ความสำคัญกับ “ทุน” มุ่งสะสม “ทุน” และทำทุกอย่างเพื่อ “ทุน”
แต่อันที่จริงแล้ว ระบบ “ทุนนิยม” นั้นเป็นเพียงระบบเศรษฐกิจในรูปแบบหนึ่งเท่านั้น
ซึ่งโดยชื่อก็บอกในตัวอยู่แล้วว่าเป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับ “ทุน” คือนิยมใน “ทุน”

แต่กลับปรากฏว่าระบบ “ทุนนิยม” นี้ ไม่ได้จำกัดขอบเขตเพียงแค่เศรษฐกิจเท่านั้น
แต่ขยายขอบเขตไปยังสังคม การเมือง ศาสนา ครอบครัว และชีวิตความเป็นอยู่ด้วย
จนกระทั่งมาครอบงำชีวิตและจิตใจเราด้วย

เมื่อทุนนิยมมาครอบงำชีวิตและจิตใจเราแล้ว เราก็มุ่งแต่จะสะสม “ทุน”
เราหลงลืมและห่างไกลจากคำว่า “ธรรม” (รวมถึงคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม ฯลฯ)
เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “ธรรม” แต่เราให้ความสำคัญกับ “ทุน”
ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาทางสังคม ปัญหาครอบครัว และปัญหาชีวิตในหลาย ๆ ด้าน
ยกตัวอย่างเช่น บางครอบครัวมีปัญหาเรื่องของการนอกใจกัน
ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น หากคนในครอบครัวถือศีลอย่างเข้มแข็ง
บางครอบครัวมีปัญหาเรื่องของการดื่มสุรา เสพยาเสพติด หรือเล่นการพนัน
ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น หากคนในครอบครัวถือศีลอย่างเข้มแข็ง
ในบ้านเมืองเรามีปัญหาเรื่องการคอรัปชั่น การโกหกหลอกลวง การโกงกิน
ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น หากคนในประเทศถือศีลอย่างเข้มแข็ง
บางครอบครัวมีปัญหาลูกขาดความอบอุ่น หรือลูกเป็นเด็กเกเร
เพราะพ่อแม่ไม่ได้แบ่งเวลาสั่งสอนลูกให้ดี โดยมัวแต่มุ่งใช้เวลาไปทำงานหาเงิน
ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น หากพ่อแม่ไม่ได้มุ่งให้ความสำคัญแก่ทุนจนเกินสมควร
แต่พ่อแม่มุ่งให้ความสำคัญแก่การดูแลสั่งสอนสิ่งดี ๆ ให้แก่ลูกของตนเอง

หากเรามองกันในระดับการดำรงชีวิตส่วนบุคคลแล้ว
หากเราถือ “ทุน” เป็นสิ่งสำคัญที่สุด กรณีก็ไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนฆ่าตัวตาย
เนื่องจากปัญหาเรื่องหนี้สิน เรื่องค้าขายขาดทุน หรือเรื่องเงินทอง
เพราะเราเห็นว่าเรื่องทุนมีความสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา
แต่หากเราไม่ได้ยึดถือทุนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเรายึดถือธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดแล้ว
ชีวิตเราจะมีภูมิคุ้มกันอย่างดี
เราจะไม่มีทางไปฆ่าตัวตาย ฆ่าคนอื่น หรือเบียดเบียนคนอื่น เพราะปัญหาเรื่องทุนนั้น

หากเรามองกันในระดับสังคม และประเทศแล้ว
หากเราถือ “ทุน” เป็นสิ่งสำคัญที่สุด กรณีก็ไม่น่าแปลกใจที่จะมีการคอรัปชั่นและโกงกินมากมาย
เพราะเราเห็นว่าเรื่องทุนมีความสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา
แต่หากเราไม่ได้ยึดถือทุนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเรายึดถือธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดแล้ว
ปัญหาเรื่องการคอรัปชั่น และการโกงกินก็จะไม่มี
ฉะนั้น โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าปัญหาส่วนใหญ่ในเรื่องส่วนตัว ในสังคม และในบ้านเมืองนั้น
มาจากการที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ “ธรรม” แต่ว่าพวกเราไปหลง “ทุน”

ถ้าจะพิจารณาตามพระธรรมคำสอนแล้ว
“ทุน” หรือทรัพย์ในทางโลกนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าน้อยนะครับ
ในมหาสุตโสมชาดก (พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒) ได้สอนว่า
“นรชนพึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะอันประเสริฐ
เมื่อจะรักษาชีวิตไว้ พึงสละอวัยวะ
เมื่อระลึกถึงธรรม พึงสละทั้งอวัยวะ ทั้งทรัพย์ และแม้ชีวิตทั้งหมด”
 http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=28&A=2258&Z=2606
หรือที่เรามักจะนำมากล่าวกันโดยย่อว่า
“พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และพึงสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม”
แต่ในชีวิตจริงของหลาย ๆ ท่านนั้น กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่ประพฤติตรงกันข้าม
บางท่านสละอวัยวะเพื่อทรัพย์ บางท่านสละชีวิตเพื่อทรัพย์ บางท่านสละธรรมเพื่อทรัพย์
โดยเฉพาะสละธรรมเพื่อทรัพย์นี้ทำกันเยอะมาก (ยอมทิ้งศีลธรรมและคุณธรรมเพื่อทรัพย์)

กรณีมีข้อสังเกตว่าในมหาสุตโสมชาดกใช้คำว่า “นรชน” นะครับ
ซึ่งคำว่า “นรชน” แปลว่าบุคคลทั่ว ๆ ไป ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นพระอริยเจ้าบรรลุธรรมอะไร
ดังนั้น การให้ความสำคัญแก่ธรรม ชีวิต อวัยวะ และทรัพย์ตามลำดับดังกล่าวนั้น
เป็นสิ่งที่บุคคลทั่ว ๆ ไปคือเรา ๆ ท่าน ๆ นี้แหละควรจะนำมาประพฤติปฏิบัติครับ

อนึ่ง คำสอนที่ว่าพึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต
และพึงสละทรัพย์ อวัยวะ และชีวิตเพื่อรักษาธรรมนั้น
ไม่ได้แปลว่าให้พวกเราทำบุญสละทรัพย์จนหมดตัวแล้วจะถือว่าเป็นการรักษาธรรมนะครับ
การที่จะเข้าถึงธรรมได้นั้นเราจะต้องสนใจศึกษาและปฏิบัติไตรสิกขา
ได้แก่ศีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา กล่าวคือจะต้องมีการศึกษาและลงมือปฏิบัติ
กรณีไม่ใช่ว่าเราสละทรัพย์สินจนหมดตัวแล้ว จะเข้าถึงธรรมได้โดยอัตโนมัติหรอกนะครับ
คำสอนในพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้สละทรัพย์จนหมดตัวและทำให้ครอบครัวลำบากเช่นนั้น
ในทางกลับกัน พุทธศาสนาสอนให้เราจัดสรรแบ่งส่วนใช้จ่ายทรัพย์อย่างเหมาะสม
(ประเด็นเรื่องการจัดสรรแบ่งส่วนใช้จ่ายทรัพย์นี้ ผมขอยกไว้ไปคุยในโอกาสหน้าครับ)

ขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งในสมัยพุทธกาลเกี่ยวกับการให้ความสำคัญแก่ธรรม
โดยอุบาสิกาท่านหนึ่งชื่อ “กาฬี” ซึ่งท่านนี้ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
ต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งอุบาสิกาท่านนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
ผู้เป็นผู้เลิศแห่งอุบาสิกาทั้งหลายที่เลื่อมใสในการฟัง
อุบาสิกาท่านนี้เป็นมารดาของพระอรหันต์ชื่อ “พระโสณกุฎิกัณณเถระ”
ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งพระโสณกุฎิกัณณเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
ผู้เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้มีวาจาไพเราะ

มีอยู่คราวหนึ่ง อุบาสิกากาฬีได้เดินทางไปที่วัดเพื่อฟังธรรมเทศนาของพระโสณกุฎิกัณณเถระ
โดยนางได้ตั้งให้หญิงรับใช้คนหนึ่งเป็นคนเฝ้าเรือน
และได้นำพาบริวารทั้งหมดในเรือนไปร่วมฟังธรรมด้วย
ในเวลานั้น พวกโจรได้ทราบข่าวว่าอุบาสิกากาฬีได้นำพาบริวารทั้งหมดไปฟังธรรม
เหลือเพียงหญิงรับใช้เพียงคนเดียวเป็นคนเฝ้าเรือน
เหล่าพวกโจรจึงได้ลอบเข้ามาลักขโมยทรัพย์สินในเรือนนั้น

(พึงทราบว่าในอินเดียสมัยพุทธกาลนั้น ในบ้านของมหาเศรษฐีบางแห่ง
จะมีห้องเก็บสมบัติแบ่งเป็น ๓ ห้องได้แก่ ห้องเก็บกหาปณะ (คือเงินตราที่เป็นโลหะ)
ห้องเก็บเงิน (คือแท่งเงินหรือเหรียญเงิน) และห้องเก็บทอง
หากท่านใดเคยไปชมสถานที่ที่เป็นเคยบ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว
ก็จะได้พบเห็นห้องเก็บสมบัติในลักษณะที่แบ่งเป็น ๓ ห้องทำนองนี้เช่นกัน)

เหล่าพวกโจรได้ลอบเข้าไปในเรือน โดยการขุดอุโมงค์
ส่วนหัวหน้าโจรนั้นได้เดินทางที่วัดเพื่อไปดักอุบาสิกากาฬีไว้
โดยได้วางแผนว่า หากอุบาสิกากาฬีทราบว่าพวกโจรได้ลอบเข้าไปในเรือนของตน
และอุบาสิกากาฬีรีบเร่งนำบริวารมุ่งกลับมาที่เรือนแล้ว
หัวหน้าโจรก็จะฆ่าอุบาสิกากาฬีให้ตายเสียด้วยดาบ

ในระหว่างที่พวกโจรได้งัดประตูห้องเก็บกหาปณะ (คือเงินตราที่เป็นโลหะ) นั้น
หญิงรับใช้ที่เฝ้าเรือนได้เห็นดังนั้นแล้ว จึงรีบไปที่วัดและแจ้งอุบาสิกากาฬีว่า
ได้มีโจรเป็นอันมากเข้าไปสู่เรือน และได้งัดประตูห้องเก็บกหาปณะแล้ว
อุบาสิกากาฬีได้กล่าวว่า “พวกโจรจงขนเอากหาปณะที่ตนค้นพบแล้วไปเถิด
เราจะฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา เจ้าอย่าทำอันตรายแก่ธรรมของเราเลย
เจ้าจงไปเรือนเสียเถิด”

ต่อมา พวกโจรได้ขนกหาปณะไปหมดห้องแล้ว จึงเริ่มงัดประตูห้องเก็บเงิน
หญิงรับใช้ที่เฝ้าเรือนก็รีบไปที่วัดและแจ้งอุบาสิกากาฬีว่า
พวกโจรได้นำกหาปณะไปหมดแล้ว และกำลังงัดประตูห้องเก็บเงิน
อุบาสิกากาฬีได้กล่าวว่า “พวกโจรจงขนเอาทรัพย์ที่ตนปรารถนาไปเถิด
เราจะฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา เจ้าอย่าทำอันตรายแก่เราเลย”
แล้วก็บอกให้หญิงรับใช้นั้นกลับไปอีก

ต่อมา พวกโจรได้ขนเงินไปหมดห้องแล้ว จึงเริ่มงัดประตูห้องเก็บทอง
หญิงรับใช้ที่เฝ้าเรือนก็รีบไปที่วัดและแจ้งอุบาสิกากาฬีอีกว่า
พวกโจรได้นำเงินไปหมดแล้ว และกำลังงัดประตูห้องเก็บทอง
อุบาสิกากาฬีจึงได้ตำหนิหญิงรับใช้ดังกล่าวว่า
“เจ้ามาหาเราหลายครั้งแล้ว แม้เราสั่งว่า พวกโจรจงขนเอาไปตามชอบใจเถิด
เราจะฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา เจ้าอย่าทำอันตรายแก่เราเลยก็หาเอื้อเฟื้อถ้อยคำของเราไม่
ยังขืนมาซ้ำ ๆ ซาก ๆ ร่ำไป ทีนี้ ถ้าเจ้าจักมาอีก เราจักรู้สิ่งที่ควรทำแก่เจ้า เจ้าจงกลับบ้านเสียเถิด”
แล้วก็บอกให้หญิงรับใช้นั้นกลับไป

ในเรื่องของอุบาสิกากาฬีที่เล่ามานี้ เราจะเห็นได้ว่าท่านอุบาสิกากาฬีให้ความสำคัญแก่
การฟังธรรมเทศนายิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดภายในบ้านของท่าน
โดยท่านเลือกที่จะฟังธรรมเทศนาต่อไป และยินดีให้เหล่าโจรขนทรัพย์สินทั้งหมดไป

ขอเล่าต่อให้จบนะครับว่า หัวหน้าโจรซึ่งลอบฟังคำสนทนาของอุบาสิกากาฬีกับหญิงรับใช้นั้น
ได้คิดว่า “พวกเราซึ่งพากันลักทรัพย์สิ่งของในเรือนของหญิงที่มั่นคงด้วยอัธยาศัยดังนี้
ย่อมพึงถูกสายฟ้าฟาดกระหม่อมแน่” ดังนี้แล้ว หัวหน้าโจรจึงกลับไปสั่งพวกโจรว่า
“พวกท่านจงขนเอาสิ่งของของอุบาสิกาไปไว้ตามเดิมโดยเร็ว”
พวกโจรเหล่านั้นไม่ทราบเหตุผล แต่ก็ทำตามคำสั่งของหัวหน้าโจร
โดยได้นำกหาปณะ เงิน และทองทั้งหมดไปเก็บไว้ในห้องเก็บทรัพย์สินดังกล่าวตามเดิม

หลังจากนั้น เหล่าพวกโจรนั้นได้ไปฟังธรรมเทศนาของพระโสณกุฎิกัณณเถระ
เมื่อจบธรรมเทศนาแล้ว เหล่าพวกโจรได้ไปหมอบแทบเท้าของอุบาสิกากาฬี
เพื่อขอให้นางยกโทษให้ ซึ่งเมื่ออุบาสิกากาฬีได้ยกโทษให้แก่เหล่าพวกโจรแล้ว
เหล่าพวกโจรมีความเลื่อมใสและได้ขอบรรพชาในสำนักของพระโสณกุฎิกัณณเถระ
ภายหลังบรรพชาแล้ว พวกท่านเหล่านั้นได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคเจ้า
และได้บรรลุพระอรหันต์ทั้งหมด
 http://www.dharma-gateway.com/monk/great_monk/pra-sona-kootikanna.htm

ดังนี้แล้ว “ทุนนิยม” นั้นควรจำกัดขอบเขตให้อยู่เพียงเรื่องระบบเศรษฐกิจเท่านั้น
แต่ในการดำรงชีวิตของเราทุกคนนั้น เราพึงยึดถือ “ธรรม” นะครับ
(หรือท่านไหนจะเรียกว่า “ธรรมนิยม” ก็ได้ ผมเห็นว่าไม่ผิดอะไรครับ)
โดยเราไม่ปล่อยให้ทุนนิยมนั้นมาครอบงำชีวิต และจิตใจของเรา
แต่เรายึดถือธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตและจิตใจของเรา
หากเราปล่อยให้ “ทุนนิยม” มาครอบงำชีวิตและจิตใจของเราแล้ว

ย่อมทำให้เกิดปัญหาชีวิต ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม และปัญหาต่อส่วนรวม
โดยเกิดปัญหามากมายในทุกระดับตามมาอย่างไม่สิ้นสุด
(อย่างเช่นปัญหาที่เกิดขึ้นตามข่าวในหนังสือพิมพ์ที่ผมได้ยกมาในตอนต้น)

ถามว่าเราจะปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากการถูกครอบงำโดย “ทุน” ได้อย่างไร?
เราก็พึงพิจารณากันก่อนว่าเบื้องหลังของ “ทุน” คืออะไร
เบื้องหลังของทุนก็คือกิเลส คือโลภะ และโมหะ
หากเราไม่ถูกโลภะ และโมหะครอบงำจิตใจก่อนแล้ว “ทุน” ก็มาครอบงำใจเราไม่ได้
เช่น หากไม่มีโลภะในใจเสียแล้ว แม้จะมีเพชรนิลจินดามากองเท่าภูเขาอยู่ตรงหน้าเรา
จิตใจเราก็ย่อมจะไม่หวั่นไหว และไม่ถูกทรัพย์สินเหล่านั้นมาครอบงำ

ถามว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ถูกโลภะ และโมหะครอบงำจิตใจ?
ก็คือต้องฝึกหัดเจริญสติรู้ทันจิตใจตนเอง
เมื่อใดที่มีสติ เมื่อนั้นกิเลสก็จะครอบงำใจเราไม่ได้
ฉะนั้น สติจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะนำพาเราให้พ้นจากการถูกกิเลสครอบงำใจดังกล่าว

ถามต่อไปว่าถ้าเราไม่เน้นว่าจะต้องรวยในระบบทุนนิยมแล้ว เราเลือกจะรวยในทางธรรมได้ไหม?
ตอบว่าได้ครับ โดยในระบบทุนนิยมนั้น การรวยหรือจนนั้นพิจารณาได้จากทรัพย์สินเงินทอง
แต่ในทางธรรมนั้น การรวยหรือจนนั้นพิจารณาได้จากทรัพย์ ๗ ประการ
โดยในธนสูตรที่ ๑ (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต) นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถึงทรัพย์ ๗ ประการได้แก่
ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และปัญญา
โดยทรัพย์เหล่านี้มีแก่ผู้ใด บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์
ฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญาเมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า พึงประกอบศรัทธา ศีล
ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม ฯ
 http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=23&A=88&Z=98
(แปลกลับกันก็คือหากไม่มีทรัพย์ ๗ ประการเหล่านี้แล้ว บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นผู้ยากจน
และชีวิตของผู้นั้นเปล่าประโยชน์)

ทั้งนี้ ในธนสูตรที่ ๒ (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
ได้กล่าวในทำนองเดียวกัน แต่ได้อธิบายรายละเอียดของทรัพย์แต่ละประการให้ด้วย
 http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=23&A=99&Z=135&pagebreak=0
บางท่านจึงอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่า การทำทานนั้นเป็นการแปลงสภาพจาก “ทรัพย์สิน”
ให้กลายเป็น “อริยทรัพย์” นะครับ ซึ่ง “ทาน” ที่ทำนั้นก็คือ “จาคะ” ตามพระสูตรครับ

การรวยทรัพย์สินในระบบทุนนิยมหรือในทางโลกนั้นมีแล้วก็เสื่อมไปได้เป็นธรรมดา
โดยในอุคคสูตร (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต) นั้น
ได้เล่าว่ามีมหาอำมาตย์ชื่อว่า “อุคคะ” ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วกราบทูลว่ามิคารเศรษฐีเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากถึงเพียงนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามว่า มิคารเศรษฐีมีโภคสมบัติมากสักเท่าไร
มหาอำมาตย์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีทองแสนลิ่ม จะกล่าวไปไยถึงเงินฯ
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสว่า อุคคะ ทรัพย์นั้นมีอยู่ เรามิได้กล่าวว่าไม่มี
แต่ทรัพย์เหล่านั้น เป็นของทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
แต่ทรัพย์ ๗ ประการนี้ ไม่เป็นของทั่วไปแก่ไฟ น้ำ พระราชา โจร ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
๗ ประการคือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา
ทรัพย์เหล่านี้มีแก่ผู้ใด เป็นผู้มีทรัพย์มากในโลกอันอะไรๆ พึงผจญไม่ได้ในเทวดาและมนุษย์
เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรมฯ
 http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=23&A=136&

นอกจากทรัพย์ ๗ ประการดังกล่าวแล้ว การรวยหรือจนในทางธรรมก็อาจจะพิจารณาสิ่งอื่นได้
โดยในทฬิททสูตร (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) นั้น

ได้มีพระภิกษุกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า คนจน นั้น ด้วยเหตุเพียงเท่าไร จึงเรียกว่า คนจน?
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ที่เรียกว่า คนจน
ก็เพราะโพชฌงค์ ๗ อันตนไม่เจริญแล้ว ไม่กระทำให้มากแล้ว
โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน คือ สติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์
ภิกษุทั้งหลาย ที่เรียกว่า คนจน ก็เพราะโพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล
อันตนไม่เจริญแล้ว ไม่กระทำให้มากแล้ว”
 http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=19&A=3021

และในอทฬิททสูตร (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) นั้น
ได้มีพระภิกษุกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า คนไม่จน นั้น ด้วยเหตุเพียงเท่าไร จึงเรียกว่า คนไม่จน?
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ที่เรียกว่า คนไม่จน
ก็เพราะโพชฌงค์ ๗ อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน คือ สติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์
ภิกษุทั้งหลาย ที่เรียกว่า คนไม่จน ก็เพราะโพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล
อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว”
 http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=19&A=3030

ถึงตรงนี้ เราก็คงจะเห็นได้นะครับ...ว่า
รวยจนในทางทุนนิยม และรวยจนในทางธรรมนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เราอาจเห็นคนบางคนรวยมากในทางทุนนิยม แต่เขาอาจจะจนมากในทางธรรมก็ได้
เราอาจเห็นคนบางคนจนมากในทางทุนนิยม แต่เขาอาจจะรวยมากในทางธรรมก็ได้
ในขณะที่คนที่รวยทั้งในทางทุนนิยมและในทางธรรมนั้นก็มีอยู่
และคนที่จนทั้งในทางทุนนิยมและในทางธรรมก็มีอยู่เช่นกัน
ดังนี้ เราทุกคนก็มีทางเลือกของตนเองนะครับว่า เราจะมุ่งรวยไปในทางไหน
เราจะมุ่งให้ “ทุน” ครอบงำชีวิตและจิตใจของเรา
หรือเราจะมุ่งให้ชีวิตและจิตใจเรายึดถือใน “ธรรม”




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP