สารส่องใจ Enlightenment

อยู่ที่ใจ



พระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู


ผู้เห็นเวทนา, ผู้เห็นสัญญา, ผู้เห็นสังขาร, วิญญาณ, เป็นผู้เห็นนามรูป.
นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ
, ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย.
อายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ.
เห็นรูปมากระทบตา, เกิดวิญญาณขึ้นที่นี่. เสียงมากระทบหู, เกิดวิญญาณที่นี่ขึ้นอีก.
รูปดีก็เกิดความยินดี, ชอบใจ, เป็นเวทนา, อยากได้
.
รูปไม่ดี, เกลียดชัง, เกิดทุกขเวทนา, ไม่อยากได้, ก็เป็นทุกขเวทนาขึ้น
.

ตัณหาเกิดขึ้นมันก็เป็นปัจจัยให้ต่อกัน.
ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน, ยึดมั่นถือมั่น, ว่าขันธ์ของตน, ว่าตัวของกู.
กูไปอยู่ที่โน่น. กูไปอยู่ที่นี่. กูเป็นพระ. กูเป็นเณร. อุปาทาน.
เมื่อมีอุปาทาน, ความยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นเหตุให้อยากเท่านั้นแหละ,
เป็นเหตุให้เกิดภพ คือ กามภพ, รูปภพ, อรูปภพ,
เกิดภพแล้ว เป็นเหตุให้เกิดชาติ. เกิดชาติ ก็เป็นเหตุให้เกิด ชรา มรณะ,
เกิดโสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส อุปายาส, ความคับแค้น อัดอั้นตันใจ, อยู่ในสังสารจักร.
นี่แลดับความโง่อันเดียวเท่านั้นแหละ, ผลไม่มี.
ดับเหตุแล้ว, ผลก็ดับไปตามกัน. ผลคือได้รับความทุกข์, ความสุข ไม่มี.
คือดับอวิชชา ความโง่. นั่นแหละตัวเหตุ, ตัวปัจจัย. มันเองมันเป็นต้นเหตุ เป็นปัจจัย.


จิตเดิม ธรรมชาติเป็นเลื่อมประภัสสร,
เหมือนกันกับเพชรพลอย, หรือเหมือนกันกับแร่ทองคำ.
ธรรมชาติมันก็เลื่อมสดใสอยู่ยังงั้น, แม้นว่ามันยังปนอยู่, ปนอยู่กับดินนั่นแหละ.
แล้วอาศัยคนไปขุดมา. รู้จักว่าเป็นบ่อเพชร, บ่อทอง, บ่อแร่นั่นแหละ.
เขาไปขุดเอาขึ้นมา. มันติดอยู่กับดินอันหยาบนั่น.
ขุดมาแล้ว, มาถลุงออก. แล้วเอามาเจียระไนอีก, มันจึงสำเร็จ, มีแสงวาบๆ.
เป็นทองคำก็เอาทำสายสร้อย ตุ้มหู.
จิตของเราทั้งหลายก็ดี, มันเกลือกกลั้วอยู่กับอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง,
มันเอาอารมณ์เข้ามาห้อมล้อมมัน, จิตมันจึงเศร้าหมอง. แต่แสงมันก็มีอยู่นั่นแหละ.
อาศัยมาชำระมัน, เราฝึกมาชำระจิตนั่นแหละทุกวัน ให้มันผ่องใส.
จิตเราต้องชำระให้มันบริสุทธิ์, ไม่มีอะไรมาปะปนมันแล้ว,
อันนั้นละจิตบริสุทธิ์, จิตผุดผ่อง, ผ่องใส. จิตตัง ทันตะ สุขาวหัง
ครั้นผู้อบรม, ฟอกจิตของตน, สั่งสอนจิตของตน, มีสติสัมปชัญญะ, ระวังจิตอยู่ทุกเมื่อ,
ประคองจิตให้อยู่ในความดี, หมั่นขยันทำความเพียร, ชำระจิต,
ยกบาปทั้งหลายเหล่านี้ออกจากดวงจิตอยู่ทุกวัน.
ครั้นละออกแล้ว ก็เหมือนฝนทั่งให้เป็นเข็มเท่านั้น.
ฝนไปฝนไป, อาศัยวิริยะ ความพากเพียร, อาศัยฉันทะ ความพอใจ,
จะเพียรฝึกฝนจิตของเราให้เลื่อมประภัสสร. ฝนไปฝนไป.
ผลที่สุดก็เป็นจิตบริสุทธิ์, หมดมลทิน, มีแต่ธาตุรู้อันบริสุทธิ์. เป็นธาตุอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง.
จิตบริสุทธิ์แล้วจะไปทางไหนก็ได้, ไม่มีความเดือดร้อน,
เพราะเป็นแก้วอันบริสุทธิ์แล้ว, บ่มีอันหยังมาเกิดแล้ว.


จิตแหละเป็นตัวนำทุกข์มาให้. ครั้นฝึกฝนดีแล้วนำความสุขมาให้.
อยู่ในโลกนี้ก็มีสุข, ความทุกข์ไม่มี.
อันนี้มันเป็นธรรมดาของอัตภาพของสภาวะ. มันเป็นเองของมัน.
ถึงมันจะทุกข์ปานใด, มันก็ไม่มีความเดือดร้อน, หวาดเสียวต่อความทุกข์.
มันจะตายก็ไม่มีความอัศจรรย์มัน. นี่จึงว่ารู้เท่าสังขาร.
รู้เท่าสังขาร จิตก็ไม่หวั่นไหว, จิตไม่มีโศก, ไม่มีเศร้า, อาลัย.
จิตมีกิเลสเครื่องมลทินก็ปัดออกแล้ว,
จิตอันนี้เป็นจิตบริสุทธิ์. จิตสูง. เพราะมันขาดจากการยึดการถือ.

เรามาหาความสุขใส่ตนไม่ใช่หรือ,
ต้องการความสุขเท่านั้นแล้ว, จึงพ้นจากความสะดุ้งหวาดเสียว.
จิตของพระอริยเจ้า, จิตของพระพุทธเจ้าไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม.
มีลาภก็ไม่มีความยินดี. เสื่อมลาภก็ไม่มีความยินร้าย.
ความสรรเสริญ พระพุทธเจ้าก็บ่ตื่น. นินทา พระพุทธเจ้าก็บ่โศกเศร้าเสียใจ, ไม่ดีใจ.
จึงว่า มีลาภเสื่อมลาภ, มียศเสื่อมยศ,
มีสรรเสริญมีนินทา, มีสุขมีทุกข์, เหล่านี้. แปดอย่างนี้
พระพุทธเจ้าและสาวกไม่มีความยินดีและโศกเศร้า,
ไม่มีความหวั่นไหว, ไม่มีความยินดี ยินร้าย, กับอารมณ์แปดอย่างนี่ละ,
จึงว่าจิตประเสริฐ จิตเกษม
.

พวกเราเกิดมาก็พากันเกลียดทุกข์อยู่นี่แหละ, จึงได้พากันแสวงหาที่พึ่งของตน.
แสวงหาแล้วก็ต้องตั้งใจ, มีความฝักใฝ่ในข้อวัตรปฏิบัติของตน,
ไม่ละไม่ถอนฉันทะ ความพอใจ. จะบำเพ็ญคุณงามความดีให้มีขึ้น.
วิริยะ เพียรละชั่ว, เพียรบำเพ็ญบุญกุศลให้เกิดขึ้น.
จิตฝักใฝ่อยู่ในคุณงามความดี, ฝักใฝ่อยู่ในสติ.
ให้จิตอยู่กับจิต. ให้ใจรู้จักใจ.
ให้จิตอยู่ที่จิต. ให้ใจอยู่ที่ใจ.
มีสติประจำไว้ที่นั่น, แกนอยู่นั่น.
ครั้นผู้ตั้งใจบำเพ็ญ, หัดทำสติของตนให้สำเหนียกแม่นยำแล้ว,
จิตเป็นผู้ทำสติให้สำเหนียกแม่นยำ.
ครั้นมีสติแล้วก็เป็นผู้สมาทานเอาอยู่ในสิกขาบทของตนนั่นแล, ให้มันเป็นอธิศีล.
อธิศีล คือ ศีลบ่มีหวั่นไหว, ศีลบ่มีขาดวิ่น, ไม่มีขาดตกบกพร่อง.
ศีล เรียกว่า ปกติศีล.
อธิศีลสิกขา สมาทาเน อธิปัญญาสิกขา สมาทาเน อปมาเทน สมปาเทถ
ด้วยความไม่ประมาท เป็นนิจศีลอยู่ทุกเมื่อ.
ผู้มีสติสัมปชัญญะ, จำให้แม่นยำ ให้ชำนาญแล้ว,
ผู้นั้นได้ชื่อว่า เป็นผู้ใกล้พระนิพพาน,
ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท, ให้ตกปากทางพระนิพพานแล้ว
.

ตน อยู่ไหน. ตนมีความทุกข์ก็เพราะตนทำให้ตน.
เมื่อทำความดีใส่ตนแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้รู้ตน, เป็นผู้ยกตน, เป็นผู้รักษาตน.
ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแก่ตน. อตฺตาหิ อตฺโนนาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน.
เป็นที่พึ่งของตนได้ก็เพราะตนนั่นแหละทำความดี.
เป็นที่พึ่งของตนไม่ได้ ก็เพราะตนเป็นผู้เกียจคร้าน,
ไม่มีศรัทธาเข้าวัดฟังธรรมรักษาศีล.
มันมัวแต่เห็นแก่ปากแก่ท้อง, มัวหามาใส่ปากใส่ท้อง, คอยเวลาที่มันตายนั่นแหละ.


ในเบื้องต้น ให้ตรวจดู, ทานบารมีก็ดี, ศีลบารมีก็ดี, เนกขัมมบารมีก็ดี.
ตรวจดูมันอย่างไร. อยู่ที่เราจะก้าวขึ้น, ก้าวขึ้นชั้นสูง.
ให้ทานสูงนั่นแหละ เรียกว่าปรมัตถบารมี.
เลือดเนื้อชีวิตจิตใจนี่แหละ ถวายบูชาพระพุทธเจ้า, ถวายบูชาพระธรรม, ถวายบูชาพระสงฆ์,
ได้ชื่อว่าให้ทานสูง. อันนี้ได้ชื่อว่าเป็น ปรมัตถทาน ปรมัตถบารมี
ให้ทานเลือดเนื้อ, ไม่เห็นแก่ชีวิตจิตใจ,
มุ่งหน้าทำความเพียรจนตลอดวันตาย, เป็นทานบารมี. ไม่ต้องหวงแหนมันไว้.
ต้องให้มันทำความเพียร. อย่าปล่อยให้มันชำรุดทรุดโทรมไป.
มันมีแต่จะครั้นชำรุดทรุดโทรมไป เหมือนเรือคร่ำคร่า. นั่นแหละ, มันมีแต่สลักหักพังไป.
ครั้นมันเฒ่ามาแล้ว, มันบำเพ็ญเพียรอีหยังบ่ได้ดอก.
ยังหนุ่มยังแน่นตั้งใจทำความเพียรไป.
ครั้นเฒ่าอย่างอาตมานี่มันผ่านมาแล้ว, แม้จะแบกแต่กระดูกของตนก็จะตายแล้ว.
ปานนั้นมันก็บ่ยอมให้เขา. หอบมันอยู่นี่แหละกระดูก.
จะตายให้มันตายอยู่นั่น. ไม่ยอมหรอกเรื่องทำความเพียร, เอามันจนตาย
.

พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกก็ดี,
เมื่อสำเร็จกิจแล้ว, เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว. ก็ยังขยันกว่าเราเสียอีก.
นี่แหละ, ท่านหมดเชื้อแล้ว. หมดเชื้อแล้ว อยู่เย็นมีความสุข.
หมดความขี้ลักขี้ขโมย, หมดขี้โกรธ ขี้โลภ ขี้หลง, นี้หมดแล้ว.
พระพุทธเจ้าและสาวกก็หมดแล้ว. ขี้เกียจขี้คร้าน,
ความขี้เหงาขี้เซา, ขี้หลับขี้นอน, พวกนี้หมดแล้ว.
พระอริยเจ้าท่านทำความเพียร. ขุดขึ้นมา, ขุดตัณหาขึ้นมา, รากน้อยรากใหญ่ขุดขึ้นมา.
เอาขึ้นมาแล้วก็กวาด. กวาดขึ้นมาแล้วเอาใส่ไฟ, เผาไฟ.
กวาดแล้วกวาดเล่า. เผาแล้วเผาเล่า. เผาแล้วโกยลงน้ำที่เชี่ยว. โกยแล้วโกยเล่า, จนหมด.
ครั้นหมดเชื้อต่างๆ แล้วไม่มีดอกความเกียจคร้าน.


เราอย่าหมั่นขยันแต่ทำบาป, ให้ขยันแต่ทำดี,
ทำความบริสุทธิ์, ทำบุญทำกุศลนี่. ให้หมั่นทางนี้.

บาปด่ากัน. บาปมันขึ้นมา, หน้าแดง เรานี้เฮ็ดบาปคือขันแท้. ไปขยันใส่บาป.
ครั้นรู้จักว่าบาปก็บ่ขยันแล้ว, จึงว่าให้กลัวบาป.
คำเถียงกันด่ากัน, ทะเลาะวิวาทเบียดเบียนกัน, เป็นบาป. อยากไปขันใส่มัน.
ให้หลีกไปไกล. ให้เอาใจเว้น. อย่าเอาใจใส่.
ครั้นเว้นแล้ว มันก็บ่มีความเดือดร้อน.
ใครจะว่าอย่างใดก็ตาม, เราไม่ว่าใส่เขาดอก. เขาติฉินนินทา, เขาก็ว่าใส่เขาเอง.
ปากเขามันก็อยู่ที่เขา. หูเขามันก็อยู่ที่เขา.
เราจะเอามันเข้ามารวมไว้ให้มันเผาตนหยัง. เราก็เป็นคนอยู่, ไม่ใช่ควาย.
มันเป็นอย่างใด, เราจึงตั้งสติฟาดมัน. มันเป็นหยัง, ให้ดูมัน.
เรารู้จักมันแล้ว, เรารู้จักกิเลสแล้ว, ดูมันเฉพาะตาย.
ถ้ามึงไม่ตาย กูตาย. เอาให้ตนเสียความดีนั่น.
บาปก็อยู่ที่ใจ. ใจนี่เป็นผู้ว่า. จึงว่าให้อบรมใจ, มีสติสั่งสอนใจ. อบรมนี่แหละ.
จะเอาภพเอาชาติก็แม่นใจนี่แหละ. จะเป็นวัวเป็นควายก็แม่นใจนี่แหละ.
ครั้นดับใจนี้ได้, มันก็มีแต่เย็น, มีแต่ความสุขเท่านั้น.
มันจะไปเกิดบ่อนใด, ก็แม่นจิตนี่แหละไปยึดไปถือ. มันเจ็บมันปวดก็เพราะใจไปยึดไปถือ.
ครั้นใจไม่ยึดไม่ถือแล้ว, มันจะรู้จักการตาย, รู้จักความตาย, รู้จักมันดี.
ถ้าใจไม่ยึด, มันจะมีทุกขเวทนามาจากไหน. ไม่มี.
ดับเวทนาดับสัญญาได้อยู่. ดับสังขารความปรุงได้อยู่.
ดับวิญญาณความรู้ทางทวารทั้ง ๖ ได้อยู่.
ของใครของมันจะมีตนมีตัว. มันไม่มีตนมีตัว.
แต่ว่ามันจำมันหมาย, ว่าเจ็บนั่นเจ็บนี่, เวทนาก็พร้อมกันเกิดขึ้น.
มันไม่มีตัวมีตน. มันก็ดับไปอีก. ดับก็จิตมันสงบนั่นแหละ.
ครั้นจิตมันสงบแท้ๆ , ไม่มีคนมีหยังจะมาเจ็บอยู่นี่,
จึงว่าให้อบรมจิตนั่นแหละ. จิตสงบแล้วไม่มีผู้ใดเจ็บ.
คนบ่มี. บ่อนตัวไม่มีแล้วก็ไม่มีอะไรเจ็บแล้ว.
ครั้นไม่มีคนแล้ว, เป็นหยังจะมาจำหมายนั่นอยู่.
บัญญัติอยู่ก็รู้ว่าไม่มีคน. บัญญัติทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, ก็บ่มี, บ่มีคน.
มันว่างโม๊ดละ. ไม่มีอุปาทานแล้ว, วางเสียก็มีความสุข, นั่นแหละ, จิตสงบ. ให้ฝึกหัดจิต
.

ตัวรักษาดีแล้ว, ได้ชื่อว่าเป็นผู้แต่งความสุขให้ตน. นั่นแหละเรียกว่าตนมีที่พึ่ง.
ปัจจุบันก็ไม่มีความเดือดร้อน. แต่งทรัพย์สมบัติให้ตน.
สมบัติภายนอกมากมาย, ไม่มีความยากจน.
ตบแต่งมนุษย์สมบัติให้ตน. ตบแต่งสวรรค์สมบัติให้ตน.
ตบแต่งเอาเอง. รักษากาย วาจา ใจ ของตนให้บริสุทธิ์,
ไม่แตะไม่ต้องสิ่งอันหยาบช้าเลวทราม.

ศีลห้าก็เป็นมนุษย์สมบัติ, เป็นสวรรค์สมบัติ.
ศีลแปดก็ดีเป็นมนุษย์และสวรรค์สมบัติด้วย.
ก็ใครเล่าแต่งเอาให้. ก็เรานั่นแหละแต่งเอาเอง. ใครจะทำให้เราได้.
พระพุทธเจ้าเป็นแต่ผู้สอน. มันก็แม่นเรานั่นแหละ.
ครั้นทำบ่ดีก็แม่นเรา. เพราะเหตุนั้นให้รักษาให้มันดี. ที่ไม่ดีอย่าไปทำ.
พวกเรานี่มันสับสนปนกันนี่ทั้งดีทั้งชั่ว, มันจึงสุขก็ได้ทุกข์ก็ได้.
เอาอยู่อย่างนั้นแหละ. ได้รับทั้งสุข, ได้รับทั้งโทษ, เพราะสับสนปนกัน
.

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

คัดจาก อนาลโยวาท กัณฑ์ที่ ๑๐ ใน "อนาลโยวาท" ฉบับพิมพ์ปี ๒๕๔๓




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP