จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

คุยเรื่องพระพุทธรูป


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

100_desitnation

เมื่อไม่นานนี้ ผมได้สนทนาเกี่ยวกับเรื่องชื่อพระพุทธรูปในเว็บบอร์ด
โดยมีญาติธรรมท่านหนึ่งแนะนำให้อ่านบทความในข่าวชิ้นหนึ่ง
เกี่ยวกับการจัดสร้างรูปหล่อ “พระโพธิสัตว์สิทธัตถะราชกุมาร”
หรือที่เรียกกันว่า "พระพุทธเจ้าน้อย" โดยได้ทำการหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์
มีความสูง ๓ เมตร ๕๕ เซนติเมตร เพื่อนำไปประดิษฐาน
ณ ทางเข้าสู่มหาวิหารมายาเทวี บริเวณที่พระพุทธเจ้าประสูติ ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล

บทความในข่าวดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับการเรียกว่า "พระพุทธเจ้าน้อย"
เพราะเห็นว่าพระพุทธเจ้ามีพระนามเดียวก็พอแล้ว ไม่ต้องไปเรียกว่าใหญ่หรือน้อยเพิ่มเติมอีก
และผู้เขียนบทความดังกล่าวก็กังวลว่า ในไม่ช้าก็อาจจะมีการสร้างรูปหล่อต่างๆ นานา
โดยแอบอ้างว่าเป็นอีกปางหนึ่งของพระพุทธเจ้า แล้วนำมาปลุกเสกจำหน่ายกัน

เรื่องเกี่ยวกับพระพุทธรูปมีประเด็นให้ถกเถียงกันไม่น้อยนะครับ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องชื่อเท่านั้น
บางแห่งก็แนะนำว่าไม่ควรกราบไหว้พระพุทธรูป เพราะพระพุทธรูปไม่ใช่พระพุทธเจ้า
ซึ่งก็เป็นประเด็นให้ถกเถียงกันได้มากมาย โดยผมจะขอเริ่มที่เรื่องชื่อก่อนนะครับ

ในเรื่องชื่อพระพุทธรูปนั้น เราพึงแยกให้ออกครับว่า “พระพุทธรูปนั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้า”
ดังนั้น การตั้งชื่อพระพุทธรูปย่อมไม่ถือเป็นการตั้งชื่อหรือเพิ่มชื่อให้พระพุทธเจ้า
ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทยมีชื่อเต็มว่า
“พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือมีชื่อเรียกทั่วไปว่า “พระแก้วมรกต”
ถามว่าหากเราเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ในชื่อใดชื่อหนึ่งดังกล่าวแล้ว
จะแปลว่าเราไปตั้งชื่อหรือเพิ่มชื่อของพระพุทธเจ้าหรือครับ?
ตอบว่า “ไม่ใช่” ครับ แต่เป็นการเรียกชื่อพระพุทธรูป โดยไม่ใช่การเพิ่มชื่อพระพุทธเจ้า

ในทำนองเดียวกันครับ พระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยมีอยู่มากมาย
เช่น พระพุทธชินราช พระพุทธโสธร หลวงพ่อวัดบ้านแหลม หลวงพ่อวัดไร่ขิง

หลวงพ่อพระใส พระไพรีพินาศ หลวงพ่อโต (มีหลายวัดที่มีพระพุทธรูปชื่อนี้) เป็นต้น
แม้กระทั่งพระประธานในพระอารามหลวงหลาย ๆ วัดก็ยังมีชื่อพระพุทธรูป
ในการนี้ หากเราถือว่าการตั้งชื่อหรือเรียกชื่อพระพุทธรูปจะเป็นการเพิ่มชื่อพระพุทธเจ้าแล้ว
ก็แปลว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกต้องทั้งหมด และก็ไม่ถูกต้องมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว
อย่างที่ตั้งชื่อพระพุทธรูปหลาย ๆ องค์ว่าเป็นหลวงพ่อนั้น หลวงพ่อนี้ หลวงพ่อโน้น
จะยิ่งไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะลดระดับจากพระพุทธเจ้ามาเหลือแค่หลวงพ่อซึ่งเป็นพระสงฆ์
แต่หากเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า พระพุทธรูปไม่ใช่พระพุทธเจ้า
และการตั้งชื่อเรียกพระพุทธรูปย่อมไม่ถือเป็นการตั้งชื่อเพิ่มให้พระพุทธเจ้าแล้ว
ในลักษณะนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไรนะครับ จะตั้งชื่อให้พระพุทธรูปกี่พันกี่หมื่นองค์ ก็ไม่เป็นไร

ต่อจากเรื่องชื่อพระพุทธรูปแล้ว เราไปพิจารณาเรื่องปางของพระพุทธรูปนะครับ
ในเรื่อง “ปาง” นั้น หลายท่านไปพิจารณาเทพเจ้าของศาสนาอื่น ๆ ที่มีหลายปาง
เช่น ในศาสนาฮินดู ซึ่งพระนารายณ์อวตารลงมาเกิดใน ๑๐ ปาง
หรือพระแม่อุมาเทวีมีหลายปาง ซึ่งรวมถึงปางเจ้าแม่กาลี เป็นต้น
จึงเข้าใจว่า หากเราสร้างพระพุทธรูปหลายปางแล้ว ก็จะเป็นพิธีการของศาสนาอื่น
ก่อนอื่น เราควรจะเข้าใจความหมายของคำว่า “ปาง” ก่อนนะครับ
ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานนั้น คำว่า “ปาง” หมายถึง “ครั้ง, คราว, เมื่อ
เช่น ปางก่อน ปางหลัง, ยุค, สมัย, เช่น นารายณ์ ๑๐ ปาง หรือหมายถึง
ท่าของพระพุทธรูปที่แสดงถึงอิริยาบถต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูปปางห้ามญาติ เป็นต้น”


ในเมื่อคำว่า “ปาง” ที่เราใช้ในภาษาไทยปัจจุบันนี้หมายถึง
“ท่าของพระพุทธรูปที่แสดงถึงอิริยาบถต่าง ๆ”

เราจึงไม่ได้มุ่งหมายถึงพระพุทธเจ้าอวตาร หรือใช้ในความหมายอย่างศาสนาฮินดู
แต่เรามุ่งหมายถึงอิริยาบถของ “พระพุทธรูป” (ไม่ใช่พระพุทธเจ้านะครับ)
ซึ่งในอดีตที่ผ่านมานั้น ก็ได้มีการจัดสร้างพระพุทธรูปในปางต่าง ๆ หลายปาง
ไม่น้อยกว่า ๖๐ ปางแล้ว (เราลองเข้าไปดูในเว็บไซต์ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้)

http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=category&id=79&Itemid=274


เช่น ปางอุ้มบาตร ปางนาคปรก ปางป่าเลไลยก์ ปางปรินิพพาน ปางลีลา เป็นต้น
(อนึ่ง พระประธานที่พุทธมณฑล ชื่อว่า “พระศรีศากยะทศพลญาณ” ก็เป็นปางลีลา)
ดังนี้ ตามที่ผู้เขียนบทความในข่าวดังกล่าวกังวลว่า
ในไม่ช้า อาจจะมีคนอื่นทำพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ออกมาจำหน่ายนั้น
ผมเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลเลย เพราะว่าได้มีทำกันมาตั้งแต่ในอดีตเนิ่นนานมาแล้ว
โดยพระเครื่องและพระพุทธรูปบูชาที่มีการจัดทำขึ้นและให้ญาติโยมนำไปบูชากันนั้น
ก็เป็นพระพุทธรูปในปางต่าง ๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าจะเป็นปางไหนเท่านั้นเอง

ในกรณีของ “พระพุทธเจ้าน้อย” นี้ หากจะเรียกชื่อเป็นทางการ
ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “พระพุทธรูปปางประสูติ” ซึ่งก็ได้มีการจัดสร้างกันมานานแล้ว
โดยที่จัดสร้างมากที่สุดก็น่าจะเป็นวัดไทยลุมพินี ในประเทศเนปาล

http://www.watthailumbini-th.org/index.php?lay=show&ac=article&Id=539371926&Ntype=2


โดยชื่อที่ชาวต่างประเทศเรียกพระพุทธรูปปางนี้ มักจะเรียกว่า “Baby Buddha
ผมเข้าในว่าเมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ทางคณะผู้จัดสร้างจึงแปลว่า “พระพุทธเจ้าน้อย”
(ซึ่งดีกว่าและฟังดูไพเราะกว่าการแปลคำว่า “baby” เป็นคำว่า “ทารก” หรือ “เด็ก” ครับ)

ในประเด็นเรื่องปางของพระพุทธรูปนี้ บางท่านอาจจะเห็นว่า
ในปางทั้งหลายก่อนตรัสรู้นั้น เราไม่ควรใช้คำอ้างอิงถึง “พระพุทธ”
เพราะว่าในขณะนั้นท่านยังไม่ได้ตรัสรู้ จึงยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า แต่ยังเป็นพระโพธิสัตว์เท่านั้น
หากจะพิจารณาอย่างนี้ ก็ถือว่า “จริง” ครับ แต่ถามว่าจะสะดวกญาติโยมหรือเปล่า?
กล่าวคือต่อไปนี้ เวลาเราไปตามวัดต่าง ๆ และได้เห็นพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ในวัดแล้ว
เราจะไปเรียก “พระพุทธรูป” ทันทีไม่ได้ แต่ให้เราพิจารณาก่อนว่า
ในปางนั้นเป็นปางก่อนหรือหลังตรัสรู้ หากเป็นปางหลังตรัสรู้ ก็เรียกว่าพระพุทธรูปได้
แต่หากเป็นปางก่อนตรัสรู้ก็เรียกพระพุทธรูปไม่ได้ แต่ให้เรียก “รูปหล่อพระโพธิสัตว์” แทน
ผมเห็นโดยส่วนตัวว่า ก็คงจะยุ่งเหยิงและลำบากแก่ญาติโยมทั้งหลายมากทีเดียว
(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมไม่เชื่อว่าญาติโยมส่วนใหญ่จะเก่งพุทธประวัติขนาดระบุปางทั้งหมดได้)
แทนที่จิตใจญาติโยมจะไประลึกเรื่องบุญกุศลอื่น ๆ ในวัด
แต่อาจจะต้องมาติดหรือถกเถียงกันในวัดว่าใครเรียกชื่อพระพุทธรูปถูกต้องหรือเปล่า

นอกจากนี้แล้ว ที่เราเรียกพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ก่อนตรัสรู้ว่า “พระพุทธรูป” นั้น
เราก็เรียกกันมาตั้งแต่สมัยอดีตแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ปางมหาภิเนษกรมณ์
ปางบำเพ็ญทุกกรกิริยา ปางรับมธุปายาส ปางลอยถาด ปางมารวิชัย เป็นต้น

http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=category&id=79&Itemid=274


“ปางมารวิชัย” นี้เรียกในอีกชื่อหนึ่งทั่วไปว่า “ปางชนะมาร”
คือเป็นปางที่พระโพธิสัตว์เอาชนะพญามารได้ก่อนที่จะตรัสรู้
โดยในหลาย ๆ วัดก็จะสร้างพระแม่ธรณีบีบมวยผมไว้ด้วย ก็คือปางนี้ล่ะครับ
ดังนั้น ในประเด็นนี้ ผมเห็นว่า หากเราจะเรียกพระพุทธรูปปางทั้งหลายก่อนตรัสรู้ว่า
“รูปหล่อพระโพธิสัตว์” นั้นก็ถือว่า “ถูกต้อง” ครับ
แต่หากจะเรียกว่า “พระพุทธรูป” แล้ว ก็ถือว่าน่าจะอนุโลมให้ได้
โดยถือว่าเพื่อความสะดวกแก่ญาติโยมส่วนใหญ่ที่ไม่เก่งเรื่องพุทธประวัติ

ขอคุยต่อในประเด็นสุดท้ายซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญคือ เรื่องการกราบไหว้พระพุทธรูป
โดยที่ผ่านมานั้น ผมเคยได้พบเห็นว่ามีพุทธศาสนิกชนบางกลุ่มมองว่า

เราไม่ควรกราบไหว้พระพุทธรูป โดยเหตุผลคือ “พระพุทธรูปไม่ใช่พระพุทธเจ้า”
ในเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่า “พระพุทธรูปไม่ใช่พระพุทธเจ้า” นั้นถูกต้องแน่นอนครับ
แต่ไม่ได้แปลว่า เราไม่ควรกราบไหว้พระพุทธรูป
เพราะอะไร? เพราะเวลาที่ชาวพุทธ (ที่มีความเข้าใจ) กราบไหว้พระพุทธรูปนั้น
จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้กราบไหว้พระพุทธรูปครับ แต่ว่าเรากราบไหว้พระพุทธเจ้า


คุยอย่างนี้แล้วก็อาจจะงงนะครับ ประโยคก่อนหน้า ผมบอกว่าเรากราบไหว้พระพุทธรูป
แต่ประโยคถัดมา ผมบอกว่าไม่ได้กราบไหว้พระพุทธรูป ตกลงแล้วเป็นอย่างไรกันแน่?
ขอยกตัวอย่างนะครับ สมมุติว่าผมเดินเข้าซอยกลับบ้านในเวลากลางคืน
ผมเห็นคุณพ่อของผมยืนอยู่หน้าบ้านท่ามกลางไฟสลัว จึงยกมือไหว้สวัสดีคุณพ่อของผม
แต่เมื่อผมเดินเข้าไปถึงหน้าบ้านแล้ว ปรากฏว่าคนที่ยืนอยู่หน้าบ้านนั้นไม่ใช่คุณพ่อ
แต่กลับเป็นจิ๊กโก๋ประจำซอย ซึ่งหมอนี่ทั้งไร้ศีลธรรม ทั้งลักขโมย และค้ายาเสพติดด้วย
ทีนี้ ขอถามว่าที่ผมยกมือไหว้ดังกล่าวนั้น ผมไหว้ใครครับ ผมไหว้คุณพ่อหรือไหว้จิ๊กโก๋?
(ลองนึกคำตอบก่อนก็ได้นะครับ) .....

ผมตอบว่า ขึ้นอยู่กับว่าเรามองอย่างไร
หากเรามองแต่เพียงร่างกาย โดยไม่ได้พิจารณาไปถึงจิตใจด้วยแล้ว ก็ตอบว่า “ไหว้จิ๊กโก๋”
แต่หากเราพิจารณาจิตใจเราเป็นสำคัญแล้ว ก็ตอบว่า “ไหว้คุณพ่อของผม”

ฉันใดก็ฉันนั้นครับ สำหรับชาวพุทธเรา (ที่มีความเข้าใจ) นั้น
แม้ว่าร่างกายจะกราบไหว้พระพุทธรูปอยู่ก็ตาม แต่หากจิตใจระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้ว
การกราบไหว้ดังกล่าวนั้นก็ถือเป็นการกราบไหว้พระพุทธเจ้า

หากเราเห็นว่าการกราบไหว้พระพุทธรูปไม่มีทางเป็นการกราบไหว้พระพุทธเจ้าได้แล้ว
เช่นนั้นก็เป็นการให้ความสำคัญแก่ร่างกายภายนอกมากกว่าจิตใจภายใน
นอกจากนี้ หากมองว่าการกราบไหว้พระพุทธรูปเป็นเพียงการกราบไหว้ทองเหลืองแล้ว
เช่นนี้ การที่เรากราบไหว้รูปภาพของครูบาอาจารย์ ก็เป็นเพียงการกราบไหว้กระดาษ
ทีนี้ หากญาติโยมคนไหนต้องการจะกราบครูบาอาจารย์ท่านไหนแล้ว
ก็กราบรูปภาพหรือรูปหล่อของท่านที่บ้านไม่ได้ โดยจะต้องไปกราบตัวจริงที่วัดเท่านั้น
และหากท่านมรณภาพไปแล้ว ก็ไม่มีทางกราบท่านได้อีก
เพราะการกราบไหว้ภาพของท่านถือเป็นการกราบไหว้กระดาษ
และการกราบไหว้รูปหล่อของท่านถือเป็นการกราบไหว้ทองเหลือง

ทั้งนี้ การกราบไหว้โดยร่างกายภายนอกไม่ได้สำคัญเท่ากับการระลึกในใจหรอกครับ
สมมุติว่ามีคน ๆ หนึ่งยกมือไหว้เรา แต่ในใจเขาแช่งเราขอให้จงฉิบหายและตายเร็ว ๆ
เราจะถือว่าเขาคนนั้นเคารพเรา หรือว่าปรารถนาร้ายต่อเรากันแน่
เราก็ย่อมจะถือจิตใจหรือเจตนาของเขาสำคัญกว่านะครับ (ทั้งที่เขายกมือไหว้เราก็ตาม)
การกราบไหว้พระพุทธรูปก็เป็นทำนองเดียวกันที่ว่า ในใจที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าสำคัญกว่า

บางท่านอาจจะสงสัยว่าเช่นนี้แล้ว เรากราบไหว้อย่างอื่นแล้วระลึกถึงพระพุทธเจ้าได้ไหม?
ก็ตอบว่า “ได้” ครับ สิ่งที่เตือนใจให้เราระลึกถึงนี้ เราเรียกว่า “เจดีย์”
โดยตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมโดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) นั้น
“เจดีย์” หมายถึง สิ่งที่ก่อขึ้น, ที่เคารพบูชา, สิ่งที่เตือนใจให้ระลึกถึง,
ในที่นี้หมายถึงสถานที่หรือสิ่งที่เคารพบูชาเนื่องด้วยพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนา
ได้แก่ ๑. ธาตุเจดีย์ (เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ) ๒. บริโภคเจดีย์
(สิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย อย่างแคบหมายถึงต้นโพธิ์
อย่างกว้างหมายถึงสังเวชนียสถาน ๔ ตลอดจนสิ่งทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าเคยทรงบริโภค
เช่น บาตร จีวร และบริขารอื่นๆ เป็นต้น) ๓. ธรรมเจดีย์ (เจดีย์บรรจุพระธรรม
เช่น บรรจุใบลานจารึกพุทธพจน์แสดงหลักปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น) และ
๔. อุทเทสิกเจดีย์ (เจดีย์สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูป)

http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=141

ดังนี้ พระพุทธรูปก็ถือเป็นเจดีย์ประเภทหนึ่ง คือ อุทเทสิกเจดีย์
โดยเป็นสิ่งเตือนใจให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า และเมื่อเรากราบไหว้ เราก็ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
หากเราไม่กราบไหว้พระพุทธรูปแล้ว เราจะกราบไหว้สิ่งอื่นแล้วระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็ได้
เช่น ภาพพระพุทธรูป ภาพพุทธประวัติ หนังสือธรรมะ ต้นโพธิ์ เป็นต้น
บางท่านบอกว่า ถ้าไม่มีสิ่งไหนเลย แล้วเราจะกราบพระพุทธเจ้าได้ไหม?
ตอบว่า “ได้” ครับ แม้ว่าเราจะไม่มีสิ่งไหนเลย แต่เราก็กราบพระพุทธเจ้าได้
โดยเราระลึกใจถึงพระพุทธเจ้า (พุทธานุสติ) แล้วก็กราบลงไปเลยครับ
แม้ข้างหน้าจะไม่มีอะไรเลย มีแต่ว่าง ๆ ไม่มีสิ่งอะไรก็ตาม ก็ถือว่ากราบพระพุทธเจ้าได้เช่นกัน
ดังที่ได้เรียนไปแล้วว่า สิ่งที่สำคัญนั้นคือจิตใจของเราที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าครับ

อนึ่ง แม้ว่าพระพุทธรูปจะถือเป็นเจดีย์เพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็ตาม
แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเราชาวพุทธต่างมีความรู้ความเข้าใจหลากหลายแตกต่างกัน
ดังนี้ เวลาที่แต่ละคนกราบไหว้พระพุทธรูป ก็อาจจะระลึกแตกต่างกันไปก็ได้
เช่น บางคนก็อาจจะระลึกว่าพระพุทธรูปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ดลบันดาลโน่นนี่ให้ตนเอง
บางคนก็อาจจะระลึกว่ามีเทวดาศักดิ์สิทธิ์อยู่ในพระพุทธรูปนั้น ขอให้คุ้มครอง
บางคนก็อาจจะระลึกถึงพระพุทธเจ้า หรือบางคนก็คิดถึงเรื่องอื่น ๆ ไปเลย เป็นต้น

หรือเวลาที่แต่ละคนได้เห็นพระพุทธรูป ก็อาจจะระลึกแตกต่างกันไปก็ได้
เช่น บางคนระลึกถึงพระพุทธเจ้า บางคนระลึกถึงพระธรรม
บางคนระลึกถึงพระสงฆ์ บางคนระลึกถึงทานหรือศีลของตน
บางคนระลึกถึงเรื่องที่ตนเองทำไม่ดีอะไรไว้ บางคนระลึกถึงเรื่องอื่น ๆ
บางคนระลึกว่าที่เห็นอยู่นี้เป็นแค่ทองเหลือง เป็นแค่วัตถุ เป็นต้น
ซึ่งตรงนี้ก็แล้วแต่จริต และคุณภาพในจิตใจของพวกเราแต่ละคนที่แตกต่างกันไป
โดยแม้กระทั่งคนเดียวกันก็ตาม หากเห็นสิ่งเดียวกันแต่ต่างเวลากัน ก็อาจจะระลึกต่างกันได้
เช่น เมื่อวานนี้เราเห็นสิ่งหนึ่งแล้วระลึกอย่างหนึ่ง
ต่อมาเมื่อเราศึกษาและปฏิบัติธรรมพัฒนาจิตใจเราเองไปเรื่อย ๆ แล้ว
เมื่อกลับมาเห็นสิ่งเดิม แต่ว่าเราอาจจะระลึกแตกต่างไปก็ได้ ก็เป็นเรื่องธรรมดาครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP