จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

สติจำเป็นในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ



งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

098_destination

ในคราวที่แล้ว เราได้คุยกันในเรื่อง “อยู่กับคนที่ศีลไม่เท่ากัน”
ซึ่งในตอนท้ายนั้น ผมได้ยกเรื่องของภริยาของพรานกุกกุฏมิตรมาเล่านะครับ
หลังจากนั้น ก็มีญาติธรรมท่านหนึ่งอีเมล์มาสอบถามว่า
ที่ผมได้เล่าถึงเรื่องภริยาของพรานกุกกุฏมิตรว่า ไม่ถือว่าเป็นผู้ที่ทำบาปอกุศล
เพราะขณะยื่นอาวุธให้แก่สามีของนางนั้น นางไม่ได้มีจิตคิดจะให้พรานกุกกุฏมิตรไปฆ่าสัตว์
ญาติธรรมท่านนี้สงสัยว่า ถ้ารู้อยู่แล้วว่าอาวุธที่นางยื่นให้สามีไป สามีจะเอาไปฆ่าสัตว์
(เพราะว่าพรานกุกกุฏมิตรเป็นนายพรานและหาเลี้ยงชีพโดยการล่าสัตว์)
แต่ยังยื่นอาวุธให้แต่โดยดี แม้ว่าจะทำตามที่สามีได้สั่งก็ตาม
เช่นนี้ไม่ถือว่ามีจิตอกุศล และร่วมทำบาปอกุศลด้วยหรือ

ผมเชื่อว่าบางท่านอาจจะมีข้อสงสัยนี้เช่นเดียวกัน
จึงเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่น ๆ ด้วย หากจะได้อธิบายเพิ่มเติมในที่นี้
เรียนว่าสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องภริยาของพรานกุกกุฏมิตรได้ดีนั้น
คือเราจะต้องเจริญสติให้เป็นเสียก่อน
โดยสามารถรู้ทันสภาวะที่เกิดขึ้นในกายในใจตนเองอย่างเป็นปัจจุบัน

ในคาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑ (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท)
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า
“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ”
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=268&Z=329
ดังนั้น ใจเราเป็นสิ่งสำคัญที่สุดว่าสิ่งที่เราทำนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศล

ขอยกตัวอย่างในเรื่องของการถือศีล
การถือศีลนั้นจะต้องเริ่มต้นที่ใจเป็นสำคัญ
หากเราขาดเสียซึ่งจิตใจที่จะงดเว้นการทำผิดศีลแล้ว ย่อมไม่ถือว่าเป็นการรักษาศีล
แม้ว่าในขณะนั้น เราจะไม่ได้ทำผิดศีลเลยก็ตาม
บางท่านเข้าใจว่าจิตใจที่จะงดเว้นนั้นไม่เป็นสิ่งจำเป็น ขอแค่เราไม่ทำผิดศีลก็พอแล้ว
โดยเพียงแค่เราไม่ทำผิดศีล ก็ถือว่าเราได้รักษาศีลโดยอัตโนมัติแล้ว
ขอเรียนว่าความเข้าใจดังกล่าวยังคลาดเคลื่อนอยู่ครับ

ถ้าเรามองว่าในขณะใดที่เราไม่ได้ทำผิดศีล ก็จะถือเป็นการรักษาศีลโดยอัตโนมัติแล้ว
อย่างนี้เด็กทารกแรกเกิด หรือทารกตัวเล็กที่ยังทำอะไรไม่ได้เอง
เด็กทารกเหล่านั้นก็จะกลายเป็นผู้ทรงศีลโดยอัตโนมัติ
ในทำนองเดียวกัน หากมีผู้ป่วยเป็นอัมพาตทั้งตัวขยับตัวไม่ได้เลย
ต้องให้คนอื่นช่วยป้อนข้าวป้อนน้ำให้ ช่วยอาบน้ำ ทำความสะอาด และช่วยทุกอย่าง
ผู้ป่วยเป็นอัมพาตนั้นก็จะกลายเป็นผู้ทรงศีลโดยอัตโนมัติ
หรือหากมีนักโทษอุกฉกรรจ์โดนคุมขังเดี่ยว และล่ามโซ่ไว้กับเสา ขยับไปไหนไม่ได้
ทำให้ไปทำผิดศีลข้อใด ๆ ไม่ได้แล้ว นักโทษนั้นก็จะกลายเป็นผู้ทรงศีลโดยอัตโนมัติ
เราจะเห็นได้ว่าเด็กทารกก็ดี ผู้ป่วยอัมพาตก็ดี และนักโทษดังที่กล่าวนั้นก็ดี
ไม่ได้ถือว่าเป็นผู้ทรงศีลโดยอัตโนมัตินะครับ เพราะว่าขาดจิตใจที่มุ่งงดเว้นการทำผิดศีล
ฉะนั้นแล้ว การรักษาศีลนั้นเริ่มต้นที่ใจ โดยแม้เราอยู่ในวิสัยที่จะทำผิดศีลได้ เราก็ไม่ทำ
เพราะว่าเรามีจิตใจที่งดเว้นและตั้งใจรักษาศีล

เรื่องกุศลและอกุศลนั้นก็เป็นไปในทำนองเดียวกับเรื่องศีลครับ
กล่าวคือใจเป็นสำคัญ ใจจะเป็นตัวชี้วัดว่าเราก่อกุศล หรือก่ออกุศล
ยกตัวอย่างว่ามีลูกคนหนึ่งซื้อข้าวมันไก่มาให้คุณพ่อทานที่บ้าน
ถามว่าการกระทำเช่นนี้เป็นกุศลหรืออกุศลครับ
?
(ลองนึกคำตอบดูก่อนนะครับ)
...
ผมตอบว่า ไม่ทราบครับ เพราะต้องทราบก่อนว่าลูกคนนั้นมีเจตนาอย่างไร
หากลูกมีเจตนามุ่งให้คุณพ่อได้ทานอาหารอิ่มท้อง มุ่งให้คุณพ่อมีความสุข
มุ่งให้คุณพ่อรู้สึกดีใจว่าลูกห่วงใยท่าน อย่างนี้ก็เป็นกุศล
แต่หากลูกมีเจตนามุ่งให้คุณพ่อมีไขมันคอเลสเตอรอลขึ้นเยอะ ๆ
เพื่อที่ว่าท่านจะได้ป่วยและตายเร็ว ๆ และตนเองจะได้รับมรดก อย่างนี้ก็เป็นอกุศล
หรือสมมุติว่า เราไปเห็นชายหนึ่งกำลังนั่งสวดมนต์งึมงำ ๆ อยู่
เราก็อาจจะมองว่าเขากำลังทำกุศลกรรม โดยการสวดมนต์
แต่หากว่าแท้จริงแล้ว ชายคนนั้นต้องการสาปแช่งให้ศัตรูของเขาตายเร็ว ๆ
ชายคนนั้นจึงมานั่งสวดมนต์เพื่อสาปแช่ง
ระหว่างที่สวดมนต์นั้นจิตใจของเขาก็ครุ่นคิดแต่เรื่องอาฆาตแค้น
และหมกมุ่นกับเรื่องที่ต้องการให้ศัตรูของเขาตายเร็ว ๆ เช่นนี้ก็ย่อมเป็นบาปอกุศล
ฉะนั้นแล้ว เพียงแค่เรามองพฤติกรรมอย่างหนึ่งของคน ๆ หนึ่งแล้ว
จะให้บอกว่าพฤติกรรมนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลนั้น บางทีเราก็อาจตอบไม่ได้นะครับ

ยกตัวอย่างอีกครับ สมมุติว่ามีคน ๆ หนึ่งเดินเหยียบมดตายเป็นร้อยตัว
ถามว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลครับ
?
หากข้อเท็จจริงคือว่า เขาเห็นและเจตนาเดินเหยียบมดให้ตาย ก็ย่อมเป็นอกุศล
แต่หากข้อเท็จจริงคือว่า เขาเป็นคนตาบอด และเดินไปโดยไม่เห็นมดบนพื้น
เขาก็เดินบนพื้นไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้มีเจตนาจะเหยียบมดเลย เพียงแต่ว่าเขาไม่เห็นมด
เช่นนั้นแล้ว ก็ไม่ถือว่าการเดินเหยียบมดตายของเขาเป็นบาปอกุศลครับ

ถึงตรงนี้แล้ว เราก็คงจะพอเห็นภาพนะครับว่าจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ
จิตใจเป็นประธานที่ว่าจะทำให้การกระทำทางร่างกายนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ที่ผมใช้คำว่า “จิตใจเป็นประธาน” นั้น หมายถึง “จิตใจในเวลาขณะนั้นแต่ละขณะ”
ซึ่งหากท่านใดเคยฝึกหัดเจริญสติแล้ว ก็คงเข้าใจได้ชัดเจนว่า จิตใจในแต่ขณะเป็นอย่างไร
แต่หากท่านใดไม่เคยฝึกหัดเจริญสติมาก่อน ก็อาจจะเข้าใจยากอยู่บ้างครับ
คือว่าเราต้องดูจิตใจของเราในแต่ละขณะ ๆ ไป ไม่ใช่ดูรวดเดียวเป็นช่วงเวลายาว ๆ

ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการพาคุณพ่อคุณแม่ไปที่วัดเพื่อถวายสังฆทานสร้างบุญกุศล
แต่ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ยอมไป โดยอ้างโน่นอ้างนี่ ซึ่งเราเห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ไร้สาระ
เราจึงพูดชักจูงใจให้ท่านไปวัด ซึ่งตรงนี้ก็ยังเป็นเจตนาอันเป็นกุศลอยู่
แต่พอคุยไปเรื่อย ๆ เริ่มถกเถียงไปเรื่อย ๆ เราก็เริ่มไม่พอใจ และเริ่มโมโห
เราปล่อยให้ความโมโหเข้าครอบงำใจ ปล่อยให้ความอยากเอาชนะเข้าครอบงำใจ
ในกรณีดังกล่าว แม้ว่าเจตนาตอนเริ่มแรกของเราจะเป็นกุศลก็ตาม
แต่ในขณะเวลาที่ใจเราโดนความไม่พอใจ หรือความอยากเข้าครอบงำแล้วนั้น
การที่เราเถียงหรือคุยกับคุณพ่อคุณแม่ในขณะนั้นย่อมเป็นอกุศลครับ
และเป็นการที่เราเถียงหรืออธิบายเพื่อสนองความไม่พอใจ หรือความอยากเท่านั้น
ฉะนั้นแล้ว เราจะพิจารณาเพียงวัตถุประสงค์เริ่มแรกอย่างเดียวไม่ได้
แต่เราจะต้องพิจารณาจิตใจของเราในแต่ละขณะ ๆ เป็นปัจจุบันไปเลยว่า
จิตใจในแต่ละขณะ ๆ นั้นเป็นกุศลหรืออกุศลกันแน่
ซึ่งเราจะสามารถพิจารณาจิตใจเราในแต่ละขณะ ๆ ได้นั้น เราต้องอาศัยการเจริญสติครับ

ยกตัวอย่างอีกนะครับ สมมุติว่าเราซื้อน้ำกล่องมา ๓ อย่าง
คือน้ำนมถั่วเหลือง ๑ น้ำชาเขียว ๑ และน้ำผลไม้ ๑
เราซื้อมาอย่างละ ๑๐๐ กล่อง เพื่อจะเตรียมตักบาตรพระในวันรุ่งขึ้น
เราก็นั่งจัดของตักบาตรลงถุงพลาสติกจำนวน ๑๐๐ ชุด เพื่อจะได้สะดวกเวลาใส่บาตร
ในระหว่างที่เรานั่งหยิบของตักบาตรใส่ลงถุงพลาสติกนั้น
ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับตอนจบของละครเรื่องโปรดของเรา
เราจึงนั่งชมละครไปด้วย โดยลุ้นและเชียร์นางเอกด่าและตบกับนางร้ายเพื่อแย่งพระเอก
แต่มือเราก็จัดของตักบาตรใส่ถุงพลาสติกไปด้วยในเวลาเดียวกัน
และเมื่อละครจบเรื่อง เราก็จัดของตักบาตรเสร็จ ๑๐๐ ชุดพอดี

ถามว่าในระหว่างที่เราชมละครและลุ้นเชียร์เขาด่าและตบกัน
แต่มือเราจัดของตักบาตรไปด้วยนั้น จิตใจของเราเป็นกุศลหรืออกุศลครับ
?
ตอบว่าเป็น “อกุศล” นะครับ เพราะจิตใจของเราอยู่ที่ละคร
จิตใจเราไม่ได้อยู่ที่การตักบาตร
แล้วถามว่าขณะนั้น มือเรากำลังจัดของตักบาตรอยู่ใช่ไหม
?
ตอบว่า “ใช่”
ถามว่าเรารู้ไหมว่าของที่จัดนั้น จะนำไปตักบาตรถวายพระ
?
ตอบว่า “รู้”
ถามต่อไปว่า เช่นนี้ทำไมขณะที่จัดชุดของตักบาตรนั้น จิตใจจึงไม่เป็น “กุศล” ล่ะ
?
ตอบว่า ก็เพราะว่าในขณะนั้น จิตใจไม่ได้ “รู้” หรือ “อยู่กับ” การตักบาตรซึ่งเป็นกุศล
ในขณะนั้น จิตใจไป “รู้” หรือ “อยู่กับ” ละครที่กำลังเชียร์คนอื่นเขาตบกันซึ่งเป็นอกุศล
แม้ว่ามือของเรากำลังจัดชุดของใส่บาตรก็ตาม
แต่จิตใจกลับไปหมกมุ่นอยู่ในเรื่องที่เป็นอกุศล จึงเท่ากับว่าขณะนั้น ใจกำลังเป็นอกุศลอยู่
เมื่อใจเป็นประธาน และเป็นอกุศล ก็เท่ากับว่าในขณะนั้นเรากำลังก่ออกุศลอยู่ครับ

ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าเราไปถวายสังฆทานที่วัด
โดยในขณะที่เรากำลังถวายสังฆทานอยู่นั้น
เรามองไปเห็นแฟนเรามากับกิ๊ก โดยทั้งสองคนกำลังเดินเข้ามาในวัด
(แต่ว่าทั้งสองคนนั้นมัวแต่กระหนุงกระหนิงจนไม่เห็นเรา)
เรารู้สึกโมโหมากและครุ่นคิดวางแผนว่าจะจัดการแฟนเราอย่างไรดี
ในระหว่างที่ปากเรากล่าวคำถวายสังฆทานตามคนอื่น ๆ นั้น
แต่ใจเราก็หมกมุ่นครุ่นคิดแต่เรื่องแค้นแฟน จะทำร้ายแฟน จะทำร้ายกิ๊กคนนั้น
ถามว่าในขณะเวลานั้น เรากำลังก่อกุศล หรืออกุศลครับ
?
ตอบว่าเรากำลังก่อ “อกุศล” อยู่นะครับ เพราะใจเราเป็นประธาน

โดยตัวอย่างเรื่องจัดของตักบาตร และถวายสังฆทานที่ได้ยกมาข้างต้นนี้
หากร่างกายเรากำลังทำกุศลกรรมอยู่ แต่ใจเราไม่ได้อยู่ในสิ่งที่เราทำนั้น
ในทางกลับกัน ใจกลับไปหมกมุ่นอยู่ในสิ่งอกุศลแล้ว ก็เท่ากับว่าเรากำลังก่ออกุศลกรรม
ในทำนองเดียวกันนะครับ หากภริยาของพรานกุกกุฏมิตรกำลังส่งอาวุธให้สามี
แต่ท่านไม่ได้ระลึกในสิ่งที่เป็นอกุศลกรรม ท่านไม่ได้ระลึกว่าสามีจะใช้อาวุธนั้นทำผิดศีลอะไร
อกุศลกรรมย่อมไม่มีแก่ท่านครับ
ถามว่าท่านรู้ไหมว่าสามีเป็นนายพราน
?
ตอบว่า “รู้” ครับ
แต่ว่าในขณะที่ท่านส่งอาวุธให้สามีนั้น ท่านไม่ได้ไป “รู้” หรือ “อยู่กับ” เรื่องผิดศีลเหล่านั้น
เสมือนกับกรณีที่เรานั่งจัดของตักบาตร แต่จิตใจเราไม่ได้อยู่กับการตักบาตรครับ
กุศลกรรมไม่ได้เกิดขึ้นแก่เราในขณะที่เรากำลังจัดของตักบาตร ฉันใด
อกุศลกรรมก็ไม่ได้เกิดขึ้นแก่ภริยาของพรานกุกกุฏมิตรในขณะที่กำลังส่งอาวุธ ฉันนั้น

มาถึงตรงนี้ เราคงเห็นได้ว่าหากขาดเสียซึ่งสติแล้ว แม้ว่าร่างกายเรากำลังทำสิ่งดี ๆ อยู่ก็ตาม
แต่จิตใจเราไหลไปอยู่ในเรื่องอกุศลแล้ว ก็เท่ากับว่าเรากำลังก่ออกุศลอยู่ในขณะนั้น
ทีนี้ จิตใจเราสามารถจะไหลไปอยู่กับอกุศลได้ง่าย ๆ และบ่อยมาก ๆ เป็นธรรมดา
แม้ว่าเรากำลังอยู่ในวัด อยู่ในโบสถ์ กำลังสวดมนต์ หรือกำลังนั่งสมาธิก็ตาม
สติเป็นตัวที่ช่วยรักษาจิตใจเราไม่ให้ไหลตามไปกับสิ่งอกุศลและกิเลสทั้งหลายนั้น
ถ้าเราเข้าใจตรงนี้แล้ว ก็ย่อมจะเห็นได้ว่าการเจริญสติเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ
สมดังที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า “สติจำเป็นในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ” ครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP