สารส่องใจ Enlightenment

มรณสติ



พระธรรมเทศนา โดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

วันนี้จะเทศนาเรื่องมรณสติให้ฟัง
มรณสติ คือให้พิจารณาถึงความตาย ระลึกถึงความตาย
เป็นบริกรรมภาวนาอย่างหนึ่ง

ถ้าหากเราไม่ระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์
จิตจะเพลิดเพลิน ลุ่มหลง มัวเมา ประมาท
เพราะคนเรารักชีวิต คือความเป็นอยู่ ไม่อยากตาย โดยมากเป็นอย่างนั้น
ถ้าเรามาพิจารณาถึงเรื่องความตาย เห็นอายุมันสั้นไปไม่ยืดยาวอีกแล้ว
คราวนี้จะได้รีบเตรียมเนื้อเตรียมตัว จะได้รีบขวนขวายหาสิ่งที่เป็นสาระ
สร้างคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้นในตนทันกับกาลเวลา ซึ่งเรายังมีชีวิตอยู่
เพราะฉะนั้น มรณสติ ระลึกถึงความตาย จึงเป็นของมีคุณค่ามาก

แต่คนทั้งหลาย ถ้าพูดถึงเรื่องความตายแล้วไม่ชอบ กลับกลัว
แต่ความดีอยู่ที่ความตาย ถ้าคนเราพิจารณาถึงความตายแล้วทำดีได้ง่าย
ลองคิดดู บางคนเจ็บไข้ได้ป่วย กลัวตาย รีบไปทำบุญทำทานเสีย
หรือเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีสรณะที่พึ่ง
หากระลึกถึงความตายว่าจะตายวันไหนก็ไม่ทราบ
ก็จะรีบภาวนา พิจารณาถึงสังขารร่างกาย เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
มีสักขีพยานประจักษ์ชัดแจ้งด้วยตนเอง

คือว่ามันเจ็บมันป่วย มันเป็นพระไตรลักษณ์ มันต้องแตกดับในวันหนึ่ง
จึงได้ชื่อว่าทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่เรามากทีเดียว การพิจารณาถึงความตาย
ตายมี ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งเรียกว่า ปฏิจฉันนะ คือ ตายปกปิด
เหมือนกับความแก่ชรา ชราโดยการปกปิด อีกอย่างหนึ่งเป็นชราโดยการเปิดเผย
ตายก็เหมือนกัน ตายโดยการปกปิด กับตายโดยการเปิดเผย มี ๒ อย่าง

ชราปกปิด คือ มันแก่มาตั้งแต่ปฏิสนธิ คนเราถ้าไม่แก่มันก็ไม่คลอด
ครั้นแก่จึงค่อยคลอด เรียกว่าแก่มาตั้งแต่ในครรภ์ เป็นเด็กก็แก่ขึ้นมาทุกวัน
วันคืนล่วงไปๆ วันหนึ่งก็แก่ไปๆ แก่วัน แก่เดือน แก่ปี แก่ไปโดยลำดับ
แต่คนเราไม่ค่อยจะเห็นความแก่เหล่านั้น ถือว่ากำลังหนุ่มแน่น กำลังเจริญงอกงาม
แท้ที่จริงคือความแก่นั่นเอง มันแก่เรื่อยไป แก่แบบนี้เรียกว่า แก่ปกปิด
คนทั้งหลายไม่สู้จะเข้าใจถึงเรื่องความแก่

ส่วนแก่เปิดเผยนั้น อายุล่วงเลย ๕๐-๖๐ ปีไปแล้ว
ผิวพรรณวรรณะหดหู่ เศร้าหมอง เนื้อหนังก็ทรุดโทรมเหี่ยวแห้ง
กำลังวังชาก็หมดลดถอย ผิดไปจากปกติ
ผมที่เคยดำก็กลับขาวหงอก เดินไม่ตรงทาง
แต่ก่อนเคยเดินคล่องแคล่วว่องไว ตรงไปตรงมา
ตอนอายุ ๕๐-๖๐ ปีไปแล้ว มันจะคอนหน้าคอนหลัง
ลุกนั่งก็เจ็บปวด เดินก็ไม่คล่องแคล่ว ซุกๆ ซุนๆ
เรื่องเหล่านี้แสดงให้เห็นความแก่อย่างเปิดเผย
นอกจากนั้นก็แก่หง่อมจนกระทั่งไปไหนไม่ได้
ชักเท้า ๓ ขา หูตาฝ้าฟางไปหมด ฟังอะไรก็ไม่ชัดเจน
อันนี้เห็นความแก่ชัดเจน ใครๆ ก็รู้ได้ทั่วกันทั้งนั้น นี่เรียกว่าแก่เปิดเผย

ตายก็เช่นเดียวกัน ตายหมายถึงเปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนแปลงไป เรียกว่าตาย
เหมือนกับสีทาบ้าน ธรรมดาสีทาทีแรกสดใสงดงาม มีแวววาว
พอมันตายก็สีเศร้า สีหมอง สีจางไป เรียกว่าสีตาย
คนเราตายก็คือ มันเปลี่ยนสภาพเช่นเดียวกับสี มันก็ทำนองเดียวกันนั่นแหละ

ความตายปกปิด คือตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
เบื้องต้นเป็นกลละ จากกลละมาเป็นน้ำล้างเนื้อ
ตายจากน้ำล้างเนื้อเป็นก้อนเนื้อ
ตายจากก้อนเนื้อมาเป็นปัญจสาขา ๕ แห่ง (ปุ่มที่จะกลายเป็น หัว๑ แขน๒ ขา๒)
ครั้นพอเติบโตออกจากนั้น พอแก่ครบครันบริบูรณ์แล้วถ้วน ๑๐ เดือน ก็คลอดออกมา
แล้วก็ตายจากเด็กที่นอนอยู่ในผ้าอ้อมที่ในกระด้งนั่นแหละ
เติบโตขึ้นมาโดยลำดับ จนคลานได้ เดินได้ วิ่งได้ พูดจาพาทีได้ทุกสิ่งทุกอย่าง
เรียกว่ามันเปลี่ยนสภาพไป มันตายไปจากของเดิม
เมื่อเป็นเด็กไม่นุ่งผ้า ครั้นพอโตขึ้นมาก็นุ่งห่มปกปิดอวัยวะทุกส่วน
มันตายจากสภาพที่เป็นเด็กมาเป็นหนุ่มเป็นสาว
ตายจากหนุ่มสาวก็มาเป็นคนเฒ่าคนแก่
จนกระทั่งนั่งหดหู่ยู่ย่นด้วยประการต่างๆ
อย่างอธิบายมาแล้วในเรื่องการแก่แบบไม่ปกปิด

อันนี้ตายมาโดยลำดับ ตายเรื่อยๆ มา เป็นตายปกปิด
คนทั้งหลายไม่ค่อยเข้าใจและไม่ค่อยพิจารณา
ไม่ถือว่าเป็นการตาย ความจริงก็คือตายนั่นเอง
เหตุที่ไม่ถือว่าเป็นของตาย จึงเรียกปกปิด แท้จริงคือมันตายมาแล้ว
ต่อเมื่อขาดลมหายใจเข้าออก ไม่มีลมหายใจ เย็นหมด หมดทั้งตัว
เย็นเฉียบหมดทั้งตัวนั่นแหละเข้าใจว่าตายแน่นอน
คราวนี้ไม่มีใครคัดค้าน เรียกว่า ตาย

ถ้าเอาไว้หลายๆ วัน นานๆ หนักเข้าก็อืดขึ้น พอง เหม็นกลิ่น
เดี๋ยวก็เปื่อยเน่า น้ำเหลืองไหลเฟอะออกมา
อันนี้เรียกว่าตายกันจริงๆ ตอนนี้ นี่ตายไม่ปกปิด
นี่ความตายของคนมีอย่างนี้ จึงอยากอธิบายให้เข้าใจถึงเรื่องความตาย
หากเราเข้าใจความตายดังอธิบายมานี้แล้ว คนเราจะเป็นผู้ไม่ประมาท

เราเกิดขึ้นมาเป็นเด็ก เหตุที่เพลิดเพลินมัวเมาว่ายังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่
ก็หลงลืมตัว ความเป็นจริง ความหนุ่มก็คือความตาย นั่นเอง
เพลินกับความตาย หลงกับความตาย ตนของตนตายอยู่ก็ลืมตัว ไม่รู้สึกตัว
เหตุนั้นจึงมัวเมา ประมาท ประกอบในทุจริต ทำผิดด้วยประการต่างๆ
อย่างขาดศีลธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม
เพราะเหตุที่ว่าลืมความตาย เมากับความตาย
เห็นความตายเป็นของสดสวยงดงาม เห็นเป็นหนุ่มเป็นสาวก็เลยมัวเมา
นี่คนไม่เข้าใจถึงความตาย
ถ้าหากว่าเราเข้าใจว่าเราตายไปทุกวันๆ เราจะได้เป็นผู้ไม่ประมาท

ความตายก็คล้ายๆ กับดวงอาทิตย์ ดวงตะวัน
มันขึ้นมาตั้งต้น ตั้งแต่มันโผล่มาเบื้องต้นตอนเช้าทางตะวันออก
เราเข้าใจว่าตะวันขึ้นเพราะมันโผล่ขึ้นมา
ความเป็นจริงมันเคลื่อนจะไปหาตะวันบ่ายนั่นเอง
มันจะลงดับไปนั่นเอง มันจะมืดมิดไป
พอมันโผล่ขึ้นมา ก็ดีอกดีใจว่าตะวันขึ้น
แท้ที่จริงไม่น่าจะดีใจ ควรจะคิดว่าตะวันมันขึ้นมาส่องแสง
เดี๋ยวมันจะดับลับไปเวลาไหนก็ไม่ทราบ
รีบประกอบกิจการงานที่ตนจะพึงทำเสียให้ทันกับกาลเวลา

ดังเช่นบุคคลที่เขารับจ้างทำงาน วันหนึ่งทำ ๘ ชั่วโมง
เขาจะรีบเร่งทำงานให้ทันเวลา ๘ ชั่วโมง
ถ้าหากว่าไม่ทันมันก็หมดเวลาไปเฉยๆ ก็เลยจะไม่ได้ค่าจ้างรางวัล
อย่างนี้เป็นต้น อุปมาเปรียบอย่างนั้น
คนเราเกิดขึ้นมานั้น อายุมันมีเครื่องหมายไม่เหมือนกับรับจ้างเขา
รับจ้าง ๘ ชั่วโมง เขายังมีกำหนดเวลา
คนเราไม่มีกำหนดหรอก กี่ปีจะตายไม่มีกำหนดหรอก
บางคนพอคลอดออกมาตายก็มี บางทีเป็นเด็กหนุ่มตายก็มี
บางทีแก่เฒ่าขนาดกลางตายก็มี มันไม่มีกำหนดเวลา

เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว สิ่งที่เราจะต้องทำให้เป็นประโยชน์
คือค่าจ้างรางวัล เราพึงจะได้จากสรีระร่างกายที่ยังไม่ทันดับทันแตกตายนี้
มันยังพอใช้ได้ ก็รีบพยายามทำเสีย
อุปมาเปรียบเหมือนกับคนที่ใช้เรือข้ามน้ำ ในเวลาที่มันยังไม่ทันแตกไม่ทันรั่ว
รับจ้างคนข้ามน้ำ รีบส่งรีบข้ามเสีย หากว่ามันแตกมันรั่วแล้วจะใช้ไม่ได้
หากว่ามันรั่วพอยาได้ ก็รีบทำการทำงานให้มันได้เงินได้ทอง
ให้มันมากพอคุ้มค่าเสีย ฉันนั้นเหมือนกัน
คนเราเกิดมาก็เหมือนเรามีเรือลำหนึ่งเหมือนกัน พายล่องไปๆ
ขึ้นล่องอยู่นี้ ขึ้นเหนือล่องใต้ ไปๆ มาๆ อยู่นี้
ในการที่เราได้เรือลำนี้พายล่องขึ้นล่องลงนี้ รีบรับจ้างเอาเงินเอาทองเสีย
สิ่งที่เราจะพึงได้ให้มันได้เสียแต่บัดนี้
อย่าให้ชักช้าเสียเวลาที่เราจะต้องทำ

ด้วยการฟังเทศน์ให้ได้ความรู้ความเข้าใจ ให้ฉลาด
เกิดความรู้ในทางธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จดจำให้มันได้ นี่รีบทำเสีย
ถ้าหากว่าไม่ทำเวลานี้ ต่อไปอาจจะไม่มีคนเทศน์ให้ฟัง
หรือบางทีเราอาจจะไม่มีโอกาสได้ฟัง เพราะมีอุปสรรคด้วยประการต่างๆ
หรือมิฉะนั้นเราอาจจะหูหนักหูตึง หรืออาจจะเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยประการต่างๆ
ไม่สามารถที่จะรับได้ฟังได้ มันมีหลายเรื่องอุปสรรคข้างหน้า
ในเมื่อเรายังมีหูตาสว่างแจ่มใส และมีจิตใจนึกคิดตรึกตรองได้
และมีคนเทศน์อบรมสั่งสอน
รีบปฏิบัติฝึกหัด หรือฟังเทศน์ฟังธรรม จดจำคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ได้

อันนี้เรียกว่ารีบแจวรีบพาย รับจ้างหาเงินทองสมบัติข้าวของที่ตนจะพึงได้

นอกจากนั้น ศีล ๕ ศีล ๘ สิ่งที่เป็นเครื่องชำระกายใจ รีบชำระมันเสีย
หากว่าเราไม่ชำระสะสางเสียแต่เวลานี้
เมื่อเราตายไปแล้ว สิ่งที่เราทำไว้นั้นจะไม่มีโอกาสได้ชำระ
ชำระเสียแต่มีโอกาสอยู่นี้ คือยังไม่ทันตาย
ถ้าหากว่าตายไปแล้ว ไม่มีโอกาสหรอกที่จะชำระสะสางจิตใจ
หรือสร้างบุญสร้างกุศล อย่าไปหวังเลยนอกจากโลกมนุษย์เราแล้ว
พวกเทพทั้งหลายที่ท่านกล่าวถึงเรื่องอยู่ในสวรรค์ชั้นฟ้าต่างๆ
ไม่มีเวลาจะได้ทำบุญตักบาตรหรอกพวกนี้ คืออยู่ด้วยความสุขความสบาย
ถ้าจะอุปมาเปรียบเหมือนกับ คนมีความสุขอยู่ในโลกนี้
เกิดความประมาทร่าเริงในความสุขสมบัติของตน
มีความร่ำรวยแล้วก็ลืมเสียว่าเพียงพอแล้ว ไม่ต้องเดือดร้อนวุ่นวายอะไร
แล้วละเลยลืมคุณงามความดี สร้างแต่สมบัติ ยินดีกับสมบัติของตนตามที่มีอยู่นั้น

นางวิสาขาเทศน์ให้พ่อสามีฟัง
เมื่อพ่อสามีได้เป็นเศรษฐีแล้วไม่ทำบุญสุนทาน
นางวิสาขาบอกว่า กินของเก่า
พ่อสามีโกรธ หาว่านางวิสาขาเหยียดหยามดูถูกตน
ธรรมดา ของเก่า ความหมายของคนโดยส่วนมาก
หมายถึง อุจจาระ ปัสสาวะ ว่าเป็นของเก่า
พ่อสามีจะเอาโทษนางวิสาขา
จึงเรียกกรรมการขึ้นมาปรึกษาหารือ สอบถามความจริงกัน
นางวิสาขาว่าไม่ได้หมายความอย่างนั้น
หมายถึงพ่อสามีทำบุญสุนทานไว้แต่ชาติก่อนแล้ว จึงค่อยได้มามีสมบัติมากมาย
ร่ำรวยจนได้เป็นเศรษฐีในชาตินี้ แล้วก็เลยมัวเมากับสมบัติของตนที่ตนได้ทำไว้แต่ก่อน
เรียกว่า กินของเก่า หมายเอาตรงนั้นต่างหาก
กินของเก่า ไม่ทำบุญต่อ

พอนางวิสาขาเทศน์ให้ฟังเท่านั้น พ่อสามีเลยสะดุ้งตื่นตกใจ
เห็นดีเห็นชอบกับลูกสะใภ้ จึงได้ยกนางวิสาขาให้เป็นมารดา
นางวิสาขาจึงมีฉายาว่า วิสาขา มิคารมาตา
พ่อสามีชื่อมิคารเศรษฐี ลูกสะใภ้ชื่อว่าวิสาขา
เหตุนั้นจึงได้ฉายาว่า วิสาขา มิคารมาตา
คือเป็นมารดาของมิคารเศรษฐี นั่นเอง นี่เป็นตัวอย่าง

คนเราหากไม่สร้างคุณงามความดีเสีย
เพลิดเพลินมัวเมาแต่ความสุขของตน เรียกว่ากินของเก่า

นี่แหละคนที่ลุ่มหลงมัวเมาลืมตนลืมตัวเป็นอย่างนี้
เมื่อเรามาพิจารณาถึงความตาย
จะหาอุบายวิธีสร้างคุณงามความดีของตนด้วยวิธีใดก็สุดแล้วแต่เถิด
จะเป็นการไหว้พระสวดมนต์ไม่ให้ขาดประจำวัน
หรือว่ามีศีล ๕ ประจำเป็นนิจ
หากไม่ได้ก็อย่าให้มันผิดแผกไปจากธรรมดา
วันศีลวันพระก็ให้มันได้ประจำ
รีบทำเสียเมื่อเรายังมีหู ตา อวัยวะ ครบครันบริบูรณ์
เรียกว่าสมบัติของเรามีครบมูลบริบูรณ์รีบทำเสีย

หรือมิฉะนั้นหากจะทำอย่างง่ายๆ อย่างสบายที่สุด
คือเรามาหัดภาวนากรรมฐาน โดยการที่เราไม่ได้ลงทุนอะไรเลย
นั่งทำกรรมฐานภาวนา ทำสมาธิพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เห็นตามเป็นจริง เป็นของไม่เที่ยง ยิ่งจะเป็นเหตุให้เรารีบร้อนทำคุณงามความดี
ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป โดยอย่างรวดเร็วที่สุด

นี่การพิจารณาถึงความตายมีประโยชน์หลายอย่างหลายประการ
เรียกว่าพิจารณาถึงความตายให้คุณค่ามหาศาล
ความตายที่เราพิจารณาถึงอยู่ตลอดทุกวันเวลานั้น
พระพุทธเจ้าท่านชมนักหนา แต่ท่านก็ไม่ได้อธิบายอะไรกว้างขวางมากมาย
ท่านบอกว่าเป็นของดีมีประโยชน์มาก
ความเป็นจริงมันเป็นจริงอยู่แล้ว แต่เราไม่อยากพิจารณาเห็นตามเป็นจริง
จึงไม่ได้รู้ความจริงของธรรมะ
ความตายเป็นจริงดังอธิบายมาแล้ว ใครๆ ไม่เว้นเลยสักคนเดียว
ทุกคนจะต้องตายด้วยกันทั้งนั้น
ถึงจะเพลิดเพลินมัวเมาลุ่มหลง
หรือว่าปลง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นสภาพตามเป็นจริงก็ตาม
แต่ผลที่สุดจะต้องแตกดับเหมือนกัน

พระพุทธเจ้าของเราท่านทรงเห็นชัดตามความเป็นจริงแล้วในทุกสิ่งทุกอย่าง
ว่าสังขารร่างกายเกิดมาแล้วก็ต้องดับ
แต่ถึงขนาดนั้นพระองค์ท่านก็ยังดับขันธปรินิพพาน พระสาวกทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน
คนประมาทมัวเมาทั้งหลายทั้งปวงหมด
ถึงจะไม่เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามสภาวธรรมก็ตาม
แต่ก็จะต้องตายเหมือนกัน แต่ว่าความตายมันผิดแผกกัน

คนมัวเมาประมาท ในเวลาตายไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่เกาะเกี่ยว
คือมีแต่ความทุกข์ เดือดร้อน กลุ้มใจ

โดยเฉพาะคนมีคนรวย ก็เลยไม่อยากตายจากสมบัติความสุขของตน
หรือมีครอบครัวก็ไม่อยากพลัดพรากจากครอบครัวของตน อาลัยอาวรณ์เสียดาย
ถ้าหากว่าผู้ที่ท่านมีสติปัญญา พิจารณาเห็นตามเป็นจริงดังอธิบายมาแล้วนั้น
ท่านก็ไม่ได้กังวลเกี่ยวข้องถึงเรื่องทั้งหลายเหล่านั้น
ถึงมันแตกดับก็มองเห็นชัดตามเป็นจริงว่า มันเป็นอย่างนั้นแน่นอน
เมื่อมันแตกดับก็เห็นตามเป็นจริง แสดงความจริงให้ปรากฏชัดขึ้นมา
ยิ่งเป็นสักขีพยานชัดเจนกว่า แล้วจะมีความทุกข์โศกมาจากไหน

ถ้าเห็นตามเป็นจริงแล้ว ไปทุกข์มันก็ไม่ได้อะไร
ไปโศกก็ไม่ได้อะไร จะไปเสียใจมันก็ไม่เห็นได้อะไร
มีแต่ทุกข์เราเท่านั้น เราเป็นคนทุกข์ต่างหาก
เรื่องทั้งหลายมันหาได้กลับคืนมาเป็นเราอีกไม่
มันจะต้องแตกชำรุดทรุดโทรมลงไป
คนที่ห่วงกังวลเกี่ยวข้องกับคนตาย เป็นทุกข์อาลัยอาวรณ์ร้องไห้ร้องห่มนั้น
มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก ถ้าจะร้องไห้ร้องห่มให้มันมีประโยชน์นั้น
เสียดายที่เราตายทุกวัน ยังได้ประโยชน์กว่า
หมดลมหายใจเข้าออกแล้ว ไปร้องไห้ร้องห่มเสียดาย มันจะกลับคืนมาหรือ ไม่มีหรอก
เราร้องไห้เราเสียดายในการที่เราตายทุกๆ วันนี้
เป็นทุกข์เดือดร้อนเพราะเหตุที่เราจะต้องตาย
ถ้าคิดได้อย่างนี้แล้ว คนจะสงบเยือกเย็น
คือเห็นความตายแล้วคนจะไม่เห่อเหิมกำเริบ
จะไม่ประมาทเหยียดหยามดูถูกคนอื่น และจะไม่มีการลักฉ้อโกงขโมย
จะมีแต่นิ่งสงบเยือกเย็น นอกจากนั้นอีกก็จะเห็นช่องทางที่จะทำคุณงามความดีต่อไป

คนเจ็บไข้ได้ป่วยจะกลัวตาย รีบวิ่งเข้าวัดเข้าวา สร้างบุญสร้างกุศล ทำบุญตักบาตร
อย่างน้อยคนคิดถึงความตาย คือคิดถึงอายุของตน
ว่าอายุ ๓๐ ปี ๔๐ ปี หรือถึงวันเกิด เดือนเกิด ปีเกิด จะต้องทำบุญอายุ
อันนี้เนื่องจากพิจารณาถึงความตายทั้งนั้น จึงว่าความตายมีคุณค่ามหาศาล
ผู้จะทำคุณงามความดีทั้งหลาย ล้วนแต่พิจารณาถึงความตาย
คนประมาทไม่ได้พิจารณาถึงความตาย
ทำชั่วได้ร้อยแปดพันเก้า ทำได้ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีเลือก
เหตุนั้น ความตายจึงเป็นของมีคุณค่าดังอธิบายมาแล้ว
ทุกคนจึงต้องพากันพิจารณาถึงความตายเป็นมรณสติ
คือเอาความตายมาเป็นเครื่องพิจารณา เป็นเครื่องระลึกอยู่ตลอดกาลเวลา
ยิ่งเรามาหัดภาวนาอยู่แล้ว พอพิจารณาถึงความตาย จิตจะสงบเยือกเย็น
อารมณ์ทั้งหลายที่วุ่นวายส่งส่ายเกี่ยวข้องด้วยเรื่องภายนอกต่างๆ จะหายหมด
จิตจะเข้ามาเป็นสมาธิภาวนารวมอยู่ในที่เดียว นี่มันเป็นประโยชน์อย่างนี้


ความตายหาคุณค่าไม่ได้ ซื้อเอาไม่ได้ ขายไม่ได้
จะไปขอซื้อขอขายการที่พิจารณาถึงความตายไม่ได้เด็ดขาด และไม่มีใครซื้อขายเสียด้วย
ที่เราพิจารณาถึงความตายไม่มีใครซื้อขายกัน
ถ้าใครมีอุบายปัญญาเพ่งพิจารณาถึงความตายด้วยตนเองแล้ว
เป็นของมีค่าปรากฏขึ้นมาในนั้นเอง
คือจะได้ความสงบเยือกเย็นดังอธิบายมาแล้ว
อธิบายเรื่องมรณสติ พิจารณาความตาย
สรุปรวมความพอที่จะหยิบยกเอาไปคิดพิจารณาได้เพียงเท่านี้
ทุกคนจงพากันสนใจและตั้งใจพิจารณาให้เกิดปัญญาความรู้
อาศัยอัปปมาทธรรม
ความไม่ประมาท ก็จะนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ
ดังอธิบายมาด้วยประการฉะนี้

sathu2 sathu2 sathu2

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

จากพระธรรมเทศนา “มรณสติ” ใน
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๐ โดย ปฐมและภัทรา นิคมานนท์
ฉบับพิมพ์เมื่อสิงหาคม ๒๕๕๒.



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP