จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ความรู้จากหอฝิ่น



งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

094_destination

เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ ผมได้มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดเชียงรายนะครับ
โดยในการเดินทางคราวนี้ ก็ได้มีโอกาสแวะไปนมัสการและทำบุญที่วัดต่าง ๆ หลายวัด
ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผมได้เคยเดินทางไปวัดไกล ๆ หลายแห่งในจังหวัดต่าง ๆ ในหลายภาค
รวมทั้งที่ได้เดินทางในคราวนี้ด้วย ผมได้พบข้อสังเกตข้อหนึ่งครับว่า
ไม่ว่าวัดที่ผมได้มีโอกาสไปนมัสการนั้น จะอยู่ไกลหรืออยู่ติดชายแดนแค่ไหน
จะอยู่ลึกเพียงไร จะอยู่สูงแค่ไหน จะเข้าไปยากลำบากเพียงไร หรือจะอยู่จังหวัดใดก็ตาม
จะมีอยู่ท่านหนึ่งที่ได้ไปแล้วก่อนหน้าผมเสมอ ท่านนั้นก็คือ “ในหลวง” ครับ

มีบ่อยครั้งครับที่วัดซึ่งผมได้เดินทางไปนั้น ต้องขึ้นเขาไปสูงมาก หรือต้องขับรถเข้าไปลึกมาก
แต่ปรากฏว่าพอไปถึงที่วัด ผมก็ได้พบต้นไม้ที่ในหลวงท่านทรงปลูกไว้จนโตงอกงามแล้ว
หรือพบสัญลักษณ์ที่ว่าในหลวงท่านเคยเสด็จมาก่อนแล้ว
สิ่งที่ผมได้พบเห็นนี้ เป็นเครื่องยืนยันแก่ตัวผมเองได้ในสิ่งที่ผมเคยได้ยินมาว่า
ในหลวงได้ทรงเสด็จไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือราษฎรนั้นเป็นเรื่องจริง
ซึ่งบางแห่งที่ผมได้เคยเดินทางไปนั้น ผมยังเรียกว่าเดินทางลำบาก หรือลำบากมากเลย
แล้วพระองค์ที่เสด็จเมื่อหลายสิบปีก่อน ก็คงจะต้องลำบากกว่าผมไปในขณะนี้มากมายนัก

ในการเดินทางครั้งนี้ ผมไม่ได้เป็นคนเลือกและจัดรายการเดินทางนะครับ
แต่ภรรยาผมเป็นผู้จัดรายการครับ โดยเราได้ไปค้างที่อำเภอเชียงแสนอยู่หนึ่งคืน
หนึ่งในรายการที่เธอกำหนดว่าจะแวะไปชมก็คือ “หอฝิ่น”
ในช่วงเช้าวันดังกล่าว เราได้ไปแวะ “พิพิธภัณฑ์ฝิ่น” แล้ว
(มีพิพิธภัณฑ์ฝิ่น และก็มีหอฝิ่นด้วยนะครับ ซึ่งสถานที่สองแห่งนี้ ไม่เหมือนกัน)
ผมเดินชมพิพิธภัณฑ์ฝิ่นแล้วก็ได้ความรู้เกี่ยวกับการสูบฝิ่นและอุปกรณ์ในการสูบฝิ่นพอสมควร
ก็คิดสงสัยว่า เรายังควรจะไปหอฝิ่นอีกหรือเปล่า เพราะหากแวะสถานที่น้อยลง
เราก็จะมีเวลาแวะวัดต่าง ๆ นานขึ้น ก็จะได้ใช้เวลานั่งหรือเดินในวัดได้นานมากขึ้น

ผมจึงลองเปรย ๆ ถามภรรยาดู ซึ่งเธอก็ตอบว่า “แล้วแต่นะ ... จะไม่ไปก็ได้”
แต่ อืมม์ ดูสีหน้าเวลาเธอตอบแล้ว ผมรู้สึกว่าควรจะไปหอฝิ่นตามที่เธอได้กำหนดไว้เดิมจะดีกว่า
ก็คล้าย ๆ กับว่าผมมองท้องฟ้าแล้วเห็นเมฆครึ้ม ๆ ก็รู้สึกได้ว่าพายุฝนกำลังจะมาน่ะครับ
เราจึงได้เดินทางไปที่ “หอฝิ่น” กันต่อ ซึ่งก็อยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์ฝิ่นเท่าไรนัก
พอได้ไปเดินชมหอฝิ่นแล้ว ปรากฏว่าเป็นหนังคนละเรื่องกับพิพิธภัณฑ์ฝิ่นเลย
เพราะสถานที่ใหญ่โตกว่ามาก สิ่งจัดแสดง และข้อมูลความรู้นั้นมีเยอะกว่า
โดยการจัดสถานที่และสิ่งจัดแสดงนั้น ทำได้น่าสนใจและสวยงามมาก
สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดนั้นได้แก่ ความรู้ทั้งหลายที่เขาถ่ายทอดให้
ด้วยความจำกัดของเนื้อที่ ผมจึงไม่สามารถจะเล่าทั้งหมดได้ในบทความนี้
แต่ก็ขอเล่าบางส่วนที่จะโยงไปถึงเรื่องธรรมะอันเป็นวัตถุประสงค์หลักของเรานะครับ

ในส่วนของประวัติเกี่ยวกับฝิ่นนั้น มีหลักฐานวัตถุเกี่ยวกับการใช้ฝิ่นเริ่มเมื่อ ๗ พันปีก่อนมาแล้ว
โดยได้ใช้ฝิ่นกันในแถบเหนือหรือตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
แต่หลักฐานจารึกที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับฝิ่นคือ ตำราทางการแพทย์ของชาวสุเมเรียน
และชาวอาซิเรียน ระหว่าง ๓ พันถึง ๕ พันปีมาแล้ว
นอกจากนี้ การใช้ฝิ่นนั้นแพร่หลายในกรีซโบราณ ตะวันออกกลาง โรมัน และอียิปต์
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะใช้ฝิ่นในฐานะที่เป็นยารักษาโรค (แต่ก็มีใช้เผื่อเสพผ่อนคลายอยู่เหมือนกัน)

ในประเทศจีน ฝิ่นได้ปรากฏและมีการอ้างถึงเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ ๑๐
และมีการใช้ฝิ่นในประเทศจีนเพื่อปรุงยารักษาโรคต่อมาอีกหลายร้อยปี
ประเทศที่ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดในโลกในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมาก็คือ ประเทศอินเดีย
ซึ่งเมื่อประเทศอังกฤษเริ่มเข้ามามีอำนาจในแถบเอเชียใต้และตะวันออกแล้ว
บริษัทเอกชนของประเทศอังกฤษได้เข้ามาผูกขาดการซื้อฝิ่นในอินเดีย
และนำไปจำหน่ายต่อให้แก่ประเทศอื่น โดยเริ่มแรกก็เน้นไปที่ประเทศจีน

ทางราชสำนักจีนได้เห็นภัยอันตรายของฝิ่น จึงได้ประกาศพระบรมราชโองการในปี พ.ศ. ๒๒๗๒
เพื่อต่อต้านการค้าฝิ่น และการเสพฝิ่น ซึ่งในขณะนั้นได้มีการนำเข้าฝิ่นเพียง ๒๐๐ หีบต่อปีเท่านั้น
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ การนำเข้าฝิ่นเพิ่มขึ้นถึงจำนวน ๔๐,๐๐๐ หีบ หรือประมาณ ๒.๖ ล้านกิโลกรัม
จำนวนคนจีนที่ติดฝิ่นมีสูงถึงจำนวน ๑๒ – ๑๓ ล้านคนจากจำนวนประชากร ๔๐๐ ล้านคน
ในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ ชาวจีนที่ติดฝิ่นได้ใช้เงินถึง ๑๐๐ ล้านตำลึงต่อปีเพื่อซื้อฝิ่น
ในขณะที่รายได้ต่อปีของรัฐบาลจีนในขณะนั้น มีเพียง ๔๐ ล้านตำลึงเท่านั้น
ทางการจีนจึงต้องการให้ประชาชนเลิกเสพฝิ่น เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียเงินออกไปนอกประเทศ
แต่ในขณะเดียวกัน พ่อค้าชาวตะวันตกต้องการผลักดันให้การค้าฝิ่นเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในจีน
เพราะเป็นแหล่งรายได้มหาศาลของพ่อค้าเหล่านั้น จึงเป็นที่มาแห่งความขัดแย้ง

เหตุดังกล่าวส่งผลให้เกิดสงครามฝิ่นระหว่างประเทศจีนและหลายประเทศตะวันตกถึง ๒ ครั้ง
ซึ่งแม้จีนจะแพ้สงครามฝิ่นครั้งแรก และต้องลงนามในสนธิสัญญานานกิงในปี ๒๓๘๕ ก็ตาม
แต่พระเจ้าจักรพรรดิของจีนก็ยังทรงคัดค้านไม่ให้ฝิ่นเป็นสิ่งถูกกฎหมาย
และต่อมาจีนได้แพ้สงครามฝิ่นครั้งที่สอง จึงต้องลงนามในสนธิสัญญาเทียนสินในปี ๒๔๐๓
ซึ่งเป็นผลให้การค้าฝิ่นในประเทศจีนเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย
โดยมหาอำนาจตะวันตกประเทศอื่น ๆ ก็ได้เข้ามาเจรจาขอทำสัญญาเงื่อนไขเดียวกันกับจีน
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ การนำฝิ่นเข้ามาในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็นปีละ ๙๖,๐๐๐ หีบ
หรือประมาณ ๖ ล้านกิโลกรัม ซึ่งต่อมาก็ได้เริ่มมีการผลิตฝิ่นในประเทศจีน
ในแถบตะวันตกเฉียงใต้ (ยูนนาน) ภายใต้การควบคุมของอังกฤษ
จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะในประเทศจีนแล้ว
การสูบฝิ่นจึงถูกสั่งห้าม และเป็นการจบสิ่งเลวร้ายนี้ลงอย่างเด็ดขาด

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ฝิ่นถือเป็นสินค้าของห้ามมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว
ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ ก็ยังคงมีการห้ามค้าฝิ่นและสูบฝิ่นอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่จีนกำลังมีสงครามฝิ่นกับชาติตะวันตกนั้น
ประเทศสยามได้มีการกวาดล้างฝิ่นครั้งใหญ่ในภาคใต้
โดยในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ ได้มีการจับฝิ่นดิบได้มากกว่า ๓,๗๐๐ หาบ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงให้เผาทำลายฝิ่นทั้งหมดที่หน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรค์
ส่วนกลักทองเหลืองที่ใส่ฝิ่นนั้น พระองค์ท่านทรงให้หลอมแล้วหล่อเป็นพระพุทธรูป
และอัญเชิญประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในศาลาการเปรียญที่วัดสุทัศน์เทพวราราม
ซึ่งในรัชกาลต่อมา ได้รับพระราชทานนามว่า “พระพุทธเสรฏฐมุนี”

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศสยามไม่สามารถฝืนต้านแรงกดดัน
ของมหาอำนาจตะวันตกได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องประกาศให้ฝิ่นเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย
และการสูบฝิ่นเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายเป็นครั้งแรก (ไม่เช่นนั้นสยามก็คงต้องมีสงครามฝิ่นเหมือนกับจีน)
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ทางอังกฤษก็ได้ส่งเซอร์ จอห์นบาวริ่งมาเจรจาและ
ให้ประเทศสยามลงนามใน “สนธิสัญญาบาวริ่ง” ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อตกลงที่ไทยเสียเปรียบทั้งสิ้น
(และเป็นต้นแบบให้มหาอำนาจตะวันตกอีกหลายประเทศมาขอทำสนธิสัญญาทำนองเดียวกัน)
รวมถึงมีข้อตกลงให้ฝิ่นเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมายด้วย โดยพ่อค้าอังกฤษสามารถนำฝิ่นเข้ามา
ในประเทศสยามได้ โดยไม่จำกัดปริมาณ และไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า
อย่างไรก็ดี ฝ่ายสยามได้กำหนดว่าฝิ่นที่นำเข้าต้องขายให้เจ้าภาษีซึ่งทางฝ่ายสยามเป็นผู้แต่งตั้งเท่านั้น
ฝิ่นในประเทศสยามได้มีการขยายตัวมากขึ้น จนกระทั่งได้มีการเพาะปลูกฝิ่นในประเทศสยาม
และต่อมา บริเวณสามเหลี่ยมทองคำซึ่งเชื่อมกับภาคเหนือของสยาม
ได้กลายเป็นแหล่งผลิตฝิ่นและค้าฝิ่นที่ใหญ่โตที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ประเทศสยามได้เข้าร่วมกระแสต่อต้านฝิ่นในโลกตะวันตกในปี พ.ศ. ๒๔๕๒
ผ่านมาอีก ๕๐ ปีจนถึงสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ
ฉบับลงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๐๑ กำหนดให้ยกเลิกการเสพฝิ่น
และการจำหน่ายฝิ่นในประเทศไทยนับแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๐๒ เป็นต้นไป
โดยการเสพฝิ่นและการจำหน่ายฝิ่นถือเป็นความผิดและมีโทษตามกฎหมาย
โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้เป็นประธานการเผาฝิ่นในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๐๒
ซึ่งเหล่าผู้ติดฝิ่นได้นำหีบฝิ่น และอุปกรณ์สูบฝิ่นไปเผาที่ท้องสนามหลวง
ซึ่งแม้ว่าจะได้มีการออกกฎหมายห้ามการเสพและการจำหน่ายฝิ่นดังกล่าวแล้วก็ตาม
แต่ชาวเขาไทยก็ยังทำไร่ฝิ่นต่อไป โดยการทำไร่เลื่อนลอย เพื่อหารายได้ยังชีพ
โดยชาวเขาไทยเหล่านี้ทำไร่แล้วอพยพย้ายไปเรื่อย ๆ อันเป็นการทำลายป่า และต้นน้ำลำธาร
ส่งผลให้ป่าและต้นน้ำลำธารถูกทำลายไปเรื่อย ๆ จนถึงขั้นวิกฤติ
ในขณะที่ชาวเขาไทยก็ยังไม่พ้นจากความยากจน แต่กลับยิ่งยากจนขัดสนมากขึ้น ๆ

ในหลวงท่านทรงตระหนักว่าปัญหาการปลูกและผลิตฝิ่นนี้สามารถแก้ได้ด้วยการปลูกพืชทดแทน
โดยเมื่อสหประชาชาติได้มากราบทูลพระองค์ท่านว่า
ประเทศไทยจะหยุดการปลูกและผลิตยาเสพติดได้ใน ๘ ปี
พระองค์ท่านได้มีพระราชดำรัสว่า คงทำได้ แต่ต้องใช้เวลาอีก ๓๐ ปี
ประเทศไทยจึงจะแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างยั่งยืน
ในหลวงท่านทรงเข้าพระราชหฤทัยดีว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาที่มีรากลึกนั้นต้องใช้เวลา
การปราบปรามการปลูกฝิ่นด้วยวิธีการทำลายล้างรุนแรงจะไม่ได้ช่วยแก้ไข
ปัญหาความเดือดร้อนของชาวเขาไทยซึ่งเป็นคนปลูกที่ยากจนเหล่านั้น

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ โครงการหลวงจึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างทางเลือกให้แก่ชาวเขาไทย
โดยให้ชาวเขาไทยได้มีความรู้ในการปลูกพืช ผัก ผลไม้ และไม้ดอกเมืองหนาว แทนการปลูกฝิ่น
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ สมเด็จย่าก็ได้ทรงเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุง
โดยนำความรู้ส่วนหนึ่งจากในหลวงมาทรงใช้
ในแผนดำเนินการระยะ ๓๐ ปีดังกล่าว ส่งผลให้การปลูกและผลิตฝิ่นได้ยุติลง
ปัญหาโสเภณีและการค้ามนุษย์ก็บรรเทาลง ในขณะที่อาชีพใหม่ทำให้ชาวเขาไทยมีรายได้ประจำ
โดยไม่ต้องไปปลูกและผลิตฝิ่น ไม่ต้องทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อม
ไม่ต้องทำผิดกฎหมาย สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นแบบอย่างแก่ชุมชนอื่น
การแก้ไขปัญหานี้เป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศจนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๔๗
องค์การสหประชาชาติได้ตัดชื่อประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่ปลูกฝิ่นติดอันดับโลก
และในโอกาสที่ในหลวงได้ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีนั้น
องค์การสหประชาชาติได้ทูลเกล้าถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แก่พระองค์

นอกจากนี้ สินค้าจากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ในเครื่องหมายการค้าดอยตุง – DOITUNG
ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จย่านั้น
ได้รับอนุญาตจากสำนักงานด้านอาชญากรรมและยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ
(
United Nations Office on Drugs and Crime - UNODC)
ให้ติดสัญลักษณ์
UNODC เพื่อแสดงว่าสินค้านี้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาความยากจน
และสามารถยุติกระบวนการผลิตยาเสพติดในพื้นที่โดยใช้แนวทางแก้ไขปัญหาแบบสันติวิธี
และการพัฒนาโดยอาศัยทางเลือกแบบยั่งยืน (สังเกตคำว่า “สันติวิธี” และ “ยั่งยืน” นะครับ)

จริง ๆ แล้ว ก็ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ไม่น้อย แต่ผมขอเล่าเพียงเท่านี้นะครับ
ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นที่เล่ามา ก็คงจะทำให้เราเห็นได้ว่า
การที่ประเทศมหาอำนาจจะพยายามเอารัดเอาเปรียบประเทศที่อ่อนแอกว่านั้นมีมาโดยตลอด
โดยมุ่งหวังเพียงต้องการผลประโยชน์ทางการค้า และทรัพย์สินเงินทอง
แม้กระทั่งจะพยายามยัดเยียดบังคับขายยาเสพติดให้นั้น ก็ยังเคยทำมาแล้วในอดีต
ในส่วนของประเทศไทยนั้น เราต้องชื่นชมพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทยนะครับ
โดยพระองค์ท่านทรงพระปรีชาช่วยนำพาประเทศไทยให้อยู่รอดมาได้
การที่ประเทศไทยเรามีเอกราชอยู่รอดมาได้นี้เป็นสิ่งสำคัญมากนะครับ
อย่างน้อยที่สุด หากจะตกลงอะไรกัน ก็ยังมีการเจรจาทำสนธิสัญญา (แม้ว่าจะเสียเปรียบก็ตาม)
แต่หากประเทศเราตกเป็นเมืองขึ้นหรือเป็นอาณานิคมของเขาแล้ว ก็ไม่ต้องเจรจาอะไรแล้วล่ะครับ
เราก็เพียงแต่รับคำสั่งของเขา เพราะเขาก็ส่งคนของเขามาปกครองเราแล้ว

ในเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้นำกลักทองเหลืองที่ใส่ฝิ่นมาหลอม
แล้วหล่อเป็นพระพุทธรูป และอัญเชิญประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในศาลาการเปรียญ
ที่วัดสุทัศน์เทพวรารามนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าสังเกตนะครับว่า
พระองค์ท่านได้ทรงเปลี่ยนจากสิ่งที่ไม่ดี และเป็นโทษนำมาหล่อหลอมใหม่
แล้วทำให้กลายเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ได้ ซึ่งนับเป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ ครับ
พวกเราทุกคนก็ควรจะลองมองย้อนเข้ามาในชีวิตเราเองนะครับว่า
พวกเรามีทำสิ่งไม่ดี และเป็นโทษบ้างไหม จะมากบ้างหรือน้อยบ้างก็ตาม
แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะเปลี่ยนสิ่งไม่ดี และเป็นโทษเหล่านั้นเสียใหม่
โดยเปลี่ยนใหม่ให้กลายเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ให้ได้
อย่างน้อยที่สุด ในเวลาที่เราทำสิ่งไม่ดี และเป็นโทษนั้น
เราก็ต้องทำด้วยการใช้กาย วาจา ใจของเราไปทำสิ่งนั้น เราจะเปลี่ยนใหม่ได้ไหมว่า
ต่อไปนี้ เราจะใช้กาย วาจา ใจของเราไปทำสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์
และเลิกใช้กาย วาจา ใจของเราไปทำสิ่งไม่ดี และเป็นโทษเดิม ๆ เหล่านั้น

เราลองพิจารณาถึงวิธีการแก้ไขปัญหาของในหลวงในเรื่องการปลูกและผลิตฝิ่นของชาวเขาไทย
พระองค์ได้ทรงเสียสละอดทนและช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรอย่างต่อเนื่อง
เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๓๐ ปีจนกระทั่งปัญหาการปลูกและผลิตฝิ่นของชาวเขาไทยได้หมดไป
โดยนี่ก็เป็นเพียงหนึ่งในโครงการจำนวนนับไม่ถ้วนที่พระองค์ท่านได้ทรงทำเพื่อพสกนิกรชาวไทย
สังเกตว่าการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของพระองค์ท่านนั้น จะทรงทำแบบยั่งยืน และให้ราษฎรพึ่งตนเองได้
เช่น สอนให้ชาวเขาไทยรู้จักการปลูกพืช ผัก ผลไม้ และไม้ดอกเมืองหนาว แทนการปลูกฝิ่น เป็นต้น
(หรือจะดูโครงการอื่น ๆ เกี่ยวกับดิน น้ำ เขื่อน ชลประทาน ป่า พันธุ์พืช ฯลฯ ในพื้นที่อื่น ๆ ก็ตาม)
ไม่ใช่โครงการที่ทำแบบฉาบฉวยแบบปีต่อปี แล้วราษฎรไม่สามารถพึ่งตนเองได้
หรือแม้แต่แนวพระราชดำริในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
ก็เป็นสิ่งที่แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และทำให้พึ่งตนเองได้

เราลองเทียบกับโครงการประชานิยมของฝ่ายการเมือง (จะลองดูโครงการของพรรคการเมืองไหนก็ได้)
ลองพิจารณานะครับว่าโครงการประชานิยมเหล่านี้ยั่งยืนหรือไม่ ช่วยให้ราษฎรพึ่งพาตนเองได้หรือไม่
หรือเป็นเพียงโครงการฉาบฉวยแบบปีต่อปี และต้องให้ประชาชนพึ่งพาฝ่ายการเมืองไปเรื่อย ๆ
ประเภทที่ว่าหากไม่เลือกฉันแล้ว โครงการเหล่านี้ก็จะไม่มี พวกเธอก็จะลำบาก
ดังนั้น พวกเธอก็จะต้องเลือกฉันไปเรื่อย ๆ ต้องพึ่งพาฉันไปเรื่อย ๆ ... มันเป็นอย่างนี้ใช่หรือไม่

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และอย่างพึ่งพาตนเองได้นี้เป็นสิ่งสำคัญนะครับ
การแก้ไขปัญหาเพื่อให้พ้นจากทุกข์ของเราก็เช่นกันที่ว่า
เราควรเลือกเส้นทางเดินที่ยั่งยืน และพึ่งพาตนเองได้นะครับ
คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เราพ้นทุกข์ได้อย่างยั่งยืน และพึ่งพาตนเองได้
หากเรายังมัวแต่สนใจวิธีการพ้นทุกข์แบบชั่วคราว เช่น ไปดูหนังฟังเพลงให้หลง ๆ เพลิน ๆ ชั่วคราว
ไปทำสมาธิให้ใจสงบเพื่อหนีเรื่องกลุ้มใจเพียงชั่วครู่ อย่างนั้นไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืนครับ
หากเรายังมัวแต่หวังพึ่งพาคนอื่นอยู่ เช่น หวังว่าได้มีแฟนแล้ว จะทำให้มีความสุข
หวังว่ามีลูกแล้วจะทำให้มีความสุข หวังว่าใครคนอื่นจะมาช่วยให้เรามีความสุข
หวังว่าคนโน้นคนนี้จะช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้ แต่ไม่ได้มุ่งพึ่งตนเอง ย่อมไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ที่แท้จริงครับ

ธรรมะใกล้ตัว ฉบับ Lite นี้ก็เป็นฉบับส่งท้ายปีเก่า ๒๕๕๕
แล้วเราก็จะไปต้อนรับปีใหม่ ๒๕๕๖ กันใน ธรรมะใกล้ตัว ฉบับ
Grand นะครับ
ในโอกาสนี้ ผมก็ขอเชิญชวนให้ทุกท่านได้ร่วมรำลึกถึงพระคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงเสด็จไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย และทรงทำโครงการต่าง ๆ นับไม่ถ้วน
เพื่อช่วยเหลือให้พสกนิกรชาวไทยได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้
โครงการต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ทรงทำนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือราษฎรอย่างยั่งยืน และให้พึ่งพาตนเองได้
แม้บางโครงการจะต้องใช้เวลาเนิ่นนานกว่า ๓๐ ปีก็ตาม พระองค์ก็ทรงอดทนทำอย่างต่อเนื่อง
(อนึ่ง เมื่อวันก่อน ผมได้อ่านข้อความจากท่านหนึ่งเล่าว่า มีคุณหมอท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า
ในขณะที่ในหลวงทรงพระประชวรและทรงพักอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชนี้
พระองค์ได้ทรงคิดค้นลูกอมเยลลี่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งในช่องปาก
(โดยผู้ป่วยมะเร็งในช่องปากจะทานอาหารได้ยาก) เพื่อให้พวกเขาได้กลืนง่าย
มีสารอาหารครบถ้วน และมีรสชาติอร่อย และทรงให้ผลิตเพื่อแจกผู้ป่วยฟรี)

นอกจากนี้ ก็เชิญชวนให้พิจารณาว่าเรามีทำสิ่งไม่ดี และเป็นโทษบ้างไหม
แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะเปลี่ยนสิ่งไม่ดี และเป็นโทษเหล่านั้น
ให้กลายเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ให้ได้
และท้ายสุด ขอให้เราพิจารณาถึงวิธีการแก้ไขปัญหาความทุกข์ในชีวิตของเราเอง
โดยพิจารณาว่าวิธีการแก้ไขปัญหาของเราเป็นวิธีการที่ยั่งยืน และพึ่งพาตนเองได้หรือไม่
หรือเป็นเพียงวิธีการชั่วครั้งชั่วคราว และต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นกันแน่



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP