ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

จูฬตัณหาสังขยสูตร ว่าด้วยความสิ้นไปแห่งตัณหา



กลุ่มไตรปิฎกสิกขา

[๔๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ปราสาทแห่งมิคารมารดา
ในพระวิหารบุพพาราม ใกล้นครสาวัตถี.

ครั้งนั้น
ท้าวสักกะจอมเทพ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถวายอภิวาทแล้ว ได้ยืนอยู่
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร
ภิกษุชื่อว่าพ้นเพราะความสิ้นแห่งตัณหา
มีความสำเร็จอย่างเด็ดขาด
มีความเกษมจากโยคะอย่างเด็ดขาด เป็นพรหมจารีอย่างเด็ดขาด มีที่สุดอย่างเด็ดขาด
เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
?

[๔๓๔] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า
ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น
. ถ้าข้อนั้น ภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า
ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวง
ครั้นทราบชัดธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง
ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว
เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี
เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
พิจารณาเห็นความหน่าย
พิจารณาเห็นความดับ
พิจารณาเห็นความสละคืน ในเวทนาทั้งหลายเหล่านั้นอยู่
เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้นอยู่
ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลก
เมื่อไม่ยึดมั่น
ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตัว
และทราบชัดว่า
ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
จอมเทพ
กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้แล
ภิกษุชื่อว่าพ้นเพราะความสิ้นแห่งตัณหา
มีความสำเร็จอย่างเด็ดขาด
มีความเกษมจากโยคะอย่างเด็ดขาด เป็นพรหมจารีอย่างเด็ดขาด มีที่สุดอย่างเด็ดขาด
เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
.

ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทำประทักษิณแล้วหายไปในที่นั้นนั่นเอง.


พระมหาโมคคัลลานะเข้าไปถามท้าวสักกะ

[๔๓๕] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ นั่งอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า
มีความดำริว่า
“ท้าวสักกะนั้นทราบความพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วจึงยินดี
หรือว่าไม่ทราบก็ยินดี
ถ้ากระไร เราพึงรู้เรื่องท้าวสักกะทราบความพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจึงยินดี

หรือว่าไม่ทราบแล้วก็ยินดี
?
ลำดับนั้น
ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้หายไปจากปราสาทของมิคารมารดา
ในวิหารบุพพาราม ไปปรากฏในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์

ประหนึ่งบุรุษที่มีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ออกหรือคู้แขนที่เหยียดเข้าฉะนั้น.
สมัยนั้นท้าวสักกะจอมเทพ
กำลังอิ่มเอิบ พร้อมพรั่งบำเรออยู่
ด้วยทิพยดนตรี ๕๐๐ ชนิดในสวนดอกบุณฑริกล้วน

ท้าวเธอได้เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะกำลังมาแต่ไกล

จึงให้หยุดเสียงทิพยดนตรี ๕๐๐ ชนิดไว้
เสด็จเข้าไปหา แล้วรับสั่งว่า
“ขอนิมนต์มาเถิด
พระคุณเจ้าโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์
ดีแล้วที่พระคุณเจ้าโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์มา
นานนักหนาแล้วที่พระคุณเจ้าโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์จะหาโอกาสมาที่นี่ได้
ขอนิมนต์นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้วเถิด.”
ส่วนท้าวสักกะจอมเทพได้ถือเอาอาสนะต่ำกว่าแห่งหนึ่ง
นั่งอยู่ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๔๓๖] ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ถามท้าวสักกะผู้นั่งอยู่ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า
“ท้าวโกสีย์
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสความพ้นเพราะความสิ้นแห่งตัณหา โดยย่อแก่ท่านอย่างไร?
ขอโอกาสเถิด
อาตมาใคร่ขอมีส่วนฟังกถานั้นบ้าง.

ท้าวสักกะตรัสว่า “ท่านพระโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้ามีกิจมาก
มีธุระที่จะต้องทำมาก
ทั้งธุระส่วนตัว ทั้งธุระของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์
พระภาษิตใดที่ข้าพเจ้าฟังแล้วก็ลืมเสียเร็วพลัน

พระภาษิตนั้น
ท่านฟังดี เรียนดี ทำไว้ในใจดี ทรงไว้ดีแล้ว
ท่านพระโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์
เรื่องเคยมีมาแล้ว
สงครามระหว่างเทวดาและอสูรได้ประชิดกันแล้ว
ในสงครามนั้น พวกเทวดาชนะ พวกอสูรแพ้
ข้าพเจ้าชนะ เทวาสุรสงครามเสร็จสิ้นแล้ว
กลับจากสงครามนั้นแล้ว ให้สร้างเวชยันตปราสาท
เวชยันตปราสาทมี ๑๐๐ ชั้น
ในชั้นหนึ่ง ๆ มีกูฏาคาร (เรือนยอด) ๗๐๐ หลัง
ในกูฏาคารหลังหนึ่งๆ
มีนางอัปสร ๗๐๐ นาง
นางอัปสรผู้หนึ่ง ๆ
มีเทพธิดาผู้บำเรอ ๗๐๐ นาง
ท่านพระโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์
ท่านปรารถนาเพื่อจะชมสถานที่น่ารื่นรมย์แห่งเวชยันตปราสาทหรือไม่?
ท่านพระมหาโมคคัลลานะรับด้วยดุษณีภาพ
.

[๔๓๗] ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ และท้าวเวสสวัณมหาราช
นิมนต์ให้ท่านพระมหาโมคคัลลานะนำหน้า เข้าไปยังเวชยันตปราสาท.
พวกเทพธิดาผู้บำเรอของท้าวสักกะ
เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะมาแต่ไกล
ก็เกรงกลัวละอายจึงเข้าสู่ห้องเล็กของตน ๆ

คล้ายกะว่าหญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้วก็เกรงกลัวละอายฉะนั้น.
ครั้งนั้น
ท้าวสักกะจอมเทพ และท้าวเวสสวัณมหาราช
เมื่อให้ท่านพระมหาโมคคัลลานะเที่ยวเดินไปในเวชยันตปราสาท ได้ตรัสว่า

“ท่านพระโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์
ขอท่านจงดูสถานที่น่ารื่นรมย์แห่งเวชยันตปราสาทแม้นี้
ขอท่านจงดูสถานที่น่ารื่นรมย์แห่งเวชยันตปราสาทแม้นี้
.

ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า “สถานที่น่ารื่นรมย์ของท่านท้าวโกสีย์นี้
ย่อมงดงามเหมือนสถานที่ของผู้ที่ได้ทำบุญไว้ในปางก่อน

แม้มนุษย์ทั้งหลายเห็นสถานที่น่ารื่นรมย์ไหน ๆ
เข้าแล้ว
ก็กล่าวกันว่างามจริง
ดุจสถานที่น่ารื่นรมย์ของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์.

ในขณะนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะมีความดำริว่า
“ท้าวสักกะนี้ เป็นผู้ประมาทอยู่มากนัก
ถ้ากระไร เราพึงให้ท้าวสักกะนี้สังเวช”
จึงบันดาลอิทธาภิสังขาร
เอาหัวแม่เท้ากดเวชยันตปราสาท เขย่าให้สั่นสะท้านหวั่นไหว.
ทันใดนั้น
ท้าวสักกะจอมเทพ ท้าวเวสสวัณมหาราช และพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์
มีความประหลาดอัศจรรย์จิต
กล่าวกันว่า
“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
นี้เป็นความประหลาดอัศจรรย์
พระสมณะมีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมาก
เอาหัวแม่เท้ากดทิพยพิภพ
เขย่าให้สั่นสะท้านหวั่นไหวได้.


วิมุตติกถา

[๔๓๘] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะทราบว่า
ท้าวสักกะจอมเทพมีความสลดจิต ขนลุกแล้ว
จึงถามว่า
“ท้าวโกสีย์
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถึงความพ้น เพราะความสิ้นแห่งตัณหาโดยย่นย่อแก่ท่านอย่างไร
ขอโอกาสเถิด
อาตมาใคร่ขอมีส่วนฟังกถานั้นบ้าง.

ท้าวสักกะจึงตรัสว่า “ท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้าจะเล่าถวาย
ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถวายอภิวาทแล้วได้ยืนอยู่ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร
ภิกษุชื่อว่าพ้นเพราะความสิ้นแห่งตัณหา
มีความสำเร็จอย่างเด็ดขาด
มีความเกษมจากโยคะอย่างเด็ดขาด เป็นพรหมจารีอย่างเด็ดขาด มีที่สุดอย่างเด็ดขาด
เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
?
เมื่อข้าพเจ้าทูลถามอย่างนี้แล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
จอมเทพ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น
ถ้าข้อนั้น
ภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวง
ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง
ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว
เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี
เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็นความดับ
พิจารณาเห็นความสละคืน ในเวทนาทั้งหลายเหล่านั้นอยู่

เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้นอยู่
ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลก
เมื่อไม่ยึดมั่น
ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตัว
และทราบชัดว่า
ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
จอมเทพ
กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้แล
ภิกษุชื่อว่าพ้นเพราะความสิ้นแห่งตัณหา
มีความสำเร็จอย่างเด็ดขาด
มีความเกษมจากโยคะอย่างเด็ดขาด เป็นพรหมจารีอย่างเด็ดขาด มีที่สุดอย่างเด็ดขาด
เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ท่านพระโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัส
ความพ้นเพราะความสิ้นแห่งตัณหาโดยย่อ แก่ข้าพเจ้าอย่างนี้แล
.

ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ชื่นชมยินดีภาษิตของท้าวสักกะ
แล้วได้หายไปจากหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์
มาปรากฏที่ปราสาทของมิคารมารดา
ในวิหารบุพพาราม
ประหนึ่งบุรุษผู้มีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ออก หรือคู้แขนที่เหยียดเข้า ฉะนั้น.

ครั้งนั้น พวกเทพธิดาผู้บำเรอของท้าวสักกะจอมเทพ
เมื่อท่านพระมหาโมคคัลลานะหลีกไปแล้วไม่นาน
ได้ทูลถามท้าวสักกะว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
พระสมณะนั้นเป็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระศาสดาของพระองค์หรืออย่างไร ?

ท้าวสักกะตรัสบอกว่า “เหล่าเทพธิดาผู้นิรทุกข์
พระสมณะนั้นไม่ใช่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระศาสดาของเรา

เป็นท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นสพรหมจารีของเรา”

พวกเทพธิดานั้นทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นลาภของพระองค์
พระองค์ได้ดีแล้ว ที่ได้พระสมณะผู้มีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมากอย่างนี้ เป็นสพรหมจารีของพระองค์
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระศาสดาของพระองค์
คงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากเป็นอัศจรรย์เป็นแน่.

[๔๓๙] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำได้ พระองค์เป็นผู้ตรัส
ความพ้นเพราะความสิ้นแห่งตัณหาโดยย่อ
แก่เทพผู้มีศักดิ์มากผู้ใดผู้หนึ่งบ้างหรือไม่ ?

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “โมคคัลลานะ เราจำได้อยู่ จะเล่าให้ฟัง
ท้าวสักกะจอมเทพเข้ามาหาเรา
อภิวาทเราแล้ว ได้ยืนอยู่ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้ถามเราว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร
ภิกษุชื่อว่าพ้นเพราะความสิ้นแห่งตัณหา
มีความสำเร็จอย่างเด็ดขาด
มีความเกษมจากโยคะอย่างเด็ดขาด เป็นพรหมจารีอย่างเด็ดขาด มีที่สุดอย่างเด็ดขาด
เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
?
โมคคัลลานะ
เมื่อท้าวสักกะนั้นถามอย่างนี้แล้ว
เราบอกว่า
จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น
ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวง
ครั้นทราบชัดธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง
ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว
เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี
เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
พิจารณาเห็นความหน่าย
พิจารณาเห็นความดับ
พิจารณาเห็นความสละคืน ในเวทนาทั้งหลายเหล่านั้นอยู่
เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้นอยู่
ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลก
เมื่อไม่ยึดมั่น
ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตัว
และทราบชัดว่า
ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี จอมเทพ

กล่าวโดยย่อ
ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล
ภิกษุชื่อว่าพ้นเพราะความสิ้นแห่งตัณหา
มีความสำเร็จอย่างเด็ดขาด
มีความเกษมจากโยคะอย่างเด็ดขาด เป็นพรหมจารีอย่างเด็ดขาด มีที่สุดอย่างเด็ดขาด
เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
โมคคัลลานะ เราจำได้อยู่ว่า
เราเป็นผู้กล่าวความพ้นเพราะความสิ้นแห่งตัณหาโดยย่อ
แก่ท้าวสักกะจอมเทพ อย่างนี้แล
.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว
ท่านพระมหาโมคคัลลานะ
มีใจชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแล.


จูฬตัณหาสังขยสูตรที่ จบ


(จูฬตัณหาสังขยสูตร พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๑๙)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP