สารส่องใจ Enlightenment

ปฏิปทาวันตรัสรู้ (ตอนจบ)



พระธรรมเทศนา โดยหลวงปู่จวน กุลเชฏฺโฐ
วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ

ปฏิปทาวันตรัสรู้ (ตอนที่ ๑) (คลิก)

ปฏิปทาวันตรัสรู้ (ตอนที่ ๒) (คลิก)



เมื่อย่างเข้าปัจฉิมยาม คือยามสุดท้าย
พระองค์ก็มีสติน้อมเข้ามาพิจารณาลมหายใจเข้าออกเช่นเดิม
ได้ตั้งอิทธิบาททั้ง ๔ ไว้เป็นประธานของสังขาร
คือ ฉันทิทธิบาท มีความพอใจด้วยความมีสติปัญญา
หยั่งรู้หยั่งเห็นอริยสัจธรรมทั้งสี่ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์
ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์ อยู่กับลมหายใจทุกประโยค
วิริยิทธิบาท มีความเพียรด้วยความมีสติปัญญา
หยั่งรู้หยั่งเห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ธรรมเป็นที่ดับทุกข์
ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์ อยู่กับลมหายใจทุกประโยค
จิตติทธิบาท เอาใจฝักใฝ่ด้วยความมีสติปัญญา
หยั่งรู้หยั่งเห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ธรรมเป็นที่ดับทุกข์
ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์ อยู่กับลมหายใจทุกประโยค
วิมังสิทธิบาท มีสติปัญญาหมั่นค้นคว้าพินิจพิจารณา
ให้รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ธรรมเป็นที่ดับทุกข์
รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์
อยู่กับลมหายใจทุกประโยค
มิให้พลั้งเผลอ

สติปัญญาของพระองค์บริบูรณ์เต็มที่ไม่บกพร่องตลอดเวลา เป็น อกาลิโก
มีสติควบคุม มีปัญญารอบรู้จิต อยู่กับลมหายใจทุกประโยค มิให้พลั้งเผลอ
แม้ยามสุดท้ายนี้จิตของท่านก็รวมลงสู่ฐีติจิตเหมือนเก่าที่เคยรวมมา
พระองค์ก็มีสติปัญญารอบรู้ว่าจิตของเราพักอยู่ ไม่รบกวนจิต
เมื่อจิตรวมพอประมาณ จิตนั้นก็พลิกขณะ คือถอนจากฐีติจิตขึ้นมาบ้างเล็กน้อย
ตอนนี้ท่านว่ารวมทวนกระแสของภวังค์คือ ตัดภพ ตัดกระแสของภพ ตัดกระแสของภวังค์
เพราะญาณต่างๆ พระองค์ได้ผ่านมาแล้ว
และทดสอบตรวจดูแล้วว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ให้พ้นทุกข์ไปได้

จึงว่ายามสุดท้ายนี้เมื่อจิตของพระองค์รวมลงแล้วถอนขึ้นมานี้
พระองค์ทวนกระแสตัดกระแสของภวังค์คือภพ
ได้แก่ ตัวเหตุตัวปัจจัยนี้เอง เป็นตัวกระแสของภวังค์คือภพ
คือตัวสมุทัย ตัณหา ความอยากนี้นี่แล
ความไม่รู้ ตัวนี้ ท่านก็เรียกว่าเป็นอวิชชา
ท่านจึงมาทำตัวเหตุตัวปัจจัย ซึ่งเป็นตัวกระแสของภวังค์ คือภพ ให้สิ้นไป
ดับตัวเหตุตัวปัจจัยนี้ให้หมดไปโดยไม่ให้เหลือนั่นเชียว
ละวางปล่อยสละสลัดตัดขาด จากตัวเหตุตัวปัจจัย
ซึ่งเป็นตัวกระแสของภวังค์ คือภพนี้ โดยไม่ให้เหลือนั้นนั่นเทียว ไปจากใจของท่าน

เมื่อท่านได้ตัดกระแสของภวังค์คือภพขาดแล้ว
ต่อแต่นั้นจึงว่าปัญญาอันรู้เห็นตามความเป็นจริงแล้วอย่างไร
ในอริยสัจธรรมทั้งสี่ของเรา
ซึ่งมีรอบสาม มีอาการสิบสองอย่างนี้ หมดจดดีแล้วเพียงนั้น
เมื่อนั้นเราจึงได้ยืนยันตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งปัญญา เครื่องตรัสรู้ชอบ
ไม่มีความตรัสรู้อื่นที่ยิ่งไปกว่าปัญญา
ในโลกสาม เป็นไปกับด้วยเทพดา มาร พรหม ทั้งหมู่มนุษย์
สมณพราหมณ์ เทพดา มนุษย์ เพียงนั้น
ก็แลปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงแล้วอย่างนี้ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ว่าความพ้นพิเศษของเราไม่กลับกำเริบ
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้เราไม่มีภพอีก
เพราะเราได้ตัดกระแสของภวังค์คือภพ ขาดแล้ว ตัวเหตุตัวปัจจัยไม่มีแล้ว
ดังนี้จึงได้บัญญัติว่า อาสวักขยญาณ คือพระองค์รู้จักทำความสิ้นไปจากอาสวะ
และรู้จักว่าอาสวะของเราได้สิ้นไปแล้ว เราได้สิ้นไปแล้วจากอาสวะทั้งหลาย
คือกามาสวะ ภาสวะ อวิชชาสวะ ทิฏฐิสวะ เหล่านี้เป็นต้น

ไม่มีแล้ว กามาสวะ พระองค์ไม่มีความหลงใหลใฝ่ฝัน
ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปตามกามารมณ์ทั้งหลาย
ภวาสวะ คือภพ ได้แก่ กำเนิด ๔ คติ ๕ ภพทั้ง ๓ วิญญาณฐีติจิต ๗ สัตตาวาส ๙
อวิชชาสวะ ได้แก่ อวิชชาคือความรู้ไม่แจ้งความรู้ไม่จริง
ทิฏฐิสวะ ความรู้ ความเห็นผิด นี้เรียกว่าอาสวะ เป็นส่วนที่ละเอียดลึกมาก
นี้ พระองค์รู้จักทำความสิ้นไปจากอาสวะ
และรู้จักความสิ้นไปจากอาสวะแล้วจากใจของท่าน

เมื่อพระองค์ทำอาสวะ ซึ่งเป็นตัวเหตุตัวปัจจัยส่วนละเอียดนี้
ให้สิ้นไป ให้ดับไป โดยไม่ให้เหลือนั้นนั่นเทียว
นั่นแหละ พระองค์จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้สิ้นไปแล้วจากอาสวะทั้งหลาย
ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน เป็นผู้เสร็จกิจ จบพรหมจรรย์
ไม่มีกิจที่จะต้องทำต่อไปอีก
ดังนี้
คือเป็นผู้เสร็จกิจในการละการวาง ในการประหารกิเลส
ไม่มีกิเลสอาสวะที่ต้องประหารหรือละวางอีก จึงเป็นผู้เสร็จกิจ ดังนี้
ที่เหลืออยู่ก็ยังแต่กริยากิจหรือปฏิปทากิจ
ทางดำเนินตามปฏิปทาอริยมรรค เพื่อความเหมาะสมและดีงามเท่านั้น
เหมือนกับว่าบุคคลผู้สร้างทางสำเร็จแล้ว ก็ไม่ได้สร้างอีก ไม่ได้ทำอีก
มีแต่การเดินตามหนทางที่ตนสร้างแล้วเท่านั้น
นี้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
แต่ส่วนการละการวาง การถอนกิเลส การประหารกิเลส การดับกิเลสนั้น ไม่มีอีกแล้ว
เพราะท่านได้ถอน ละวาง และดับหมดแล้ว
จึงว่าเป็นผู้เสร็จกิจ ไม่มีกิจที่ต้องทำ
ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ที่มีชีวิตก็มีแต่กริยากิจ ปฏิปทากิจ
ที่จะต้องดำเนินเพื่อความเหมาะสมในปฏิปทา ในอริยมรรคเท่านั้นนั่นเอง

ลำดับต่อไปพระองค์ก็ตรวจตราทวนกระแสดูใน ปฏิจฺจสมุปบาท ปัจจยาการ ว่า
เมื่ออวิชชาดับ สังขารก็ดับ สังขารดับ วิญญาณก็ดับ
วิญญาณดับ นามรูปก็ดับ นามรูปดับ อายตนะก็ดับ
อายตนะดับ ผัสสะก็ดับ ผัสสะดับ เวทนาก็ดับ
เวทนาดับ ตัณหาก็ดับ ตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ
อุปาทานดับ ภพก็ดับ ภพดับ ชาติก็ดับ
ชาติดับ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกความเศร้า
ความร้องไห้ รำพึงรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ
ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ก็ดับไปตามๆ กัน
ดังนี้

และพระองค์ก็ทวนหวนกลับอีกว่า
ชาติดับ ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็ดับ
เพราะชาติดับ ภพก็ดับ ภพดับ อุปาทานก็ดับ
อุปาทานดับ ตัณหาก็ดับ ตัณหาดับ เวทนาก็ดับ
เวทนาดับ ผัสสะก็ดับ ผัสสะดับ อายตนะก็ดับ
อายตนะดับ นามรูปก็ดับ นามรูปดับ วิญญาณก็ดับ
วิญญาณดับ สังขารก็ดับ สังขารดับ อวิชชาก็ดับ
อวิชชาดับ แล้วสิ่งทั้งหมดก็ดับไปตาม ๆ กัน
เท่านั้น
ค้นดูในปัจจยาการ ปฏิจฺจสมุปบาท อย่างละเอียดลออ
เต็มภูมิสติปัญญาของพระองค์ ไม่มีความสงสัยเลย
นี่แหละพระองค์ได้ทำตัณหานี้แลให้สิ้นไป
จึงได้อาสวักขยญาณ รู้ความสิ้นไปจากอาสวะทั้งหลาย
ได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
คือเป็นพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก
ในวันเพ็ญเดือนหก ดังนี้แหละ

หลังจากการตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ได้เยาะเย้ยตัณหาในพระหฤทัย
คือในใจของพระองค์เองว่า
ดูกร นายช่างเรือนคือตัณหา
เมื่อก่อนเรายังค้นตัวของท่านไม่พบ จับตัวของท่านไม่ได้
ไม่รู้ ไม่เห็นตัวของท่าน เพราะตัวของท่านมีมายามาก
และมีอวิชชาปกปิดไว้ มิให้เห็น
ท่านก็พาเราเที่ยวเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปในภพน้อยภพใหญ่ ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
บัดนี้เราได้จับตัวของท่านได้แล้ว ได้รู้เห็นตัวของท่านแล้ว
เราจะฟาดฟันท่านด้วยดาบเพชร คือพระวิปัสสนา ปัญญาของเรา
ท่านจะไม่ได้ก่อเรือนรังคือภพชาติอีกต่อไป
ปราสาทของท่านเราก็ได้ทำลายแล้ว
ยอดปราสาทของท่าน เราก็ได้ทำลายแล้ว
ปราสาทนั้นคือ จักษุประสาท ได้แก่ ตา โสตประสาท ได้แก่ หู
ฆนประสาท ได้แก่ จมูก ชิวหาประสาท ได้แก่ ลิ้น
กายประสาท ได้แก่ กาย มนะประสาท ได้แก่ ใจ เราได้ทำลายแล้ว
คือเราได้ยกขึ้นพิจารณา ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
คือเป็นของมิใช่ตน มิใช่ของตน มิใช่ของแห่งตนแล้ว


ยอดปราสาทคือตัวเหตุตัวปัจจัย ซึ่งตัวสมุทัยคือตัณหาความอยากนี้
ซึ่งมีอวิชชาปกปิดไว้ ไม่ให้รู้ให้เห็น
ให้เราหลงงมงาย เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่
ยอดปราสาทของท่านคืออวิชชาตัณหานี้
นี้เราได้ทำลายด้วยดาบเพชร คือพระวิปัสสนาของเราแล้ว คือปัญญาของเราแล้ว
ขาดสะบั้นลงไปแล้ว ไม่มีสะพานเชื่อมต่อ
ไม่เป็นปัจจยาการ อาการสืบเนื่องแห่งทุกข์ ทั้งหมดแห่งภพทั้งหลายอีกแล้ว ดังนี้
ท่านจะไม่ได้พาเราเที่ยวกระเซอะกระเซิง
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในภพน้อย ภพใหญ่ ให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปอีกแล้ว ดังนี้

และลำดับต่อไปพระองค์ก็ได้เปล่งพุทธอุทานขึ้นด้วยพระโอษฐ์ของพระองค์เองว่า
พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ ด้วยความมีสติปัญญา
ได้ตั้งอิทธิบาททั้ง ๔ ไว้เป็นประธานของสังขาร
คือ ฉันทิทธิบาท มีความพอใจด้วยความมีสติปัญญา
กำหนดดูรู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายอย่างนี้อยู่
เมื่อพรามหมณ์นั้น วิริยิทธิบาท มีความเพียรด้วยความมีสติปัญญา
รู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
จิตติทธิบาท เอาใจฝักใฝ่ด้วยความมีสติปัญญา
ให้รู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายอยู่กับลมหายใจทุกประโยค
วิมังสิทธิบาท หมั่นค้นคว้าพินิจพิจารณาด้วยความมีสติปัญญา
รู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายอยู่กับลมหายใจทุกประโยค ดังนี้

เมื่อพราหมณ์นั้นเป็นผู้รู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายแจ้งชัดแล้วดังนี้
พราหมณ์นั้นย่อมทำเหตุและปัจจัยทั้งหลายนั้นให้สิ้นไป

ดับเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายโดยไม่ให้เหลือนั้นนั่นเทียว
ละวางปล่อยสละสลัดตัดขาดจากเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย
ไปจากใจของตนโดยไม่ให้เหลือนั้นนั่นเทียว
เมื่อพราหมณ์นั้นทำเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย
ดับเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายโดยไม่ให้เหลือนั้นนั่นเทียว
ไปจากใจของท่านแล้ว
พราหมณ์นั้นย่อมเป็นผู้ชนะมารและเสนามาร
มารและเสนามารย่อมรังควานพราหมณ์นั้นไม่ได้
เหมือนลมรังควานภูเขาที่แท่งทึบไปด้วยหินศิลาใหญ่ๆ ไม่ได้
พราหมณ์ย่อมเป็นผู้รุ่งเรืองส่องสว่างอยู่ ไม่มีกาล ไม่มีเวลา เป็นอกาลิโก
ดุจพระอาทิตย์ที่อุทัยกำจัดอากาศที่มืดให้สว่างฉะนั้น
นี่พระองค์ได้เปล่งอุทาน ในยามสุดท้ายหลังจากการตรัสรู้ใหม่ๆ นั้น

นี่แหละที่ได้แสดงพระประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่พระองค์ตรัสรู้นั้น
เมื่อพวกเราได้ฟังแล้วพึงน้อมเข้าไปพิจารณาเอาเอง
สำหรับปฏิปทาทางภาวนา ในคืนวันที่พระองค์ตรัสรู้นั้น
นี่ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นท่านเคยยกแสดงให้ศิษยานุศิษย์ฟังบ่อยๆ
เพื่อให้เป็นคติแก่ศิษยานุศิษย์ต่อไป

อนึ่งการปฏิบัติทั้งหลาย นิสัยแต่ละท่านๆ แต่ละคนๆ
วาสนาแต่ละท่าน แต่ละคน ย่อมไม่เหมือนกัน
บางท่านบางคนจิตก็รวมง่าย บางท่านบางคนจิตก็รวมยาก
บางท่านบางคนจิตไม่รวมก็มี
เรื่องนี้ย่อมเป็นไปตามวาสนาบารมีของแต่ละท่านๆ
เมื่อผู้ใดหรือท่านใดภาวนาไป จิตไม่รวม
เดี๋ยวจะเข้าใจว่าตนภาวนาเป็นไปไม่ได้ อย่างนี้
อย่างนี้อย่าเพิ่งเสียใจ
เพราะพระอริยสาวก แต่ก่อนบางองค์จิตท่านก็รวม บางองค์จิตท่านก็ไม่รวม
พอจิตสงบเข้าอยู่ในขั้นอุปจารสมาธิ
ท่านพิจารณารู้เห็นตามเป็นจริงในสัจธรรมแล้ว
ท่านก็หลุดพ้นไปจากอาสวกิเลสได้ พ้นทุกข์ไปได้ ไม่มีความสงสัยเลย
ขอยุติการแสดงธรรมแต่เพียงนี้


sathu2 sathu2 sathu2


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก
พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ ชีวประวัติ ปฏิปทา และธรรมเทศนา
วัดเจติยาคีรีวิหาร จัดพิมพ์ถวายเป็นอนุสรณ์ในวโรกาสเสด็จพระราชทานเพลิง
พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ ณ วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อ.บึงกาฬ จ. หนองคาย
วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๔



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP