กระปุกออมสิน Money Literacy

เงินเหลือ โปะอะไร รถ หรือ บ้าน? บ้าน หรือ รถ?


Mr.Messenger
สนใจติดตามข่าวสารการลงทุนได้ที่ http://twitter.com/MrMessenger

บทความตอนที่แล้ว เล่าถึงหลักการและแนวคิดในการเป็นหนี้อย่างมีสติ ว่าสุดท้ายคนๆหนึ่ง หากจะมีหนี้ก้อนใหญ่ ควรจะได้อะไรกลับมา ระหว่าง บ้าน กับ รถ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว มันขึ้นอยู่กับความจำเป็น และความสามารถของผู้กู้ ก็คือ ตัวเราเป็นหลักนะครับ การคิดให้รอบคอบ พยายามมองให้ครบ ๓๖๐ องศา ถึงแม้ว่าบางครั้ง ไม่ได้ทำให้เราสามารถเลือกได้แบบฟันธง แต่อย่างน้อย ก็ทำให้เราไม่มานั่งเสียใจภายหลัง เพราะตอนที่เลือก เราก็วิเคราะห์มาแล้วแทบจะครบทุกมุม

มาคราวนี้ สำหรับคนที่มีทั้งบ้าน และรถ มีเงินเหลือเก็บ มีเงินก้อนอยู่กับตัว หลายท่านคงอยากให้ตัวเบาลง ด้วยการนำเงินก้อนโตมาโปะ เพื่อลดเงินต้นลง คำถามคือ แล้วเลือกเอาไปโปะอะไรดีหนอ? วันนี้ไปหาคำตอบกัน

ก่อนอื่น เราควรทำความรู้จักกับการคิดดอกเบี้ยบ้านและรถก่อนว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ความแตกต่างของการคิดดอกเบี้ย ต่างกันตรงที่ระบบการให้กู้และวิธีการคิดดอกเบี้ย

เงินกู้ซื้อรถ โดยส่วนใหญ่มักคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่อน (Flat Rate) ดังนั้นการกู้แบบนี้ หากคิดว่ามีเงินแล้วนำไปโปะ ก็แค่ตัดปัญหาว่าไม่ต้องมานั่งผ่อน แต่จะไม่มีประโยชน์ในแง่ของการประหยัดดอกเบี้ย เนื่องจากเป็นการคิดดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่กู้แล้ว (แต่มีไฟแนนซ์ หรือสถาบันการเงินบางแห่ง หากมีการชำระหนี้รถยนต์ก่อนกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ จะมีการลดดอกเบี้ยให้ครึ่งหนึ่งของระยะเวลาที่เหลือ อันนี้ต้องลองตรวจสอบดูนะครับ)

ขอยกตัวอย่าง เช่น เราไปกู้ซื้อรถซักคันที่ราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ย ๕% ผ่อน ๔ ปี
วิธีคิดดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินเขาคิดก็คือ ๕๐๐,๐๐๐ x ๕% x ๔ ปี ก็จะเท่ากับเราต้องเสียดอกเบี้ยจากการกู้ครั้งนี้ ๑๐๐,๐๐๐ บาท

และเนื่องจากเรากู้เป็นระยะเวลา ๔ ปี เพราะฉะนั้นก็จะเสียดอกเบี้ยปีละ ๒๕,๐๐๐ บาท

จุดที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ เวลาเราผ่อนไปเรื่อยๆ เงินต้นเราจะลดลงเรื่อยๆทุกๆปี จาก ๕๐๐,๐๐๐ บาท ในปีแรก อาจเหลือ ๓๗๕,๐๐๐ บาท ในปีที่ ๒ และเหลือ ๒๕๐,๐๐๐ ในปีที่ ๓ แต่ทุกๆปี เราก็เสียดอกเบี้ยปีละ ๒๕,๐๐๐ บาท อยู่ดี เพราะฉะนั้น อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจากการกู้รถ จึงไม่ใช่ ๕% อย่างที่เราเข้าใจในตอนแรกแล้วครับ เพราะ ๕% เฉพาะปีที่หนึ่ง แต่ในปีที่สอง และปีที่สาม จะอยู่ที่ ๖.๖% และ ๑๐% ตามลำดับ

หากเรามีเงินก้อน เอามาโปะสินเชื่อรถ สถาบันการเงินบางแห่งอาจให้ส่วนลดดอกเบี้ย ๕๐% ของดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมด แต่ก็จะมีภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคาขายรถบวกไปอีก ๗% ซึ่งคิดไว้แล้วตั้งแต่วันทำสัญญาวันแรก ซึ่งถ้าหากมีการปิดบัญชีสินเชื่อรถก่อนครบกำหนด เราจะประหยัดแค่ดอกเบี้ยจ่ายในอนาคตเท่านั้น แต่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ๗% จะไม่ได้คืน

โดยส่วนตัว ผมมองว่าการคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ ให้ความรู้สึกเหมือนตัวกิเลส หากเราไม่ทำให้มันเบาบางลง มันก็เหมือนจะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา หากลองเทียบกับเวลาที่เรายังเหลืออยู่เพื่อมีชีวิตบนโลกนี้ที่ลดลงเรื่อยๆทุกๆวัน เพราะฉะนั้นรู้กายรู้ใจไปตลอดทางนะครับ

ไปดูเงินกู้ซื้อบ้านกัน สำหรับการกู้บ้าน โดยปกติจะคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกลงเรื่อยๆ จนกระทั่งครบอายุ หรือเงินต้นหมด ซึ่งจริงๆแล้วอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ลดลง แต่พอเราผ่อนไปเรื่อยๆเงินต้นลด จำนวนเงินที่เป็นดอกเบี้ยก็เลยลดลงตามเงินต้นไปด้วย เพราะดอกเบี้ยจากการกู้บ้าน จะคิดตามยอดเงินต้นที่เหลืออยู่ ซึ่งจะลดลงไปตามลำดับจากการผ่อนชำระทุกงวด

ส่วนมากจะเรียกเงินกู้ผ่อนบ้านว่าเป็นแบบลดต้นลดดอกเบี้ย ยกตัวอย่างเช่น กู้เงินซื้อบ้านมียอดหนี้จำนวน ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท จ่ายดอกเบี้ย MLR สมมติว่าปัจจุบันเท่ากับ ๗.๕% ผ่อนชำระ ๒๐ ปี โดยผ่อนชำระเดือนละ ๑๔,๕๐๐.๖๘ บาท แสดงการคิดเงินต้น ดอกเบี้ย และยอดหนี้คงเหลือ ใน ๕ ปีแรกได้ตามนี้ครับ


078_money


จากตัวอย่าง จะเห็นว่าดอกเบี้ยที่จ่ายแต่ละงวดลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ยอดผ่อนเงินต้น (ตัดเงินต้นต่อเดือน) แต่ละงวดจะมากขึ้น ตามระยะเวลาผ่อนที่นานขึ้น ส่งผลให้จากยอดหนี้ ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท คงเหลือลดลงตามจำนวนเงินงวดที่ได้ผ่อนชำระ

การคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกนี้ ถ้าโปะมาก ก็ลดภาระหนี้ได้เร็วขึ้น ถ้าผ่อนตามปกติ ภาระหนี้ก็น้อยลงตามปกติ ดูไปก็เหมือนการปฏิบัติธรรมนะ ขอแค่ไม่หยุดผ่อน ไม่หยุดปฏิบัติ ทำไปเรื่อยๆ ยังไงภาระหนี้ย่อมลดลง และกิเลสก็ย่อมลดลง

ดูจากวิธีการคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ สำหรับผ่อนรถ และดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก สำหรับผ่อนบ้าน ก็สรุปได้ทันทีว่า ถ้าคุณมีเงินก้อนจำนวนหนึ่งและต้องการจะโปะเพื่อลดภาระหนี้ในอนาคตของครอบครัว การผ่อนชำระหนี้บ้านจะลดยอดหนี้และดอกเบี้ยพร้อมๆกัน แต่การชำระหนี้รถยนต์จะเป็นการผ่อนค่างวดล่วงหน้า ไม่ได้ลดภาระดอกเบี้ยแต่อย่างใด เพราะฉะนั้น หากคิดจะโปะ ก็โปะบ้าน ก่อนนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP