สารส่องใจ Enlightenment

มรณกรรมฐาน


พระธรรมเทศนาโดยพระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ณ บัดนี้เป็นต้นไป ได้เวลาถึงเวลานั่งสมาธิภาวนาปฏิบัติบูชา
ทำความเพียรเพื่อละกิเลสราคะ ละกิเลสโทสะ ละกิเลสโมหะ
ให้หมดสิ้นไปในจิตใจของเราทั้งหลายทุกๆ คน
ฉะนั้นการนั่งสมาธิภาวนาจึงเป็นบุญเป็นกุศล
นำความสุขความเจริญมาให้แก่ผู้ปฏิบัตินั้นๆ


การที่เรามีชีวิตมาถึงวันเวลาที่เรานั่งภาวนาฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่นี้
ท่านว่าเป็นบุญ เป็นกุศล
เพราะว่าบางคนนั้นตายไปก่อนเวลาที่มาปฏิบัติอย่างนี้ก็เยอะแยะ
เพราะชีวิตของคนเรานั้นจะกำหนดแน่นอนเอาเองไม่ได้
ถ้าบุญบารมีเก่าหมดไปเมื่อไร บารมีใหม่หมดเมื่อใด ชีวิตของคนเราก็ตายไป
เราจะมาปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ฟังเทศน์ฟังธรรม นั่งอย่างนี้ไม่ได้
เพราะชีวิตมันดับไปหมดไป
ตอนชีวิตยังมีอยู่ คือยังมีลมหายใจอยู่ ยังฟังเทศน์ฟังธรรมได้ยินเสียงอยู่
นั่นแหละคือว่าเป็นบุญเป็นกุศล
ที่เราฟังเสียงฟังธรรมได้ยินอยู่ หรือเรานึกภาวนาพุทโธๆ ได้ยินเสียงพุทโธอยู่ในใจ
หรือนึกว่า
มรณัง เม ภวิสสติเราต้องตาย

ความตายของคนเรายุคนี้สมัยนี้นั้นไม่เกิน ๑๐๐ ปี ยังไม่ถึง ๑๐๐ ปีก็ลำบาก
ที่ตัวเราคนเรายังเหลือชีวิตได้มาปฏิบัตินั้น
จึงชื่อว่าเป็นมหากุศลอันหนึ่ง ที่ควรประกอบกระทำและควรทำความปีติยินดี
เพราะว่าเมื่อกล่าวส่วนรวมแล้ว
มรณัง เม ภวิสสติตัวเราต้องมีความตายเป็นผลที่สุด
คนอื่นสัตว์อื่น ตลอดไปจนถึงสัตว์สิ่งเดรัจฉาน สัตว์บก สัตว์น้ำ หรือว่าคนเราอย่างนี้แหละ
ความตายนั้น ถ้าจัดในส่วนรวมมนุษย์คนเรามี
เรามานั่งภาวนา ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ได้นอนอยู่ในเสื่อในหมอน
ไม่ได้หยอดน้ำอาหารการกิน ไม่ได้เอาช้อนตักอาหารเอาอากาศเข้าปาก
นับว่าเป็นผู้ที่ยังมีบุญอยู่ เพราะว่าโรคภัยไข้เจ็บมันยังไม่ลุกลาม ยังไม่รุนแรง
ยังยืนคนเดียวได้ นั่งคนเดียวได้ นอนคนเดียวได้ ทำอะไรๆ ได้ด้วยตนเอง
แต่ถ้าโรคภัยเจ็บไข้บังเกิดขึ้น จะแก่หรือจะเด็กจะหนุ่มก็ตาม
ร่างกายสังขารนี้จะทำอะไรด้วยตนเองไม่ได้ทั้งนั้น
การที่เรายังภาวนาพุทโธได้อยู่ ยืน เดิน นั่ง นอน ไปมาได้ด้วยตนเอง
อันนี้ท่านว่าเป็นบุญเป็นกุศล
คนอื่นผู้อื่นเขาตายไป เรายังไม่ตายยังรอไปบิณฑบาตบ้านถ้ำอยู่
ยังหวังว่าจะได้กินอย่างนั้นจะได้ฉันอย่างนี้
อาหารเอร็ดอร่อยไม่เอร็ดอร่อยยังจะมีความรู้ต่อไป
ท่านว่ายังมีบุญอยู่ยังไม่ตาย

แต่ความตายนี้ พระพุทธเจ้าพระองค์สอนไว้ว่าให้นึกบ่อยๆ
นึกจนมันเห็น แล้วก็นึกจนมันเข้าใจลึกซึ้ง จนเกิดความสลดสังเวช
ในมรณะความตายของเราและของสัตว์ทั้งหลาย ของคนทั้งหลาย
ถ้าผู้ใดภาวนามรณกรรมฐานจนเกิดขึ้น จิตใจสงบระงับตั้งมั่น เป็นสมาธิภาวนาก็ดี
หรือมีความสลดสังเวชในมรณภัยคือความตายนี้
จิตใจจะเปลี่ยนแปลงไป
ความโกรธก็จะเบาบาง เลิกได้ละได้
ความโลภความอยากได้ในใจ ก็จะได้เลิกได้ละได้
ความหลงในจิตในใจตัวเรา ก็จะเลิกได้ละได้
เพราะว่ามรณภัยคือความตายนั้น เมื่อมาถึงบุคคลผู้ใด
ผู้นั้นจำเป็นต้องตาย จะมาอ้างว่าข้าพเจ้ายังเด็กอยู่
อย่าเพิ่งให้ข้าพเจ้าตายเลย ให้อยู่ไปดูโลกต่อไปก่อน
ธรรมดาพญามัจจุราชคือความตาย มันไม่ได้ยกเว้น
เมื่อได้วาระของผู้ใด ผู้นั้นก็จำเป็นจำไปต้องตาย

พระพุทธเจ้าท่านจึงให้นึกถึงมรณภัยคือความตายนี้
ให้ได้ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก
มรณัง เม ภวิสสติ
มรณะ” “มรณังก็แปลว่าความตาย หรือคือจะต้องตายด้วยกันทั้งหมดสิ้น
เมก็หมายถึงเรา เราทุกคนต้องตาย
ต้องมองให้เห็นนึกให้ได้ ถ้านึกไม่ได้แล้ว จิตมันจะเป็นไปตามอารมณ์ต่างๆ ไม่สงบลงได้
ถ้ามองเห็นแจ้งในจิตในใจว่าอย่างไรเสียต้องตาย รอวันตายอยู่ทุกลมหายใจ
ถ้ามาถึงเวลาหายใจเข้าไป บุคคลผู้นั้นก็ตายเวลาหายใจเข้า
หรือถึงเวลาหายใจออก บุคคลนั้นก็ตายเวลาหายใจออก
มรณภัยคือความตายนี้ ใกล้ที่สุด แค่ลมหายใจนี่เอง
อายุของคนเรานี้ ไม่ใช่ตามที่เรานึกว่าเท่านั้นปี เท่านี้ปี

๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี ๘๐ ปี ๙๐ ปี อันนี้นับเอาเอง
แต่ความจริงมันไม่ถึง ไม่ถึงที่เรานับ ความตายมันมาถึงเสียก่อน

มรณภัยคือความตาย จงพากันเพียรเพ่งดูให้รู้แจ้งด้วยปัญญาอันชอบ
จิตใจมันจะถอน ละถอนออกได้หมด
ที่คนเราคิดว่าอารมณ์อย่างนี้เลิกไม่ได้ละไม่ได้
ถ้ามองเห็นมรณภัยคือความตาย ละได้หมด ดูคนเขาที่ตายไป
ถ้าคนไหนได้เฝ้าพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติมิตรสหาย ลูกเต้า หลานเหลนของตน
ใกล้จะตายเข้าไปนั่งดู เรียกว่าเฝ้าดูคนตาย
มันสั้นเข้าไปทุกอย่างทุกประการ หมดไปสิ้นไป เวลาคนเราจะตาย
แต่ก็เกี่ยวกับโรคบางอย่างบางประการ
โรคบางอย่างบางประการนั้น มันสั้นเข้าไปหมดเข้าไป
ตั้งต้นแต่บริโภคอาหาร ได้เวลามันตัดเข้าไป เคยบริโภคอาหารก็บริโภคไม่ได้
จะต้องได้อาหารน้ำๆ จึงจะไหลลงคอไปได้
ตัดเข้าไป อาหารอย่างหนักก็กินไม่ได้แล้ว
หนักเข้าก็ดื่มน้ำ ดื่มน้ำอย่างเดียว อาหารประเภทแข็งประเภทเหลวก็ไม่ได้
แต่ดื่มนมผงได้ ชงนมผงได้ ชงน้ำนมได้ โกโก้ กาแฟ อะไรที่มันไหลลงไปได้
ท้องไส้ของคนใกล้จะตาย มันเป็นอย่างนี้แหละ
นานเข้าไปตัดเข้าหมดไปๆ จนกระทั่งว่าน้ำที่จะดื่มมันก็ไม่ลงคอ
แต่ก็พูดจายังมีชีวิตอยู่ มองดูมันก็หิวโหยโรยแรงที่สุด
คือว่าน้ำก็อยากกินแต่มันกินไม่ได้กินไม่ลง แสดงออกมาทางปากให้เห็น
ทีนี้คนที่ยังไม่ตายก็ช่วยเอาสำลีชุบน้ำเอาไปบีบใส่ปากให้
ปากก็แสดงถึงว่าหิวอยากดื่มน้ำ ริมฝีปากก็เผยอเอาน้ำนั่น
มันตัดเข้าไป ตัดเข้าไปมรณะ
มรณกรรมฐาน เราอย่าได้ประมาท
ทุกคนจะต้องเป็นไป ตามกฎเกณฑ์ของมรณกรรมฐาน

ทีนี้ถ้ามันขยับเข้าไปอีก ไอ้ที่จะเผยอริมฝีปากรับเอาน้ำมันไม่ไหว
แต่ยังมีลมหายใจอยู่ หายใจยาวๆ อยู่ หายใจยังได้สบายอยู่
หนักเข้าไปกว่านั้น หายใจไม่ไหวแล้ว เคยหายใจยาวๆ ตามธรรมดาก็หายใจสั้น
นั่นแหละมรณกรรมฐานใกล้ที่สุด เอาเข้าไปอีก หายใจยาวไม่ได้ หายใจสั้นๆ
ในตัวในจิตใจของผู้นั้นก็กระวนกระวายที่สุด
ลมหายใจเคยหายใจ ปอดเคยทำงาน ปอดก็ทำงานไม่ไหวแล้ว
นี่แหละมรณกรรมฐาน นึกให้ได้ พิจารณาให้เห็นด้วยปัญญาอันชอบ
ทีนี้เวลามันจะเอาให้หมดนั้น สะบั้นหมดร่างกาย สั่นสะเทือนกว่าดวงจิตจะออก
แต่ก็เป็นไปตามโรคภัยไข้เจ็บของแต่ละบุคคล
เวลาดวงจิตดวงใจจะถอดออกจากร่างกาย หนีจากร่างกาย
แสดงเส้นเอ็นทั้งร่างกายมันสะบั้น ลูกกะตานี้เขียวปื๋อเลย
เขาให้ชื่อว่าตาผีตาย คนใจไม่แข็งก็กลัว กลัวผีมันมาหลอก
แท้ที่จริงเขาดิ้นตายของเขาต่างหาก ตาไม่ใช่ตาคนธรรมดา เป็นตาผีไป
หมดสะบั้นกระทั่งหมดร่างกายเส้นเอ็นแล้ว
ทีนี้ก็จิตออกไปแล้ว ถอดไปแล้ว ก็เหลือแต่ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ธรรมดา
นี่แหละมรณกรรมฐาน ซึ่งมันมีอยู่ในตัวของคนเราทุกคน
แต่ผู้ปฏิบัติไม่ค่อยมาปฏิบัติ เพียรเพ่งดูให้รู้แจ้งด้วยปัญญาอันชอบ
จึงได้เกิดกิเลสตัณหามานะทิฏฐิ วุ่นวายไม่จบไม่สิ้น

จงภาวนาให้เห็นแจ้งด้วยสติปัญญาของตัวเอง
แล้วจิตใจมันจะได้กระเตื้องดีขึ้น ไม่หมกมุ่นอยู่ตามอารมณ์ต่างๆ

มรณัง เม ภวิสสติไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย มันเป็นเรื่องใหญ่
มรณกรรมฐานไม่ใช่คำพูด ไม่ใช่เขียนหนังสือ ไม่ใช่คาดคะเน
เวลามรณภัยคือความตายมันจะมาถึง รุนแรงที่สุด
พระพุทธองค์ท่านตรัสว่าความตายเป็นทุกข์
ไม่ได้หมายว่าจิตถอดออกไปแล้วมันเป็นทุกข์
ตอนจิตใจกำลังรับทุกขเวทนาต่างหาก อันนั้นแหละมันเป็นทุกข์
ที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย ตั้งแต่เกิดมา จนถึงวัยแก่วัยชรา
เจ็บไข้ได้ป่วยหลายครั้งหลายคราก็ตาม ยังไม่ถึงขั้นที่ว่าความตายเป็นทุกข์
ความตายเป็นทุกข์ มันทุกข์จนเหลือทน ทนไม่ได้ ทนไม่ไหว
เมื่อทนไม่ไหว ก็รับเสวยทุกขเวทนาแสนสาหัส แล้วก็ตายไป
นี่แหละทุกคนจะต้องตาย

มรณกรรมฐานนี้ต้องนึกต้องเจริญไว้ให้ได้ในกายของตัวเอง
ถ้าผู้ใดทำน้อย ปฏิบัติน้อย ยังถึงขั้นเลิกความหลงอะไรยังไม่ได้นั้น
จะต้องกระวนกระวายที่สุด เพราะจิตอุปาทาน
ความยึดในร่างกายสังขาร เป็นรูปขันธ์นั้นมันมาก
เจ็บน้อยมันก็เป็นเจ็บมาก เจ็บมากก็ตายไปเลย เพราะจิตมันยึดมั่นถือมั่น
ถ้าจิตนี้ปล่อยได้วางได้ เลิกได้ ละได้ อะไรๆ ก็ช่างมันเถอะ
มันเกิดได้มันก็แก่ได้ มันเกิดมาได้ มันก็เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดาได้
มันเกิดมาแล้วมันก็ตายได้
เวลาตายกำหนดไม่ได้ ลมเข้าไปออกไม่ได้ก็ตาย หายใจออกไปสุดเข้ามาไม่ได้ก็ตาย
กลางคืนก็ตายได้ ตอนเช้าๆ อย่างเราอยู่นี้ก็ตายได้
กลางวันก็ตายได้ เดือนไหนก็ตายได้ วันไหนก็ตายได้ ไม่เลือกเวลา
เมื่อจัดส่วนรวมแล้ว เดี๋ยวนี้ก็มีคนตาย เดี๋ยวนี้ก็มีคนเจ็บ
หรือความเจ็บนี้ บางคนก็มันเกิดขึ้นแล้ว ติดขึ้นแล้ว
เหมือนไฟไหม้บ้าน ว่าถ้าจะดับไหวหรือเอาได้หรือไม่ได้
ก็เหมือนกันที่เราว่าไม่สบายอย่างนั้นไม่สบายอย่างนี้
เปรียบเหมือนอย่างว่าไหม้บ้าน ไหม้เรือน ไหม้กุฏิ ติดหลังคาขึ้นมา
จะดับได้ดับไหวหรือไม่ไหวก็แล้วแต่ตัวเอง
บุญบาปนั้นมันมีอยู่ในตัวนี้ แล้วก็ไม่เลือกเวลาด้วย ไม่ยกเว้นด้วย
คนโบราณจึงตั้งชื่อความตายนี้ว่าเป็นพญาใหญ่ที่สุด
ใครจะมารบราฆ่าฟันกับพญามัจจุราชนั้น
ไม่มีใครจะชนะได้ พ่ายแพ้ทุกรายไป

พระพุทธองค์ท่านจึงให้กำหนดความตายนี้ให้ได้ทุกลมหายใจ
คือว่ามันใกล้เข้าไป หมดไปสิ้นไป
ถ้าว่าถึงคนทั้งโลกแล้ว เดี๋ยวนี้ก็มีคนตาย
ตายนับไม่ได้ก็มี ตายคนเดียวก็มี ตาย ๒ คน ๓ คนในขณะเดียวกัน
หญิงก็ตายได้ ชายก็ตายได้ ไม่ใช่ตายแต่คนเฒ่าคนแก่ เด็กๆ ยังไม่รู้อะไรก็ตายได้
นี่แหละมรณกรรมฐาน ผู้ภาวนานั้นไม่ต้องไปรู้อื่น
ไม่ต้องไปเรียนนอก ให้เรียนใน
เรียนในคือเรียนในกายวาจาจิตของตัวเอง

ดูพิจารณาอะไรมันตาย อะไรมันยัง อะไรจะตายก่อน อะไรมันตายนานแล้ว
กำหนดให้รู้ดูให้มันเห็นจิตใจ กิเลสมันจึงจะอยู่ยั้ง
ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็พาให้ดิ้นรน วุ่นวาย กระสับกระส่าย ภาวนาไม่ลง ภาวนาไม่สงบ
มองไม่เห็น กำหนดไม่ได้ มืด ๔ ด้าน ๔ ทิศ มืด ๑๐ ทิศ
จะนึกภาวนาพุทโธก็ไม่ได้ นึกถึงความตายก็ไม่ได้ไม่เห็น

จงเพียรเพ่งดูให้เห็นแจ้ง ด้วยสติปัญญาของตัวเอง
อันผู้อื่นแนะนำสั่งสอน เป็นอีกคนหนึ่ง เป็นการเตือนใจให้สติ
ความจริงแล้วให้จิตใจของตัวเอง จิตผู้รู้นั่นแหละ
มองเห็นตลอดทั้งภายในและภายนอก มองเห็นตัวเองว่าตาย เดี๋ยวนี้ก็ตายได้
คนทั้งหลายที่เราเห็นว่าเขายังไม่ตาย
ผลที่สุดก็ตายหมด ไม่มีใครอยู่ เกิดแล้วต้องตาย
ฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมนั้นต้องกำหนดอยู่ทุกเวลา
ต้องเตือนจิตใจของตนให้ได้ทุกเวลา
จิตใจจึงจะมีพละกำลังความสามารถอาจหาญในการปฏิบัติบูชาภาวนา
เพื่อเลิกละความโกรธ ความโลภ ความหลงให้หมดไปสิ้นไป

ดังแสดงมาก็สมควรด้วยกาลเวลา
เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้


sathu2 sathu2 sathu2

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก "อาจาริยธัมโมทยาน จัดพิมพ์โดย กลุ่มสวนปรัชญาและพุทธธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP