ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

สสปัณฑิตจริยา ว่าด้วยจริยาวัตรของสสบัณฑิต


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา

[๑๐] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นกระต่ายเที่ยวอยู่ในป่า
มีหญ้า ใบไม้ ผักและผลไม้เป็นภักษา เว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น.

ในกาลนั้น ลิง สุนัขจิ้งจอก ลูกนากและเรา
เป็นสหายอยู่ร่วมกัน มาพบกันทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า.

เราสั่งสอนสหายเหล่านั้น ในกุศลกรรมและอกุศลกรรมว่า
ท่านทั้งหลาย จงเว้นบาปกรรมเสีย จงตั้งอยู่ในกรรมอันงาม.

เราเห็นพระจันทร์เต็มดวงในวันอุโบสถ จึงบอกแก่สหายเหล่านั้นในที่นั้นว่า
วันนี้เป็นวันอุโบสถ ท่านทั้งหลายจงตระเตรียมทานทั้งหลาย
เพื่อให้แก่ทักขิไณยบุคคล ครั้นให้ทานแก่ทักขิไณยบุคคลแล้ว จงรักษาอุโบสถ.

สหายเหล่านั้นรับคำของเราว่า สาธุ แล้วได้ตระเตรียมทานต่าง ๆ ตามสามารถตามกำลัง
แล้วแสวงหาทักขิไณยบุคคล

เรานอนคิดถึงทานอันสมควรแก่ทักขิไณยบุคคลว่า
ถ้าเราพึงได้ทักขิไณยบุคคล เราจักให้อะไรเป็นทาน.

งา ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวสาร และเปรียง ของเราไม่มี
เราเลี้ยงชีวิตด้วยหญ้า เราไม่อาจให้หญ้าได้

ถ้าทักขิไณยบุคคลมาสักท่านหนึ่งเพื่อขอในสำนักของเรา
เราพึงให้ร่างกายของตน ทักขิไณยบุคคลจักไม่ไปเปล่า.

ท้าวสักกะทรงทราบความดำริของเราแล้ว แปลงเพศเป็นพราหมณ์
เสด็จเข้ามายังสำนักของเรา เพื่อทรงทดลองทานของเรา.

เราเห็นพราหมณ์นั้นแล้วก็ยินดี ได้กล่าวคำนี้ว่า
ท่านมาถึงในสำนักของเราเพราะเหตุแห่งอาหาร เป็นการดีแล.

วันนี้ เราจักให้ทานอันประเสริฐที่ใคร ๆ ไม่เคยให้แก่ท่าน
ท่านผู้ประกอบด้วยศีลคุณ การเบียดเบียนผู้อื่นไม่ควรแก่ท่าน.

ท่านจงไปนำเอาไม้ต่าง ๆ มาก่อไฟขึ้น เราจักปิ้งตัวของเรา
ท่านจักได้กินเนื้อที่สุก.

พราหมณ์นั้นรับคำแล้ว มีใจร่าเริง นำเอาไม้ต่าง ๆ มาทำเป็นเชิงตะกอนใหญ่
ทำเป็นห้องอันเต็มด้วยถ่านเพลิง.

ก่อไฟโพลงขึ้น ณ ที่นั้นทันที เหมือนไฟนั้นเป็นกองใหญ่ เราสลัดตัวอันมีธุลีแล้ว
เข้าไปนั่งอยู่ข้างหนึ่ง.

ในเมื่อกองไม้ใหญ่อันไฟติดทั่วแล้ว เป็นควันตลบอยู่
ในกาลนั้น เรากระโดดลงในท่ามกลางภายในเปลวไฟ.

น้ำเย็นอันผู้ใดผู้หนึ่งดำลงแล้ว ย่อมระงับความกระวนกระวายและความร้อน
ย่อมให้ความยินดีและปีติฉันใด

ในกาลเมื่อเราเข้าไปยังไฟที่ลุกโพลง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ความกระวนกระวายทั้งปวงย่อมระงับ เหมือนดำลงในน้ำเย็นฉะนั้น.

เราได้ให้แล้วซึ่งกายทั้งสิ้นโดยไม่เหลือ คือ ผิว (ขน) หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก
และชิ้นเนื้อหทัยแก่พราหมณ์ ฉะนี้แล.

สสปัณฑิตจริยา จบ



อรรถกถาสสปัณฑิตจริยา


อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นกระต่ายเที่ยวอยู่ในป่า
มีหญ้า ใบไม้ ผักและผลไม้เป็นภักษา เว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น.

ในกาลนั้น ลิง สุนัขจิ้งจอก ลูกนากและเรา
เป็นสหายอยู่ร่วมกัน มาพบกันทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า.

เราสั่งสอนสหายเหล่านั้น ในกุศลกรรมและอกุศลกรรมว่า
ท่านทั้งหลาย จงเว้นบาปกรรมเสีย จงตั้งอยู่ในกรรมอันงาม.

พึงทราบวินิจฉัยในสสปัณฑิตจริยาที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้.
คำว่า ในกาลเมื่อเราเป็นกระต่าย (ยทา โหมิ สสโก)
ความว่า สารีบุตร เราเที่ยวแสวงหาโพธิญาณ ในกาลเมื่อเราเป็นสสปัณฑิต (กระต่าย).
จริงอยู่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย แม้ถึงความเป็นผู้ชำนาญในเรื่องกรรม
ก็ยังเกิดในกำเนิดเดียรัจฉานเพื่ออนุเคราะห์สัตว์เดียรัจฉานเช่นนั้น.
คำว่า เที่ยวอยู่ในป่า (ปวนจารโก) ได้แก่ ผู้เที่ยวไปในป่าใหญ่.
ชื่อว่ามีหญ้า ใบไม้ ผักและผลไม้เป็นภักษา (ติณปณฺณสากผลภกฺโข)
เพราะมีหญ้ามีหญ้าแพรกเป็นต้น ใบไม้ที่กอไม้ ผักอย่างใดอย่างหนึ่ง
และผลไม้ที่หล่นจากต้นไม้ เป็นภักษา.
คำว่า เว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น (ปรเหฐนวิวชฺชิโต) ได้แก่ เว้นจากการบีบคั้นผู้อื่น.
คำว่า สุตฺตโปโต จ เท่ากับ อุทฺทโปโต จ (ลูกนาก).
คำว่า และเรา (อหํ ตทา) ความว่า ในกาลเมื่อเราเป็นกระต่าย เราสอนสหายมีลิงเป็นต้น.

คำว่า ในกุศลกรรมและอกุศลกรรม (กิริเย กลฺยาณปาปเก) ได้แก่ ในกรรมดีและกรรมไม่ดี.
คำว่า บาปกรรม (ปาปานิ) เป็นคำแสดงอาการพร่ำสอน.
ในคำเหล่านั้น คำว่า จงเว้นบาปกรรมเสีย (ปาปานิ ปริวชฺเชถ)
ความว่า ท่านทั้งหลายจงเว้นบาปเหล่านี้ คือ ฆ่าสัตว์ ฯลฯ มิจฉาทิฏฐิ.
คำว่า จงตั้งอยู่ในกรรมอันงาม (กลฺยาเณ อภินิวิสฺสถ)
ได้แก่กรรมดี คือ ทาน ศีล ฯลฯ การทำความเห็นให้ตรง.
ท่านทั้งหลายจงมุ่งตั้งกายวาจาใจของตนในกรรมดีนี้ให้อยู่เฉพาะหน้า.
อธิบายว่า จงปฏิบัติกัลยาณปฏิบัตินี้เถิด.

พระมหาสัตว์แม้อุบัติในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานอย่างนี้
ก็ยังเป็นกัลยาณมิตร เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยญาณ
ทรงแสดงธรรมโดยการให้โอวาทแก่สัตว์ทั้ง ๓ เหล่านั้นผู้เข้าไปหาตามกาลเวลา.
สัตว์ทั้ง ๓ เหล่านั้นรับโอวาทของพระมหาสัตว์แล้วก็เข้าไปยังที่อยู่ของตน.
เมื่อกาลผ่านไปอย่างนี้ พระโพธิสัตว์มองดูอากาศ เห็นพระจันทร์เต็มดวง จึงสอนว่า
พวกท่านจงรักษาอุโบสถดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

เราเห็นพระจันทร์เต็มดวงในวันอุโบสถ
จึงบอกแก่สหายเหล่านั้นในที่นั้นว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ.
ท่านทั้งหลาย จงตระเตรียมทานทั้งหลาย เพื่อให้แก่ทักขิไณยบุคคล
ครั้นให้ทานแก่ทักขิไณยบุคคลแล้ว จงรักษาอุโบสถ.

ในคำเหล่านั้น คำว่า เราเห็นพระจันทร์เต็มดวง (จนฺทํ ทิสฺวาน ปูริตํ)
ความว่า เราเห็นพระจันทร์ยังไม่เต็มดวงอีกเล็กน้อยในวัน ๑๔ ค่ำข้างขึ้น
แต่ครั้นราตรีสว่างเวลาอรุณขึ้น ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ จึงบอก
แก่สหายทั้งหลายของเรามีลิงเป็นต้นเหล่านั้นว่า
วันนี้เป็นวันอุโบสถ.
เพราะฉะนั้น พึงประกอบ คำว่า จึงบอก (อาจิกฺขึ) วิธีปฏิบัติในวันอุโบสถนั้น
ด้วยคำมีอาทิว่า ท่านทั้งหลายจงตระเตรียมทานทั้งหลาย (ทานานิ ปฎิยาเทถ).
ในคำเหล่านั้น คำว่า ทานทั้งหลาย (ทานานิ) ได้แก่ ไทยธรรมทั้งหลาย.
คำว่า จงตระเตรียม (ปฎิยาเทถ) ได้แก่ จงตระเตรียมตามสติตามกำลัง.
คำว่า ทาตเว (เพื่อให้) แก้บทเป็น ทาตุง.
คำว่า จงรักษา (อุปวสฺสถ) ท่านแสดงว่า จงทำอุโบสถกรรม จงรักษาอุโบสถศีล
การตั้งอยู่ในศีลแล้วให้ทานย่อมมีผลมาก เพราะฉะนั้น เมื่อยาจกมาถึง
พึงให้จากอาหารที่พวกท่านควรกิน แล้วจึงกิน.

คำว่า สหายเหล่านั้นรับคำของเราว่า สาธุ (เต สาธุ)
ความว่า สัตว์เหล่านั้นรับโอวาทของพระโพธิสัตว์ด้วยศีรษะ แล้วอธิษฐานองค์อุโบสถ.
ในสัตว์เหล่านั้น ลูกนากไปฝั่งแม่น้ำแต่เช้าตรู่ด้วยคิดว่า
เราจักหาอาหาร.
ครั้งนั้น พรานเบ็ดคนหนึ่ง ตกปลาตะเพียนได้ ๗ ตัว เอาเถาวัลย์ร้อยไว้
แล้วหมกทรายที่ฝั่งแม่น้ำ แล้วไปหาปลาต่อไป พลัดตกลงไปทางใต้กระแสน้ำ.
ลูกนากได้กลิ่นปลา คุ้ยทรายออกเห็นปลาจึงลากออกมา
ประกาศ ๓ ครั้งว่า
ปลาเหล่านี้มีเจ้าของไหม
เมื่อไม่เห็นเจ้าของก็คาบที่เถาวัลย์วางไว้ที่พุ่มไม้อันเป็นที่อยู่ของตน
คิดว่า
เราจักกินในเวลาอันควร.นอนนึกถึงศีลของตน.
แม้สุนัขจิ้งจอกก็เที่ยวหาอาหาร เห็นเนื้อย่างสองชิ้น เหี้ยตัวหนึ่ง
หม้อนมส้มหม้อหนึ่ง ที่กระท่อมของคนเฝ้านาคนหนึ่ง ประกาศ ๓ ครั้งว่า
อาหารเหล่านี้มีเจ้าของไหมครั้นไม่เห็นเจ้าของก็เอาเชือกที่ผูกหม้อนมส้มคล้องคอ
คาบเนื้อย่างและเหี้ย มาวางไว้ที่พุ่มไม้อันเป็นที่อยู่ของตน
คิดว่า
จักกินในเวลาอันสมควรนอนนึกถึงศีลของตนอยู่.
แม้ลิงก็เข้าป่านำผลมะม่วงมาวางไว้ที่พุ่มไม้อันเป็นที่อยู่ของตน
คิดว่า
จักกินในเวลาอันสมควรนอนนึกถึงศีลของตน.
ทั้ง ๓ สัตว์ก็คิดว่า
โอ ยาจก จะพึงมาที่นี่ไหมหนอ.

ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
สหายเหล่านั้นรับคำของเราว่า สาธุ แล้วได้ตระเตรียมทานต่าง ๆ ตามสามารถตามกำลัง
แล้วแสวงหาทักขิไณยบุคคล.

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ออกในเวลาอันสมควร คิดว่า เราจักกินหญ้า มีหญ้าแพรกเป็นต้น
นอนที่พุ่มไม้อันเป็นที่อยู่ของตน คิดว่า
ยาจกทั้งหลายมาหาเราไม่อาจกินหญ้าได้
เราไม่มีแม้งาและข้าวสารเป็นต้น หากยาจกมาหาเรา เราเลี้ยงชีวิตด้วยหญ้า
เราจักให้เนื้อในร่างกายของตน.
ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
เรานอนคิดถึงทานอันสมควรแก่ทักขิไณยบุคคลว่า
ถ้าเราพึงได้ทักขิไณยบุคคล เราจักให้อะไรเป็นทาน.

งา ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวสาร และเปรียง ของเราไม่มี
เราเลี้ยงชีวิตด้วยหญ้า เราไม่อาจให้หญ้าได้

ถ้าทักขิไณยบุคคลมาสักท่านหนึ่งเพื่อขอในสำนักของเรา
เราพึงให้ร่างกายของตน ทักขิไณยบุคคลนั้นจักไม่ไปเปล่า.

ในคำเหล่านั้น คำว่า ทานอันสมควรแก่ทักขิไณยบุคคล (ทานํ ทกฺขิณนุจฺฉวํ)
ความว่า เราคิดถึงทานอันสมควรโดยเป็นเครื่องทักษิณา
คือไทยธรรมที่ควรให้แก่ทักขิไณยบุคคล.
คำว่า ถ้าเราพึงได้ (ทักขิไณยบุคคล) (ยทิหํ ลเภ)
ความว่า ผิว่าวันนี้เราพึงได้ทักขิไณยบุคคลสักคน.
ข้อว่า เราจะให้อะไรเป็นทาน (กึ เม ทานํ ภวิสฺสติ) ได้แก่ เราจักเอาอะไรให้เป็นทาน.
ข้อว่า เราไม่อาจให้หญ้าได้ (น สกฺกา ติณทาตเว)
ความว่า ผิว่าเราไม่มีงาและถั่วเขียวเป็นต้นเพื่อให้แก่ทักขิไณยบุคคล
เราไม่อาจให้หญ้าอันเป็นอาหารของเราแก่ทักขิไณยบุคคลได้.
ข้อว่า เราพึงให้ร่างกายตน (ทชฺชาหํ สกมตฺตานํ)
ความว่า ประโยชน์อะไรที่เราจะมามัวคิดเรื่องไทยธรรม ร่างกายของเรานี้แหละไม่มีโทษ
สมควรเป็นอาหารบริโภคของผู้อื่น ทั้งหาได้ง่าย เพราะไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
หากทักขิไณยบุคคลคนหนึ่งมาหาเรา เราจะให้ร่างกายของตนนี้แก่เขา
เมื่อเป็นดังนั้น เขามาหาเราก็จักไม่ไปเปล่า คือจักไม่มีมือเปล่าไป.

เมื่อพระมหาบุรุษปริวิตกถึงสภาพตามความเป็นจริงอย่างนี้ ด้วยอานุภาพแห่งความปริวิตกนั้น
บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกะก็แสดงอาการร้อน
ท้าวเธอรำพึงอยู่ ทรงเห็นเหตุนี้แล้วจึงดำริว่า
เราจักทดลองพญากระต่าย
จึงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ไปที่อยู่ของนากก่อน ได้ประทับยืนอยู่.
เมื่อนากถามว่า
ท่านพราหมณ์ ท่านยืนอยู่เพื่ออะไร?”
ท้าวเธอตอบว่า
หากเราได้อาหารสักอย่าง เราจะรักษาอุโบสถ บำเพ็ญสมณธรรม.
นากตอบว่า
สาธุ เราจักให้อาหารแก่ท่าน.ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

ปลาตะเพียนของเรามี ๗ ตัว เพิ่งเอาขึ้นจากน้ำ วางไว้บนบก
ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีสิ่งนี้แหละ เชิญท่านบริโภค แล้วอยู่ในป่าเถิด.


พราหมณ์กล่าวว่า รอไว้ก่อน เราจักรู้ภายหลัง
จึงไปหาสุนัขจิ้งจอกและลิงเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ
แม้สัตว์เหล่านั้นก็ต้อนรับด้วยไทยธรรมที่ตนมีอยู่
ก็กล่าวว่า
รอไว้ก่อน เราจักรู้ภายหลัง.ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

เนื้อย่างสองชิ้น เหี้ย หม้อนมส้ม ของคนเฝ้านาโน้น ซึ่งข้าพเจ้านำมาเป็นอาหารกลางคืน
ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีอาหารอย่างนี้แหละ เชิญท่านบริโภคแล้วอยู่ในป่าเถิด.

มะม่วงสุก น้ำเย็น สถานที่ร่มรื่นเย็นสบาย ท่าน
พราหมณ์ ข้าพเจ้ามีอย่างนี้ เชิญท่านบริโภคแล้วอยู่ในป่าเถิด.


ในบรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ทุสฺส เท่ากับ อมุสฺส (โน้น)
คำว่า ซึ่งข้าพเจ้านำมาเป็นอาหารกลางคืน (รตฺติ ภตฺตํ อปาภตํ)
ความว่านำออกมาเพราะเป็นอาหารกลางคืน.
คำว่า เนื้อย่างสองชิ้น เหี้ย (มํสสูลา จ เทฺว โคธา) ได้แก่ เนื้อย่างสองชิ้น และเหี้ยตัวหนึ่ง.
คำว่า ทธิวารกํ (หม้อนมส้ม) แก้เป็น ทธิวารโก.

ต่อจากนั้น พราหมณ์จึงเข้าไปหาสสบัณฑิต. แม้เมื่อสสบัณฑิตนั้นถามว่า
ท่านมาเพื่ออะไร?” พราหมณ์ก็บอกเหมือนอย่างนั้น. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

ท้าวสักกะทรงทราบความดำริของเราแล้ว แปลงเพศเป็นพราหมณ์
เสด็จเข้ามายังสำนักของเรา เพื่อทรงทดลองทานของเรา.

เราเห็นพราหมณ์นั้นแล้วก็ยินดี ได้กล่าวคำนี้ว่า
ท่านมาถึงในสำนักของเราเพราะเหตุแห่งอาหาร เป็นการดีแล.

วันนี้ เราจักให้ทานอันประเสริฐที่ใคร ๆ ไม่เคยให้แก่ท่าน
ท่านผู้ประกอบด้วยศีลคุณ การเบียดเบียนผู้อื่นไม่ควรแก่ท่าน.

ท่านจงไปนำเอาไม้ต่าง ๆ มาก่อไฟขึ้น เราจักปิ้งตัวของเรา
ท่านจักได้กินเนื้อที่สุก.

พราหมณ์นั้นรับคำแล้ว มีใจร่าเริง นำเอาไม้ต่าง ๆ มาทำเป็นเชิงตะกอนใหญ่
ทำเป็นห้องอันเต็มด้วยถ่านเพลิง.

ก่อไฟโพลงขึ้น ณ ที่นั้นทันที เหมือนไฟนั้นเป็นกองใหญ่ เราสลัดตัวอันมีธุลีแล้ว
เข้าไปนั่งอยู่ข้างหนึ่ง.

ในเมื่อกองไม้ใหญ่อันไฟติดทั่วแล้ว เป็นควันตลบอยู่
ในกาลนั้น เรากระโดดลงในท่ามกลางภายในเปลวไฟ.

น้ำเย็นอันผู้ใดผู้หนึ่งดำลงแล้ว ย่อมระงับความกระวนกระวายและความร้อน
ย่อมให้ความยินดีและปีติฉันใด

ในกาลเมื่อเราเข้าไปยังไฟที่ลุกโพลง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ความกระวนกระวายทั้งปวงย่อมระงับ เหมือนดำลงในน้ำเย็นฉะนั้น.

ในบรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ทรงทราบความดำริของเราแล้ว (มม สงฺกปฺปมญฺญาย)
ความว่า ท้าวสักกะทรงทราบความปริวิตก มีประการดังกล่าวแล้วในก่อน.
คำว่า แปลงเพศเป็นพราหมณ์ (พฺราหฺมณวณฺณินา) ได้แก่ แปลงอัตภาพเป็นรูปพราหมณ์.
คำว่า ยังสำนัก (อาสยํ) ได้แก่ ยังพุ่มไม้เป็นที่อยู่.

คำว่า ก็ยินดี (สนฺตุฏฺโฐ) ได้แก่ ยินดีโดยส่วนทั้งปวงอย่างสม่ำเสมอ.
คำว่า เพราะเหตุแห่งอาหาร (ฆาสเหตุ) ได้แก่ เพราะอาหารเป็นเหตุ.
คำว่า ที่ใครๆ ไม่เคยให้ (อทินฺนปุพฺพํ) ได้แก่ อันใคร ๆ ที่มิใช่พระโพธิสัตว์ไม่เคยให้.
คำว่า ทานอันประเสริฐ (ทานวรํ) ได้แก่ ทานอันอุดม.
สสบัณฑิตกล่าวว่า
วันนี้เราจักให้แก่ท่าน.ท่านผู้ประกอบด้วยศีลคุณ
การเบียดเบียนผู้อื่นไม่สมควรแก่ท่าน บัดนี้ เพื่อจะเปลื้องพราหมณ์ออกจากการฆ่าสัตว์
แล้วทำตนให้สมควรแก่การบริโภคของพราหมณ์นั้นแล้วให้
จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ท่านจงไป ... ก่อไฟขึ้น (เอหิ อคฺคึ ปทีเปหิ).

ในบรรดาคำเหล่านั้น ข้อว่า เราจักปิ้งตัวของเรา (อหํ ปจิสฺสมตฺตานํ)
ได้แก่ เมื่อท่านทำห้องอันเต็มด้วยถ่านเพลิงแล้ว เราจะโดดย่างตัวของเรา.
ข้อว่า ท่านจักได้กินเนื้อที่สุก (ปกฺกํ ตฺวํ ภกฺขยิสฺสสิ)
ได้แก่ ท่านจักได้กินเนื้อที่สุกเช่นนั้น.

คำว่า นำเอาไม้ต่าง ๆ มา (นานากฏฺเฐ สมานยิ) ความว่า
ท้าวสักกะผู้ทรงเพศเป็นพราหมณ์นั้น ทำทีเป็นหาไม้ต่าง ๆ มา.
ข้อว่า ทำเป็นเชิงตะกอนใหญ่ ทำเป็นห้องอันเต็มด้วยถ่านเพลิง
(มหนฺตํ อกาสิ จิตฺตกํ กตฺวานงฺคารคพฺภกํ)
ความว่า พราหมณ์นั้นได้ทำเชิงตะกอนใหญ่ในขณะนั้นทันที
ปราศจากเปลว ปราศจากควัน ภายในเต็มไปด้วยถ่านเพลิงลุกโพลงอยู่โดยรอบ
พอที่ร่างกายของเราจะดำลงไปได้.
อธิบายว่า ท้าวสักกะรีบเนรมิตขึ้นด้วยฤทธิ์. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
ก่อไฟโพลงขึ้น ณ ที่นั้นทันที เหมือนไฟนั้นเป็นกองใหญ่.

ในบรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ไฟนั้น (โส)
ความว่า พราหมณ์ได้ก่อเหมือนกองไฟนั้นเป็นกองใหญ่ทันที.
คำว่า เราสลัดตัวอันมีธุลีแล้ว (โผเฏตฺวา รชคเต คตฺเต)
ความว่า สลัดตัวของเราอันมีฝุ่น ๓ ครั้ง ด้วยคิดว่า
หากมีสัตว์อยู่ในระหว่างขน สัตว์เหล่านั้นอย่าตายเสียเลย.
ข้อว่า เข้าไปนั่งอยู่ข้างหนึ่ง (เอกมนฺตํ อุปาวสึ)
ความว่า เราเห็นว่ากองไม้ยังไม่ติดไฟ จึงเลี่ยงไปนั่งหน่อยหนึ่ง.
ข้อว่า ในเมื่อกองไม้ใหญ่อันไฟติดทั่วแล้ว เป็นควันตลบอยู่

(ยทา มหากฏฺฐปุญฺโช อาทิตฺโต ธมธมายติ)
ความว่า ในเมื่อกองไม้นั้นอันไฟติดทั่วแล้วโดยรอบเป็นควันตลบอยู่
ด้วยอำนาจแห่งเปลวไฟที่ก่อขึ้นด้วยความรวดเร็ว.
ข้อว่า ในกาลนั้น เรากระโดดลงในท่ามกลางภายในเปลวไฟ
(ตทุปฺปติตฺวา ปปตึ มชฺเฌ ชาลสิขนฺตเร)
ความว่า ในกาลนั้น คือเวลานั้น เราคิดว่า กองถ่านเพลิงนี้สามารถเผาร่างของเราได้
จึงโดดลงไปให้ร่างทั้งสิ้นเป็นทาน โดดลงในท่ามกลางกองถ่านเพลิงนั้นซึ่งอยู่ภายในเปลวไฟ
มีใจเบิกบานดุจพญาหงส์โดดลงในกอปทุมฉะนั้น.

คำว่า อันใดผู้หนึ่งดำลงแล้ว (ปวิฏฺฐํ ยสฺส กสฺสจิ)
ความว่า เหมือนในเวลาร้อน น้ำเย็นอันผู้หนึ่งผู้ใดดำลงไป
ย่อมระงับความกระวนกระวายและความเดือดร้อนของผู้นั้นได้
คือให้เกิดความพอใจและปีติฉันใด.
ข้อว่า ในกาลเมื่อเราเข้าไปยังไฟที่ลุกโพลง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน (ตเถว ชลิตํ อคฺคึ)
ความว่า ในกาลเมื่อเราเข้าไปในกองถ่านเพลิงที่ลุกโพลงก็ฉันนั้น มิได้มีแม้แต่ความร้อนเลย
โดยที่แท้ได้มีความระงับความกระวนกระวายเดือดร้อนทั้งปวง ด้วยความอิ่มในทาน
สรีราพยพทั้งหมดมีขนและหนังเป็นต้นของเรา เข้าถึงความเป็นของควรให้เป็นทาน
ความปรารถนาที่เราปรารถนาไว้ได้ถึงความสำเร็จแล้วสิ้นกาลนานหนอ.
ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

เราได้ให้แล้วซึ่งกายทั้งสิ้นโดยไม่เหลือ ผิว (ขน) หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก
และชิ้นเนื้อหทัย แก่พราหมณ์.

ในบรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ชิ้นเนื้อหทัย (หทยพนฺธนํ) ได้แก่ ชิ้นเนื้อหัวใจ.
จริงอยู่ ชิ้นเนื้อหัวใจนั้นท่านเรียกว่า ชิ้นเนื้อหทัย เพราะตั้งอยู่ดุจผูกไว้ซึ่งหทัยวัตถุ.
อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ชิ้นเนื้อหทัย ได้แก่ หทัย การผูก และเนื้อหทัย
อธิบายว่า ดุจเนื้อตับผูกเนื้อหทัย.
คำว่า ซึ่งกายทั้งสิ้นโดยไม่เหลือ (เกวลํ สกลํ กายํ)
ได้แก่ สรีระทั้งหมด ไม่มีส่วนเหลือ.

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทน (สงสัย) ไม่ได้ที่กองไฟนั้นไม่ทำความร้อน
แม้เพียงขุมขนในร่างกายของตน เป็นดุจเข้าไปอยู่ห้องหิมะ
จึงกล่าวกะท้าวสักกะผู้แปลงเป็นพราหมณ์อย่างนี้ว่า
ท่านพราหมณ์ ไฟที่ท่านก่อเย็นดีจริง ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?”
พราหมณ์กล่าวว่า ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้ามิใช่พราหมณ์ดอก
ข้าพเจ้าเป็นท้าวสักกะ มาทำอย่างนี้ก็เพื่อทดลองท่าน.
พระโพธิสัตว์ได้บันลือสีหนาทว่า ข้าแต่ท้าวสักกะ ช่างเถิด
หากว่าโลกทั้งสิ้นพึงทดลองข้าพเจ้าด้วยทาน เขาจะเห็นว่า ข้อที่ข้าพเจ้าไม่อยากให้นั้นไม่มีเลย.

ลำดับนั้นท้าวสักกะตรัสว่า ท่านสสบัณฑิต คุณธรรมของท่านจงปรากฏอยู่ตลอดกัปเถิด
แล้วทรงบีบภูเขานำเอาน้ำ (หมึกจาก) ภูเขาวาดเป็นรูปกระต่ายไว้บนดวงจันทร์
แล้วให้พระโพธิสัตว์นอนบนตั่งหญ้าแพรกอ่อนที่พุ่มไม้ในราวป่านั้น แล้วเสด็จกลับเทวโลก.
บัณฑิตทั้ง ๔ เหล่านั้นต่างสมัครสมานเบิกบานบำเพ็ญนิจศีลและอุโบสถศีล
กระทำบุญตามสมควรแล้วก็ไปตามยถากรรม.

นากในครั้งนั้นได้เป็นพระอานนท์ในบัดนี้.
สุนัขจิ้งจอกในกาลนั้นได้เป็นมหาโมคคัลลานะในบัดนี้
ลิงในกาลนั้นได้เป็นพระสารีบุตรในบัดนี้
สสบัณฑิตในกาลนั้นได้เป็นพระโลกนาถในบัดนี้.

แม้ในสสบัณฑิตจริยานี้ พึงเจาะจงกล่าวถึงศีลบารมีเป็นต้น ของสสบัณฑิตนั้นตามสมควร
โดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล. อนึ่ง พึงประกาศคุณานุภาพของพระโพธิสัตว์ไว้ในที่นี้
มีอาทิอย่างนี้ คือ แม้เมื่อเกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน (ถ้ามี) การรู้ธรรมที่เป็นกุศลเป็นต้น
โดยความกุศลเป็นต้น ตามความเป็นจริง,
การเห็นโทษแม้มีประมาณน้อยในอกุศลเหล่านั้นโดยความเป็นของน่ากลัว
แล้วเว้นจากอกุศลเด็ดขาด, การตั้งตนไว้ในกุศลธรรมทั้งหลายโดยชอบเท่านั้น,
การชี้แจงโทษแก่คนอื่นว่า ธรรมลามกชื่อนี้อันท่านถือเอาแล้วอย่างนี้
ลูบคลำแล้วอย่างนี้ ย่อมมีคติอย่างนี้ ในภพหน้าอย่างนี้แล้ว ชักชวนในการเว้นจากโทษนั้น,
การชี้แจงถึงอานิสงส์ในการทำบุญโดยนัยมีอาทิว่า นี้ชื่อว่าทาน นี้ชื่อว่าศีล
นี้ชื่อว่าอุโบสถกรรม เทวสมบัติมนุษยสมบัติอยู่ในมือของผู้ตั้งอยู่ในธรรมนี้
แล้วให้เขาดำรงอยู่, การไม่คำนึงถึงร่างกายและชีวิตของตน, การอนุเคราะห์สัตว์เหล่าอื่น,
และความมีอัธยาศัยในทานอย่างกว้างขวาง. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว
พระมหาสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้แสวงหาคุณธรรมใหญ่หลวง ฯลฯ
แม้จิตเลื่อมใสในพระโพธิสัตว์เหล่านั้น ก็พึงพ้นจากทุกข์ได้
จะกล่าวไปไยถึงการทำตามท่านเหล่านั้น โดยธรรมสมควรแก่ธรรม.

อรรถกถาสสบัณฑิตจริยา จบ



หมายเหตุ
๑. ขุ. ชา. ๒๗/๕๖๒/๑๓๘-๑๓๙
๒. ขุ.ชา. ๒๗/๕๖๒-๕๖๔/๑๓๘-๑๓๙


(สสบัณฑิตจริยา จริยาปิฎก
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๗๔)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP