จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๕๖ สัมภาษณ์อย่างไรให้ได้งาน


อาจารย์แนะแนวมักให้คำแนะนำขั้นพื้นฐานกับนักศึกษาว่า
"พวกเธอต้องแสดงความเชื่อมั่นในตนเอง นำเสนอตัวเองให้เจ้านายประทับใจ
ที่สำคัญต้องอ่อนน้อม เก็บความรู้สึกให้ได้นะ"
นักศึกษาบางคนก็อดสงสัยไม่ได้ และแอบถามนอกห้องว่า
"ถ้าเชื่อมั่นตัวเองแล้วเก็บอารมณ์หัวรุนแรงไม่อยู่ล่ะอาจารย์ จะให้ทำไง?
แบบว่าปรับไม่ถูกน่ะ เชื่อมั่นในตัวเองทีไรแข็งกระโด๊กทุกที"
อาจารย์แนะแนวก็ทันทีว่า
"เธอก็ดูอย่างฉันสิ! เห็นไหม เชื่อมั่นในตัวเอง แต่ก็อ่อนโยนอยู่ในที"
นักศึกษาซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่สวนให้แบบตรงไปตรงมา
"ไม่นะ อาจารย์ดูก้าวร้าวออก ยืนอบรมหน้าห้องเหมือนแม่เลี้ยงค่ายมวยไม่มีผิด"
"ต๊าย!"

ก่อนเรียนจบ นักศึกษาส่วนใหญ่ได้รับการแนะแนวยืดยาว
เพื่อไปสู่จุดสรุปที่ว่า แนวทางนั้นพอรู้อยู่แล้ว
แต่ในทางปฏิบัติให้เกิดผล วิธีการอยู่ตรงไหน
ทำอย่างไรจึงจะมีคุณสมบัติที่น่าเรียกตัวไปทำงานครบ
เพราะคุณสมบัติหลายๆข้อมันขัดกันเอง
เด็กบางคนขาดความเชื่อมั่น
แต่ต้องแกล้งเบ่งกำลังเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ
ก็กลายเป็นฝืดๆ ฝืนๆ หรือกระทั่งดูท่าทางก้าวร้าว กระด้างกระเดื่องไป
หายากครับที่จะมีเด็กจบใหม่ที่ไหนดูครบพร้อมไปหมด
เชื่อมั่น นิ่ง อ่อนโยนในที และมีความรู้ความสามารถตรงกับงาน
ส่วนใหญ่จะขาดๆเกินๆ หาความพอดีไม่ค่อยเจอ

ถ้างานไหนต้องการ "เด็กเก่งๆ" หรือ "เก่งที่สุด"
ก็เตรียมลดความคาดหวังเรื่องสัมมาคารวะ
หรือความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นไปได้
แน่นอน ผู้จัดการที่มีประสบการณ์มากส่วนใหญ่
จะให้ภาษีกับเด็กที่ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้มากกว่าเด็กเก่ง
แต่บางทีก็ต้องหลับหูหลับตาเลือกเด็กเก่ง
เพราะถ้าเก่งไม่พอ งานนั้นก็ไม่เดิน

เด็กจบใหม่บางคนฟังอาจารย์แนะแนวหลายทีไม่รู้เรื่อง
มาฟังรู้เรื่องด้วยคำไม่กี่คำที่ตรงไปตรงมาของผู้สัมภาษณ์ เช่น
"ลื้อไม่ต้องแกล้งทำหน้าทำตาพินอบพิเทาหรอก อั๊วรู้ว่าใจลื้อด่าอั๊วอยู่
คนเราชะตาไม่ถูกกัน แกล้งฝืนยังไงก็ปิดไม่มิด
ลื้อเก่ง แต่อั๊วไม่ชอบลื้อซะอย่าง อั๊วก็ไม่เอาลื้อหรอก"

นี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหาใหญ่ในองค์กรทั่วไป
เอาคนที่ไม่สมบูรณ์แบบ แถมเข้ากันไม่ค่อยได้มาอยู่ด้วยกัน
สิ่งที่ออกมาในระยะยาวก็คือความรู้สึกพร่อง
ไม่เคยอิ่ม ไม่เคยเต็ม ไม่เคยมีใครได้รับความพอใจอย่างแท้จริง
ถึงงานเสร็จก็เหมือนมีอะไรบางอย่างข้างในที่ยังไม่เสร็จ
ยังค้างคา และยังคงรบกวนจิตใจไม่เลิก
ไม่ว่าจะเพิ่งไปถึงที่ทำงาน เพื่อจะไปเจอเจ้านายหรือลูกน้อง
ตลอดไปจนกระทั่งจะออกจากที่ทำงาน เพื่อเสียวสันหลังว่าจะโดนใครนินทาว่าอย่างไรบ้าง

การต้องฝืนทนทำงานในสภาพแวดล้อมที่บีบให้รู้สึกเหมือนตัวเล็ก ไร้ค่า
ตลอดจนไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรนั้น ทำให้ผู้คนพากันหดหู่ เก็บกด
และไม่ทราบจะหาทางออกอย่างไร
หลายคนหันหน้าเข้าหาธรรมะ ก็มาเจอธรรมะแบ่งข้างเข้าให้อีก

จริงๆแล้วปัญหาสังคมส่วนใหญ่จะไม่เกิด
ถ้าเราสอนกันที่โรงเรียน อาจจะเป็นชั่วโมงแนะแนวหรืออะไรก็แล้วแต่
บอกเด็กตรงไปตรงมาว่าถ้าคนสัมภาษณ์เขาไม่ชอบคุณ
คุณแต่งตัวดียังไง ความรู้ความสามารถมากแค่ไหน
ก็ไม่ต้องพยายามประจบ เพราะยังไงเขาก็ไม่เอา
แล้วถ้าคุณไม่่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง
ก็อย่าไปแสดงความเชื่อมั่นเอาตอนนั้น เพราะมันจะปลอม แล้วก็แข็งเกิน
แต่ต้องสั่งสมความเชื่อมั่นจากการเพิ่มความรู้ความสามารถ
เห็นค่าของการขยันสั่งสมความรู้ความสามารถ ไม่เอาแต่ลอกข้อสอบคนอื่น
ว่าจะไปมีผลกับบุคลิกลักษณะตลอดชีวิตที่เหลือ

ที่สำคัญคือเมื่อมั่นใจในตัวเองออกมาจากความมีดี
ก็ต้องฝึกเห็นโทษของการมีมานะอัตตามากแบบคนมีดี
ฝึกเห็นเสียตั้งแต่ยังเรียน อย่าไปเห็นเอาตอนทำงานแล้ว
เล่าให้เขาฟังว่าเจ้านายบ้าอำนาจที่ทำให้คนอื่นแทบอยากฆ่าตัวตายนั้น
มีแฝงตัวอยู่ในทุกองค์กร และระบาดหนักเหมือนโรคร้ายขึ้นทุกวัน
ถึงขั้นด่าพนักงานเหมือนหมูเหมือนหมาเป็นว่าเล่นก็มี
คนพวกนี้กลายเป็นโรคจิตแบบไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลบ้า
เพราะมีเงินพอจะทำให้ดูเป็นปกติอยู่ได้
แต่ที่แท้ฟุ้งซ่านจัดทั้งวัน ที่สำแดงอาการอาละวาดคลุ้มคลั่งใส่ลูกน้อง
ไม่ใช่เป็นสุข แต่เป็นทุกข์ในอีกแบบหนึ่งที่ไม่แพ้ลูกน้องสักเท่าไรเลย

เด็กใกล้จบนั้น แนะแนวให้รู้จักโลกความเป็นจริงได้
แต่เด็กจบออกมาแล้ว ก็จะมาก๊อปปี้ของจริงตามที่เจอเท่านั้นครับ
หวังว่าเขียนมาคงจุดรอยยิ้มให้หลายๆคน
ที่กำลังทำตาวาวนึกถึงใบหน้าเจ้านายตัวเองได้บ้าง
นึกถึงแล้วแผ่เมตตานะครับ
นึกอยากให้เขายิ้ม นึกอยากให้เขาหัวเราะก็ยังดี
ถ้านึกบ่อยมากพอก็อาจเป็นเหตุให้คลื่นจิตดีๆของคุณ
ไปกระทบใจให้เขาเห็นตัวเองยิ้มเพราะคุณได้
และในที่สุดเขาก็จะใจดีกับคุณมากขึ้นไปเอง

ดังตฤณ
กรกฎาคม ๕๔

 

 

คอลัมน์ "สารส่องใจ" ฉบับเข้าพรรษา
ขออัญเชิญพระธรรมเทศนาของ หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติธรรมรับวันเข้าพรรษา
ในตอน "อุบายวิธีถอดถอนอุปาทานขันธ์" ค่ะ (-/\-)

ใครที่ทำงานมานานแล้ว แต่ยังหาอาชีพที่ลงตัวให้กับตัวเองไม่ได้ซักที
แนะนำให้ลองค้นหาตัวเองที่คอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ฉบับนี้ตอน "จะทราบได้อย่างไรครับว่าเราเหมาะที่จะประกอบอาชีพอะไร"

ส่วนคอลัมน์ "บทความรัก"
คุณ mayrin
กลับมาอีกครั้งพร้อมบทความดีๆ ให้กับคนมีรัก
และยังคงทุกข์เพราะความรักอีกเช่นเคย
ฉบับนี้ตอน "ตัดบัวยังเหลือใย" ค่ะ

เพื่อนๆ ที่ชื่นชอบภาพปกของเรา
ขณะนี้ภาพปกล็อตใหม่ได้ถูกนำมาทำเป็นวอลเปเปอร์ให้ดาวน์โหลดกันแล้วนะคะ
สนในคลิ๊กตามลิงค์นี้ได้เลยค่ะ 01
http://bit.ly/gtbqXq


 




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP