สารส่องใจ Enlightenment

อัตตาและอนัตตา


ตอบปัญหาธรรมโดย พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี)
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดนองคาย


คำถาม ท่านอาจารย์สอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตาหาสาระมิได้ แล้วใครเล่าเป็นผู้ทำและใครเล่าเป็นผู้รับกรรมที่ทำลงไปแล้วนั้น


คำตอบ ปัญหานี้ดีมาก ปัญหานี้เป็นปัญหาโลกแตก
คือว่าถ้าปัญหานี้เกิดขึ้นในสังคมใด แล้วสังคมนั้นจะต้องทะเลาะกันให้ได้
ถ้าเข้าใจว่า "อนัตตา เป็นของไม่มี สูญเปล่า"
ฝ่ายแย้งว่ามีก็จะชี้ลงไปว่า ผู้ซึ่งพูดว่าอนัตตาๆ อยู่นั้น ถ้าไม่มีแล้วนั้นคืออะไร
พร้อมกันนั้นก็ยัดหมากแดงให้เลย
อีกฝ่ายที่เห็นเป็นอนัตตาก็ไม่เบาเหมือนกัน ศอกกลับชุลมุนกันไปเลย
เพราะศอกมันก็เป็นอนัตตา บอกห้ามไม่ได้
อย่างนี้แลอนัตตา ที่เข้าใจว่าเป็นของไม่มีตัวตนสูญเปล่าได้เคยมีมาแล้ว

ถ้าเห็นว่าอนัตตาเป็นของ มีอยู่ แต่ หาสาระในนั้นไม่ได้ แล้วก็หมดปัญหา
เพราะทุกๆ คนพากันเห็นของมีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น
แต่จะเอาอะไรมาเป็นสาระในของที่มีอยู่นั้นไม่ได้
ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ แม้แต่คนเราเกิดมาก็เป็นเพียงมายาเท่านั้น
ต่างคนเกิดมาก็พากันมาเล่นกีฬา เดินกันไปคนละแต้มละฉาก
พอจบเกมแล้วก็ปิดฉาก (เข้าโรง) จบกันไปที
คนใหม่เกิดมาก็พากันเล่นเกมเดิม ฉากเดิมนี้ต่อไปอีกไม่รู้จักจบจักสิ้นสักที

คราวนี้มาพูดถึงเรื่องปัญหาที่ว่า เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา
แล้วใครเล่าเป็นผู้กระทำกรรมและใครเล่าเป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้น
ดังได้อธิบายมาแล้ว ถ้าอนัตตาแปลว่าไม่มีตนไม่มีตัวเป็นของว่างเปล่าแล้ว
ผู้พูดก็ไม่มีเสียง ผู้รับฟังก็ไม่ได้ยิน แล้วใครและอะไรจะไปกระทำกรรมนั้นๆ
เมื่อไม่มีใครทำกรรมแล้ว กรรมจะเกิดมาได้อย่างไร และใครจะเป็นผู้ไปรับกรรมนั้นๆ
ก็ย่อมไม่มีเช่นเดียวกัน แล้วทำไมจึงต้องมาพูดอนัตตาๆ กันอยู่เล่า
พูดของไม่มีนี้มันชักจะเลอะกันไปเสียแล้ว
ปัญญาเกิดจากความคิดความเห็นอันมีมานะสนับสนุน
มันอาจเลยขอบเขตไปได้เหมือนกัน

หลักอนัตตาในทางพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยปัญญาอันชอบ
พระองค์มิได้ตรัสว่าอนัตตาเป็นของไม่มีตนมีตัวเป็นของว่างเปล่า
พระองค์ตรัสว่าตนตัวคือร่างกายของคนเรา อันได้แก่ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ มันมีอยู่แล้ว
แต่จะหาสิ่งที่เป็นสาระในขันธ์ ๕ นั้นมันไม่มี ดังนี้ต่างหาก
เบื้องต้นดังพระองค์สอนว่า "ตนแลเป็นที่พึ่งของตน หรือการชนะตนแลเป็นของดีเลิศ " ดังนี้เป็นต้น
เมื่อจะสอนผู้มีปัญญาพอสามารถจะคิดค้นหาตัวตนที่แท้จริงนั้นคืออะไร
จึงให้หยิบยกเอาตนคือขันธ์ ๕ นี้แหละขึ้นมาพิสูจน์ ว่าอะไรแน่เป็นตัวตนของเรา
ดังในอนัตตลักขณสูตรที่พระองค์ทรงสอนพระปัญจวัคคีภิกษุทั้งห้า
ทำนองตามปัญหาสรุปใจความเป็นภาษาไทยๆ ของเรา
ว่า รูป คือตัวของเราที่เราถือกันว่าตัวตนเราเขานี้นั้น
แท้จริงแล้วมิใช่ของเรา เพราะมันบอกมิได้ไม่อยู่ในบังคับของเรา
เช่น ห้ามมิให้มันแก่มันก็แก่อยู่เรื่อยๆ ทุกนาทีวินาที
แล้วพระองค์ทรงรับสั่งว่า พวกเธอทั้งหลายพากันสำคัญในรูปนั้นอย่างไร มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า
แล้วพระองค์ทรงตรัสว่า สิ่งใดไม่เที่ยงมันเป็นทุกข์หรือเป็นสุข
ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า เป็นทุกข์พระเจ้าข้า แล้วพระองค์ตรัสว่า สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์
จึงให้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงของมันเสียว่า
สภาพของขันธ์มันหากเป็นจริงตามสภาพของมันอยู่อย่างนั้น
จึงไม่ควรไปถือเอามาเป็นเรา เป็นของเรา
ดังนี้จึงแสดงให้เห็นชัดเลยว่า อนัตตาจึงมิใช่ของไม่มี
คือแสดงว่ามีอยู่แต่ของนั้นมันไม่มีสาระ
เมื่อผู้ใดเข้าไปยึดเอามาเป็นตนจึงได้รับความทุกข์
ดังพระองค์แสดงให้แก่โมฆราชฟังว่า "ท่านจงพิจารณาโลกนี้ให้เห็นเป็นของว่างสูญเปล่า
ก็ดี
ก็คงแสดงถึงของมีอยู่คือโลกนั้นเอง
แต่ให้พิจารณาเป็นของว่างเปล่าจากการเข้าไปถือเอามาเป็นตัวเป็นตน เท่านั้นเอง

ฉะนั้นเมื่อจะสรุปให้สั้นๆ แล้ว เมื่อผู้ที่ยังยึดอัตตาอยู่
พระพุทธองค์ก็สอนให้ประกอบภารกรรม
เพื่อประโยชน์แก่อัตตาโดยทางที่ชอบที่ควรไปก่อน
จนกว่าผู้นั้นจะเห็นชัดแจ้งด้วยตนเองว่า สิ่งที่เราถือว่าอัตตาอยู่นั้น
แท้จริงแล้วมิใช่อัตตามันเป็นแต่เพียงมารยา หรือของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ก็แล้วแต่
แล้วพระองค์จึงสอนอนัตตาที่แท้จริง
พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ทนต่อการพิสูจน์ เพราะมีเหตุผลให้พิสูจน์ได้
นักแสดงโขน - ลิเก และละครอาชีพ ใครๆ ก็รู้อยู่แก่ใจทุกคนว่า
เรื่องที่เขาแสดงนั้นมิใช่เป็นของจริง เขาสมมติขึ้นมาพอเป็นมารยาเท่านั้น
ถึงขนาดนั้นก็ตาม ยังสามารถเร้าใจของผู้ที่ยังถืออนัตตาอยู่
เมื่อเข้าไปดูแล้ว ถึงบทโศกเข้าก็เป็นทุกข์ตามบทถึงกับร้องไห้ก็มี
เวลาถึงบทน่าเพลิดเพลินก็หัวเราะจนท้องคัดท้องแข็งก็มี
แต่สำหรับท่านผู้รู้มารยาและสิ่งที่มิใช่มารยาแล้วท่านก็เฉย ๆ

 

sathu2 sathu2 sathu2


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จากหนังสือ ธรรมะปฏิบัติ สนทนาธรรมระหว่างอาจารย์และศิษย์
คัดจาก อนุสรณ์เนื่องในการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์
และเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
วันเสาร์ที่ ๒๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๕



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP