กระปุกออมสิน Money Literacy

เริ่มออมก่อน มีชัยไปกว่าครึ่ง


Mr.Messenger
สนใจติดตามข่าวสารการลงทุนได้ที่ http://twitter.com/MrMessenger

น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักฟิสิกส์ทฤษฎี ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ทั้งยังมีสัญชาติสวิสและอเมริกัน ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพ วางรากฐานของโลกให้เปลี่ยนไปจากเดิมและกลายเป็นโลกอย่างที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้ ถึงแม้บางคนจะรู้จักเขาแค่ผิวเผินว่าเก่งอย่างโน้น เก่งอย่างนี้ก็ไม่เป็นไร แต่ผมขอคิดเองว่าทุกคนเคยได้ยินชื่อนี้ก่อนจะอ่านบทความอันนี้แล้วกัน

ไม่ได้จะมาเล่าประวัติของ ไอน์สไตน์ ให้ฟังนะครับ แต่ที่เกริ่นนำมาด้วยนักฟิสิกส์ผู้นี้ก็เพราะ ตัวเขาเองนอกจากจะค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพแล้ว ไอน์สไตน์บอกว่า การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ ๒๐ นั้นไม่ใช่ทฤษฎีสัมพันธภาพ แต่คือ "ดอกเบี้ยทบต้น" ...นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกลองได้พูดแบบนี้ ก็ต้องรู้กันหน่อยแล้ว ว่าเจ้าดอกเบี้ยทบต้นนี่มันคืออะไร? ตามไปดูกัน

คำว่า ดอกเบี้ยทบต้น อธิบายก็คือ เงินออมหรือเงินลงทุนของเราสามารถนำมาสร้างผลตอบแทนได้ด้วยการฝากธนาคารรับดอกเบี้ย หรือจะเอาไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดก็แล้วแต่ พอได้ผลตอบแทนกลับมา แทนที่จะเอาผลตอบแทนนั้นออกมาใช้จ่าย เราก็ทบต้นกลับเข้าไปฝากหรือลงทุนต่อ ทำให้ผลตอบแทนจากการออมและการลงทุนครั้งต่อไปมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากเงินต้นที่ มีจำนวนมากขึ้น

"ดอกเบี้ยทบต้น" ถูกขนานนามว่าเป็น "พลังอำนาจที่ทรงอานุภาพที่สุดในจักรวาล" และ "ประดิษฐกรรมยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติ" ได้ยังไง อธิบายไปก็อาจไม่เห็นภาพมากนักนะครับ งั้นลองดูตารางตัวอย่างนี้กันดีกว่า

นายว่องไว กับ นายเชื่องช้า เป็นพนักงานกินเงินเดือนในบริษัทเอกชนเหมือนกัน ความแตกต่างกันก็คือ นายว่องไวเริ่มต้นเก็บเงินตั้งแต่การเข้าทำงานเดือนแรก เมื่อตอนอายุ ๒๕ ปี ส่วนนายเชื่องช้า มองว่า เงินเดือนตัวเองยังน้อย เก็บตอนนี้ทันทีก็คงได้เงินไม่มาก ไว้รอเงินเดือนสูงๆแล้วค่อยเก็บเป็นก้อนใหญ่ๆไปเลยจะดีกว่า สุดท้ายเลยเก็บเงินช้ากว่านายว่องไวไปถึง ๑๐ ปี เต็มๆ เมื่อเริ่มช้า แต่ยังมีข้อดีก็คือ ถึงเริ่มช้า แต่นายเชื่องช้าก็สามารถออมได้สูงเกือบๆ ๒ เท่าของที่นายว่องไวออมทุกๆเดือน เมื่อเวลาผ่านไปจนทั้งสองเกษียณอายุ ผลตอบแทนที่ทำได้ต่อปีคือ ๕% เท่ากัน ผลออกมาตามตารางด้านล่างนี้ครับ

46_money01
Thanks: http://image.free.in.th/

จะเห็นว่า นายว่องไวออมเงินด้วยจำนวนเงินทั้งหมดจนเกษียณเพียงแค่ ๒.๑ ล้านบาท แต่นายเชื่องช้าออมเงินไปทั้งสิ้น ๒.๘๕ ล้านบาท กลับได้ผลตอบแทนเมื่อเกษียณอายุที่ ๖๐ ปี พอๆกัน สาเหตุที่ถึงแม้นายว่องไวจะเก็บเงินได้น้อยกว่านายเชื่องช้า แต่มีเงินเก็บหลังเกษียณในจำนวนเท่ากัน ก็เพราะเพราะพลังอำนาจของดอกเบี้ยทบต้นนั้นเอง

สมมติใหม่อีกทีนะครับ ให้นายว่องไวเริ่มต้นออมเงินด้วยจำนวนเงิน ๙,๕๐๐ บาท ทุกๆเดือน (จำนวนเท่ากับนายเชื่องช้า) แต่เริ่มออมก่อนซัก ๕ ปี ตอนอายุ ๓๐ ปี ผลที่ได้คือ

46_money02
Thanks: http://image.free.in.th/

พออายุครบ ๖๐ ปี นายว่องไวมีเงินออมมากกว่านายเชื่องช้าเกือบ ๔๐% ทีเดียว จากตัวอย่างทั้งสองตัวอย่างข้างต้นก็แสดงให้เราเห็นแล้วว่า ด้วยอัตราดอกเบี้ยทบต้น ใครที่เริ่มลงมือออมก่อน คนนั้นย่อมมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว

คำถามถัดมาก็คือ แล้วพลังของดอกเบี้ยทบต้นมีแค่นี้หรือ? ไม่ได้มีแค่นี้ครับ มีมากกว่านี้อีก ตัวอย่างสุดท้าย ผมลองให้นายว่องไวและนายเชื่องช้าออมเงินในจำนวนที่เท่ากัน เริ่มต้นพร้อมกัน ต่างกันที่ผลตอบแทนที่ได้จากการออม นายว่องไวศึกษาหาข้อมูล และเปลี่ยนแหล่งออมเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ทำให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง ขึ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าการออมแบบเดิมถึง ๒ เท่า (จาก ๕% เพิ่มขึ้นมาเป็น ๑๐%) มาดูว่า จะเป็นอย่างไรดีกว่า

46_money03
Thanks: http://image.free.in.th/

ด้วยเงินออมจำนวนที่เท่ากัน ระยะเวลาออมเงินที่เท่ากัน เกษียณอายุพร้อมๆกัน แต่นายว่องไวเปลี่ยนแหล่งออมเงิน เอาไปลงทุนให้เงินงอกเงยเพิ่มเป็น ๑๐% ต่อปี ปรากฏว่า ผลตอบแทนที่นายว่องไวได้รับกลับได้มากกว่า ๒ เท่าเมื่อเทียบกับการออมในรูปแบบเดิม สาเหตุก็เพราะ เมื่อได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในปีนั้นๆ นายว่องไวไม่ได้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวออกมา แต่กลับทบต้นเข้าไปลงทุนต่อ ดังนั้นผลตอบแทนในรอบปีถัดๆไปจึงคำนวณจากเงินต้นพร้อมผลตอบแทนจากปีก่อนหน้า ซึ่งมีอัตราเร่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กลับมาถามตัวเองกันครับ เราอยากเป็นนายเชื่องช้า หรือเป็นนายว่องไว? (ตอนนี้อาจมีคนคิดในใจ ดิฉันขอเป็นนางสาวว่องไวได้ไหมคะ ไม่อยากแปลงเพศ ... อันนี้ก็สุดแล้วแต่ครับ)

สรุปจากทั้ง ๓ ตัวอย่างที่กล่าวมา เราจะใช้ให้ทาสผู้ซื่อสัตย์ที่ชื่อว่า ดอกเบี้ยทบต้นทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยปัจจัยอะไรบ้าง ตามนี้ครับ


เมื่อคิดจะเริ่มต้น เริ่มให้เร็ว ยิ่งเริ่มต้นออมเงินหรือลงทุนเร็วเท่าไหร่ เราก็ได้ใช้งานดอกเบี้ยทบต้นเร็วเท่านั้น

เมื่อมีโอกาสเพิ่มจำนวนเงินในการออมหรือลงทุน จงเพิ่มซะ อย่ารอเวลา เพราะเมื่อเงินต้นเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนที่ได้จากการออม หรือการลงทุนก็ยิ่งเพิ่มเร็วขึ้นเท่านั้น

ศึกษาหาข้อมูล และหาแหล่งออม หรือแหล่งลงทุน ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น (ตามความเสี่ยงที่เรารับได้) อย่าเกี่ยงแม้แค่เพียง ๑% หรือ ๒% เพราะผลตอบแทนที่ได้มากกว่าเดิม แม้เพียงเล็กน้อยกลับให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างอย่างไม่น่าเชื่อ

ลองคิดดู ไม่น่าเชื่อว่า การทำงานของดอกเบี้ยทบต้นก็คล้ายๆกับการปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสตินะครับ จุดหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรมก็คือ เข้าถึงความสุขที่แท้จริงอันเกิดจากการปล่อยวางจากธาตุขันธ์ ซึ่งเราจะปล่อยวางได้ ก็ด้วยสติปัญญาที่ผ่านการอบรมมาดีพอที่จะเห็นความจริง และเราจะเห็นความจริงนี้ก็ด้วยการเจริญสติและสมาธิให้มากพอ

ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็แค่มีสติ พยายามทำเหตุปัจจัยให้สติเกิดขึ้นบ่อยๆ เมื่อนั้นปัญญา ก็จะตามมา เมื่อปัญญาตามมา เราก็จะได้เห็นความจริง เมื่อเห็นความจริง เราจึงสามารถปล่อยวางลงได้ จะใช้ประโยชน์จากดอกเบี้ยทบต้น ก็แค่เริ่มต้นด้วยการหัดออมเงิน หัดลงทุนอย่างสม่ำเสมอ พยายามทำเหตุปัจจัยให้มีเงินออมเกิดขึ้นต่อเนื่อง เมื่อออมเงินหรือลงทุนต่อเนื่อง ดอกเบี้ยทบต้นก็ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ได้ผลตอบแทนจากการออม หรือการลงทุนเร็วขึ้น และเมื่อได้ผลตอบแทนเร็วขึ้น อิสรภาพทางการเงินก็อยู่ไม่ไกล เมื่อเวลาผ่านไป ลองนึกย้อนกลับมาดูในอดีต เราเคยทำงานเพื่อเงินมาตลอด ในวันนั้นและด้วยอานุภาพของดอกเบี้ยทบต้น เงินจะทำงานแทนเราครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP