จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ได้อะไรจากการสวดมนต์


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it


045_destination

การสวดมนต์เป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำสำหรับพวกเราชาวพุทธเราทุกคนนะครับ
บางท่านอาจจะบอกว่าตัวเองไม่มีเวลาสวดมนต์หรอก เพราะในแต่ละวันนั้นยุ่งมาก
แถมกลับมาถึงบ้านก็เหนื่อยและหมดแรงแล้ว ไม่มีแรงสวดมนต์หรอก
จริง ๆ แล้ว การสวดมนต์นั้นก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้เวลาหรือใช้แรงมากมายนะครับ
เพราะเราก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องสวดมนต์บทยาว ๆ เสมอไป โดยบทสวดมนต์สั้น ๆ ก็มีมากมาย
การสวดมนต์สั้น ๆ นั้นก็ถือเป็นการสวดมนต์เช่นกัน
โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องสวดมนต์ทีละสองสามชั่วโมงเสมอไป
(หากมีเวลามากพอ ก็สวดมนต์บทยาว ๆ ก็จะได้ประโยชน์และอานิสงส์มากขึ้น)
แต่หากเรามีเวลาน้อย ก็สวดมนต์บทสั้น ๆ ก็ได้ครับ
ยกตัวอย่างเช่น บทสวดมนต์สั้น ๆ ที่นิยมก็ได้แก่ “บทอิติปิโสฯ” เป็นต้น
หรือหากจะให้สั้นกว่านั้น เพราะเวลาน้อยเหลือเกิน จะสวด “นะโมตัสสะฯ” สามจบก็ยังดี

บางท่านอาจจะสงสัยนะครับว่า “จะได้อะไรจากการสวดมนต์”
ในขณะที่บางท่านก็อาจจะเห็นว่าบางคนสวดมนต์ทุกวัน แต่ก็ยังประพฤติไม่ดี
และก็ยังประพฤติเบียดเบียนคนอื่นและตนเองอยู่
ก่อนที่เราจะคุยกันว่า “จะได้อะไรจากการสวดมนต์”
เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ จะขอเปรียบเทียบกับคำถามอื่น ๆ ดูก่อนนะครับว่า
“นักเรียนได้อะไรจากการไปโรงเรียน”
“นักโทษได้อะไรจากการติดคุก” และ
“คน ๆ หนึ่งได้อะไรจากการไปวัด”

เริ่มที่นักเรียนก่อน บางท่านอาจจะเห็นว่านักเรียนย่อมจะได้ “ความรู้” จากการไปโรงเรียน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักเรียนไปโรงเรียนอาจจะไม่ได้ความรู้เป็นสำคัญก็ได้
เพราะนักเรียนบางคนไม่ได้ไปเรียน สอบก็ไม่ผ่าน มัวแต่ไปจีบแฟนและได้แฟน
บางคนไม่สนใจเรียน แต่กลับมัวไปยกพวกตีกันทำร้ายกันกับสถาบันอื่น
บางคนไปโรงเรียนแล้ว ก็โดดเรียนออกไปเล่นเกมอยู่ที่ร้านอินเตอร์เน็ต ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าลำพังนักเรียนไปโรงเรียนนั้น ไม่ได้แปลว่าจะได้ “ความรู้” เสมอไป
แต่อาจจะได้อื่น ๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่านักเรียนคนนั้นไปทำอะไรที่โรงเรียนนั้นกันแน่

กรณีนักโทษไปติดคุก บางท่านอาจจะเห็นว่านักโทษไปติดคุกแล้วทำให้สำนึกผิด
ทำให้เกรงกลัวกฎหมาย และรู้สึกหลาบจำในความผิด
แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักโทษบางคนก็ไม่ได้หลาบจำ หรือสำนึกผิดใด ๆ
ดังที่จะเห็นจากข่าวว่า ยังมีนักโทษบางรายสั่งซื้อขายยาบ้าจากในคุกได้
และก็ยังเคยเห็นข่าวว่า นักโทษบางคนที่เพิ่งพ้นโทษมาก็กระทำผิดซ้ำอีก
นอกจากนี้ นักโทษบางคนก็ได้เรียนวิชาโจรมาเพิ่มจากเพื่อนในคุกด้วยกัน
จึงจะเห็นได้ว่าลำพังที่นักโทษไปติดคุกนั้น ไม่ได้แปลว่าจะได้ความสำนึกผิด
หรือเกรงกลัวกฎหมาย หรือรู้สึกหลาบจำเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับว่าไปทำอะไรในคุกนั้น

กรณีคนไปวัด บางท่านอาจจะเห็นว่าคนไปวัดจะต้องได้บุญกุศลใช่ไหม
แต่ก็ไม่แน่เสมอไปหรอกนะครับ ยกตัวอย่างเช่นว่า
คนที่ไปในวัดเพื่อไปขายล๊อตเตอรี่ก็ยังมีอยู่ในปัจจุบัน
ฆราวาสที่ไปร่วมงานบวชโดยดื่มสุราในวัดก็มีในอดีต
มิจฉาชีพที่ไปวัดเพื่อจ้องหาโอกาสจะลักทรัพย์ของวัดหรือของญาติโยมก็มี
ฆราวาสที่ไปวัดด้วยความไม่เลื่อมใส แต่ก็ไปแล้วพูดจาดูหมิ่นวัดหรือพระภิกษุก็มี
ฆราวาสที่ไปวัดเพื่อนำสินค้าขายตรงไปขายให้พระ และชวนพระมาเป็นตัวแทนขายตรงก็มี
หรือแม้กระทั่งว่าจัดงานศพในวัดแล้วนำโคโยตี้ไปเต้นในวัดก็ยังเคยเห็นอยู่ตามข่าว
จึงจะเห็นได้ว่าคนไปวัดนั้น ไม่ได้แปลว่าจะได้บุญกุศลเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับว่าไปทำอะไรที่วัดนั้น

บางท่านอาจจะแย้งว่าในสามคำถามข้างต้นนั้นเป็นเรื่องของ “การไปในสถานที่”
แต่ว่าการสวดมนต์นั้นเป็นเรื่องของ “การกระทำ” ไม่ใช่เรื่อง “การไปในสถานที่”
ผมก็จะขอยกคำถามอื่นเพิ่มเติมอีกในเรื่องของ “การกระทำ” นะครับ โดยถามว่า
“เราได้อะไรจากการทำอาหาร”
“เราได้อะไรจากการชมรายการในโทรทัศน์”
“เราได้อะไรจากการนั่งเรียนในห้องเรียน”

ขอเริ่มต้นที่การทำอาหารนะครับ
บางท่านอาจจะเห็นว่าเราทำอาหารแล้ว เราก็จะได้ทานอาหารที่เราทำนั้นสิ
จริงหรือเปล่าครับ มันก็ไม่แน่เสมอไปหรอกนะ
หากเราเป็นแม่ครัวในร้านภัตตาคารแล้ว คนอื่นได้ทานอาหารที่เราทำ แต่เราไม่ได้ทาน
แม้ว่าเราจะทำเองในบ้าน แต่พอทำอาหารเสร็จแล้ว อาจจำเป็นต้องไปทำธุระด่วนอื่น ๆ
หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุใด ๆ ทำให้อาหารจานนั้นหล่นพื้น หรือแมลงสาบบินมาเกาะ
หรือแมวหมากระโดดขึ้นมากิน ทำให้เราไม่ได้ทานอาหารจานนั้นก็ได้
นอกจากนี้ อาหารที่เราทำนั้นก็ไม่ได้ว่าจะอร่อยเสมอไป บางคราวอาจจะอร่อยมาก
อร่อยธรรมดา อร่อยน้อย หรือไม่อร่อยถูกปากเราก็ได้
จึงจะเห็นได้ว่า การที่เราทำอาหารนั้น ไม่ได้แปลว่าเราจะได้ทานอาหารนั้นเสมอไป
และไม่ได้แปลว่าอาหารนั้นจะต้องอร่อยเป็นที่ชอบใจเราเสมอไป

บางท่านอาจจะเห็นว่าการได้ชมรายการในโทรทัศน์เท่ากับว่าเราได้พักผ่อนทำให้สบายใจ
ซึ่งมันก็ไม่แน่เสมอไปนะครับ โดยอาจจะได้อย่างอื่นแทนก็ได้
บางคนชมรายการในโทรทัศน์แล้วเห็นสินค้าโฆษณาทำให้กลุ้มใจอยากจะได้ ทำให้เสียเงิน
บางคนชมละครแล้ว พอละครจบตอน ก็เกิดความอยากอย่างรุนแรงที่จะดูในตอนต่อไป
บางทีในระหว่างที่ชมละครนั้น ก็เกิดอารมณ์โกรธ เศร้า แค้น และเสียใจโดยอินตามละครไป
บางคนชมการแข่งขันฟุตบอลแล้ว ทีมฟุตบอลที่ตนเองเชียร์แพ้ ก็กลุ้มหนักกว่าเดิมอีก
บางคนชมการแข่งขันกีฬาเพราะเล่นพนัน ระหว่างชมก็เครียด เพราะต้องลุ้นมากมาย
แข่งเสร็จปรากฏว่าแพ้พนัน ก็ทำให้ยิ่งทำให้เครียดและกลุ้มใจหนักขึ้นไปอีก
บางคนชมรายการในโทรทัศน์แล้วก็ทะเลาะกับคนในบ้านเพราะว่าต้องการดูคนละช่อง
บางคนชมรายการในโทรทัศน์ใช้เวลาเกินสมควร จนกระทั่งกิจธุระหรือหน้าที่งานที่ควรทำ
ก็ไม่ได้ทำให้เสร็จเรียบร้อยภายในกำหนดเวลา จึงทำให้เสียหายและต้องกลุ้มใจหนักกว่าเดิมอีก
บางคนนั่งชมรายการอยู่หน้าจอโทรทัศน์จริง แต่ว่าใช้เวลาไปเพื่อการสนทนาโทรศัพท์กับคนอื่น
หรือไม่ก็อาจจะนั่งครุ่นคิดเรื่องอื่น ๆ หรือไม่ก็อาจจะนั่งหลับอยู่ที่หน้าจอโทรทัศน์นั้นเอง
จึงจะเห็นได้ว่า การที่เราได้ชมรายการในโทรทัศน์ ไม่ได้แปลว่าเราได้พักผ่อนทำให้สบายใจเสมอไป

บางท่านอาจจะเห็นว่า การที่เราได้นั่งเรียนในห้องเรียนย่อมจะทำให้เราได้มี “ความรู้ในวิชาที่เรียน”
กรณีนี้มันก็ไม่แน่เสมอไปเช่นกันครับ อาจจะไม่ได้ความรู้ในวิชาที่เรียนนั้นก็ได้
บางคนนั่งเรียนแล้วง่วงนอนแล้วก็หลับไปในระหว่างเรียนนั้น
บางคนมีอาการป่วยหรือทานยาทำให้มึน ๆ ก็ทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง
บางคนขาดเรียนติดต่อกันมาหลายครั้งแล้ว มาเรียนครั้งนี้ก็ไม่รู้เรื่อง เพราะปะติดปะต่อไม่ได้
บางคนอยู่ในห้องเรียนก็มัวแต่คุยกับเพื่อน หรือมัวแต่คุยจีบแฟน
หรือมัวแต่แอบเล่นอินเตอร์เน็ตหรือแชทผ่านโทรศัพท์มือถือ หรืออ่านหนังสือการ์ตูนหรือนิยายอื่น ๆ
หรือยกตัวอย่างว่า นำเด็กอนุบาลธรรมดาคนหนึ่งไปนั่งเรียนวิชาฟิสิกส์ในชั้นเรียนที่มหาวิทยาลัย
เด็กอนุบาลนั้นก็ย่อมจะไม่ได้ความรู้ความเข้าใจในวิชาฟิสิกส์ที่สอนเป็นแน่
จึงจะเห็นได้ว่า การที่เราได้นั่งเรียนในห้องเรียนไม่ได้แปลว่าเราจะได้มีความรู้ในวิชาที่เรียนเสมอไป

โดยทั้งหมดของคำถามตัวอย่างที่ยกมานี้ก็คือว่า
เราจะต้องพิจารณาไปที่ “เนื้อหาแท้ ๆ ของการกระทำนั้นว่าเราได้ทำอะไรกันแน่”
ขอยกตัวอย่างอีกว่า บางท่านบอกว่า “นั่งสมาธิ” ทุกวันเลย แต่จริง ๆ แล้วเป็นการ “นั่งหลับ” ทุกวัน
แต่กลับมาบอกว่า “นั่งสมาธิ” ทุกวันแล้วไม่เห็นผลอะไรเลย นั่นก็เพราะว่า
เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าตนเองได้นั่งสมาธิ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ได้นั่งสมาธิเลย แต่เป็นการ “นั่งหลับ”
หรือบางท่าน “เดินจงกรม” ทุกวันเลย แต่เดินไปก็คิดแต่เรื่องฟุ้งซ่านคิดเรื่องกลุ้มใจ
เดินไปได้ไม่นาน ก็เดินไปที่ตู้เย็นหรือตู้กับข้าวเพื่อหาของกิน แล้วก็บอกว่าไม่เห็นผลอะไรเลย
มีแต่น้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ... นั่นก็เพราะว่าอย่างนั้นไม่ใช่ “เดินจงกรม” นะครับ
แต่เป็น “เดินฟุ้งซ่าน” และ “เดินจงกลม” มากกว่า (ยิ่งเดินแล้ว ตัวก็ยิ่งเริ่มกลมขึ้นเรื่อย ๆ)

ฉันใดก็ฉันนั้น ในการสวดมนต์ก็ทำนองเดียวกันครับ กล่าวคือว่า
เราต้องพิจารณาเนื้อหาแท้ ๆ ของการสวดมนต์นั้นว่าเราทำอะไรกันแน่
หากเราสวดมนต์เพื่อสาปแช่งคนอื่น โดยระหว่างสวดนั้น จิตใจหมกมุ่นแต่ความพยาบาทและโทสะ
แสดงว่าระหว่างนั้น เราพาใจให้จมอยู่แต่กับพยาบาทและโทสะ ก็ย่อมจะได้ “อกุศล” ครับ
หากเราสวดมนต์เพื่อหวังโชคลาภเลขเด็ด ระหว่างสวดนั้น จิตใจหมกมุ่นแต่ความโลภอยากถูกรางวัล
แสดงว่าระหว่างนั้นเราพาใจให้จมอยู่แต่กับความโลภความอยาก ก็ย่อมจะได้ “อกุศล” ครับ
หากเราสวดมนต์ด้วยความมุ่งหวังที่จะจดจำบทสวดมนต์ได้อย่างแม่นยำ
เราก็ย่อมจะได้ประโยชน์จากความจดจำได้อย่างแม่นยำขึ้นในบทสวดมนต์ที่ท่องจำนั้น

หากเราสวดมนต์ด้วยอารมณ์ที่ยึดถือเสียงสวดมนต์เป็นอารมณ์แล้ว
ก็มีเรื่องเล่าในพระไตรปิฎกนะครับว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป
มีบรรดาค้างคาวหนูห้อยอยู่ที่เงื้อมแห่งหนึ่ง ได้ยินเสียงพระเถระ ๒ รูปจงกรมแล้วท่องอภิธรรมอยู่
ค้างคาวเหล่านั้นได้ฟังถือเอานิมิตในเสียงแล้ว (โดยไม่รู้ว่าเหล่านี้ ชื่อว่าขันธ์ เหล่านี้ ชื่อว่าธาตุ)
แล้วตกลงมามาถึงแก่ความตาย ด้วยเหตุสักว่าถือเอานิมิตในเสียงเท่านั้น
ตายจากอัตภาพนั้น แล้วไปจุติในเทวโลก ได้เสวยทิพยสมบัติสิ้นพุทธันดรหนึ่ง
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

หากเราสวดมนต์ด้วยความระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก
เราก็ย่อมจะได้อานิสงส์จากการยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกนั้น
(ในส่วนนี้ได้อธิบายในบทความตอนที่แล้วที่ชื่อว่า “ระลึก “อะไร” เมื่อไปทำบุญที่วัด (ตอนจบ)
ในเรื่องของ “เวลามสูตร” ที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนว่า
การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะนั้น
ยังมีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจตุรทิศ)

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าในพระไตรปิฎกนะครับว่า
มัณฑุกเทพบุตรกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า เมื่อชาติก่อนนั้นเขาเป็นกบเที่ยวหาอาหารอยู่ในน้ำ
เมื่อขณะที่เขาได้กำลังฟังธรรมของพระองค์อยู่ คนเลี้ยงโคได้ฆ่าเขา (ที่เป็นกบนั้น) ตาย
จากอัตภาพนั้น เขาได้จุติโดยมีฤทธิ์ ยศ อานุภาพ ผิวพรรณและความรุ่งเรืองของเทพบุตร
เนื่องจากผลแห่งความเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสครู่หนึ่งเท่านั้นในขณะนั้น
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา)

ดังนี้แล้วการที่เราฝึกยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกและเป็นอารมณ์ทุกวัน ๆ นี้
ย่อมมีอานิสงส์มากนะครับ หากท่านไหนไม่มีเวลาจะสวดมนต์ยาว ๆ แล้ว
แต่ต้องการสวดมนต์เพื่อให้น้อมระลึกถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกโดยสม่ำเสมอ
ก็ขอแนะนำให้สวดบท “ไตรสรณคมน์ (แปล)” ก็ได้นะครับ โดยสวดสั้น ๆ ดังนี้ว่า

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก)
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก)
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก)
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ (แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก)
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ (แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก)
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ (แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก)
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ (แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก)
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ (แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก)
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ (แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก)
เราก็ย่อมจะได้อานิสงส์จากการยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกนั้นดังที่กล่าวแล้ว

หากท่านไหนสวดมนต์โดยน้อมใจให้สงบเป็นสมาธิในการสวดมนต์นั้น
โดยสวดมนต์ไปแล้ว ก็มีจิตใจที่สงบร่มเย็น และเป็นสมาธิ โดยไม่มีนิวรณ์ใด ๆ มารบกวน
ก็ย่อมจะได้อานิสงส์จากการทำสมถะและการทำสมาธิดังกล่าว
หากท่านไหนสามารถภาวนาเจริญสติปัฏฐานได้ในระหว่างการสวดมนต์
ก็ย่อมจะได้อานิสงส์จากการภาวนาเจริญสติปัฏฐานดังกล่าวนั้น

หากท่านไหนไม่รู้เลยว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ และจะได้อานิสงส์อะไรบ้าง
(ไม่รู้เลยว่าจิตใจเลื่อมใสไหม จิตใจสงบไหม เจริญสติอยู่ไหม เป็นต้น)
พึงทราบว่าอย่างน้อยที่สุด หากในระหว่างสวดมนต์นั้น ไม่ได้คิดอะไรไม่ดี
ไม่ได้คิดอะไรที่เป็นอกุศลแล้ว ในระหว่างนั้นก็ย่อมจะเป็นเวลาที่ได้รักษาศีลอย่างเข้มแข็ง
เพราะในระหว่างเวลานั้น ท่านไม่ได้ไปฆ่าทำร้ายใคร ไม่ได้ลักขโมยใคร ไม่ได้ประพฤติผิดกับลูกเมียใคร
ไม่ได้โกหกมุสากับใคร ไม่ได้ดื่มสุรา และก็ไม่ได้คิดใด ๆ เกี่ยวกับการประพฤติผิดศีลดังกล่าว
อย่างน้อยที่สุด ท่านก็สามารถระลึกได้ว่าท่านได้มีศีลที่สมบูรณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการสวดมนต์นั้นมีอานิสงส์ที่หลากหลายดังที่กล่าว
การสวดมนต์แม้วันละน้อยทุกวัน ๆ ย่อมมีอานิสงส์ที่จะขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใส
ให้ศรัทธาเลื่อมใสต่อพระรัตนตรัย และทำให้คล่องแคล่วในบทสวดมนต์นั้น ๆ

ดังนี้แล้ว หากต้องการจะตอบคำถามว่าเรา “จะได้อะไรจากการสวดมนต์” แล้ว
ก็ต้องกลับไปพิจารณาเนื้อหาแท้ ๆ ของการสวดมนต์ที่ได้กระทำ
และพิจารณาตามจริงว่า เราสวดมนต์อย่างไร เพื่ออะไร และใจระหว่างนั้นเป็นอย่างไร
เราก็จะได้คำตอบเฉพาะตัวเราครับว่า “เราได้อะไรจากการสวดมนต์นั้น”




แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP