จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๔๔ เม้าท์แล้วก็แล้วไป


อินเตอร์เน็ตมีอิทธิพลกับคุณแค่ไหน?
ถ้าคุณมีอายุตั้งแต่ ๔๐ ขึ้นไป
ก็อาจต้องถามเจาะจงว่า
อินเตอร์เน็ตทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด?
แต่ถ้าคุณอายุตั้งแต่ ๒๐ ลงมา
ก็อาจต้องเปลี่ยนเป็นถามอีกแบบว่า
อินเตอร์เน็ตทำให้คุณโตขึ้นมาอย่างไร?

มีงานวิจัยหลายชิ้นบ่งบอกว่า
ยิ่งติดอินเตอร์เน็ตมากเท่าใด
สมาธิจะยิ่งสั้นลงเท่านั้น
รวมทั้งฉลาดในการแก้ปัญหาน้อยลงด้วย

ยกตัวอย่างเช่นสมัยนี้อยากรู้อะไร
ก็ไปตั้งกระทู้ถามตามเว็บบอร์ด
ด้วยความรู้สึกว่าเดี๋ยวก็มีคนที่รู้มาช่วยตอบ
ผมเคยเห็นกระทั่งกระทู้ขอให้ช่วยทำการบ้าน
ช่วยทำรายงาน หรือช่วยเตรียมความรู้ในการสอบ
เหล่านั้นล้วนเป็นพฤติกรรมลดการพึ่งตนเองทั้งสิ้น

ผมไม่ได้อ่านงานวิจัยละเอียดนัก
แต่เท่าที่พบด้วยตนเอง
คือคนสมัยนี้มีความสามารถ
"เม้าท์" หรือ "เจ๊าะแจ๊ะ" ได้
ชนิดที่ไม่ต้องจำกัด ไม่ต้องบันยะบันยัง
เพราะมีเครื่องมือในการ
"เจ๊าะแจ๊ะแทบไม่เลือกหน้า ไม่เลือกเวลา"
นั่นก็คือโทรศัพท์มือถือราคาถูกที่เข้าอินเตอร์เน็ตได้
ติดตามตัวไปได้ทุกหนทุกแห่ง
ทุกคนจึงเหมือนมีสิทธิ์ได้เครื่องมือชนิดนี้ไว้ถ้วนหน้า

ถ้าคุณสนุกกับการเจ๊าะแจ๊ะจนติด
คุณจะพบว่าตัวเองฟุ้งซ่านได้ทั้งวัน
และมีความสนใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งสั้นลงเรื่อยๆ
ใจจะอยากกระโดดไปหาเรื่องอื่นไวๆ
ถึงตรงนั้น คุณจะอยู่เฉยๆนิ่งๆไม่ได้
เหมือนมีแรงอัดให้ทะยานอยากลุกขึ้นไปพูด
ไปรับฟัง ไปเจรจาพาทีกับใครสักคน
หรือไม่ก็หลายๆคนพร้อมกัน

รูปแบบความฟุ้งซ่านของผู้คนสมัยนี้
ดูแล้วมีความกระเจิดกระเจิงได้มากกว่าคนยุคไหนสมัยใด
เพราะไม่เคยมียุคไหนสมัยใด
ให้อุปกรณ์สร้างความฟุ้งซ่านได้มากเท่า
นอกจากอินเตอร์เน็ตแล้ว
ยังมีหนัง ละคร และสื่อบันเทิงสารพัดชนิด
ที่ยืนอยู่บนหลักการ
"ไม่แรงขายไม่ได้"
และ
"ผ่านมาทำเงินให้เร็วที่สุด เพื่อจะผ่านไปอย่างไม่ต้องจดจำ"

สรุปคือจิตของคนยุคเราถูกเท รนให้รับแรงปะทะหนักๆ
แล้วก็ไม่ต้องจดจำอะไรมาก แค่รอแรงปะทะระลอกใหม่
สุดท้ายก็ฟุ้งซ่านหนัก สมาธิสั้นมาก
และกลายเป็นคำถามสามัญประจำโลกไปแล้ว คือ
"ทำอย่างไรจะหายฟุ้งซ่านได้?"
หลายคนรู้สึกฟุ้งซ่านว้าวุ่นเหมือนจะเป็นบ้าเป็นหลัง
อดทนกับแรงกดดันและเรื่องยากได้น้อยลงเรื่อยๆ

กล่าวได้ว่าความปรารถนาของคนส่วนใหญ่ในโลกปัจจุบัน
ต้องการคำตอบและที่พึ่งอันเป็นความเย็นใจ
แต่ความเย็นไม่ได้มาถึงใจด้วยอาการร้อนแรง
ความเย็นจริงไม่ใช่ลมพายุที่พัดมาเร็วทันใจ
ความเย็นแท้ต้องมากับความหยุดได้ นิ่งได้ ตัดใจได้
และไม่เอาต้นเหตุแห่งความฟุ้งซ่านได้ต่างหาก

พระพุทธเจ้าตรัสว่าคลุกคลีกับหมู่ชนเช่นใด
เราก็จะเป็นแบบเดียวกันกับหมู่ชนเช่นนั้น
ถ้านึกลอยๆไม่ออกว่าใครมีอิทธิพลกับชีวิตคุณอย่างไรบ้าง
ให้ลองเอากระดาษปากกามาเขียนรายชื่อบุคคล
ที่คุณต้องติดต่อพูดคุยหรือพบหน้าเป็นประจำ
เขียนให้หมด ให้ครบเท่าที่จะนึกออก
แล้วมานั่งไล่เรียงไปทีละชื่อ
คุณอาจประหลาดใจว่าชื่อคนรู้จัก
จุดชนวนให้เกิดความคิด มโนภาพ
ตลอดจนความรู้สึกรวบยอดเกี่ยวกับคนๆนั้นได้ในพริบตา
รวมลงเป็นคำสั้นๆได้ เช่น
ชอบ ชัง เย็น ร้อน หวาน ขม ฯลฯ คำสั้นๆเหล่านี้
คือการเปรียบเทียบทางความรู้สึกหลากหลาย
เหมือนชำแหละก้อนความรู้สึกปัจจุบันออกเป็นเสี่ยงๆ
ช่วยให้เห็นว่าพวกมันแปรรูป
มาเป็นส่วนประกอบของความฟุ้งซ่านได้ทั้งสิ้น
และสิ่งเหล่านั้นก็ตกค้างอยู่ในหัว อยู่ในอก อยู่ในใจของคุณ
ไม่ได้หายไปไหน
ไม่ได้จบลงพร้อมกับการเจอหน้าหรือพูดคุยแต่อย่างใด

คุณจะรู้สึกถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
ว่าเขาเหล่านั้นทำให้ชีวิตของคุณเป็นไปได้ขนาดไหน
อารมณ์เป็นสุขเป็นทุกข์ในปัจจุบันของคุณ
เป็นผลรวมมาจากอิทธิพลดีร้ายของใครบ้าง
ที่แน่ๆคือคุณจะไม่โทษใครคนเดียว
แม้แต่คนที่คุณพอใจ ก็เป็นองค์ประกอบของความฟุ้งซ่านได้

ชื่อที่ทำให้ฟุ้งซ่านมากเพราะเจ๊าะแจ๊ะหนักเกิน
ก็กาไว้ครับ ตั้งใจจะให้ชื่อนั้นหรือ "กลุ่มบุคคลเหล่านั้น"
มีอิทธิพลทางใจกับเราน้อยลง
แค่คิดอย่างนี้ คุณจะจำกัด หรือควบคุมเวลาในการคุยได้เอง

ชื่อที่ทำให้ฟุ้งซ่านมากเพราะถวิลหาหรือเกิดความใคร่ทางเพศผิดๆ
ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จักหรือดารานักร้อง
ก็กาไว้อีก ตั้งใจให้ชื่อนั้นๆมีอิทธิพลทางใจกับเราน้อยลง
แค่คิดอย่างนี้ คุณจะจำกัด หรือควบคุมสายตาและใจคิดได้บ้าง

ชื่อที่ทำให้ฟุ้งซ่านมากเพราะโกรธแค้นผูกใจเจ็บไม่เลิก
ก็กาไว้ด้วย ตั้งใจให้ชื่อนั้นๆมีอิทธิพลทางใจกับเราน้อยลง
แค่คิดอย่างนี้ คุณจะจำกัด หรือควบคุมปฏิกิริยาทางใจไม่ให้แรงเกิน
และมีแก่ใจให้อภัยในเรื่องเล็กๆน้อยๆได้บ้าง
ไม่ใช่เรื่องเล็กเรื่องใหญ่เป็นผูกใจเจ็บเท่ากันหมด

สุดท้าย กระดาษรวบรวมรายชื่อแผ่นเดียว
อาจเปลี่ยนสภาพจิตใจคุณได้
จากฟุ้งจัดเป็นเย็นสบายในเวลาไม่นาน

ดังตฤณ
มกราคม ๕๔

 

 

เชื่อว่าแฟนหนังสือ "คุณดังตฤณ" คงรู้จักหนังสือ 'เจ็ดเดือนบรรลุธรรม' กันนะคะ
และก็เชื่อว่ายังมีหลายคนที่สงสัยว่า 'เจ็ดเดือนบรรลุธรรม' นั้นทำได้อย่างไร
คอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา" ฉบับนี้มีคำตอบให้ค่ะ

ภัยทางอินเตอร์เน็ต นับวันจะลุกลามและใกล้ตัวมากขึ้นทุกที
คอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ" ฉบับนี้
"คุณ Aims Astro" ขอนำประสบการณ์จากลูกค้าที่พบเจอกับภัยประเภทนี้
มาเป็นตัวอย่างเตือนใจนักสังคมออนไลน์ทั้งหลาย ในตอน "รู้ชาติไม่รู้ใจ" ค่ะ

และคอลัมน์ "บทความรัก"
"คุณ mayrin" กลับมาพร้อมข้อคิดดีๆ สำหรับคนมีรักอีกเช่นเคย
ฉบับนี้ เป็นรักที่มีอดีตเข้ามาเกี่ยวข้อง
ในตอน "คนที่เป็นอดีต" ค่ะ

 

 

ข่าวสารและกิจกรรมที่น่าสนใจ


ขอเชิญร่วมสร้างเจดีย์หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
วัดศรีอภัยวัน ตำบลนาอ้อ จังหวัดเลย
และร่วมบุญอื่นๆ กับหลวงปู่ท่อนได้ตามรายละเอียดนี้ค่ะ (^/\^)
http://bit.ly/hCCDwm



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP