จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ระลึก “อะไร” เมื่อไปทำบุญที่วัด (ตอนที่หนึ่ง)


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

043_destination



ในช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่นี้เป็นช่วงเวลาที่เราได้เห็น
พุทธศาสนิกชนไปทำบุญกุศลที่วัดกันอย่างล้นหลามเลยทีเดียวนะครับ
แม้กระทั่งผ่านไปสัปดาห์แรกของปีแล้ว ผมได้พาญาติผู้ใหญ่ไปทำบุญที่วัดบางแห่ง
ก็ยังพบว่าพุทธศาสนิกชนยังไปทำบุญกันที่วัดกันอย่างมากมายอยู่เลย
ก็เป็นที่น่าปีติ และอนุโมทนาด้วยเป็นอย่างมากเลยทีเดียว

มีคำถามหนึ่งที่ผมอยากจะให้ท่านผู้อ่านได้ลองถามตัวเองนะครับว่า
ท่านได้ระลึก “อะไร” เมื่อเวลาที่ท่านได้ไปทำบุญที่วัด
ท่านก็ลองนึกคำตอบไว้ก่อนนะครับ ...

เวลาที่เราไปทำบุญที่วัดนี้ เราก็คงมีเรื่องที่ระลึกกันอยู่หลากหลายมากมาย
ทีนี้เราต้องเข้าใจก่อนว่า แม้ว่าเราจะทำบุญหรือทำกิจกรรมทุกอย่างเหมือนกัน
แต่หากระลึกใจไว้แตกต่างกันแล้ว บุญกุศลที่เกิดขึ้นนั้น ก็แตกต่างกันได้
(และการขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสอันเนื่องมาจากการทำบุญนั้น ก็ต่างกันด้วย)
ถามว่า “เป็นไปได้หรือ” ก็ในเมื่อเราก็ทำบุญและทำกิจกรรมอื่น ๆ เหมือนกัน
ก็ตอบว่า “เป็นไปได้” นะครับ

ขอยกตัวอย่างว่า ในขณะที่เราถวายสังฆทานต่อพระภิกษุในวัดนั้น
หากเราระลึกใจว่าถวายสังฆทานเพื่ออธิษฐานขอให้แฟนรักเราให้มาก ๆ
หรือขอให้ลูกได้เรียนหนังสือเก่ง ๆ แล้ว เราก็ได้บุญกุศลในระดับหนึ่ง
แต่ว่าย่อมจะได้บุญกุศลน้อยกว่า การที่เราระลึกใจว่ากำลังถวายสังฆทาน
เพื่ออำนวยประโยชน์แห่งสงฆ์ทั้งปวง และทำนุบำรุงพระศาสนา
อันจะเป็นประโยชน์ในอนาคตแก่มหาชนทั้งหลาย

ในตอนนี้และตอนหน้า ผมจะขอแนะนำการระลึกใจบางอย่าง และเล่าบางเรื่องให้ทราบ
เพื่อที่เมื่อท่านได้ไปทำบุญกุศลที่วัดแล้ว จะได้มีทางเลือกว่าจะระลึกใจอย่างไร
แต่ก่อนที่ผมจะเล่าต่อไป ผมขอชี้แจงใน ๒ ประเด็นก่อนนะครับ
ในประเด็นแรกคือ ผมจะขอคุยเฉพาะ “กรณีที่ท่านไปวัดเพื่อทำบุญตามปกติ” ทั่วไปนะครับ
ไม่รวมถึงกรณีไปงานศพ ไปทำบุญเก็บศพครบรอบหลายวัน หรือไปเข้าคอร์สอบรมภาวนา
หรือมีกิจกรรมพิเศษอื่น ๆ เนื่องจากเนื้อที่จำกัด ผมไม่สามารถเล่าให้ครอบคลุมได้ทั้งหมด
และประเด็นที่สองคือ ท่านต้องมีพื้นความเข้าใจในเรื่อง “บุญกิริยาวัตถุ ๑๐” เสียก่อน
โดยหากท่านไหนไม่เข้าใจเรื่อง “บุญกิริยาวัตถุ ๑๐” แล้ว ผมขอแนะนำให้ย้อนไปอ่าน
บทความเรื่อง “สร้างบุญกุศลง่าย ๆ ระหว่างเดินทาง” ในวารสารธรรมะใกล้ตัว
Lite ฉบับ ๓๗
และเรื่อง “สร้างบุญกุศลได้ง่าย ๆ ในแต่ละวัน” ในวารสารธรรมะใกล้ตัว
Lite ฉบับ ๓๘
ก่อนนะครับ เพราะจะเป็นประโยชน์มากสำหรับเนื้อหาของบทความตอนนี้

ในเรื่องของการระลึกใจในระหว่างไปทำบุญที่วัดนี้ ในกรอบใหญ่ ๆ แล้ว
ผมจะขอเล่าและอธิบายโดยยึดหลักการ ๓ ข้อใหญ่ ๆ นะครับว่า
ข้อ ๑ ให้เราละเว้นบาปอกุศลทั้งปวง
ข้อ ๒ ให้เราสร้างกุศลทั้งหลายทั้งปวงให้ถึงพร้อม และ
ข้อ ๓ ให้เราทำจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส

หากท่านจะถามว่า “บาปอกุศล” มีอะไรบ้าง ก็ขออธิบายอย่างง่าย ๆ ก็คือ
“อะไรก็ตามที่ผิดศีล ๕ ทั้งกาย วาจา และใจ” นั้น ถือเป็นบาปอกุศลทั้งหมด
นอกจากนี้ เราก็ควรจะพิจารณา “อกุศลกรรมบถ” ๑๐ ประการด้วย อันได้แก่
๑. ปาณาติบาต คือ การฆ่าทำลายชีวิต
๒. อทินนาทาน คือ การถือเอาของที่เขามิได้ให้
๓. กาเมสุมิจฉาจาร คือ การประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาท คือ การพูดโกหกหรือพูดเท็จ
๕. ปิสุณาวาจา คือ การพูดส่อเสียด
๖. ผรุสวาจา คือ การพูดคำหยาบ
๗. สัมผัปปลาปะ คือ การพูดเพ้อเจ้อ
๘. อภิชฌา คือ การละโมบอยากได้ของผู้อื่น
๙. พยาบาท คือ การคิดประทุษร้ายหรือคิดร้ายต่อผู้อื่น
๑๐. มิจฉาทิฏฐิ คือ การเห็นที่ผิดไปจากคลองธรรม
หากจะให้ละเอียดขึ้นไปอีก ท่านอาจจะพิจารณาก็ได้ว่า
จิตใจที่ไหลไปตามโทสะ โมหะ โลภะนั้น ย่อมถือเป็น “อกุศล” อีกด้วย

ในอันดับแรกเลย เวลาที่เราไปถึงวัดและอาจจะได้พบเห็นคนเยอะ ๆ
เราจะระลึกอะไรครับ ... เราเคยคิดทำนองนี้บ้างไหมครับว่า
“คนเยอะเหลือเกิน เราไม่น่าจะมาทำบุญในวันนี้เลย”
“พวกนี้น่ะนะ ชอบมาแต่ช่วงเทศกาล ทีช่วงเวลาปกติ ไม่เห็นมาทำบุญกันบ้าง” เป็นต้น

บางทีเราก็อาจจะมีหลงไปคิดทำนองนั้นกันอยู่บ้างนะครับ
แต่หากจะระลึกให้เป็นกุศลแล้ว เราอาจจะลองวางใจเสียใหม่ และระลึกนะครับว่า
“คนมาเยอะจริง ๆ เลย ทำบุญกันเยอะเลย เราขออนุโมทนาบุญกับทุกคนเลยนะ”
หรือ “ดีใจจริง ๆ และมีปีติจริง ๆ ที่มีคนมาทำบุญเยอะ ๆ จะได้ช่วยเป็นกำลัง
ให้พุทธศาสนา จะได้มีส่วนช่วยให้สังคมสงบร่มเย็น ขออนุโมทนาบุญกับทุกคนด้วย”
เช่นนี้ หากระลึกทำนองนี้ได้ เราก็จะสบายใจ แถมได้อนุโมทนาบุญเพียบเลยนะ

ไปที่วัดแล้ว เราอาจจะเจอเรื่องชวนให้เกิดโทสะหรือไม่พอใจบ้างเหมือนกันนะครับ
ที่จอดรถไม่มีบ้าง จอดรถช้าหรือกินที่บ้าง คนเบียดกันบ้าง คิวยาวบ้าง
คนแซงคิวกันบ้าง บางคนจุดธูปเทียนช้า เทน้ำมันช้า หรือปิดทองช้าเหลือเกิน
บางคนวางของกินเนื้อที่ หรือใครทำอะไรให้เราเกิดโทสะหรือไม่พอใจก็ตามที
เราเองก็สามารถที่จะให้อภัยทานกันได้ครับ สิ่งใดที่จะทำให้เราเกิดโทสะไม่พอใจ
เราสามารถฝึกที่จะมีสติรู้เท่าทันใจที่มีโทสะของเราเอง และฝึกให้อภัยทานแก่ผู้อื่นได้
(แถมยังระลึกใจอุทิศบุญกุศลจากการมีสติ และการให้อภัยนั้นให้แก่ผู้อื่นได้ด้วย)

เวลาที่อยู่ในวัด เราอาจจะเคยเห็นนะครับว่า บางคนไหว้พระนานเสียเหลือเกิน
บางคนก็จบเงินทำบุญ และอธิษฐานในใจนานเสียเหลือเกิน (เนื่องด้วยข้อจำกัด
ในเรื่องพื้นที่บริเวณนั้น ๆ ในวัด บางทีเราก็ต้องรอให้เขาไหว้สวด หรืออธิษฐานเสร็จก่อน)
เราจะระลึกอะไรในใจครับ เราเคยระลึกไหมว่า “จะสวดไหว้อะไรกันนานหนักหนานะ”
หรือไม่ก็ “ทำบุญแค่สิบบาทหรือยี่สิบบาท จะจบเงินอธิษฐานขออะไรกันมากนักนะ”
หากไประลึกเช่นนั้น ก็จะเกิดโทสะหรือไม่พอใจ และเป็นบาปอกุศลเท่านั้นเองนะครับ

ในอันที่จริงแล้ว เราจะรู้ไหมครับว่า เขาคนนั้นกำลังสวดไหว้พระโดยระลึกอะไรอยู่
เขาคนนั้นอาจจะกำลังตั้งใจสวดมนต์ถวายเป็น “ปฏิบัติบูชา” แก่พระรัตนตรัยก็ได้
อาจจะกำลังสวดมนต์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้แก่ในหลวงอยู่ก็ได้
อาจจะกำลังสวดมนต์ เพื่อสร้างกุศลอุทิศให้พ่อแม่ที่กำลังป่วยหนักอยู่ก็ได้
หรือกำลังสวดไหว้พระ เพื่ออธิษฐานจิตว่าจะตัดใจไปออกบวชตลอดชีวิตก็ได้
และเราจะรู้ไหมครับว่า คนที่กำลังจบเงินนั้น กำลังอธิษฐานอะไรอยู่
เห็นว่าใส่เงินแค่สิบบาทหรือยี่สิบบาทนั้น และอาจจะไม่มากเลยสำหรับบางท่าน
แต่ว่าเงินนั้นอาจจะเป็นเงินค่าอาหารมื้อหนึ่งของเขา
และเขาตั้งใจอดอาหารเพื่อมาทำบุญถวายแก่วัด
เงินนั้นอาจจะเป็นเงินจำนวนมากสำหรับเขา หรือเป็นเงินทั้งหมดที่เขามีในขณะนั้น
และเขาตั้งใจที่จะทำบุญเงินทั้งหมดที่มี เพื่อมุ่งปรารถนานิพพาน หรือไปพุทธภูมิก็ได้
ในเมื่อเราไม่อาจจะรู้ได้ เราก็ไม่ควรไปหลงมีโทสะ หรือไปดูถูกดูหมิ่นอะไรเขา
หากเราจะรอสักนิด และก็อนุโมทนากับการทำบุญของเขา ก็จะได้ประโยชน์ครับ

บางวัดก็อาจจะมีขอทานมารออยู่และประพฤติบางอย่างที่รบกวนเราบ้าง
เราก็สามารถที่จะให้อภัยทานได้ หากเราจะไม่ให้ทานเขา เราก็ “ถืออุเบกขา” ไว้
หากเราเห็นใครคนอื่นให้เงินแก่เขา เราก็ร่วมอนุโมทนาบุญได้
ก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องไม่พอใจขอทานแต่เพียงอย่างเดียว
เราเองอาจจะลองระลึกได้ว่าขอทานเหล่านี้ก็เป็นเนื้อนาบุญของญาติธรรมอื่นได้
ญาติธรรมท่านอื่นบางท่านนอกจากได้ทำบุญที่วัดแล้ว ก็ได้ทำบุญกับผู้ยากไร้ด้วย
และเราเองก็ระลึกได้ว่าหากเราประมาทในการละเว้นอกุศลและการสร้างกุศลแล้ว
เราเองก็อาจจะมาอยู่ในสภาพของขอทานได้เช่นกันในอนาคต
หรือเราเองอาจจะระลึกเห็นสัจธรรมว่า ชีวิตนั้นเป็นทุกข์ และสังสารวัฏนั้นน่ากลัว
เราควรจะเร่งรีบปฏิบัติภาวนาให้พ้นจากสังสารวัฏไปเลย

ในปัจจุบันจะเห็นว่ามีฆราวาสหญิงนุ่งสั้น ๆ มาวัดกันอยู่พอสมควร
ขอเรียนว่า “ไม่ดี และไม่เหมาะสมเลย” เพราะนอกจากอาจจะทำให้
พระภิกษุบางท่านเดือดร้อนแล้ว ก็ทำให้ฆราวาสชายหลายท่านเดือดร้อนด้วยเช่นกัน
ก็ต้องยอมรับกันนะครับว่า พระภิกษุไม่ได้เป็นพระอรหันต์กันหมดทุกรูป
และฆราวาสชายก็ไม่ได้บรรลุธรรมขั้นสูง และไม่ได้เก่งอสุภกรรมฐานกันทุกคน
ดังนั้นแล้ว หากฆราวาสหญิงจะแต่งตัวให้เรียบร้อยมิดชิดเมื่อไปวัดแล้ว
นั่นจะเป็นการช่วยได้มาก และเป็นการไม่ไปสร้างอกุศลในใจให้แก่บุคคลอื่น
แต่ปัญหาคือ เราก็ไม่สามารถไปบังคับกันได้ทั้งหมดทุกคน
ทีนี้ หากฆราวาสชายไปพบฆราวาสหญิงไหนแต่งตัวสั้น ๆ ล่อตาล่อใจแล้ว
เราจะระลึกใจอย่างไร บางท่านก็อาจจะหลงตามไปคิดไม่ดีถึงไหน ๆ แล้ว
บางท่านก็อาจจะมีโทสะโมโหว่า “ทำไมจึงแต่งตัวเช่นนี้มาวัด” เป็นต้น
การหลงไประลึกในเรื่องราคะ หรือโทสะดังกล่าวนั้น ไม่มีประโยชน์ครับ
จะมีแต่อกุศลที่เกิดแก่ตัวเรา ในกรณีเช่นนี้ หากเรามีโทสะ เราก็ให้อภัยทานได้
หากเราหลงตามไปดูไปคิด ก็ให้มีสติรู้ทัน และฝึกระลึกใจให้มั่นคงในศีลข้อ ๓

เวลาไปที่วัดนั้นก็อาจมีบ้างที่ว่า ลืมของไว้หรือของหายหรือกระทั่งโดนลักขโมยของไป
บางคนก็มีโทสะและโมโหนะครับ บางคนก็ถึงขนาดสาปแช่งพยาบาทคนที่นำของไป
บางคนก็หันมาทะเลาะกับญาติธรรมที่ไปด้วยกันว่าไม่ยอมช่วยกันดูของให้
หรือฝากให้ดูแล้ว แต่ญาติธรรมไม่ช่วยรับผิดชอบดูแลให้ดี ต่าง ๆ นานา
บางคนก็กังวลกลุ้มใจว่ามีบัตรโน่นบัตรนี่เยอะแยะ ต้องไปทำบัตรใหม่วุ่นวาย
แต่โดยสรุปแล้ว จิตใจก็เต็มไปด้วยโมหะ โทสะ หรือโลภะนะครับ
ผมเคยไปร่วมทำบุญที่วัดแห่งหนึ่งในงานบุญครั้งหนึ่งเมื่อสี่หรือห้าปีก่อน
ซึ่งปรากฏว่ามีญาติธรรมท่านหนึ่งได้ลืมกระเป๋าเงินไว้ในห้องน้ำ
หลวงพ่อที่วัดท่านก็ประกาศออกเสียงตามสายในวัดว่า
ให้คนที่นำกระเป๋าเงินไปนั้น นำมาส่งคืน ไม่ควรทำบาปอกุศลโดยนำของคนอื่นไป
แต่สำหรับเจ้าของกระเป๋าเงินนั้น หากไม่ได้คืนแล้ว ขอให้ระลึกใจไปเลยว่า
ขอถวายกระเป๋าใบนั้นและทุกอย่างในนั้นแด่พระพุทธเจ้า และถวายวัดไป
(เพราะว่าได้สูญเสียสิ่งเหล่านั้นไปเนื่องในการมากราบไหว้พระและทำบุญที่วัด)
ซึ่งในกรณีดังกล่าวนั้น ยังไงแล้ว หากจะไม่ได้ของคืน มันก็ไม่ได้คืนนะครับ
เราจะไปเครียด เสียใจ โกรธแค้น พยาบาท หรือสร้างอกุศลเพิ่มในใจไปทำไมกัน
สู้ว่าเราเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส และถือเป็นโอกาสที่จะสร้างบุญกุศลให้แก่ตนเอง
จะไม่ดีกว่าหรอกหรือครับ ในกรณีนี้ หากจะไม่ระลึกใจว่าถวายแด่พระพุทธเจ้าหรือวัด
ก็อาจจะระลึกได้ว่าขอทำบุญให้คนยากไร้ หรือทำบุญให้เจ้ากรรมนายเวรก็ได้
อาจจะระลึกให้อภัยทานแก่ผู้ที่นำกระเป๋าหรือสิ่งของนั้น ๆ ไปก็ได้
หรืออาจจะระลึกในเรื่องหลักกรรมว่าเมื่อก่อนเราเคยเอาของคนอื่นเขามา
ในปัจจุบันเราก็ต้องสละของให้คนอื่นไป และให้เกรงกลัวบาปอกุศลมากขึ้น
หรืออาจจะระลึกเห็นสัจธรรมว่า ทรัพย์วัตถุทั้งหลายนี้แท้จริงแล้วไม่ใช่ของเรา
ยึดถือเอาไว้ไม่ได้ ตายไปก็เอาไปไม่ได้ ต้องทิ้งไว้ในโลกใบนี้
ทุกอย่างเป็นเพียงวัตถุธาตุในโลก และใจเราเองที่ไปหลงสมมุติยึดถือว่าเป็นของเรา

เมื่อประมาณสี่หรือห้าปีก่อน ในหลวงท่านทรงพระประชวรและประทับที่โรงพยาบาลศิริราช
โดยก็ได้มีญาติธรรมจำนวนมากได้ไปร่วมสวดมนต์ที่โรงพยาบาลศิริราช
เพื่อขอให้ในหลวงได้ทรงหายจากพระประชวร และก็มีการเปิดโรงทานที่โรงพยาบาลด้วย
ในช่วงนั้น ผมได้ฟังรายการวิทยุธรรมะรายการหนึ่งที่มีพระภิกษุเป็นผู้จัดรายการ
มีญาติธรรมโทรศัพท์เข้าไปเล่าในรายการวิทยุให้ฟังว่า เธอได้มีโอกาสไปร่วมสวดมนต์
เธอบ่นให้หลวงพ่อที่จัดรายการฟังว่า เธอเห็นขยะทิ้งไม่เป็นที่ในโรงพยาบาลมากมาย
และก็มีทิ้งกล่องอาหารหรือเศษอาหารที่ได้รับจากโรงทานอย่างไม่เหมาะสมอยู่มาก
เธอก็บ่นว่าบรรดาท่านที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่นั้น ควรจะต้องปรับปรุงอย่างนั้นอย่างนี้
หลวงพ่อที่จัดรายการธรรมะนั้น ท่านถามว่า โยมได้ไปร่วมสวดมนต์ที่โรงพยาบาล
โยมได้เห็นญาติธรรมจำนวนมากมายสวดมนต์ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง
โยมได้เห็นผู้ใจบุญกุศลมาเปิดโรงทานให้แก่ญาติธรรมที่มาสวดมนต์
แต่กลับมาถึงบ้านแล้ว โยมระลึกในใจได้แต่ “ขยะที่ทิ้งไม่เป็นที่” เช่นนี้หรอกหรือ
ทำไมโยมถึงได้ไปสนใจมองและจำได้แต่เพียง “ขยะ” เท่านั้น
ในขณะที่มีสิ่งที่เป็นบุญกุศลให้โยมระลึกได้มากมายในโรงพยาบาลนั้น

ฉันใดก็ฉันนั้น หากเราได้มีโอกาสไปทำบุญกุศลที่วัดทั้งทีแล้ว
สิ่งใดที่เป็นอกุศล สิ่งใดที่ไม่ดี เป็นกิเลสในใจ ทั้งโทสะ โมหะ โลภะ หรือ
แม้กระทั่งเรื่องที่เราเห็นว่าไม่ดี ไม่เหมาะสม และควรปรับปรุงทั้งหลายนั้น
ทำไมเราจะต้องเก็บสิ่งเหล่านั้นมาระลึกให้เกิดอกุศลในใจเราด้วยล่ะ

ผมเคยได้ฟังญาติธรรมอีกท่านหนึ่งเล่าเรื่องเกี่ยวกับท่าน “โคฟี อันนัน” (Kofi Annan)
ซึ่งท่านเป็นอดีตเลขาธิการสหประชาชาตินะครับ เรื่องเล่ามีอยู่ว่า
ในสมัยที่เป็นเด็กนักเรียนนั้น เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งหยิบกระดาษเปล่าสีขาว
ขึ้นมาหนึ่งแผ่น แล้วก็ใช้ปากกาแต้มจุดสีดำลงไปในนั้นหนึ่งจุด
จากนั้นก็ชูกระดาษแผ่นนั้นให้แก่นักเรียนในชั้นได้ดู แล้วถามว่า “ทุกคนเห็นอะไร”
นักเรียนทุกคนในชั้นก็ตอบว่า ได้เห็น “จุดสีดำ” ในกระดาษแผ่นนั้น
อาจารย์ได้ถามนักเรียนทุกคนว่า “ไม่มีใครเห็นสีขาวในกระดาษเลยหรือ”
จากนั้น อาจารย์ก็ได้สอนให้นักเรียนได้หัดมองในด้านดีในสิ่งดี ๆ
และมองในมุมกว้างโดยรวมของสิ่งต่าง ๆ
ท่าน “โคฟี อันนัน” ได้เรียนรู้ทัศนะคตินี้ และชีวิตท่านก็มองแต่สีขาว
จนกระทั่งท่านได้ไปดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสหประชาชาติ

สิ่งเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนกับกรณีที่เราเห็นภาพวาดสวยงาม
ที่อาจจะมีจุดดำหรือรอยด่างเล็ก ๆ อยู่บ้างในภาพ
แต่เราก็เห็นและสนใจอยู่แต่กับจุดดำหรือรอยด่างเล็ก ๆ นั้น
จนกระทั่งเราลืมความสวยงามของภาพทั้งหมด
กรณีที่เราไปทำบุญกุศลที่วัดก็เช่นกันครับ
อย่าปล่อยให้จุดดำหรือรอยด่างเล็กน้อยมากลบบุญกุศลอันดีงาม
ที่เราได้มีโอกาสไปสร้าง ไปทำ และไปปฏิบัติไว้ดีแล้ว
ขอเพียงให้เราสามารถที่จะระลึกใจให้ถูกต้องได้เท่านั้นเอง

(ยังไม่จบนะครับ แต่เล่ามายาวแล้ว ขอยกไปคุยต่อในตอนหน้าครับ)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP