จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๔๐ ยุคของสื่อดิจิตอล


เพิ่งทราบว่าไอสตูดิโอไทยจะนำเข้าไอแพด
ซึ่งราคาเริ่มต้นไม่แพงอย่างที่หลายคนคิด
ด้วยอานิสงส์ค่าเงินบาทแข็งตัวในช่วงนี้พอดี
รุ่นพื้นฐาน ๑๖ กิ๊กราคา ๑๕
,๙๐๐ บาท
ต่างจากเครื่องหิ้วที่เริ่มขายกันถึง ๒๒
,๐๐๐
(ปัจจุบันเท่าไหร่แล้วก็ไม่ทราบ)
แนวโน้มตรงนี้ชี้ว่าถ้ามีการแข่งขันกันมากขึ้น
ราคาก็มีสิทธิ์ถูกลงได้กว่านี้อีก
(เครื่องอ่านอีบุ๊กดีๆอย่างคินเดิล
ตอนนี้ที่เมืองนอกขายแค่สี่พันกว่าบาทแล้ว)

หลายคนอาจจะยังมองว่าไอแพด
เป็นเพียงของเล่นราคาแพง
เอาไว้เล่นเน็ต เล่นเกม ฟังเพลง ดูหนัง
แต่ความจริงมีการวิเคราะห์กันว่า
ไอแพดดึงคนกลับมาอ่านหนังสือและนิตยสารกันมากขึ้น
หลังจากโดนอินเตอร์เน็ตแย่งตัวมาพักใหญ่

พูดง่ายๆสั้นๆแบบรวบรัดนะครับ
ผมมองว่าไอแพดคือสัญลักษณ์ของวิธีอ่านหนังสือในยุคต่อไป!

ทำไมมองขนาดนั้น? เพราะผมดูจากตัวเอง
ก่อนมีอินเตอร์เน็ตเคยอ่านหนังสือพิมพ์กระดาษทุกเช้า
รับนิตยสารอ่านเป็นประจำทุกสัปดาห์
แต่พอมีอินเตอร์เน็ต ผมอ่านหนังสือพิมพ์จากเว็บ
และเลือกอ่านข้อมูลที่ต้องการเป็นเรื่องๆมาเป็นสิบปี
ไม่มีหนังสือพิมพ์และนิตยสารกระดาษเป็นตั้งๆ
รอวันชั่งกิโลขายเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป

แต่พอมีไอแพด ผมหวนกลับไปอ่าน
หนังสือพิมพ์ "ฉบับเต็ม" ใหม่อีกครั้ง
คราวนี้มีหัวให้เลือกเกือบสองพันฉบับทั่วโลก
ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
โดยสมัครผ่านแอพชื่อ
PressReader ตัวเดียว
รับรู้ข้อมูลข่าวสารกว้างขวางอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ที่นึกว่าเกิดเรื่องใหญ่ขึ้นในบ้านเมืองเรา
ความจริงยังนับว่าเป็นเรื่องเล็ก
เมื่อเทียบกับบ้านอื่นเมืองอื่นบางแห่ง
ที่เขาระทมทุกข์กันมากกว่าหลายร้อยเท่า
แต่ละวันมีคนทำหน้าที่รายงานเรื่องราว
ที่น่าสนใจจากทั่วทุกมุมโลก
ให้เราได้รู้ความเป็นไปตลอดเวลา
สุดแต่ว่าเราจะใส่ใจแค่ไหน

ส่วนนิตยสารผมก็สมัครรับประจำผ่านแอพชื่อ Zinio
ซึ่งเป็นเหมือนร้านหนังสือ มีนิตยสารทั่วโลกรวมอยู่
มีให้เลือกทุกประเภท
ผมเข้าใจลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับการรวมอัธยาศัย รสนิยม
และความชอบใจด้านต่างๆของคนแต่ละกลุ่มไว้ด้วยกัน
แม้กระทั่งแนวจิตวิญญาณ
สร้างเสริมสุขภาพกายสุขภาพใจ ก็มีที่ดีๆเยอะแยะ
มนุษย์แต่ละพวก แต่ละหมู่เหล่า
มีรายละเอียดมุมมองต่างกัน
ให้ความสำคัญกับอะไรๆต่างกัน
ใช้เวลาในชีวิตไปเพื่อกิจอันผิดกัน
แต่ละกลุ่มแต่ละด้าน
จะใช้เวลาแค่ไหนก็ศึกษาได้ไม่มีวันจบสิ้น

และสำหรับหนังสือ ผมก็ใช้แอพชื่อ Kindle,
iBook, Stanza และ Kobo
ซึ่งเปรียบเหมือนร้านหนังสือออนไลน์
มาเลือกหนังสือที่วางบนหิ้งอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งแบบฟรีและแบบต้องจ่ายเงินซื้อจำนวนนับล้านเล่ม
หนังสือที่ผมเคยอยากอ่านแต่หาซื้อที่ไหนไม่ได้
ก็กลายเป็นให้ดาวน์โหลดได้ฟรีๆ
จากแนวคิดของโปรเจกต์กูเตนเบิร์ก (ใช้แอพ
Stanza)
ส่วนหนังสือใหม่ที่เพิ่งประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์สดๆร้อนๆ
แทนที่จะต้องรอเข้ามาไทย หรือเสียเวลาไปซื้อหาจากร้าน
ก็ซื้อมาเปิดอ่านได้ทันทีภายในนาทีเดียวเดี๋ยวนั้น
(แอพ Kindle ดูจะเป็นที่นิยมสูงสุด เพราะฐานข้อมูลกว้างสุด)

ส่วนข้อมูลจากสังคมออนไลน์ที่น่าสนใจ
ก็มีแอพชื่อ
Flipboard ตัวเดียวเลือกอ่านได้
ทั้ง
Twitter และ Facebook
แอพนี้ตัวเดียวคุณอยากอ่านบางส่วน
ของนิตยสารระดับโลกหัวไหนก็ได้
หรือจะพลิกไปสังสรรค์เสวนากับเพื่อนๆเมื่อใดก็ไม่ติดขัด

หลังจากกว้านอ่านไม่เลือกพักใหญ่
ผมก็ลดระดับการอ่านลงมาเป็นปกติ
คือเลือกเฉพาะที่อยากอ่านและพอดีกับเวลา
กับทั้งมี "ช่วงว่าง" ให้จิต สมอง และร่างกายบ้างดังเคย

แต่แม้ภาวะการบริโภคข้อมูลจะกลับเป็นปกติ
ผมก็บอกได้เลยว่าแหล่งข้อมูลข่าวสาร
อันเป็นอาหารสมองของผมนั้น
จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงตลอดไป
และนั่นก็เป็นแนวโน้มพฤติกรรม
แบบเดียวกับที่เขาพบในหมู่คนใช้ไอแพดจำนวนมาก

อีกไม่กี่เดือนกองทัพแท็บเล็ตและเครื่องอ่านอีบุ๊ก
จะทยอยดาหน้ามาแข่ง
หรือกินส่วนแบ่งตลาดจากไอแพดกันโขยงใหญ่
ที่น่าสนใจที่สุดคืออุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยี
e-ink
ซึ่งทำให้ตัวหนังสือปรากฏไม่ต่างจากเห็นในหน้ากระดาษจริง
และกำลังจะพัฒนาขึ้นเป็นสี ไม่ใช่ขาวดำที่น่าเบื่ออีกต่อไป

ต่อไปนิยามของ "นิตยสารทั่วไป"
อาจหมายถึงการนำเสนอข้อความให้อ่าน
ประกอบไปกับวิดีโอให้แตะต้อง เลือกดูเลือกชมได้ตามอัธยาศัย
จะไม่ใช่ "นิตยสารพิเศษ" ที่ปรากฏในรูปของแอพเฉพาะ
ที่ต้องมีเงิน มีไอแพด ถึงจะมีสิทธิ์อ่านได้อย่างวันนี้

ว่ากันว่าภายใน ๕ ปี บางประเทศจะเลิกพิมพ์หนังสือพิมพ์กระดาษ
และภายใน ๑๐ ปี แท็บเล็ตเช่นไอแพดอาจถูกลงจนเหมือนแจกฟรี
เพราะแค่ขายคอนเทนท์ ขายโฆษณา
ก็ไม่ต้องสนเรื่องกำไรจากการขายแท็บเล็ตกันแล้ว

ถ้าคนทั่วโลกหวนกลับมาอ่านหนังสือมากขึ้น
และคนไทยถูกกระตุ้นให้อ่านหนังสือกันมากกว่าเดิม
คงไม่มีใครบอกว่าเป็นเรื่องไม่น่าชื่นใจ
เพราะจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีประสบการณ์รับข้อมูลใด
ก่อร่างสร้างความคิดได้เป็นระบบเท่าหนังสือ
แม้เทคโนโลยีจะไปไกลถึง
ระดับสร้างจอสามมิติโดยไม่ต้องใช้แว่นได้แล้วก็ตาม

มีคนเคยพูดว่าการเขียนหนังสือ คือ "การคิดอย่างชัดเจน"
และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม
การเขียนหนังสือมันถึงได้ยากเย็นแสนเข็ญนัก

แต่ถ้ามีคนรักการอ่านมากขึ้น
นักอ่านมีระบบความคิดที่แจ่มใสชัดเจนมากขึ้น
ก็คงมีนักเขียนดีๆแจ้งเกิดขึ้นในวันหน้ามากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ต้อนรับยุคของสื่อดิจิตอลเต็มรูปแบบ

สื่อธรรมะจะกว้างขึ้นหรือแคบลง
มีสิทธิ์แบ่งพื้นที่ในป่าใหญ่ของสื่อดิจิตอลทั้งหมดมากหรือน้อย
ก็คงขึ้นอยู่กับที่พวกเราในแวดวงนี้จะตื่นตัว
รับรู้ความเคลื่อนไหวของโลกในศตวรรษที่ ๒๑ กันด้วยครับ

ดังตฤณ
ธันวาคม ๕๓


 

 

 

หลายคนยังมีความเข้าใจที่ผิดๆ ในเรื่องความมีสันโดษในพุทธศาสนา
คอลัมน์ "สารส่องใจ" ฉบับนี้
จึงขออัญเชิญพระธรรมเทศนาของ "หลวงปู่ขาว อนาลโย"
เพื่อความกระจ่างในธรรมข้อนี้
ในตอน "ความมักน้อยในราคะตัณหา" (-/\-)

ใครที่เคยติดใจบทความ "เบื่อเจ้านาย หน่ายหัวหน้า"
ของคุณ "Aims Astro" ในฉบับก่อนๆ
คอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ" ฉบับนี้ อ่านต่อภาค ๓
โดยมีชื่อตอนน่ากรี๊ดว่า "หัวหน้ากรี๊ด (อย่า) กรี๊ดตอบ" ค่ะ ^^"

คุณผู้อ่านชอบสะสมอะไรกันคะ
คอลัมน์ "จุดหมายปลายธรรม" ฉบับนี้
ตามไปดูของสะสมของ "คุณงดงาม"
ที่เจ้าตัวกลับบอกว่า มันไม่น่าสะสมเลยสักนิด
ในตอน "ยอดนักสะสม" ค่ะ


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP