โหรา (ไม่) คาใจ Astro FAQ

ทุกข์นักหนาเพราะมานะมาก (ภาค ๑)


Astro FAQ

โดย Aims Astro

ถาม - ดิฉันทำทานรักษาศีลและปฏิบัติสมาธิมาหลายปี ตลอดเวลาคิดว่าตัวเองเป็นคนดีไม่เบียดเบียนใคร คนรอบข้างก็ยกย่องว่าเป็นคนมีธรรมะในหัวใจ แต่หลังๆ มาสังเกตเห็นว่าจริงๆ แล้วดิฉันมีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นบ่อย เห็นข้อเสียของผู้อื่นได้ง่ายมากและนึกตำหนิในใจ ไม่ได้พูดออกมานะคะ แถมเมื่อไหร่ที่ต้องแพ้ใครสักคนขึ้นมา ก็จะเสียใจนาน อยากเอาชนะให้ได้ ปล่อยวางไม่ลงเลย พยายามหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง และหาข้อเสียของอีกฝ่ายเพื่อให้ดิฉันรู้สึกดีขึ้น แต่ถ้ามีคนที่เดือดร้อนแล้วมาขอให้ช่วย ดิฉันกลับช่วยเต็มที่จริงๆ ถึงอย่างนั้นก็ยังเห็นด้านมืดของตัวเองเสมอๆ จนชักจะทุกข์มากขึ้นทุกที แล้วก็สงสัยว่าที่ทำบุญมานาน ไม่ช่วยให้นิสัยดีขึ้นเลยหรือคะ

การทำบุญ รักษาศีล ทำสมาธิ นั้นเป็นบุญค่ะ การรู้จักให้ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายและวาจา และจิตใจสงบ นับเป็นสิ่งดีที่มนุษย์พึงทำนะคะ เพราะการทำทานทำให้จิตใจอ่อนโยน รู้จักสละออกในสิ่งซึ่งตนมี การรักษาศีลช่วยให้จิตใจสงบ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและตนเองด้วยกายและวาจา การมีความศรัทธาและเคารพในของที่มีความสว่างอย่างใหญ่คือพระรัตนตรัย ก็นับเป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน ทว่าการทำบุญอย่างเดียวแต่ยังเห็นกายและใจเป็นตัวเราอยู่นั้น ไม่ทำให้ปลอดภัยในสังสารวัฏ และบางครั้งการคิดว่าตนเองเป็นคนดีมีศีลธรรม ก็เป็นเหตุทำให้เกิดความถือตัวขึ้นได้ค่ะ

อันความถือตัวว่าเราดีกว่าเขา หรือเราด้อยกว่าเขา ในทางพระพุทธศาสนาตรงกับคำว่า มานะ โดยพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ได้ให้ความหมายว่า มานะ คือ ความถือตัว, ความสำคัญตัว ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ อีกคำหนึ่งที่ใกล้เคียงกันคือ ทิฏฐิมานะ ที่หมายถึง ถือรั้น อวดดี หรือดึงดื้อถือตัว ถ้าจะเทียบกับภาษาปาก คือคำว่าอีโก้ (Ego) (ซึ่งคนละอย่างกับความหมายที่ระบุไว้ในโครงสร้างของบุคลิกภาพ (Structure of personality) ของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)) นิยามคร่าวๆ ของ คนอีโก้จัด ตามภาษาปากคือ คนที่ถือว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น ไม่ยอมลงให้ใคร ชอบเอาชนะคะคาน ประมาณๆ นี้นะคะ (^_^)

ในทางโหราศาสตร์แล้ว เมื่อผูกดวงออกมาก็จะทราบได้ทันทีค่ะว่าเจ้าของดวงมีแนวโน้มจะเป็นคนที่มีทิฐิมานะมากหรือไม่ โดยพิจารณาจากความเข้มแข็งของดาวตนุลัคน์ ตลอดจนนิสัยใจคอ และมุมมองที่เจ้าชะตามีต่อตนเอง ทั้งหมดทั้งปวงเมื่อประมวลรวมกันจะทราบได้ว่าเจ้าชะตาเป็นคนถือตัวมากหรือน้อยค่ะ

จริงๆ แล้วความถือตัวอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายถ้ามองในมุมของโลก เพราะไม่ผิดกฎหมาย ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่ในกรณีที่เป็นคนปฏิบัติธรรมที่มุ่งหวังมรรคผลนิพพานแล้ว มานะเป็นหนึ่งในอนุสัย ๗ (กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน) และเป็นหนึ่งในสังโยชน์ ๑๐ (กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์) และสำหรับปุถุชนแล้วยิ่งมีมานะมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทุกข์มากขึ้นเท่านั้นค่ะ

มีลูกค้าหญิงวัยใกล้เกษียนท่านหนึ่ง ซึ่งพื้นฐานจากดวงก็เป็นคนที่มีมานะมากอยู่แล้ว เธอมีความสามารถสูงเด่นในเรื่องงาน ได้รับความสำเร็จอย่างไม่ยากเย็น เป็นคนไม่ยอมคน ไม่ยอมแพ้ใคร เธอเล่าให้ฟังว่าได้ทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรมมานานแล้ว ที่ผ่านมาคิดว่าตัวเองเป็นคนดีมีน้ำใจ แต่เมื่อต้องมาแข่งขันทำงานกับทีมอื่นๆ ผลปรากฏว่าได้อันดับที่สอง ก็กลับพบว่าไม่อาจทนรับความปราชัย ทั้งที่แพ้แค่ทีมเดียวแต่ชนะอีกหลายทีม แม้แต่จะพูดแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้ที่หนึ่ง ยังทำไม่ได้เพราะโกรธและอิจฉามาก ฟังแล้วต้องชื่นชมลูกค้าค่ะ ว่าโชคดีมากที่เห็น แถมเก่งที่ยอมรับตัวเองได้อีก ซึ่งทำได้ยากด้วยสำหรับคนที่มีลักษณะอย่างนี้ แม้จะไม่สามารถเอาชนะกิเลสในใจจนมีมุทิตาจิตกับผู้ชนะได้ แต่การยอมรับได้ตามจริง ว่าตนเองมีความไม่ดีที่ตรงไหนนั้นเป็นสิ่งดี เพราะเมื่อยอมรับในข้อบกพร่อง ก็ย่อมง่ายในการแก้ไขปรับปรุงค่ะ ^^

หลายคนประสบปัญหาเดียวกันนี้แต่ไม่รู้ตัวค่ะ สังเกตง่ายๆ คือเวลาที่เป็นฝ่ายเหนือกว่า แล้วได้ช่วยเหลือผู้อื่นจะยินดีมาก เต็มอกเต็มใจให้ไปเต็มที่ แต่ยามที่ต้องตกเป็นรอง มีสถานะด้อยกว่ากลับทนไม่ได้ บางรายพยายามหาเหตุผลเพื่อกลบปมด้อยในใจ ว่าอีกฝ่ายไม่ดีตรงไหน แล้วเรามีดีกว่าตรงไหน เพราะยอมรับไม่ได้ว่าตนเองสู้เขาไม่ได้จริงๆ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้นคือเมื่อกำลังอิจฉาก็จะไม่รู้ตัวว่าประเมินอีกฝ่ายอย่างไม่ตรงตามความจริง คือเขาอาจจะไม่ได้เลวมากขนาดนั้นก็ได้ แต่เรารู้สึกว่าเขาเล้วเลว แบบนี้จะตรงกับอคติ ๔ ในข้อ โทสาคติ คือความลำเอียงเพราะเกลียดชังหรือโกรธแค้น สภาพอารมณ์แบบนี้จะทำให้ไม้บรรทัดในใจมันเบี้ยวบิดผิดไป เลยตัดสินการกระทำของคนอื่นโดยขาดความเที่ยงธรรม แต่สุดท้ายคนที่เร่าร้อนเป็นทุกข์ก็คือเจ้าของไม้บรรทัดเองค่ะ

ว่าก็ว่าเถอะนะคะ ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือบางคนไม่รู้ตัวอีกด้วยว่ากำลังอิจฉาและริษยา แต่จะหาเหตุผลอื่นๆ มาสนับสนุนการกระทำของตน ว่าเขาไม่ดีตรงนั้น แย่ตรงนี้ เสื่อมตรงโน้น ฯลฯ จริงๆ แล้วจะดีหรือไม่มันเป็นเรื่องของเขา ส่วนเราที่คิดอกุศลก็รับวิบากร้ายเพราะจิตมืดๆ ของตัวเองไป ในเรื่องนี้มีญาติธรรมเคยสอนไว้เป็นคติเตือนใจว่า "ด่าหมาก็บาป" เพราะต่อให้พี่ตัวหอม (สมมุติว่าคือชื่อหมาไร้บ้าน ^.^) จะขี้เรื้อนกิน ขี้ตากรัง ขี้หูเน่ายังไงก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา และไม่ว่าจะสกปรกจริงหรือไม่ ผู้ที่หงุดหงิด ชิงชัง ก็รับอกุศลที่เกิดทางใจและวาจาไปแล้ว จึงไม่สำคัญว่าเขา (คน, สัตว์, สิ่งของ) ชั่วจริงไหม เพราะที่จริงเสียยิ่งกว่าคือตอนที่กำลังตำหนิใครสักคน ตรงนั้นเราคิดชั่วแน่ๆ ค่ะ (- -,)

การบอกว่าใครสักคนไม่ดีตรงไหนนี้ คนละอย่างกันกับการกล่าวถึงในสิ่งที่บกพร่องจริงๆ นะคะ คือการที่จะตำหนินั้น ต้องยึดหลัก ติเพื่อก่อ สมมุติว่าคนที่เป็นหัวหน้าจะต้องแนะนำงานให้ลูกน้องถ้าจะได้กุศลก็ต้องตั้งเจตนาไว้ก่อนว่า ที่จะติติงไปก็เพื่อให้เขาดีขึ้น เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง จะได้พัฒนาตนเอง และผู้พูดไม่ได้มีโทสะ ในทางกลับกันถ้าเราต้องตำหนิด้วยใจที่หงุดหงิดรำคาญ เพราะเขาทำงานแย่ เราเลยต้องมามีภาระเพิ่ม ไม่สบอารมณ์ เกลียดขี้หน้า ฯลฯ แบบนี้เป็นอกุศลนะคะ พอตั้งเจตนาไว้ต่าง กรรมก็ต่างกันค่ะ

หลายคนเข้ามาสนใจทางศาสนาแล้วก็กลับเพิ่มพูนความมีมานะขึ้น ด้วยความเห็นว่าฉันดีกว่าเธอ ฉันมีศีลธรรมแต่เธอไม่มี ฉันเข้าวัดแล้วแต่เธอยัง เรื่องนี้คุณดังตฤณเคยตอบคำถามไว้ในการบรรยาย ขอถอดเสียงมาให้อ่านเต็มๆ ยาวสักหน่อยแต่ว่ามีประโยชน์ค่ะ

นิสัยเพ่งโทษอันเกิดจากการติดดีนี่นะ มันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์เหมือนกัน
ผมว่ามันเป็นกันเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ น้อยมากที่จะมีนิสัยแบบถ่อมเนื้อถ่อมตัวอยู่ก่อน
แล้วก็พอเข้าวัดเข้าวาศึกษาทางศาสนาแล้ว ก็จะยังรักษาความถ่อมเนื้อถ่อมตัวนั้นไว้ได้นะ
น้อยนะ น้อยมากๆ ส่วนใหญ่ผมเห็น ๙๙ จาก ๑๐๐ เลยก็คือว่า ถ้าเคยเป็นมายังไงนะ
เรารู้สึกว่าเรามีเพื่อนแบบนี้ เรามีญาติแบบนั้น แล้วเราเปลี่ยนแปลงไปนะครับ
ไปเข้าใจธรรมะ เข้าวัดเข้าวา รู้สึกว่าเราพบความสว่างแล้ว เราได้ดีแล้ว
ไอ้กิเลสมนุษย์ที่มันมีการเทียบเขาเทียบเรา มันก็ไม่ได้หายไปด้วย
คือเขาเรียกว่าเป็นมานะ เป็นอัตตาแหละ เป็นการเทียบเขาเทียบเรา
คือก่อนที่จะรู้จักธรรมะ คนเราก็มีการเทียบเขาเทียบเราอยู่ก่อน
ว่าเราดีบ้าง เราแย่ เราด้อยกว่าเขาบ้าง
เมื่อรู้จักธรรมะแล้ว ไอ้นิสัยเทียบเขาเทียบเราตรงนี้ มันก็ไม่ได้หายไปไหน
กลับจะยิ่งเติบโตขึ้น เพราะอะไร เพราะความเชื่อ หรือว่าศรัทธา
หรือว่าคุณงามความดีทางศาสนาเป็นของใหญ่ เป็นของใหญ่อันเป็นที่สุดเลย
มนุษย์เชื่ออยู่ลึกๆ ว่า เรื่องศาสนาเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิต
เพราะเป็นการเปิดเผยความจริง เพราะเป็นทางสวรรค์ เป็นทางนิพพาน
เมื่อตัวเองรู้สึกว่าเข้ามาอยู่บนเส้นทางที่มีคุณค่าสูงสุด สูงส่งที่สุด
ก็เลยไปพอกไอ้ความรู้สึกในอัตตามานะตรงนี้ ให้ยิ่งใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้นไปกว่าเดิมซะอีก
เพราะแต่ก่อนมันไม่รู้ว่าตรงไหนเขาเรียกว่าสูงสุด
ทีนี้มาฟังพระพุทธเจ้าบอกว่า นี่แหละ กิจกรรมทางศาสนานี่แหละ
การเข้าวัดเข้าวา การปฏิบัติธรรมนี่แหละ สูงสุด ไม่มีอะไรเหนือไปกว่านี้อีกแล้ว
มันก็ไปเสริมอัตตามานะตรงนั้น ว่าเราสูงที่สุดแล้ว เราเหนือกว่าคนอื่นแล้ว
กลับมามองคนอื่นนี่ ที่เคยไม่เห็นหัวอยู่ คราวนี้ยิ่งไม่เห็นใหญ่เลย
ยิ่งไม่เห็นแม้กระทั่งว่าเขาจะมีความดีความชอบอะไร
เห็นแต่ว่าสิ่งที่เราทำ สิ่งที่มันเป็นบุญ สิ่งที่เป็นกุศลนี่ ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
แต่ไอ้สิ่งที่มันเป็นบาป สิ่งที่มันเป็นพื้นของบาปกรรมทั้งหลาย
คือ โลภะ โทสะ โมหะ ที่มันยังอยู่เต็มหัวใจ
ที่มันยังกัดกิน ที่มันยังครอบงำหัวใจเราอยู่นี่ มองไม่เห็น
เพราะอะไร เพราะว่ารู้สึกไปซะแล้ว สร้างภาพ หรือว่าติดกับภาพซะแล้ว
ว่าเราเป็นคนเข้าวัด เราเป็นคนที่มีบุญมีกุศลอย่างใหญ่"

คุณผู้หญิงรายหนึ่งแอบเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนๆ มาตลอด ด้วยเหตุว่าเดิมทีแล้วเธอไม่เคยสนใจเรื่องพุทธศาสนา จนกระทั่งความทุกข์เป็นเหตุให้ได้เข้ามาทำทาน รักษาศีล และปฏิบัติธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เริ่มเทียบเขาเทียบเรากับคนรอบข้างอยู่เงียบๆ โดยที่คิดว่าตัวเองดีกว่า เป็นคนธรรมะธรรมโม จนกระทั่งวันหนึ่งกัลยาณมิตรซึ่งกลับจากไปฟังเทศน์ ได้นำธรรมะของพระอาจารย์ที่แสดงธรรมมาฝาก ใจความว่า คนที่มีโทสะมาก ต้องหมั่นเจริญเมตตา มองคนอื่นในแง่ดี

พอฟังแล้วเจ้าตัวก็ทบทวนถึงพฤติกรรมของตน ว่าที่ผ่านมามองคนอื่นในแง่ไหน แล้วก็ได้เห็นภาพการเปรียบเทียบและยกตนข่มท่าน (ในใจ) อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกับเพื่อนๆ ที่ถูกนึกตำหนิว่าประมาทแท้ๆ เอาแต่เที่ยวเตร่ไปวันๆ ไม่หันมาสนใจทำบุญ ฯลฯ เมื่อภาพและถ้อยคำย้อนเข้ามาในสำนึก เลยตรึกตรองแล้วสรุปได้ว่า เพื่อนหลงโลก ส่วนเราหลงตัวเอง (ซึ่งไม่ทำให้พ้นทุกข์ทั้งสองอย่างน่ะแหละ)” (- -‘) หลังจากนั้นอาการยกตนข่มเพื่อนก็ดูจะบรรเทาเบาบางลง มีความละอายมากขึ้นเมื่อคิดไม่ดีต่อผู้อื่นค่ะ

ความสว่างด้วยบุญนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเราเป็นสุขค่ะ แต่ถ้าความสว่างนั้นนำมาซึ่งความหลงตนก็กลับกลายเป็นโทษได้เช่นกัน ดังที่คุณดังตฤณได้กรุณาแนะนำไว้ (-/\-)

ตอนนี้มาถึงจุดที่เรารู้สึกว่าเดินทางมาได้ไกลพอสมควร
เพราะว่ามันออกจากที่มืด ออกจากก้นถ้ำ มาถึงที่ที่มีแสงสว่าง
ที่ที่มีแสงสว่าง มันก็ทำให้เรารู้สึกดี รู้สึกว่ามันสดใสขึ้นในช่วงแรก
แต่พอมันสว่างไปมากๆ มันก็เกิดความเคยชิน
แล้วก็เกิดความรู้สึกเหมือนกับเราสามารถเห็นอะไรได้ชัด
เราทำอะไรได้เต็มที่ เรามีดีกว่าเมื่อก่อนนะ แล้วเราก็เก่งกล้าสามารถ
ไอ้ความสว่างนี่มันก็เป็นดาบสองคม มันทำให้เรารู้สึกดี
แต่บางครั้งมันดีเกินไปนะ มันก็เกิดเป็นความรู้สึกหลงตัวขึ้นมา
ไอ้ความรู้สึกหลงตัวนี่แหละ ที่จะเป็นตุ้มถ่วงพาเราลงเหว"

ถ้าอย่างนั้นเราควรจะทำอย่างไรดี ถ้าไม่อยากจะลงเหว ติดตามได้จาก ทุกข์นักหนาเพราะมานะมาก (ภาค ๒) ฉบับหน้าค่ะ

: )

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สำหรับท่านที่สนใจดูดวงกับคุณ Aims Astro สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ตามลิงค์ด้านล่างค่ะ
http://sites.google.com/site/aimsastro/



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP