กระปุกออมสิน Money Literacy

คิดจะลงทุน อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว


Money     Literacy

Mr.Messenger

สนใจติดตามข่าวสารการลงทุนกับคุณ Mr.Messenger
ได้ที่ http://twitter.com/MrMessenger

ในฉบับก่อนๆ ผมเขียนถึงการลงทุนในหุ้น และกองทุนหุ้นมา ๖ ตอนติดต่อกัน ครั้งนี้กลับมาที่การบริหารพอร์ตโฟลิโอการลงทุนกันบ้างครับ

นักลงทุนเกือบทั้งหมดร้อยละร้อย เริ่มมาจากการไม่รู้อะไรเลย และค่อยๆเริ่มศึกษา ทำความเข้าใจ หรือบางคนก็กระโดดลงสนามแข่งไปทันทีพร้อมกับเรียนรู้ไปด้วยตลอดทาง การลงทุนจึงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขึ้นอยู่กับจริตนิสัยของนักลงทุนแต่ละบุคคล แต่สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนทุกคนต้องมีเหมือนกันก็คือ รับมือกับความเสี่ยงและบริหารมันให้ถูกวิธี

จากการได้คุยกับนักลงทุนหลากหลายประเภทและคลุกคลีอยู่ในวงการการลงทุนมามากกว่า ๕ ปี ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนในหุ้นมืออาชีพ เป็นผู้บริหารระดับสูง เจ้าของกิจการเล็กๆ หรือเป็นพนักงานบริษัทธรรมดาๆ ทุกคนไม่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียว ทุกคนมีการกระจายความเสี่ยง ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น หุ้น กองทุนรวมหุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ หรือแม้กระทั่ง อสังหาริมทรัพย์ เราเรียกวิธีการบริหารพอร์ตโฟลิโอแบบกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลากหลายประเภทนี้ว่า “Asset Allocation” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่แตกต่างกันไป

ทำไมเราถึงควรต้องทำ Asset Allocation สาเหตุก็เพื่อบริหารความเสี่ยง หากลงทุนอยู่ในสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงเกินไปทั้งหมด แล้วเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้นมา เราจะมีโอกาสสูญเสียเงินต้นมากกว่าที่คิด และทำให้แผนการเงินที่วางเอาไว้ผิดพลาดไป การทำ Asset Allocation ก็คือการตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท ดังที่พระพุทธองค์ทรงเตือนสาวกของพระองค์ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพาน

ลองดูตารางแสดงผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทข้างล่างนี้ครับ ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๙๙ จนถึง ๒๐๐๘

money

ขออธิบายความหมายของสินทรัพย์แต่ละประเภทแบบสั้นๆก่อนนะครับ Growth คือ กลุ่มหุ้นที่เน้นการเติบโตของบริษัท, Int’l คือ กลุ่มหุ้นที่กระจายการลงทุนในต่างประเทศ, Small co. คือ กลุ่มหุ้นที่มีขนาดทุนจดทะเบียนขนาดเล็ก, Blend คือ การกระจายการลงทุนทั้งในหุ้นและตราสารหนี้, Value คือ กลุ่มหุ้นแบบเน้นคุณค่า , Cash Equiv.คือ เงินสด หรือสินทรัพย์ที่สภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด, High Yield Bond คือ ตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่นหุ้นกู้เอกชน สุดท้าย Bond คือ ตราสารหนี้ภาครัฐบาล

จากตารางจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ในระยะยาวหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น แต่เมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนแบบปีต่อปี สินทรัพย์การลงทุนแต่ละประเภทก็มีวัฏจักรที่แตกต่างกันไป อย่างในช่วงทีเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปลายปี ๒๐๐๗ ยาวมาจนถึงปี ๒๐๐๙ หุ้นทั่วโลกตกลงมาจากจุดสูงสุดเฉลี่ยเกินกว่าร้อยละ ๕๐ ช่วงปี ๒๐๐๘ สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในปีนั้นจึงกลายเป็นตราสารหนี้ภาครัฐ ซึ่งถึงแม้จะให้ผลตอบแทนที่ต่ำ แต่ระดับความเสี่ยงก็ต่ำ นักลงทุนจึงโยกย้ายการลงทุนในหุ้นมาอยู่ในตราสารหนี้แทน หากสังเกตผลตอบแทนจากตารางข้างต้นดีๆ จะพบว่า การลงทุนได้แสดงกฎไตรลักษณ์ให้เราเห็นชัดเจน ในมุมมองด้าน ความเป็นอนิจจัง หรือความไม่แน่นอน เพราะสินทรัพย์แต่ละประเภทก็สร้างผลตอบแทนที่ไม่แน่นอนให้แก่นักลงทุนในทุกๆปี แต่ละอันดับสลับสับเปลี่ยนเวียนวนกันไปตามเหตุปัจจัยที่มากระทบตลอดเวลา

แม้แต่นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงที่สุด ก็ยังต้องมีช่วงเวลาที่นักลงทุนคนนั้น ลดความเสี่ยงของเงินลงทุนตัวเองลง เช่น ลงทุนในหุ้นร้อยละ ๙๐-๑๐๐ พอหุ้นราคาวิ่งขึ้นมาสูงถึงระดับที่คิดว่าแพง หรือเกินมูลค่า นักลงทุนก็จะลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นนั้นลงมาด้วยการขายทำกำไร วิธีการทำ Asset Allocation ก็คือ การนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นไปลงทุนต่อในสินทรัพย์ประเภทอื่น เพื่อรอจังหวะเวลาแล้วค่อยพิจารณาลงทุนกันต่อไป นักลงทุนที่มีเหตุผล จะไม่ยินดีจนเกินไปที่ราคาสินทรัพย์ที่ตัวเองลงทุนวิ่งขึ้น และจะไม่เศร้าโศกเสียใจจนออกนอกหน้าเมื่อราคาสินทรัพย์ที่ตัวเองลงทุนลดลง

ความผันผวนที่เกิดจากการลงทุนในหุ้นแบบนี้ ดูไปก็คล้ายกับการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน หากเอาความเจริญ ความเสื่อมมาพล็อตเป็นกราฟเหมือนกับราคาหุ้น เราก็จะเห็นการเคลื่อนไหวขึ้นลงตลอดเวลา มีวันที่ภาวนาดี ก็ย่อมมีวันที่ภาวนาไม่ดี เป็นธรรมดา และหน้าที่ของเรา ก็แค่ รู้ตามความเป็นจริง เราไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงให้ราคาหุ้นหรือตราสารหนี้ที่เราถือวิ่งขึ้นไปอย่างที่ใจเราหวัง หรือหล่นลงมาจนถึงราคาที่เราพอใจจะซื้อได้ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมเกิดจากเหตุและปัจจัยที่มากระทบในภาพรวม ไม่ได้ขึ้นลงตามความต้องการของเรา อย่าให้อารมณ์มาเป็นตัวบั่นทอนทำให้การตัดสินใจลงทุนเกิดความเอนเอียงตามความรู้สึก หรือ ถึงแม้มันจะเกิดขึ้น ก็อย่าไปตอบสนองมัน ที่ต้องทำ ก็แค่รู้ความรู้สึกนั้นไว้เป็นพอ

นักวางแผนการเงินเปรียบวิธีการทำ Asset Allocation ไว้เหมือนกับ การเอาไข่หลายๆฟองใส่ไว้ในหลายตะกร้า เพราะหากตะกร้าเป็นรู หรือถือหลุดมือไป อย่างน้อย ก็ยังเหลือไข่ที่อยู่ในตะกร้าใบอื่น ให้กลับบ้านไปทอดไข่เจียวกินได้

สำหรับการทำ Asset Allocation จะมีความจำเป็นสำหรับการวางแผนการเงินในระยะกลางและระยะยาว พอสมควร และการวางแผนก็จำเป็นต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจในสินทรัพย์แต่ละประเภทมากขึ้น นักลงทุนส่วนใหญ่ จึงมอบความไว้วางใจให้กับมืออาชีพที่มีหน้าที่บริหารเงิน เพื่อให้เงินทำงานโดยเฉพาะ เช่น บริษัทหลักทรัพย์, บริษัทหลักทรัพย์จัดกรกองทุนรวม หรือ ธนาคาร ทำให้เจ้าของเงินลงทุน มีเวลาไปทำในสิ่งที่ตนเองถนัดมากกว่า นั้นก็คือ การหาเงิน ไงครับ

โชคดีในการลงทุนนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP