กว่าจะถึงฝั่งธรรม Lite Voyage

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย : จากลูกกำพร้าสู่พระมหาเถระ


river_banner

โดย เทียบธุลี



LpBhudh_watpasalawan

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ถ่ายที่วัดป่าสาลวัน
(ภาพจาก www.thaniyo.net)


หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายที่ได้รับใช้พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
ท่านเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา
ซึ่งตกลงกันให้เป็นสำนักวิปัสสนาธุระและศูนย์กลางการชุมนุมของคณะพระกัมมัฏฐาน
ในการประชุมของคณะสงฆ์ที่เกี่ยวข้อง เมื่อปี ๒๕๐๓

หลวงพ่อพุธได้เล่าถึงความหมายของฉายา ฐานิโยไว้ดังนี้

ศัพท์ว่า ฐานิยะ หรือ ฐานิโย นี้ เป็นชื่อฉายาภาษามคธ
ที่พระอุปัชฌาย์มอบให้ตั้งแต่วันที่ท่านอุปสมบท
แปลความหมายว่า ผู้ตั้งมั่น (ในธรรม)


ท่านเป็นผู้ที่แตกฉานในธรรมะเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีอุปนิสัยอ่อนน้อม
ดังปรากฏในคำกล่าวของหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท ความว่า

ท่านเจ้าคุณพุธ มีความอ่อนน้อมถ่อมตัวมาก
เขียนหนังสือด้านการปฏิบัติได้ดี ถูกต้องทุกขั้นทุกตอน
เก่งกว่าพระที่มียศตำแหน่งเป็นสมเด็จเสียอีก
เราชอบอ่านหนังสือที่ท่านเจ้าคุณพุธเขียน


เมื่ออายุประมาณ ๘ ปี ท่านเคยได้กราบพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
ในงานศพที่วัดบ้านหนองดินดำ จังหวัดสกลนคร
นอกจากนี้หลวงพ่อยังเป็นเพื่อนสมัยเด็กของหลวงพ่อวัน อุตฺตโม

“...อาจารย์วัน (วัน อุตฺตโม) นี่เล่นกันมาตั้งแต่เป็นเด็ก อยู่คนละบ้าน
อาจารย์วันอยู่บ้านตาลโกน แต่นาท่านอยู่ติดหมู่บ้านเรา...


และเป็นญาติทางฝ่ายบิดากับท่านพ่อลี ธมฺมธโร

“...ท่านพ่อลีท่านมีศักดิ์เป็นปู่ของหลวงพ่อ ท่านเป็นพี่น้องทางฝ่ายพ่อ (ของหลวงพ่อ)
ท่านมีชาติกำเนิดที่อุบลฯ เหมือนกัน ท่านใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า ปู่กับหลวงพ่อ...


แต่หากมีผู้ถามถึงประวัติส่วนตัว ท่านจะบอกเสมอว่าตัวเองเป็นลูกกำพร้า

เมื่อมีคนมาถามถึงสกุลรุนชาติ หลวงพ่อจะบอกเสมอว่า
หลวงพ่อเป็นเด็กขอทาน กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ
อาจเคยทำกรรมพรากชีวิตสัตว์ไว้ จึงต้องเป็นกำพร้าตั้งแต่เด็ก


สาเหตุเพราะโยมมารดาเมื่อคลอดท่านแล้วก็กลายเป็นคนเสียสติ
ส่วนโยมบิดาก็เป็นไข้มาลาเรียจนถึงแก่กรรม ตั้งแต่ท่านอายุได้ ๔ ปี
ท่านจึงพลัดพรากและถูกทำให้เข้าใจผิดมาตลอดว่าโยมมารดาเสียชีวิตแล้ว

“...เขาโกหกว่าแม่ตายแต่อายุ ๗ ขวบ ถามว่าทำไมถึงต้องโกหก
ถ้าบอกว่าแม่ยังอยู่กลัวว่าเราจะไปตามหา
หลวงพ่อจากแม่มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ เพิ่งไปค้นพบญาติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖
ตอนนั้นหลวงพ่ออายุ ๓๒ ปีถึงได้รู้ว่าโยมแม่ยังไม่ตาย
เขามาบอกว่าแม่ท่านพึ่งตายไปได้ ๒ ปีนี้เอง...


ท่านเล่าถึงความรู้สึกว้าเหว่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กว่า...

“...สมัยเด็กๆ หลวงพ่อเคยเหงาเหมือนกัน แต่ไม่ถึงกับทุกข์
มันไปเหงาตรงที่ว่าพอได้ยินคนข้างบ้านเขาเอิ้น (เรียก) แม่ พ่อ ล่ะเหงาทันที
เราไม่มีพ่อแม่เรียกกับเขา…”


เพราะเป็นลูกกำพร้าจึงต้องพบความคับแค้นใจมาตั้งแต่เล็ก
ทั้งจากเพื่อนบ้านและ ที่สำคัญคือจากญาติของตนเอง

“...บางทีกินข้าวอยู่ดี ๆ เขาไล่ออกจากสำรับ ก็ยังเคยมีเลย
บางทีคล้ายๆ ว่าเขากลั่นแกล้ง เวลาค่ำมืดให้เราไปต้อนวัวต้อนควายเข้าคอกคนเดียว
ทีนี้เด็กอายุ ๑๒-๑๓ ปีนี่มันก็เกิดความกลัว แล้วบริเวณบ้านที่อยู่น่ะ มันป่าช้างดงเสือทั้งนั้น
ถ้าเราชวนน้อง ๆ ไปด้วย เขาก็หาว่าเกี่ยง ใช้งานแค่นี้ไม่ได้ มึงหนีจากบ้านกู
คุกเข่ากราบลงต่อหน้าที่ลานบ้าน ขอเวลาอีก ๖ เดือน
เพราะตอนนั้นเรียนอยู่ประถม ๖ ยังเหลืออีก ๖ เดือนจะจบ...


ความทุกข์เหล่านั้นเป็นแรงผลักดันสำคัญยิ่ง ทำให้ท่านตัดสินใจบวช
ตั้งแต่เพิ่งเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ มีอายุย่าง ๑๕ ปี

“...ที่หลวงพ่อบวชนี้เพราะหลวงพ่อคิดว่ามีความทุกข์ โลกนี้มีแต่ความทุกข์
จึงแสวงหาทางพ้นทุกข์ ความรู้สึกมันเป็นเช่นนั้นในขณะนั้น
แต่ว่าความรู้สึกทุกข์ทรมานตามความรู้สึกสามัญสำนึกธรรมดา
มันมีอยู่ตั้งแต่เริ่มรู้เดียงสามา คือความรู้สึกน้อยอกน้อยใจ
ว่าเราขาดพ่อขาดแม่ ขาดความอบอุ่น แม้แต่ไปเล่นกับเพื่อนบ้าน
บางทีเขาก็โมโหให้ บางทีเขาก็ด่าไอ้ลูกไม่มีพ่อแม่สั่งสอนอะไรทำนองนั้น
มันก็รู้สึกกระทบกระเทือนจิต มีความรู้สึกอยู่เช่นนั้นตลอดมา จนกระทั่งบวชเณร


เมื่อบวชแล้ว ท่านก็ตั้งใจศึกษาจนจบเปรียญธรรม ๓ ประโยค
ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร โดยใช้เวลาเพียง ๑ ปี
และได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค ในเวลาต่อมา
แต่ที่สุดก็ต้องหยุดเรียนไปเพราะปัญหาสุขภาพ

ตลอดชีวิตในสมณเพศ ท่านได้ปฏิบัติสมณกิจสำคัญต่างๆ
เพื่อเป็นการเผยแผ่และค้ำจุนพระพุทธศาสนา
เหตุการณ์สำคัญหนึ่งก็คือ เมื่อประมาณ ปี ๒๕๒๕
ท่านเคยได้รับการอาราธนาให้ไปเทศน์ที่พระราชวังไกลกังวล
และได้ถวายวิสัชนาธรรมแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

ในปี ๒๕๓๕ หลวงพ่อพุธได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช
ที่พระราชสังวรญาณอันเป็นสมณศักดิ์สูงสุดที่ท่านได้รับ
ซึ่งท่านเล่าว่า เป็นนามที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถท่านทรงเลือกเอง

ชีวิตของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ให้คติแก่เราทั้งหลายได้เป็นอย่างดียิ่ง
จากลูกกำพร้าที่ขาดทั้งความรักความอบอุ่น พบความทุกข์ยากมาตั้งแต่ยังเยาว์
แต่ด้วยคุณธรรม และจริยวัตรอันงดงามในสมณสารูป
จึงกลายพระสุปฏิปัณโณผู้เป็นที่กราบไหว้บูชาของคนทั้งแผ่นดิน
ดังที่ท่านได้เคยกล่าวถ้อยคำอันสมควรนำไปเป็นข้อคิดว่า

“...คนเรานี่จะอยู่ในฐานะอย่างไรก็ตาม ขอให้มีใจเข้มแข็ง กล้าสู้
แม้จะกำเนิดมาจากตระกูลขอทานมันก็เอาดีได้ ถ้าตั้งใจจริง...

 



เอกสารประกอบการเขียน

ฐานิยตฺเถรวตฺถุเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓
บูรพาจารย์จัดดำเนินงานและพิมพ์โดยมูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ฉบับพิมพ์ ปี ๒๕๔๕
พระ ธุตังคเจดีย์ เจดีย์แห่งพระอรหันต์ ธรรมบรรณาการเนื่องในงานฉลองพระธุตังคเจดีย์ เจดีย์แห่งพระอรหันต์ และในงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายครบรอบวันมรณภาพปีที่ ๔๗
พระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์ ( ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ) ๒๒ - ๓๐ เมษายน ๒๕๕๑



เว็บไซต์
http://www.thaniyo.net
http://th.wikipedia.org/wiki/วัดป่าสาลวัน
http://www.dharma-gateway.com



หมายเหตุผู้เขียน

LpBhudhpTul

รูปถ่ายแถมท้ายเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่ชื่นชอบผลงานของคุณดังตฤณ
ซึ่งเคยบวชที่วัดป่าสาลวัน โดยมีหลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นอุปัชฌาย์
บางท่านเคยเห็นภาพนี้แล้ว แต่ก็คงมีบ้างที่ยังไม่เคยเห็นนะคะ


----------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบพระคุณคุณชนินทร์ อารีหนู
ผู้ได้เล่าประวัติความเป็นลูกกำพร้าของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ให้ผู้เขียนฟัง
เป็นที่มาของการสืบค้นจนเป็นบทความในฉบับนี้ค่ะ






แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP