กระปุกออมสิน Money Literacy

ลงทุนในหุ้น เสี่ยงสูงจริงหรือไม่?


Money  Literacy

Mr.Messenger

หลายๆครั้งที่ผมชอบเขียนบทความหรือตั้งกระทู้ห้องสินทร ในพันทิพย์ ด้วยการเริ่มต้นตั้งคำถาม ซึ่งมันอาจนำเราไปสู่คำตอบ หรือคำถามอีกหลายๆคำถามตามมาก็ได้ เป็นการเปิดโอกาสมองในมุมอื่น และสำรวจความคิดตัวเองว่า เรามองรอบด้านแล้วหรือยัง รวมทั้งความคิดใหม่ๆ มักจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการตั้งถามกับตัวเองเสมอๆครับ แต่ต้องอย่าลืมนะครับ ทุกคำถามต้องพาเราเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่เฝ้าแต่ย้ำคิดกับคำถามเดิมๆ ที่อาจจะไม่มีคำตอบ หรืออาจยังไม่ถึงเวลาที่เราจำเป็นต้องรู้นั้นก็เป็นได้ หน้าที่ของเราคือสร้างเหตุแห่งการรู้ให้เกิดขึ้นครับ เราไม่สามารถบังคับตัวเองให้รู้คำตอบได้ทันที ถ้าเหตุและปัจจัยยังไม่อำนวย

เกริ่นมาซะยาว ฉบับนี้ ผมจะสร้างเหตุแห่งการเรียนรู้จากมุมมองของนักลงทุนตัวเล็กๆคนหนึ่ง ให้ได้พิจารณากันว่า การลงทุนในหุ้น หรือตราสารทุน มีความเสี่ยงสูงจริงหรือ... ส่วนจะได้คำตอบกลับไปหรือไม่นั้น ผมจะพยายามดูแล้วกันครับ

ตราสารทุน หรือ หุ้น (Equity) คือ ตราสารที่ออกโดยบริษัทเอกชนให้แก่ผู้ถือ ซึ่งจะถูกเรียกว่า ผู้ถือหุ้นหรือ Shareholder ทั้งนี้ ตัวผู้ถือหุ้นจะอยู่ในสถานะ เจ้าของบริษัทวิธีการลงทุนในหุ้น สำหรับนักลงทุนรายย่อยอย่างเราๆ ต้องลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เท่านั้นครับ สามารถดูเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ที่ http://www.set.or.th โดยตลาดหลักทรัพย์นี้ จะมีบริษัทเอกชนที่นำเข้าไปจดทะเบียนในตลาด (ไม่ใช่ทุกบริษัทที่อยู่ในประเทศไทยนะครับ) วิธีการลงทุน ก็คือ เลือกบริษัทที่เราคิดว่า เป็นบริษัทที่ดี เป็นบริษัทที่น่าสนใจ และน่าจะมีแนวโน้มที่ดีในระยะยาว

การตั้งเป้าไว้แต่แรกด้วยการมองว่า การลงทุนในหุ้น คือ การเข้าไปเป็นเจ้าของร่วมกับบริษัทที่ดี และมีแนวโน้มที่จะเติบโตธุรกิจได้ดีในอนาคต จะทำให้เราไม่หลงทางในการลงทุนในระยะยาว

สาเหตุที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น มองว่า เป็นการลงทุนที่เสี่ยงเกินกว่าตัวเองจะรับได้ หรือได้รับผลขาดทุนโดยที่ไม่ได้เตรียมใจรับไว้ สาเหตุหนึ่งก็มาจาก การเข้าไปลงทุนเพียงเพราะเห็นว่าคนอื่นทำกำไรได้ และอยากทำกำไรบ้าง (โดยไม่เห็นกิเลสของตัวเอง) หรือ คิดว่า การเข้าไปลงทุนในหุ้น ก็คือการวัดดวง ซื้อในราคาที่ถูก รอหุ้นตัวนั้นวิ่งขึ้นมาในราคาที่สูง แล้วจึงขายมันออกไปเพื่อทำกำไร แต่เอาเข้าจริงๆ พอซื้อหุ้นไป น้อยครั้งที่ราคาหุ้นจะวิ่งขึ้นทันที แถมบางครั้งราคายังตกลงไปทันทีที่ซื้อ ก็มีให้เห็นอยู่บ่อย เคราะห์ซ้ำกรรมซัด พอเราเห็นราคาหุ้นตกลงไป เราก็กลัวว่าหุ้นตัวนั้น จะตกลงไปอีก จึงยอมขายตัดขายทุน พอขายไปเท่านั้น หุ้นเจ้ากรรม ดันวิ่งขึ้นไปทันตา ได้แต่อ้าปากค้าง

หากเราเริ่มต้นปฏิบัติธรรมด้วยความอยากเป็นคนดี อยากได้โน่น อยากได้นี่ โดยไม่เห็นความอยากของตัวเอง ไม่ปฏิบัติด้วยใจที่เป็นกลาง การปฏิบัตินั้นก็ไม่สามารถพาเราไปสู่จุดหมายที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ทางไว้ให้เราชาวพุทธอย่างแน่นอน

การลงทุนโดยขาดหลักการของการลงทุนที่ดี ก็ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวให้กับนักลงทุนได้เช่นกัน ผมจะลองยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ตัวอย่างหนึ่งนะครับ ด้วยหลักการการลงทุนที่ต่างกันของนักลงทุน ถึงแม้วิธีการคือ เข้าไปซื้อหุ้นตัวเดียวกันจำนวนเดียวกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ กลับต่างกันอย่างสิ้นเชิง

คนที่ ๑ มีความเข้าใจในธุรกิจของหุ้นที่ตัวเองตัดสินใจลงทุนเป็นอย่างดี มีเหตุผลทางปัจจัยพื้นฐานมารองรับ และเชื่อมั่นว่าบริษัทดังกล่าวสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว
คนที่ ๒ ลงทุนหุ้นตัวดังกล่าว เพราะมีคนบอกมาว่า ราคาจะวิ่งขึ้นไปเท่านั้นเท่านี้ ได้ข่าวมาว่า บริษัทจะกำไรดีในระยะสั้นๆ และเห็นเพื่อนๆนักลงทุนได้กำไรจะหุ้นตัวดังกล่าวมาเป็นกอบเป็นกำ


หากราคาหุ้นตัวที่ทั้งสองคนได้ลงทุน ราคาตกลงมาโดยไม่มีเหตุผลรองรับ คุณคิดว่านักลงทุนทั้งสองคนนี้ มีแนวโน้มจะคิด และทำอย่างไรกับหุ้นตัวดังกล่าว?
- ดูจากเหตุรองรับก่อนการตัดสินใจซื้อครั้งแรก ก็พอจะเดาได้ว่า นักลงทุนคนที่ ๑ มีเหตุผลที่หนักแน่น และไม่น่าจะหวั่นไหวกับความผันผวนเล็กๆน้อย เพราะตัวเขาเอง เชื่อมั่นในบริษัท มากกว่าจะดูที่ราคาหุ้น ส่วนคนที่ ๒ มีเหตุผลที่จะรองรับความเชื่อมั่นในหุ้นตัวดังกล่าวน้อยกว่าคนที่ ๑ เนื่องจากอยากทำกำไรระยะสั้นๆ พอไม่มีเหตุผลด้านปัจจัยพื้นฐานรองรับ ราคาหุ้นเริ่มลดลง ก็มีแนวโน้มจะขายทิ้ง เพราะกลัวว่ามันจะลงไปแรงกว่าเดิม

เรื่องความเสี่ยง ส่วนหนึ่ง ก็มาจากลักษณะเฉพาะของสินทรัพย์ที่เราไปลงทุน แต่อีกส่วนหนึ่ง มาจากแนวคิด และวิธีการลงทุนของนักลงทุนเองนะครับ จากตัวอย่างที่ยกมาให้ดู จะเห็นว่า ถึงแม้จะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน แต่ความเสี่ยงที่นักลงทุนทั้งสองคนมองกับสินทรัพย์ที่ตัวเองลงทุนกลับแตกต่างกัน

ฉบับนี้ได้แค่เรื่องแนวคิดความเสี่ยง ฉบับต่อไป ผมจะพาไปรู้จักกับปัจจัยต่างๆที่มีอิทธิพลกับการลงทุนในหุ้นเพิ่มเติมครับ เขียนเรื่องหุ้น จะเขียนแค่ครั้งเดียวพอได้ไง ^^



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP