สารส่องใจ Enlightenment

คุณค่าแห่งธรรม (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
เทศน์ในงานพระราชทานเพลิงศพขุนศรีราชสุรากร
ณ วัดมหาชัย อ.เมือง จ.มหาสารคาม
เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๓



คุณค่าแห่งธรรม (ตอนที่ ๑) (คลิก)




คนมีบุญมีกุศลย่อมไปเกิดในสถานที่ดีคติที่เหมาะสม
ตั้งแต่มนุษย์ขึ้นไปจนกระทั่งถึงสวรรค์ พรหมโลก
ถ้าบุญกุศลมีมากก็สามารถที่จะหนุนเจ้าของให้หลุดพ้นถึงพระนิพพานได้
ถ้าผู้สร้างบาปสร้างกรรมชั่วลงไป บาปก็ต้องเป็นบาป
เป็นความรุ่มร้อน เป็นความแผดเผาภายในจิตใจ
จะนำจิตใจดวงนั้นให้ไปเกิดในสถานที่ต่ำทรามทั้งหลาย อันเจ้าของไม่พึงปรารถนา
เช่นไปเกิดในนรกหลุมต่างๆ กัน ตามแง่หนักเบาของกรรมที่ตนสร้างไว้
เพราะนรกก็มีหลายหลุม ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ว่ามีถึง ๒๕ หลุม
นรกประเภทที่หนักเรียกว่า มหันตทุกข์มหันตโทษและลดลงมาโดยลำดับลำดา
จากนั้นก็เสวยวิบากตามอำนาจแห่งกรรมของตนๆ
ไม่มีประมาณในสถานที่ต่างๆ กัน


แม้จะไม่ได้ตกนรกใน ๒๕ หลุมก็ตาม
ให้พึงเข้าใจว่าสัตว์ทั้งหลายไม่เคยปราศจากบุญ ปราศจากกรรม
ปราศจากวิบากแห่งบุญกรรมทั้งหลายภายในจิตใจ
จะต้องได้เสวยบุญกรรมของตนที่สร้างมามากน้อยอยู่นั้นแล
ทั้งๆ ที่เจ้าของอาจสงสัยหรือเชื่อแน่ว่าตายแล้วสูญก็ตาม
แต่ธรรมชาติแห่งความจริงคือใจดวงนี้ไม่เคยสูญเลยแต่ไหนแต่ไรมา
เป็นของมีอยู่อย่างนี้ เป็นไปอย่างนี้มาดั้งเดิม
แต่เราไม่สามารถที่จะไปนับอ่านได้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไร
ถ้าจะไปคำนึงคำนวณนับอ่านอย่างนั้น
จะทำให้เสียเวล่ำเวลาและตายเปล่าไม่เกิดประโยชน์อะไร
จึงต้องแก้ไขในวงปัจจุบันซึ่งควรแก่ฐานะที่เป็นไปได้
ตามหลักของจอมปราชญ์คือพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงค้นพบเรื่องของจิตนี้โดยประจักษ์พระทัยจนถึงความบริสุทธิ์
แล้วนำธรรมนี้มาสั่งสอนสัตว์โลก เพื่อรู้ทางดำเนิน


เราทั้งหลายควรยึดข้อนี้ไว้ว่า ใจนี้เป็นของไม่ตาย แต่เที่ยวเกิดที่นั่นเกิดที่นี่
คือเข้าไปสู่ปฏิสนธิวิญญาณในที่นั่นในที่นี่อยู่เรื่อยไปจนกระทั่งบัดนี้
แม้กาลข้างหน้าก็จะเป็นไปเช่นเดียวกัน กับอดีตที่เคยผ่านมาแล้วกี่ภพกี่ชาตินี้
คือต้องเกิดต้องตายอย่างนี้เรื่อยไป และก็เป็นกองทุกข์ติดแนบกันมาอยู่เรื่อยๆ
ดังภาษิตที่ยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้นนั้นว่า ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ
การเกิดบ่อยๆ นั้นก็คือการเป็นทุกข์บ่อยๆ ไม่มีหยุดยั้งนั่นแล


เมื่อยุติการเกิดเสียเมื่อไรความทุกข์ก็หมดเมื่อนั้น
ท่านว่า ทุกขํ นตฺถิ อชาตสฺส
ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด ท่านผู้ใดไม่เกิดท่านผู้ใดไม่มีทุกข์
ก็คือพระพุทธเจ้า เป็นผู้ทรงค้นพบความไม่เกิดด้วย ความไม่เป็นทุกข์ด้วย
พระสาวกอันดับรองลงมา ก็เป็นผู้ที่ค้นพบความไม่เกิดด้วย ความไม่มีทุกข์ด้วย
เพราะใจบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว ท่านเหล่านี้เป็นผู้ไม่เกิด เป็นผู้ทรงบรมสุข
ได้แก่ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ เต็มพระทัยและเต็มหัวใจนั่นเอง


ถ้าจิตเป็นธรรมชาติที่สูญไปจริงๆ แล้ว ใครไปเสวยความสุขที่ว่าบรมสุขล่ะ
นั่นคือจิตที่สิ้นกิเลสแล้วเป็นจิตที่บริสุทธิ์เต็มที่
ความสุขที่ปรากฏขึ้นจากใจที่บริสุทธิ์นั้น เป็นความสุขในหลักธรรมชาติ
ไม่ใช่ความสุขในสมมุติทั้งหลาย
เช่น สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ดังโลกทั้งหลายเสวยกัน
และไม่ใช่ฐานะที่เวทนาทั้งสามนี้จะเข้าถึงจิตใจที่บริสุทธิ์นั้นได้
จิตใจที่บริสุทธิ์ใจของพระอรหันต์
จึงเป็นผู้ปราศจากทุกข์หรือสุขเวทนาทั้งหลายโดยประการทั้งปวง


นี่คือท่านผู้ค้นพบจิตดวงไม่สูญ คือจิตดวงที่เคยเกิดตายๆ
ได้แก่พระพุทธเจ้าของเรา
เหตุที่ค้นพบนั้น เพราะท่านประพฤติปฏิบัติพระองค์เอง ทรงบำเพ็ญอยู่ ๖ ปี
ในวาระสุดท้ายได้บำเพ็ญอานาปานสติ ใต้ร่มไม้ร่มหนึ่งที่เรียกว่าร่มโพธิ์
ทรงเจริญพระอานาปานสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
ด้วยความมีสติรู้อยู่โดยตลอดไม่พลั้งเผลอ
จิตใจเมื่อได้บำเพ็ญโดยความถูกต้องแล้ว ย่อมหยั่งเข้าสู่ความสงบ
เมื่อเข้าสู่ความสงบจิตสงบ ย่อมเป็นจิตที่ผ่องใส
สามารถมองทะลุไปได้ตามกำลังของตน


ในปฐมยามเบื้องต้นที่ผลเกิดขึ้นจากการเจริญอานาปานสติ
ก็ได้บรรลุบุพเพนิวาสานุสสติญาณ
พระองค์เคยเกิดมากี่ภพกี่ชาติไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์นานเท่าไร ก็ทรงรู้ตลอดทั่วถึงหมด
จึงเรียกว่าบรรลุบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติย้อนหลังได้ไม่มีประมาณเลย
นี่ละเรื่องของความเกิด เคยเกิดมานานเท่าไรพระองค์ทรงระลึกย้อนหลังได้หมด
นี่ก็เพราะจิตไม่ตายนั้นเอง ถึงต้องเกิดเรื่อยมาตายเรื่อยมาจนกระทั่งชาติปัจจุบันนี้


อันดับที่สองในมัชฌิมยามก็ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ
คือหยั่งทราบความเกิดความตายของสัตว์ทั้งหลาย
ที่ตายแล้วไปเกิดที่ไหนๆ ยั้วเยี้ยไปหมดเต็มโลกเต็มสงสาร
มีแต่จิตวิญญาณของสัตว์ที่เที่ยวเสาะเที่ยวแสวงหาที่เกิดที่ตายด้วยกัน
เพราะอำนาจแห่งกรรมดีกรรมชั่วของตนไม่มีว่างเว้นเลย
ในมัชฌิมยามพระองค์ทรงทราบเรื่องความเกิดตายของสัตว์ทั้งหลาย
ต่อจากบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ที่ทรงระลึกชาติของพระองค์ได้


อันดับที่สามทรงย้อนพิจารณาว่า
เราที่เกิดตายๆ ไม่หยุดไม่ถอยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ดี
สัตว์ทั้งหลายที่ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย
หมุนเวียนกันอยู่ตลอดเวลาหาที่ว่างเว้นไม่ได้ หาความเป็นอิสระไม่ได้ก็ดี
เพราะอะไรเป็นสาเหตุ จึงต้องเกิดต้องตายอยู่เช่นนี้ แล้วยังจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป
สิ่งที่เป็นอย่างนี้ไม่ใช่เป็นมาเพียงขณะที่เราทราบนี้เท่านั้น
ยังเป็นมานานแสนนานยิ่งกว่านี้อีก และยังจะเป็นต่อไปอีกนานแสนนาน
เพราะอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด
ดีแล้วชั่ว ชั่วแล้วดี สุขแล้วทุกข์ ทุกข์แล้วสุขอยู่อย่างนี้ตลอดมา
เป็นเพราะอะไร อะไรเป็นสาเหตุ


พระองค์ทรงพิจารณาย้อนเข้ามาถึงปัจจยาการ
คำว่าปัจจยาการคืออะไร ก็คือปฏิจจสมุปบาท ได้แก่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั่นแล
อวิชชาเป็นเชื้ออันสำคัญที่พาให้จิตดวงนี้เกิดที่นั่นเกิดที่นี่
ตายที่นั่นตายที่นี่อยู่ไม่หยุดไม่ถอย
และกรรมดีกรรมชั่วนั้นแลพาให้สัตว์ทั้งหลายได้รับความสุข ได้รับความทุกข์เรื่อยมา
จนกระทั่งบัดนี้ และยังจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป
ไม่ขึ้นอยู่กับความสำคัญมั่นหมายของผู้ใดว่า
บาปมีก็ตามไม่มีก็ตาม บุญมีก็ตามบุญไม่มีก็ตาม
นรกมีหรือไม่มีก็ตาม สวรรค์มีหรือไม่มีก็ตาม
ธรรมชาตินี้เป็นความจริงของตนโดยอิสระ
ไม่ขึ้นอยู่กับผู้ใดจะมาเสกสรรปั้นยอหรือลบล้างเลย


เมื่อพระองค์ทรงทราบในปัจจยาการทั้งหลายคือ อวิชฺชาปจฺจยา แล้ว
ก็ทำลายจุดที่เคยเกิดเคยตายอันเป็นเชื้อสำคัญนั้น ให้พังทลายลงไปจากพระทัย
ก็ได้ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาในปัจฉิมยามคือจวนสว่าง
ได้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา เป็นโลกวิทูเต็มดวงพระทัยขึ้นมา
เมื่อใจได้ทรงอรรถทรงธรรมที่เป็นวิมุตติหลุดพ้นเต็มพระทัยแล้ว
ยังสามารถส่องแสงสว่างกระจ่างแจ้งไปได้ทั้งไตรภพ
ไตรภพคือกามภพ รูปภพ อรูปภพ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลายผู้เสวยกรรม
พระองค์ทรงทราบโดยตลอดทั่วถึง
พร้อมกับความสลดสังเวชในความเกิดตายของสัตว์
ที่ไม่ว่าวิญญาณดวงใด ที่มีอวิชชาเข้าเคลือบแฝงอยู่ภายในแล้ว
จะต้องพาสัตว์ทั้งหลายให้หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนี้ตลอดไป
พระองค์ทรงสลดสังเวชเต็มพระทัยในเวลานั้นและกาลอื่นๆ เรื่อยมา


แล้วนำธรรมะนี้มาสั่งสอนสัตว์โลกนับตั้งแต่วันได้ตรัสรู้แล้วเรื่อยมา
และประกาศสอนธรรมในเบื้องต้นแก่เบญจวัคคีย์ทั้ง ๕
ซึ่งเป็นผู้พร้อมแล้วในการแสวงหาทางพ้นทุกข์
เป็นผู้พร้อมแล้วในการขวนขวายที่จะพ้นทุกข์ทางใจ
และกำลังพากันเที่ยวบำเพ็ญสมณธรรมอยู่
และติดสอยห้อยตามในเวลาที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่นั้น
จนกระทั่งได้ตรัสรู้แล้วก็ทรงเล็งญาณดูสัตว์โลก
ว่าใครเป็นผู้สามารถที่จะได้รู้ได้เห็นธรรมทั้งหลาย
อันเป็นธรรมประเสริฐซึ่งเราได้ครองอยู่เวลานี้ มีใครบ้างสามารถที่จะรู้จะเห็นได้


ก็ทรงทราบด้วยพระญาณ ในอันดับแรกก็คือเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕
และทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทาในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ให้บรรดาเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้นฟัง
ขอสรุปความเอาเลยว่าจนได้บรรลุอริยธรรมขั้นต้น
และบรรลุถึงขั้นอรหัตภูมิในอันดับต่อมา
เป็นผู้หลุดพ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง
จนกระทั่งพระสาวกทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังอรรถธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
เกิดความเชื่อความเลื่อมใสในธรรม แม้เป็นพระราชาก็เสด็จออกบวช
เป็นพ่อค้าประชาชนต่างก็ออกบวชบำเพ็ญสมณธรรมทางด้านจิตตภาวนา
ชำระกิเลสซึ่งเป็นเชื้ออันพาให้เกิดให้ตายและทุกข์เผาผลาญอยู่ตลอดเวลา
จนปรากฏเป็นสาวกอรหันต์ขึ้นมามากมาย
ดังชาวพุทธเราได้เปล่งวาจาถึงท่านอยู่ทุกวันนี้ว่า
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
นี้คือธรรมที่เป็นธรรมชาติฝากเป็นฝากตายของชาวพุทธเรา
สรณะของพวกเราท่านเป็นมาอย่างนี้ เพราะท่านประพฤติปฏิบัติตามศาสนธรรม


(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก พระธรรมเทศนา "คุณค่าแห่งธรรม" ใน ที่สุดแห่งทุกข์
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP