ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta
เมตตสูตรในขุททกปาฐะ ว่าด้วยการแผ่เมตตาในสัตว์ทั้งปวง
กลุ่มไตรปิฎกสิกขา
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสสอนพวกภิกษุผู้อยู่ป่าว่า
[๑๐] กุลบุตรผู้ประสงค์จะบรรลุบทอันสงบอยู่ พึงทำกิจนั้นใด
กิจนั้น อันกุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์พึงกระทำ.
กุลบุตรนั้น พึงเป็นผู้อาจหาญ ตรงและตรงด้วยดี
พึงเป็นผู้ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่มีอติมานะ เป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย
เป็นผู้มีกิจน้อย ประพฤติเบา เป็นผู้มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตัว
เป็นผู้ไม่คะนอง ไม่ติดในสกุลทั้งหลาย.
วิญญูชนติเตียนชนทั้งหลายอื่นได้ ด้วยกรรมใด
ถึงกรรมไร ๆ เพียงเล็กน้อยนั้น ก็ไม่พึงประพฤติ.
พึงแผ่ไมตรีจิตไปในหมู่สัตว์ว่า สัตว์มีชีวิตทั้งหลาย เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
ยังเป็นผู้สะดุ้ง (มีตัณหา) หรือเป็นผู้มั่นคง (ไม่มีตัณหา) ไม่เหลือเลย มีอยู่
ขอสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น จงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด.
สัตว์เหล่าใด ยาวหรือใหญ่ ปานกลางหรือสั้น เล็กหรืออ้วน
เหล่าใดที่เราเห็นแล้ว หรือมิได้เห็น เหล่าใดอยู่ในที่ไกลหรือไม่ไกล
ที่เกิดแล้ว หรือที่แสวงหาภพเกิด ขอสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น จงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด.
สัตว์อื่นไม่พึงข่มเหงสัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่นใคร ๆ นั้น ไม่ว่าในที่ไหน ๆ เลย
ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน เพราะความกริ้วโกรธ และเพราะความคุมแค้น.
มารดาถนอมบุตรตนเองซึ่งเป็นบุตรคนเดียว ด้วยอายุ ฉันใด
พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ ในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น.
พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ ในโลกทั้งปวง
ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง อันไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู.
ผู้เจริญเมตตานั้น ยืนก็ดี เดินก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี
ยังเป็นผู้ปราศจากความง่วงนอนเพียงใด ก็พึงตั้งสตินั้นไว้เพียงนั้น.
ปราชญ์ทั้งหลายเรียกการอยู่นี้ว่า พรหมวิหาร ในพระศาสนานี้.
ผู้มีเมตตา ไม่เข้าถึงทิฏฐิ (สักกายทิฏฐิ)
เป็นผู้มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ (สัมมาทิฏฐิในโสดาปัตติมรรค)
นำความหมกมุ่นในกามทั้งหลายออกไปได้
ก็ย่อมไม่เข้าถึงการนอนในครรภ์อีก โดยแท้แล.
จบเมตตสูตร
อรรถกถาเมตตสูตร (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ)
สมัยหนึ่ง ใกล้ดิถีเข้าจำพรรษา พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่กรุงสาวัตถี.
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายจากหลาย ๆ ประเทศ จำนวนมาก
รับกรรมฐานในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
ประสงค์จะเข้าจำพรรษาในที่นั้น ๆ จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ได้ยินว่าสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสกรรมฐานทั้งหลายที่อนุกูลแก่จริต
จำนวน ๘๔,๐๐๐ ประเภท โดยนัยนี้คือ
อสุภกรรมฐาน ๑๑ อย่าง คือ อสุภที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ สำหรับคนราคจริต,
กรรมฐานมีเมตตากรรมฐานเป็นต้น ๔ อย่าง สำหรับคนโทสจริต,
กรรมฐานมีมรณัสสติกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนโมหจริต,
กรรมฐานมีอานาปานัสสติและปฐวีกสิณเป็นต้น สำหรับคนวิตกจริต,
กรรมฐานมีพุทธานุสสติกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนสัทธาจริต,
กรรมฐานมีจตุธาตุววัตถานกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนพุทธิจริต.
ลำดับนั้น ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป
เรียนกรรมฐานในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า
กำลังแสวงหาเสนาสนะที่เป็นสัปปายะและโคจรคาม
เดินไปตามลำดับ ได้พบภูเขา มีพื้นศิลาคล้ายมณีสีคราม
ประดับด้วยราวป่าสีเขียว มีร่มเงาทึบเย็น
มีภูมิภาคเกลื่อนด้วยทรายเสมือนแผ่นเงินข่ายมุกดา
ล้อมด้วยชลาลัยที่สะอาดเย็นดี
ติดเป็นพืดเดียวกับป่าหิมวันต์ ในปัจจันตประเทศ.
ภิกษุเหล่านั้น พักอยู่คืนหนึ่ง ณ ที่นั้น
เมื่อราตรีรุ่งสว่างทำสรีรกิจแล้ว
ก็พากันเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้ ๆ นั้นเอง.
หมู่บ้านประกอบด้วยตระกูล ๑,๐๐๐ ตระกูล
ซึ่งอาศัยอยู่กันหนาแน่นในหมู่บ้านนั้น
มนุษย์ทั้งหลายมีศรัทธาปสาทะ
พวกเขาเห็นภิกษุทั้งหลายเท่านั้น ก็เกิดปีติโสมนัส
เพราะการเห็นบรรพชิตในปัจจันตประเทศ หาได้ยาก
นิมนต์ภิกษุเหล่านั้นให้ฉันแล้ว ก็วอนขอว่า
“ท่านเจ้าข้า ขอท่านอยู่ในที่นี้ตลอดไตรมาสเถิด”
แล้วช่วยกันสร้างกุฏิสำหรับทำความเพียร ๕๐๐ หลัง
จัดแจงเครื่องอุปกรณ์ทุกอย่าง
มีเตียง ตั่ง หมอน้ำฉัน น้ำใช้ เป็นต้น ณ ที่นั้น.
วันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านตำบลอื่น.
ในหมู่บ้านแม้นั้น มนุษย์ทั้งหลาย ก็บำรุงอย่างนั้นเหมือนกัน อ้อนวอนให้อยู่จำพรรษา.
ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์โดยมีเงื่อนไขว่า “เมื่อไม่มีอันตราย”
จึงพากันเข้าไปยังราวป่านั้น
เป็นผู้ปรารภความเพียรตลอดทั้งกลางคืนกลางวัน ตีระฆังบอกยาม
เป็นผู้มากด้วยโยนิโสมนสิการอยู่ จึงเข้าไปนั่งที่โคนไม้.
รุกขเทวดาทั้งหลาย ถูกเดชของเหล่าภิกษุผู้มีศีลกำจัดเดชเสียแล้ว
ก็ลงจากวิมานของตน ๆ พาพวกลูก ๆ เที่ยวระหกระเหินไป
เปรียบเหมือนเมื่อพระราชา หรือราชมหาอมาตย์ ไปยังที่อยู่ของชาวบ้าน
ยึดโอกาสที่ว่างในเรือนทั้งหลายของพวกชาวบ้าน
พวกชาวบ้านก็ต้องออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น ก็ได้แต่มองดูอยู่ไกล ๆ
ด้วยหวังว่า เมื่อไรหนอ ท่านจึงจักไปกัน ฉันใด
เทวดาทั้งหลายต้องละทิ้งวิมานของตน ๆ
กระเจิดกระเจิงไป ได้แต่มองดูอยู่ไกล ๆ
ด้วยหวังว่า เมื่อไรหนอ ท่านจึงจักไปกัน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
แต่นั้น เทวดาทั้งหลายก็ร่วมคิดกันอย่างนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลายเข้าพรรษาแรกแล้ว จักอยู่กันตลอดไตรมาสแน่
แต่พวกเราไม่อาจจะพาพวกเด็กอยู่อย่างระหกระเหินได้นาน ๆ
เอาเถิด พวกเราจักแสดงอารมณ์ที่น่ากลัวแก่ภิกษุทั้งหลาย.
เทวดาเหล่านั้น จึงเนรมิตรูปยักษ์ที่น่ากลัว
ยืนอยู่ข้างหน้า ๆ เวลาภิกษุทั้งหลายทำสมณธรรมตอนกลางคืน
และทำเสียงที่น่าหวาดกลัว
เพราะเห็นรูปเหล่านั้น และได้ยินเสียงนั้น
หัวใจของภิกษุทั้งหลาย ก็กวัดแกว่ง
ภิกษุเหล่านั้นมีผิวเผือด และเกิดเป็นโรคผอมเหลือง.
ด้วยเหตุนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงไม่อาจทำจิตให้มีอารมณ์เดียวได้
เมื่อจิตไม่มีอารมณ์เดียว สลดใจบ่อย ๆ เพราะความกลัว
สติของภิกษุเหล่านั้น ก็ลืมเลือนไป แต่นั้น
อารมณ์ที่เหม็น ๆ ก็ประจวบแก่ภิกษุเหล่านั้น ซึ่งมีสติหลงลืมแล้ว
มันสมองของภิกษุเหล่านั้น ก็เหมือนถูกกลิ่นเหม็นนั้นบีบคั้น
โรคปวดศีรษะก็เกิดอย่างหนัก.
ภิกษุเหล่านั้น ก็ไม่ยอมบอกเรื่องนั้นแก่กันและกัน.
ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อภิกษุทุกรูปประชุมกันในเวลาบำรุงพระสังฆเถระ.
พระสังฆเถระก็ถามว่า
“ผู้มีอายุ เมื่อพวกท่านเข้าไปในราวป่านี้
ผิวพรรณดูบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างเหลือเกินอยู่ ๒ - ๓ วัน ทั้งอินทรีย์ก็ผ่องใส
แต่บัดนี้ ในที่นี้พวกท่านซูบผอม ผิวเผือด เป็นโรคผอมเหลือง
ในที่นี้พวกเธอไม่มีสัปปายะหรือ ?”
ลำดับนั้น ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า
“ท่านขอรับ ตอนกลางคืนกระผมเห็นและได้ยินอารมณ์ที่น่ากลัวอย่างนี้ ๆ
สูดแต่กลิ่นเช่นนี้ ด้วยเหตุนั้น จิตของกระผมจึงไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ.”
ภิกษุเหล่านั้นทุกรูปจึงพากันบอกเรื่องนั้น โดยอุบายนี้เหมือนกัน.
พระสังฆเถระกล่าวว่า
“ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติการเข้าจำพรรษาไว้ ๒ อย่าง
ก็เสนาสนะนี้ไม่เป็นสัปปายะแก่พวกเรา
มาเถิดผู้มีอายุ พวกเราจะพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทูลถามถึงเสนาสนะที่เป็นสัปปายะอื่น ๆ”
ภิกษุเหล่านั้น รับคำพระเถระว่า “ดีละขอรับ”
ทุกรูปก็เก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรจีวร
ไม่บอกกล่าวใคร ๆ ในตระกูลทั้งหลาย
เพราะความที่ตน ไม่ติดอยู่ในตระกูลทั้งหลาย
พากันจาริกไปทางกรุงสาวัตถี ก็ถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับแล้ว
ก็พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นภิกษุเหล่านั้นจึงตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า
‘ภิกษุไม่พึงเที่ยวจาริกไปภายในพรรษา’
เหตุไรพวกเธอจึงยังจาริกกันอยู่เล่า.”
ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลเรื่องทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนึกอยู่
ก็ไม่ทรงเห็นเสนาสนะที่เป็นสัปปายะอื่นสำหรับภิกษุเหล่านั้น
ทั่วชมพูทวีป โดยที่สุด แม้แต่เพียงตั่งมี ๔ เท้า
ดังนั้น จึงตรัสบอกภิกษุเหล่านั้นว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะที่เป็นสัปปายะอื่นสำหรับพวกเธอไม่มีดอก
พวกเธออยู่ในที่นั้นนั่นแหละ จักบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ
ไปเถิดภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าไปอาศัยเสนาสนะนั้นนั่นแหละอยู่กันเถิด
ก็ถ้าว่า พวกเธอปรารถนาความไม่มีภัยจากเทวดาทั้งหลาย
ก็จงพากันเรียนพระปริตรนี้ .
ด้วยว่า พระปริตรนี้จักเป็นเครื่องป้องกัน และจักเป็นกรรมฐานสำหรับพวกเธอ”
ดังนี้ แล้วจึงตรัสพระสูตรนี้.
แต่อาจารย์พวกอื่นอีกกล่าวว่า
“พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระดำรัสนี้ว่า
‘ไปเถิดภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเข้าไปอาศัยเสนาสนะนั้นนั่นแหละ อยู่กันเถิด’
แล้วจึงตรัสว่า ‘อนึ่งเล่า ภิกษุผู้อยู่ป่าควรรู้จักบริหาร. บริหารอย่างไร?
บริหารอย่างนี้ คือ แผ่เมตตา ๒ เวลา คือ ทำเวลาเย็นและเช้า
ทำพระปริตร ๒ เวลา เจริญอสุภะ ๒ เวลา เจริญมรณัสสติ ๒ เวลา
และนึกถึงมหาสังเวควัตถุ ๘ ทั้ง ๒ เวลา ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ.
อบายทุกข์ ๔ ชื่อมหาสังเวควัตถุ ๘.’
อีกนัยหนึ่ง ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ๔ อบายทุกข์เป็นที่ ๕
ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอดีต ๑ ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอนาคต ๑
ทุกข์มีการแสวงอาหารเป็นมูลในปัจจุบัน ๑.”
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงบอกการบริหารอย่างนี้แล้ว
จึงได้ตรัสพระสูตรนี้เพื่อเป็นเมตตา เพื่อเป็นพระปริตร
และเพื่อฌานอันเป็นบาทแห่งวิปัสสนาแก่ภิกษุเหล่านั้น.
(เมตตสูตรในขุททกปาฐะ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๙)
< Prev | Next > |
---|