ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ทุติยมหานามสูตร ว่าด้วยเจ้าศากยะมหานามะทูลถามถึงธรรมเป็นเครื่องอยู่


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๒๑๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ.
ก็สมัยนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่า มหานามะ
ทรงหายจากประชวร คือหายจากภาวะที่ประชวรไม่นาน.
ก็สมัยนั้น ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า
ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยกาลล่วงไป ๓ เดือน.
เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะได้ทรงสดับข่าวว่า
ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า
ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน ดังนี้
ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ
ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทราบข่าวมาดังนี้ว่า
ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า
ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน ดังนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่าง ๆ
พึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร พระพุทธเจ้าข้า.”


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
“ดีละ ดีละ มหาบพิตร การที่มหาบพิตรเสด็จเข้ามาหาตถาคตแล้วตรัสถามว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่าง ๆ พึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร’ ดังนี้
เป็นการสมควรแก่มหาบพิตรผู้เป็นกุลบุตร
มหาบพิตร กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีศรัทธา ย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์
ผู้ปรารภความเพียร ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้เกียจคร้าน ย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์
ผู้มีสติตั้งมั่น ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติหลงลืม ย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์
ผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์
ผู้มีปัญญา ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาทราม ย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์


มหาบพิตร มหาบพิตรทรงตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว
พึงเจริญธรรม ๖ ประการให้ยิ่งขึ้นไป
มหาบพิตร ในธรรม ๖ ประการนี้ พึงทรงระลึกถึงตถาคตว่า
แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ
ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
มหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงตถาคต
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมดำเนินไปตรง
มหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรง เพราะปรารภตถาคต
ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม
ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์
กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมสงบ
อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุข ย่อมตั้งมั่น
มหาบพิตร พุทธานุสตินี้แล มหาบพิตรพึงเสด็จดำเนินเจริญก็ได้
ประทับยืนเจริญก็ได้ ประทับนั่งเจริญก็ได้ บรรทมเจริญก็ได้ ทรงประกอบการงานเจริญก็ได้
ประทับบนที่นอนอันเบียดเสียดด้วยพระโอรสและพระธิดาเจริญก็ได้.


มหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงพระธรรมว่า
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง
ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชน พึงรู้เฉพาะตน
มหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระธรรม
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมดำเนินไปตรง
มหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรง เพราะปรารภพระธรรม
ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม
ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์
กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมสงบ
อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุข ย่อมตั้งมั่น
มหาบพิตร ธัมมานุสตินี้แล มหาบพิตรพึงเสด็จดำเนินเจริญก็ได้
ประทับยืนเจริญก็ได้ ประทับนั่งเจริญก็ได้ บรรทมเจริญก็ได้ ทรงประกอบการงานเจริญก็ได้
ประทับบนที่นอนอันเบียดเสียดด้วยพระโอรสและพระธิดาเจริญก็ได้.


มหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงพระสงฆ์ว่า
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว
เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อญายธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ นี้คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘
นั่นคือสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ
ควรของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า
มหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมดำเนินไปตรง
มหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรง เพราะปรารภพระสงฆ์
ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม
ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์
กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมสงบ
อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุข ย่อมตั้งมั่น
มหาบพิตร สังฆานุสตินี้แล มหาบพิตรพึงเสด็จดำเนินเจริญก็ได้
ประทับยืนเจริญก็ได้ ประทับนั่งเจริญก็ได้ บรรทมเจริญก็ได้ ทรงประกอบการงานเจริญก็ได้
ประทับบนที่นอนอันเบียดเสียดด้วยพระโอรสและพระธิดาเจริญก็ได้.


มหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงศีลของตน
ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ
อันตัณหาทิฐิไม่ยึดถือ เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ
มหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศีลของตน
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมดำเนินไปตรง
มหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรง เพราะปรารภศีลของตน
ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม
ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์
กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมสงบ
อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุข ย่อมตั้งมั่น
มหาบพิตร สีลานุสตินี้แล มหาบพิตรพึงเสด็จดำเนินเจริญก็ได้
ประทับยืนเจริญก็ได้ ประทับนั่งเจริญก็ได้ บรรทมเจริญก็ได้ ทรงประกอบการงานเจริญก็ได้
ประทับบนที่นอนอันเบียดเสียดด้วยพระโอรสและพระธิดาเจริญก็ได้.


มหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงจาคะของตนว่า
เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ คือ เมื่อหมู่สัตว์ถูกมลทิน
คือความตระหนี่กลุ้มรุม เรามีใจปราศจากมลทิน คือความตระหนี่อยู่ครองเรือน
เป็นผู้มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม (คอยหยิบของบริจาค)
ยินดีในการเสียสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน
มหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงจาคะของตน
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมดำเนินไปตรง
มหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรง เพราะปรารภจาคะของตน
ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม
ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์
กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมสงบ
อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุข ย่อมตั้งมั่น
มหาบพิตร จาคานุสตินี้แล มหาบพิตรพึงเสด็จดำเนินเจริญก็ได้
ประทับยืนเจริญก็ได้ ประทับนั่งเจริญก็ได้ บรรทมเจริญก็ได้ ทรงประกอบการงานเจริญก็ได้
ประทับบนที่นอนอันเบียดเสียดด้วยพระโอรสและพระธิดาเจริญก็ได้.


มหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงเทวดาทั้งหลายว่า
เทวดาเหล่าจาตุมหาราชมีอยู่ เทวดาเหล่าดาวดึงส์มีอยู่ เทวดาเหล่ายามามีอยู่
เทวดาเหล่าดุสิตมีอยู่ เทวดาเหล่านิมมานรดีมีอยู่ เทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัสดีมีอยู่
เทวดาเหล่าพรหมกายิกามีอยู่ เทวดาที่สูงกว่าเหล่าพรหมนั้นมีอยู่
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว
อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ศรัทธาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว
อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ศีลเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยสุตะเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว
อุบัติในเทวดาชั้นนั้น สุตะเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยจาคะเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว
อุบัติในเทวดาชั้นนั้น จาคะเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว
อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ปัญญาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
มหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ
และปัญญา ของตนและของเทวดาเหล่านั้น
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมดำเนินไปตรง
มหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรง เพราะปรารภศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ
และปัญญา ของตนและของเทวดาเหล่านั้น
ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม
ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์
กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมสงบ
อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุข ย่อมตั้งมั่น
มหาบพิตร เทวตานุสตินี้แล มหาบพิตรพึงเสด็จดำเนินเจริญก็ได้
ประทับยืนเจริญก็ได้ ประทับนั่งเจริญก็ได้ บรรทมเจริญก็ได้ ทรงประกอบการงานเจริญก็ได้
ประทับบนที่นอนอันเบียดเสียดด้วยพระโอรสและพระธิดาเจริญก็ได้.”


ทุติยมหานามสูตรที่ ๒ จบ


(ทุติยมหานามสูตรที่ ๒ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๘)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP