จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

อย่าดูหมิ่นกรรมชั่วว่าเล็กน้อย


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



379 destination



ท่านผู้อ่านเคยมีประสบการณ์ไหมครับว่าการจะต้องทำกรรมไม่ดีอะไรสักอย่างหนึ่ง
และเราก็เห็นว่าไม่เป็นไร เพราะเห็นว่าเป็นเพียงกรรมไม่ดีเล็กน้อยเท่านั้น
แต่ในพระธรรมคำสอนแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
อย่าดูหมิ่นกรรมชั่วว่าเล็กน้อย เพราะบุคคลสั่งสมหรือพอกพูนบาปแม้ทีละน้อย ๆ
ก็ย่อมทำให้เต็มไปด้วยบาปได้
ใน “คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙”
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
“บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากบาป
เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจย่อมยินดีในบาป
หากบุรุษพึงทำบาปไซร้ ไม่พึงทำบาปนั้นบ่อย ๆ
ไม่พึงทำความพอใจในบาปนั้น เพราะการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้
หากว่าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อย ๆ
พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้
แม้คนลามกย่อมเห็นความเจริญตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล
แต่เมื่อใดบาปย่อมให้ผล คนลามกจึงเห็นบาปเมื่อนั้น
แม้คนเจริญก็ย่อมเห็นบาป ตราบเท่าที่ความเจริญยังไม่ให้ผล
แต่เมื่อใดกรรมดีย่อมให้ผล เขาจึงเห็นความเจริญเมื่อนั้น
บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อย จักไม่มาถึง
แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาด ๆ ฉันใด
คนพาลสั่งสมบาปแม้ทีละน้อย ๆ ย่อมเต็มด้วยบาป ฉันนั้น
บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อย จักไม่มาถึง
แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาด ๆ ฉันใด
นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้ทีละน้อย ๆ ย่อมเต็มด้วยบุญ ฉันนั้น
ภิกษุพึงเว้นบาปดุจพ่อค้ามีพวกน้อย มีทรัพย์มาก
เว้นทางที่ควรกลัว ดุจบุรุษผู้ใคร่ต่อชีวิตเว้นยาพิษ ฉะนั้น
ถ้าที่ฝ่ามือไม่พึงมีแผลไซร้ บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้
เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมซาบฝ่ามือที่ไม่มีแผล บาปย่อมไม่มีแก่คนไม่ทำ
ผู้ใดย่อมประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้เป็นบุรุษหมดจด ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน
บาปย่อมกลับถึงผู้นั้นแหละ ผู้เป็นพาลดุจธุลีละเอียดที่บุคคลซัดทวนลมไป ฉะนั้น
คนบางพวกย่อมเข้าถึงครรภ์ บางพวกมีกรรมอันลามก ย่อมเข้าถึงนรก
ผู้ที่มีคติดีย่อมไปสู่สวรรค์ ผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน
อากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป ส่วนแห่งแผ่นดิน
ที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว พึงพ้นจากกรรมอันลามกได้ไม่มีเลย
อากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป ส่วนแห่งแผ่นดิน
ที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว มัจจุพึงครอบงำไม่ได้ ไม่มีเลย”
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=587&Z=617&pagebreak=0


ในอรรถกถาของ “คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙” ได้เล่าเรื่องภิกษุไม่ถนอมบริขาร ดังนี้
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งผู้ไม่ถนอมบริขาร
ได้ยินว่า ภิกษุนั้นใช้สอยบริขาร เช่น เตียงและตั่งเป็นต้น ไว้ภายนอกแล้ว
ทิ้งไว้ในที่นั้นนั่นเอง บริขารย่อมเสียหายไป เพราะฝนบ้าง แดดบ้าง ปลวกบ้าง เป็นต้น


เมื่อเหล่าภิกษุได้กล่าวเตือนภิกษุนั้นแล้ว
ภิกษุนั้นกลับกล่าวว่า "กรรมที่ผมทำนั่นนิดหน่อย บริขารนั่นไม่มีจิต ความวิจิตรก็ไม่มี”
ดังนี้แล้ว ก็ยังทำอยู่เช่นเดิมนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
เหล่าภิกษุได้กราบทูลเรื่องของภิกษุนั้นต่อพระศาสดา
พระศาสดาได้รับสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุ เธอทำอย่างนั้นจริงหรือ"
ภิกษุนั้นกราบทูลอย่างดูหมิ่นอย่างนั้นว่า
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนั้นจะเป็นอะไร ข้าพระองค์ทำกรรมเล็กน้อย
บริขารนั้นไม่มีจิต ความวิจิตรก็ไม่มี
"
ณ เวลานั้น พระศาสดาตรัสกับภิกษุนั้นว่า
"อันภิกษุทั้งหลายทำอย่างนั้น ย่อมไม่ควร
ขึ้นชื่อว่าบาปกรรม ใคร ๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่านิดหน่อย
เหมือนอย่างว่า ภาชนะที่เขาเปิดปากตั้งไว้กลางแจ้ง
เมื่อฝนตกอยู่ ไม่เต็มได้ด้วยหยาดน้ำหยาดเดียวโดยแท้
ถึงกระนั้น เมื่อฝนตกอยู่บ่อยๆ ภาชนะนั้นย่อมเต็มได้แน่ ๆ ฉันใด
บุคคลผู้ทำบาปกรรมอยู่ ย่อมทำกองบาปให้ใหญ่โตขึ้นโดยลำดับได้อย่างแน่ ๆ
ฉันนั้นเหมือนกัน
"


หลังจากนั้น พระศาสดาจึงตรัสพระคาถานี้ว่า
บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบาปว่า บาปมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง
แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลง (ทีละหยาด ๆ) ได้ฉันใด
ชนพาลเมื่อสั่งสมบาปแม้ทีละน้อย ๆ ย่อมเต็มด้วยบาปได้ฉันนั้น

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้นแล้ว
พระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า
"ภิกษุลาดที่นอน (ของสงฆ์) ไว้ในที่แจ้งแล้ว ไม่เก็บไว้ตามเดิมต้องอาบัติ"
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25.0&i=19&p=5



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP