สารส่องใจ Enlightenment

สมถกรรมฐาน (ตอนที่ ๓)



พระธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๑



สมถกรรมฐาน (ตอนที่ ๑) (คลิก)
สมถกรรมฐาน (ตอนที่ ๒) (คลิก)



ต่อไปนี้ จะขอแนะวิธีการ ซึ่งเข้าใจว่าท่านทั้งหลาย คงจะมีความเข้าใจพอสมควร
เป็นกรรมฐานตามแบบที่ท่านอาจารย์เสาร์ (กันตสีโล) ท่านอาจารย์มั่น (ภูริทัตโต)
ได้อบรมสั่งสอนมาแล้ว สามารถมีลูกศิษย์ลูกหาสืบเชื้อสายมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้



เบื้องต้นท่านจะสอนให้ภาวนาพุทโธ วิธีการภาวนาพุทโธนั้น
ก่อนอื่นการไหว้พระสวดมนต์และการเจริญพรหมวิหาร
เป็นสิ่งจำเป็นที่นักปฏิบัติทุกท่าน จะพึงกระทำเป็นบุรพกิจก่อน
เพราะอันนี้มันเป็นพิธีกรรมสำหรับไหว้ครู พระพุทธเจ้าเป็นครูของเรา
เราทำพิธีไหว้ครูเสียก่อน แล้วจึงค่อยเจริญพรหมวิหาร
การเจริญพรหมวิหาร มันเป็นอุบายประกาศความเป็นมิตรต่อสิ่งเร้นลับซึ่งอาจจะมี
เราไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ด้วยตา
เผื่อจะให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นได้ทราบว่าเรามาดี ไม่ได้เป็นผู้มาร้าย
แล้วเขาจะได้ช่วยรักษาความสงบ ไม่รบกวน ซึ่งเรื่องนี้ในพระสูตรก็มีปรากฏอยู่แล้ว
เช่นอย่างต้นเหตุสวดมนต์เกี่ยวกับกรณียเมตตสูตร
เข้าใจว่าท่านทั้งหลายก็คงทราบดี



เพราะฉะนั้นที่ท่านอาจารย์เสาร์ ท่านสอนให้ภาวนาพุทโธนั้น
ท่านมีเหตุผลอย่างนี้ ท่านว่า พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ พุทโธ ผู้ตื่น พุทโธ ผู้เบิกบาน
และพุทโธเป็นกิริยาของใจ คนเราทุกคนมีใจเป็นเครื่องรู้
พระพุทธเจ้าก็มีใจเป็นเครื่องรู้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้ามีใจสามารถรู้ได้
เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าก็สามารถจะรู้ตามได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น พุทโธ จึงเป็นกิริยาของใจ การภาวนาพุทโธๆ พุทโธ
พุทโธ แปลว่าผู้รู้ ในเมื่อจิตสงบแล้ว จิตจะเกิดรู้ขึ้น คือรู้สึกอยู่ภายในจิตอย่างเดียว
ในขณะที่จิตรับรู้อารมณ์หลายๆ อย่างนั้น มันไม่มีความสงบ จิตมันไม่รู้
แต่มันรู้จักแต่อารมณ์ที่ผ่านเข้ามาเท่านั้น
แต่สภาพความเป็นจริงของจิตนั้นมันไม่รู้
แต่ถ้าเรามาบริกรรมภาวนาทางจิต ให้สงบลงเป็นเอกัคคตาแล้ว
เราจะได้รู้สภาพความเป็นจริงของจิตของเรา ว่ามันมีสภาพเป็นอย่างไร
และเราจะได้รู้ว่าจิตของเรานี้ มันหนักไปในทาง ราคจริต หรือ โทสจริต
โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต
หรือ วิตักกจริต ตามจริต ๖ ประการนั้น
เราจะได้ทดสอบดู แล้วจะสามารถรู้
สภาพตามความเป็นจริงของจิตของเราว่ามีจริตเป็นอย่างไร
และเราจะได้หาอุบาย สำหรับเป็นการอบรมฝึกฝนจิตในโอกาสต่อไป



เพราะฉะนั้น การบริกรรมภาวนาพุทโธจึงเป็นการจำเป็น
และไม่จำเป็นเฉพาะแต่บริกรรมภาวนาว่าพุทโธๆ อย่างเดียว
อันอื่นๆ ก็จำเป็นด้วย แล้วแต่อุปนิสัยของท่านผู้ใดจะชอบใจอย่างใด
จะเป็น พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือ ยุบหนอ พองหนอ สัมมาอรหัง อะไรก็แล้วแต่
อันนั้นมันเป็นเพียงบริกรรมภาวนา
เป็นเหยื่อสำหรับล่อจิตให้อยู่ในสิ่งนั้น เพื่อเป็นอุบายให้จิตสงบเท่านั้น
แต่เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว จิตมันไม่ได้ไปนึกถึงบริกรรมภาวนาอันนั้นหรอก
เป็นแต่เพียงมีสภาพจิตที่สงบนิ่งแล้วก็รู้เห็นชัดอยู่



ในเมื่อเรามาบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
เมื่อเราบริกรรมภาวนาไปได้สักพักหนึ่ง
ถ้าหากว่าจิตของเรามันเริ่มๆ จะทำ มีอาการสงบขึ้นมาในบริกรรมภาวนานั้น
บางทีก็จางเลือนลางหายไปหรือบางทีก็ไม่หาย
ถ้าหากว่าบริกรรมภาวนานั้น มันจางหายไป
โดยจิตไม่นึกบริกรรมภาวนา จิตจะนิ่งอยู่เฉยๆ
อันนั้นท่านให้กำหนดดูความเฉยๆ ของจิตอยู่อย่างนั้น
ไม่ต้องไปนึกไปคิดอะไรทั้งนั้น
ในขณะนั้น ถ้าหากว่าในความรู้สึกจะมีลมหายใจปรากฏขึ้นมา
ก็ให้กำหนดรู้ลมหายใจต่อไป โดยไม่ต้องนึกกำหนดบริกรรมภาวนาอีก
บางท่านอาจจะเข้าใจผิดว่า ในเมื่อจิตว่างจากการบริกรรมภาวนาแล้วนี่
เรามันจะง่วงนอนเสียแล้ว หรือมันหลง มันเผลอ ไปเสียแล้ว
บางทีอาจจะเข้าใจอย่างนี้
ถ้าหากว่าเรายังนึกบริกรรมภาวนาพุทโธๆ พุทโธๆ อยู่
ถึงแม้ว่าจิตมันจะสงบอยู่กับพุทโธ พุทโธ มันก็เป็นเพียง สงบชั้นต้นๆ
ถ้าหากมันสงบนิ่งลงไปจริงๆ
แม้แต่เพียงแค่เป็นอุปจารสมาธิ คือสมาธิที่เฉียดๆ เข้าไป
แต่คำบริกรรมภาวนานั้น มันจะ จางหายไป
และเมื่อกำหนดมันนิ่ง เป็นอัปปนาสมาธิจริงๆ แล้ว
คำบริกรรมภาวนานั้นจะหายไปโดยเด็ดขาด ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย
มีแต่ความเป็นหนึ่งของจิต คือเอกัคคตาเท่านั้น จงสังเกตดังนี้



แต่อีกอย่างหนึ่ง ในเมื่อเราบริกรรมภาวนาอยู่
อาการที่จิตจะสงบนั้นมันมีคล้ายๆ กับจะง่วงนอน
อาการที่จิตจะก้าวเข้าไปสู่ความสงบนั้น คืออาการคล้ายนอนหลับ
มันคล้ายนอนหลับจริงๆ ถ้าหากว่าท่านสังเกตดูเวลาท่านจำวัด
จิตของท่านบางทีอาจจะแสดงอาการโงกๆ
หรือบางทีคล้ายๆ กับตัวมันจะลอยไป
แล้วในที่สุด มันก็หลับมิดไปเลยไม่รู้สึกอะไร
แต่ว่าอาการที่จิตแสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับการภาวนา
ในเมื่อมันแสดงอาการวูบ ๆ วูบลงไปแล้วก็นิ่งพั่บ
มันจะเกิดความสว่างขึ้นภายในจิต
ถ้าหากมันนิ่งพั่บมันมืด มันก็นอนหลับอย่างธรรมดา
มันเป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง และอาการที่มันจะก้าวลงสู่ความเป็นเช่นนั้น
มันมีอาการเหมือนๆ กับเราจะนอนหลับในวาระแรกๆ อันนี้สังเกตให้ดี
แต่ถ้าหากมันวูบลงไปแล้วนิ่ง มันมืดมิดหลับไปเลย อันนั้นมันเป็นการนอนหลับ
ท่านจะนั่งอยู่ตลอดคืนยันรุ่ง ก็เป็นการนั่งหลับ
แต่ถ้าจิตเข้าสมาธิแล้วมันวูบลงไป แล้วนิ่งๆ แล้วเกิดสว่างโร่ขึ้น
คล้ายๆ กับว่าเราจะมองขึ้นข้างหน้าหรือเบื้องหลัง
อันนั้นเป็นจิตเข้าสมาธิ พึงสังเกตดังนี้



สำหรับการกล่าวธรรมะเกี่ยวกับการปฏิบัติเป็นการเริ่มต้นในวันนี้
ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก ฐานิยปูชา ธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
พิมพ์ครั้งที่ ๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗.


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP