ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

วิหารธรรมในช่วงขาลงของการปฏิบัติธรรม



ถาม - ในช่วงขาลงของการปฏิบัติธรรม ทำอย่างไรถึงจะกู้จิตให้กลับสู่สภาพที่ดีดังเดิมได้คะ


สำหรับวิหารธรรมหรือว่าเครื่องอยู่
ที่พระพุทธเจ้าคะยั้นคะยอให้คนได้ยึดเป็นที่พึ่งกันจริงๆ คือลมหายใจ

แต่ว่าคนนี่นะ คือพอพูดถึงลมหายใจปุ๊บ จะเบือนหน้าหนี
เพราะว่าพอดูลมหายใจเข้าไปทีไร มันอึดอัดทุกทีนะครับ
ผมเคยให้คำแนะนำไว้ว่าเราตั้งความคาดหวังไว้ล่วงหน้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนขาลง ที่ถามกันมากที่สุด
ทำอย่างไรถึงจะกู้จิตคืนกลับสู่สภาพดีๆ แบบเดิมๆ ได้
เพราะมันลงแล้ว มักจะลงยาว
เสร็จแล้วพอได้รับคำแนะนำเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเคยแนะนำ
บอกให้อาศัยอานาปานสติหรือว่าลมหายใจเป็นเครื่องช่วยพยุง
คนส่วนใหญ่จะเบือนหน้าหนีกัน


เพราะว่าหลับตาลงดูลมหายใจทีไร มันเกิดความอึดอัด มันเกิดความทุกข์
มันเกิดความรู้สึกว่าไปต่อไม่ได้ทุกที มันยิ่งทรมานใจหนักเข้าไปอีก
ผมเคยให้คำแนะนำไปว่าแทนที่เราจะตั้งความคาดหวังไว้ว่า
หลับตาดูลมหายใจแล้วเราจะมีความสุข เราจะมีสมาธิ ความฟุ้งซ่านมันจะหายไป
ให้เปลี่ยนใหม่ เปลี่ยนเป็นว่าตั้งความคาดหวังไว้ว่า
เริ่มต้นขึ้นมามันจะมีความอึดอัด มันจะมีความทรมาน
มันจะมีความเหมือนกับไม่เห็นอะไรเลย มันจะมีแต่ความรู้สึกมืด
พอเราตั้งความคาดหวังไว้อย่างถูกต้องว่าจะได้เจอสิ่งที่มันไม่ดี
แล้วเจอสิ่งที่ไม่ดีจริงๆ มันจะสมหวังขึ้นมานิดๆ

เริ่มต้นขึ้นมาเป็นอย่างที่คิดเลย มันอึดอัด มันดูลมหายใจไม่ออก
แต่ให้มีความเข้าใจในขั้นต่อไปว่า พอดูไปสักสองสามครั้ง
เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของอาการมืด อาการอึดอัด อาการรู้สึกทรมานใจ
มันจะดีขึ้นนิดหนึ่ง ณ ลมหายใจที่สอง สาม หรือสี่


พอตั้งความคาดหวังไว้อย่างนี้ แล้วไปเจอภาวะนั้นจริงๆ ด้วย
คือหลับตาขึ้นมา ครั้งแรกอึดอัด ครั้งที่สองก็อึดอัดอีก
เพราะมันเร่งลมหายใจ ไปจับ ไปยึดว่าอยากจะหายฟุ้งซ่าน อยากจะสงบ
ลมหายใจที่สาม เอาอีก อึดอัดอีก สี่ ห้า หก
คราวนี้พอหายใจเป็นปกติ มันชักสบายขึ้น
นี่มันสมคาดอีกแล้ว มันสมหวังอีกแล้ว
ได้เห็นความรู้สึกว่ายิ่งหายใจ ยิ่งเห็นความเปลี่ยนแปลง ยิ่งเห็นความไม่เที่ยง
ตัวนี้แหละ ความยึดติดว่าจะต้องสงบ ความยึดติดว่าจะต้องหายฟุ้งซ่าน
มันจะเริ่มคลายตัวไป กลายเป็นความรู้สึกว่ามันมีสติได้
สติเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ คือภาวะฟุ้งซ่าน มันค่อยๆ แสดงความไม่เที่ยงให้ดู
เห็นความอึดอัด เห็นความรู้สึกไม่ชอบลมหายใจ มันค่อยๆ กลายเป็นความรู้สึกเฉยๆ


แล้วอาจมีลมหายใจหนึ่งที่มันคลายหมดแล้ว
คลายเนื้อคลายตัว เท้าก็คลาย มือก็คลาย หน้าก็คลาย
มันกลายเป็นความรู้สึกว่าลมหายใจนี้ ดูได้
ดูว่ามันกำลังหายใจเข้าหรือว่าหายใจออกอยู่
ดูว่าที่มันหายใจ มันหายใจด้วยความทุกข์ มันหายใจสั้นๆ
หรือบางทีหายใจยาวเกินไป ยาวจนกระทั่งอึดอัด
มันเห็นเหตุเห็นผลของลมหายใจที่มันไม่สบาย


ในที่สุดสตินั่นแหละ ทำให้มันคลาย มันสบายไปทั้งตัว
แล้วก็กลายเป็นความรู้สึกว่าหายใจนี่ หายใจได้ยาวขึ้น
หายใจยาวแบบที่ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเกร็ง ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งมาเค้นมาคั้น
นี่แหละวิหารธรรมของการปฏิบัติช่วงลงที่ดี
พูดง่ายๆ นะ อย่าเอาแต่ลมหายใจ เอาความคาดหวังที่ถูกต้องด้วย
คาดหวังว่าขึ้นต้นมาเราจะเห็นความอึดอัด เราจะเห็นความอึดอัดไปช่วงหนึ่ง
กว่าที่จะเริ่มเห็นลมหายใจแห่งความสบาย
เห็นร่างกายที่ผ่อนคลายแตกต่างไปจากเดิม
นี่คือการเห็นความไม่เที่ยงที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากนะครับ


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP