ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

สมถสูตร ว่าด้วยสิ่งที่ควรเสพและไม่ควรเสพ


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



[๕๔] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย
หากว่าภิกษุไม่เป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่น
เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุนั้นพึงศึกษาว่า เราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษา อย่างนี้แล.


ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นฉลาดในวาระจิตของตนอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษที่เป็นหนุ่มสาว
มีปกติชอบแต่งตัว ส่องดูใบหน้าของตนในคันฉ่องอันบริสุทธิ์หมดจด หรือในภาชนะน้ำอันใส
ถ้าเห็นธุลีหรือจุดดำที่ใบหน้านั้น ก็ย่อมพยายามกำจัดธุลีหรือจุดดำนั้นเสีย
ถ้าไม่เห็นธุลีหรือจุดดำที่ใบหน้านั้น ย่อมดีใจ มีความดำริอันบริบูรณ์
ด้วยเหตุนั้นแลว่า เป็นลาภของเราหนอ ใบหน้าของเราหมดจดแล้วหนอ ดังนี้
แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย การพิจารณาของภิกษุว่า
เราเป็นผู้ได้ความสงบจิตภายในหรือหนอ หรือว่าไม่เป็นผู้ได้ความสงบจิตภายใน
เราเป็นผู้ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่งหรือหนอ
หรือว่าเราไม่เป็นผู้ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง ดังนี้
ย่อมเป็นอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล.


ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า
เราได้ความสงบจิตภายใน ไม่ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง ดังนี้ไซร้
ภิกษุนั้นควรตั้งอยู่ในความสงบจิตภายในแล้ว
พึงทำความเพียรในความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง.
สมัยต่อมา ภิกษุนั้นย่อมได้ความสงบจิตภายใน
และได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า
เราได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง ไม่ได้ความสงบจิตภายใน ดังนี้ไซร้
ภิกษุควรตั้งอยู่ในความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว
พึงทำความเพียรในความสงบจิตภายใน.
สมัยต่อมา ภิกษุนั้นย่อมได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
และได้ความสงบจิตภายใน ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่
ย่อมรู้อย่างนี้ว่า เราไม่ได้ความสงบจิตภายใน
ไม่ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง ดังนี้ไซร้
ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ
ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง
เพื่อได้ซึ่งกุศลธรรมเหล่านั้นนั่นเทียว.


ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าถูกไฟลุกไหม้
หรือมีศีรษะถูกไฟลุกไหม้ พึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ
ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง
เพื่อดับไฟลุกไหม้ผ้าหรือไฟลุกไหม้ศีรษะนั้นนั่นเทียว แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ
ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง
เพื่อได้ซึ่งกุศลธรรมเหล่านั้นนั่นเทียว ฉันนั้นเหมือนกันแล.


สมัยต่อมา ภิกษุนั้นย่อมได้ความสงบจิตภายใน
และได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าภิกษุทั้งหลายพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า
เราได้ความสงบจิตภายใน ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง ดังนี้ไซร้
ภิกษุนั้นควรตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นนั่นแหละ
แล้วพึงทำความเพียรให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.


ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวแม้ซึ่งจีวรโดย ๒ ส่วน คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี
เราย่อมกล่าวแม้ซึ่งบิณฑบาตโดย ๒ ส่วน คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี
เราย่อมกล่าวแม้ซึ่งเสนาสนะโดย ๒ ส่วน คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี
เราย่อมกล่าวแม้ซึ่งบ้านและนิคมโดย ๒ ส่วน คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี
เราย่อมกล่าวแม้ซึ่งชนบทและประเทศโดย ๒ ส่วน คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี
เราย่อมกล่าวแม้ซึ่งบุคคลโดย ๒ ส่วน คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี.


ภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า เราย่อมกล่าว แม้ซึ่งจีวรโดย ๒ ส่วน
คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ดังนี้
เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ในจีวร ๒ ส่วนนั้น
จีวรใดภิกษุพึงรู้ว่า เมื่อเราเสพจีวรนี้แล อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป ดังนี้ จีวรเห็นปานนี้ไม่ควรเสพ
จีวรใดภิกษุพึงรู้ว่า เมื่อเราเสพจีวรนี้แล อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง ดังนี้ จีวรเห็นปานนี้ควรเสพ
ภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า เราย่อมกล่าวแม้ซึ่งจีวรโดย ๒ ส่วน
คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.


ภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า เราย่อมกล่าว แม้ซึ่งบิณฑบาตโดย ๒ ส่วน
คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ดังนี้
เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ในบิณฑบาต ๒ ส่วนนั้น
บิณฑบาตใด ภิกษุพึงรู้ว่า เมื่อเราเสพบิณฑบาตนี้แล อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป ดังนี้ บิณฑบาตเห็นปานนี้ไม่ควรเสพ
บิณฑบาตใด ภิกษุพึงรู้ว่า เมื่อเราเสพบิณฑบาตนี้แล อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง ดังนี้ บิณฑบาตเห็นปานนี้ควรเสพ
ภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า เราย่อมกล่าวแม้ซึ่งบิณฑบาตโดย ๒ ส่วน
คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.


ภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า เราย่อมกล่าวแม้ซึ่งเสนาสนะโดย ๒ ส่วน
คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ดังนี้
เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ในเสนาสนะ ๒ ส่วนนั้น
เสนาสนะใด ภิกษุพึงรู้ว่า เมื่อเราเสพเสนาสนะนี้แล อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป ดังนี้ เสนาสนะเห็นปานนี้ไม่ควรเสพ
เสนาสนะใด ภิกษุพึงรู้ว่า เมื่อเราเสพเสนาสนะนี้แล อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง ดังนี้ เสนาสนะเห็นปานนี้ควรเสพ
ภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า เราย่อมกล่าวแม้ซึ่งเสนาสนะโดย ๒ ส่วน
คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.


ภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า เราย่อมกล่าวแม้ซึ่งบ้านและนิคมโดย ๒ ส่วน
คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ดังนี้
เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ในบ้านและนิคมทั้ง ๒ ส่วนนั้น
บ้านและนิคมใด ภิกษุพึงรู้ว่า เมื่อเราเสพบ้านและนิคมนี้แล อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป ดังนี้ บ้านและนิคมเห็นปานนี้ไม่ควรเสพ
บ้านและนิคมใด ภิกษุพึงรู้ว่า เมื่อเราเสพบ้านและนิคมนี้แล อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง ดังนี้ บ้านและนิคมเห็นปานนี้ควรเสพ
ภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า เราย่อมกล่าวแม้ซึ่งบ้านและนิคมโดย ๒ ส่วน
คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.


ภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า เรากล่าวแม้ซึ่งชนบทและประเทศโดย ๒ ส่วน
คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ดังนี้
เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ในชนบทและประเทศทั้ง ๒ ส่วนนั้น
ชนบทและประเทศใด ภิกษุพึงรู้ว่า เมื่อเราเสพชนบทและประเทศนี้แล
อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป ดังนี้ ชนบทและประเทศเห็นปานนี้ไม่ควรเสพ
ชนบทและประเทศใด ภิกษุพึงรู้ว่า เมื่อเราเสพชนบทและประเทศนี้แล
อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง ดังนี้ ชนบทและประเทศเห็นปานนี้ควรเสพ
ภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า เรากล่าวแม้ซึ่งชนบทและประเทศโดย ๒ ส่วน
คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.


ภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า เรากล่าวแม้ซึ่งบุคคลโดย ๒ ส่วน
คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ดังนี้
เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ในบุคคลทั้ง ๒ ส่วนนั้น
บุคคลใด ภิกษุพึงรู้ว่า เมื่อเราเสพบุคคลนี้แล อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป ดังนี้ บุคคลเห็นปานนี้ไม่ควรเสพ
บุคคลใด ภิกษุพึงรู้ว่า เมื่อเราเสพบุคคลนี้แล อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป
กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง ดังนี้ บุคคลเห็นปานนี้ควรเสพ
ภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า เราย่อมกล่าวแม้ซึ่งบุคคลโดย ๒ ส่วน
คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว.


สมถสูตรที่ ๔ จบ



(สมถสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๘)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP