จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๗๖ หนี้บาปเวร



376 talk


ไม่ว่าคุณเป็นฝ่ายเริ่มก่อน
หรือ เป็นฝ่ายถูกกระทำ
ขอเพียงคิดประทุษร้ายกัน
มีความผูกใจเจ็บกัน
เล็งแลกันและกัน
ด้วยแววพยาบาทอาฆาต
เท่านั้น ก็เรียกว่า
เป็นบาปเวรระหว่างกันแล้ว


มีกรณีที่ยากจะอภัยอยู่มากมาย
และยิ่งเกิดบ่อยขึ้นทั่วทุกหัวระแหงในปัจจุบัน
เช่น บางคนรับกรรม
ที่เคยทำไว้กับลูกในเกมกรรมครั้งก่อนๆ
ต้องมาเกิดกับพ่อแม่ที่ทำเรื่องเลวร้ายกับตน


แน่นอนเมื่อถูกเกมกรรมปิดบังอดีตชาติไว้
ด้วยสิ่งที่เรียกว่าความหลงลืม
ก็ย่อมไม่มีทางทราบได้ว่า
การถูกข่มเหงในบ้านโดยพ่อแม่ของตนเอง
คือการแสดงตัวอย่างโจ่งแจ้งของกรรมเก่า


และเมื่อไม่อาจทำใจให้เชื่อว่า
นั่นคือกรรมเก่าของตน
ก็ย่อมผูกใจพยาบาทอาฆาต
แล้วกลายเป็นปมพยาบาท


.. .. .. .. .. .. .. .. .. .


การอภัยในเรื่องน่าเจ็บปวดที่สุด
ทำได้ยากที่สุด
จึงแทบจะเป็นการทำแต้มสูงสุดในเกมกรรม
และกล่าวได้ว่าเป็นการใช้หนี้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด


ถ้าทำไม่ได้ ก็น่าเห็นใจ
แต่หากทำได้
ก็ไม่มีบุญกุศลชนิดไหนๆอีกแล้ว
ที่คุณจะทำไม่ได้


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ตอนใครทำให้คุณเจ็บช้ำน้ำใจมากๆนั้น
คือรูปแบบหนึ่งของการ โดนทวงหนี้
เมื่อมองอย่างนี้ คุณจะเต็มใจให้อภัย
และทราบชัดจากความเบาหัวอกว่า
หนี้เก่าถูกชำระแล้ว


เมื่อจิตสะอาดได้ด้วยการคิดอภัย
ปราศจากกลิ่นไหม้ของไฟพยาบาทแล้ว
คุณจะค่อยๆนึกออกว่า
สิ่งที่คุณถูกกระทำนั้น
คุณเองก็เคยกระทำไว้ก่อนกับคนอื่น


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ให้อภัยได้ไม่จำกัด
ไม่มีความพยาบาทตกค้างแม้แต่ในความคิด
นั่นเอง จิตจะทำตัวเป็นน้ำทิพย์ล้างรอยแค้น


ทั้งฝ่ายตนและฝ่ายเขา
สรุปคือเมื่อถูกทำให้แค้น
แล้วไม่คิดแก้แค้น
เรียกว่าเป็นการใช้หนี้
อาจต้องผ่อนส่งหลายครั้ง
หรืออาจเหมารวบเบ็ดเสร็จในครั้งเดียว!


ดังตฤณ
มกราคม ๒๕๖๗






review


หากพ่อแม่ด่าว่าลูกแต่ในใจนั้นก็รักลูก จะถือว่าเป็นผรุสวาทหรือไม่
และควรลงโทษลูกอย่างไรจึงจะเหมาะสม
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ทำอย่างไรลูกจึงจะเข้าใจว่าพ่อแม่ลงโทษเพราะความรัก"


"ทางยมทูต" นวนิยายเรื่องเยี่ยม ผลงานของคุณชลนิล
ได้ดำเนินมาจนถึงตอนอวสานในฉบับนี้แล้ว
มาติดตามกันว่าเรื่องราวของขุนคีรีและบัวบุษราจะลงเอยเช่นใด
ในคอลัมน์ "วรรณกรรมนำใจ" ค่ะ


แม้จะต้องเผชิญมรสุมชีวิตหนักหนาเพียงใด
ก็อย่าให้อารมณ์ชั่ววูบมาทำให้คิดจะจบชีวิตตัวเองลง
ดังเรื่่องราวจากกรณีศึกษา ในตอน "อย่าคิดสั้น"
ที่คอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ" ค่ะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP