สารส่องใจ Enlightenment

ไม่ผิดศีลก็ไม่ผิดใจคน (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย



พึงพากันตั้งใจ สำรวมใจของตนให้ดี มีสติสัมปชัญญะ
รู้ตัวอยู่ในขณะนี้ว่า ตนนั่งอยู่อย่างไร รู้ทั่วกาย แล้วก็ต้องเพ่งเข้าไปหาจิต
จิตตั้งอยู่อย่างไรก็กำหนดรู้ เรียกว่ารู้เรื่องตัวเองนั่นแหละ
ไม่ใช่จิตมี ๒ ดวง จิตมีดวงเดียว จิตรู้ จิตก็ว่าความประสงค์ในการทำสมาธิภาวนา
ความประสงค์อย่างว่านี่แหละ ประสงค์ให้จิตรู้จิต
อย่าไปยึดรู้อย่างอื่นให้มากกว่าตนรู้ตน


ในขั้นต้นนี้นะ ถ้าหากว่าตนเองยับยั้งตนเองไม่ได้
จิตมันจะไม่อยู่เลย มันจะคิดฟุ้งซ่านไปทั่ว
ของดีในชีวิตนี้ มันก็มีอยู่ที่จิตดวงเดียวนี่แหละ อันอื่นก็ดีอยู่หรอก
แต่ว่า ดีแท้ๆ นะเป็นจิตดวงนี้ แต่ว่ามันต้องฝึกนะ กว่ามันจะดีได้ จิตนี้นะ
ถ้าไม่ฝึก จะปล่อยให้มันดีเองนะ มันไม่ได้
เหมือนอย่างไม้ จะเอาไม้ทั้งดุ้นมาทำเสาเรือน อย่างนี้ ใครเขาไม่ทำกัน
นอกจากทำชั่วคราว ถ้าทำอย่างถาวรได้ ต้องถากเปลือกถากกระพี้ออกจนหมด
เหลือแต่แก่นของมัน เอามาทำเสาเรือนจึงจะทนทานถาวรไปได้
ฉันนี้ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ คนทั้งคนก็มีจิตเป็นแก่น
เมื่อจิตจะเป็นแก่นได้ มันก็ต้องถากเปลือก ถากกระพี้ของจิตออกเสียก่อน
เปลือก กระพี้ ได้แก่ กิเลส ความโลภความโกรธ ความหลง นี่แหละ
มันหุ้มห่อจิตนี้อยู่ หรือนำจิตนี้ให้มาเกิด อาศัยขันธ์ ๕ อันนี้อยู่
ถ้าไม่มีกิเลสหุ้มห่อจิตนี้ จิตนี้ก็ไม่ได้มาเกิดมาอาศัยร่างอันนี้อยู่


พิจารณาให้มันเห็นอย่างนั้น อันที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า
คนเราพึงรักษาคุณงามความดีของตนไว้ ให้เหมือนกับเกลือรักษาความเค็มไว้ฉันนั้น
อันนี้ก็หมายเอาจิตนี้เอง รักษาจิตดวงนี้ให้มันดีไว้
อย่าให้จิตนี้มันหลงมันเมาไปในเรื่องที่ประกอบไปด้วยทุกข์ด้วยโทษต่างๆ
เมื่อตนมีความประสงค์อย่างไร ตั้งแต่เบื้องต้นที่มานับถือพุทธศาสนานี้
ความมุ่งหวังก็เพื่อเอาเป็นที่พึ่งทางใจ ไม่ใช่อย่างอื่นใด
พุทธศาสนานี้แนะนำให้คนเรามีที่พึ่งทางใจ ทางโลกนั้นเขาแนะนำกันให้มีที่พึ่งทางกาย
เช่น ให้เรียนวิชาความรู้เกี่ยวกับการหาเงินหาทอง โดยอาศัยความรู้แขนงต่างๆ
นั่นเรียกว่าความรู้ในทางโลก มันเป็นที่พึ่งทางร่างกาย
ความรู้ในทางธรรมเป็นที่พึ่งทางใจ


ความรู้ในเรื่องการให้ทานอย่างนี้นะ
ไม่ใช่รู้แต่ให้ทานเป็นเท่านั้น ยังรู้คุณค่าแห่งการให้อีกด้วย
เมื่อตนได้ให้ทานออกไปแล้ว ก็ได้ความอุ่นใจว่าผลแห่งการให้นี้
จะอำนวยให้เรามีความสุขความสบายใจ ถ้าพูดถึงผลภายนอกแล้ว
ก็ได้แก่เป็นผู้มีมิตรจิตมิตรใจกันอยู่เป็นจำนวนมาก
บุคคลใดเป็นคนไม่ตระหนี่ รู้จักให้
รู้จักแบ่งสันปันส่วนให้คนที่ควรให้แก่บุคคลที่ควรให้เช่นนี้
ย่อมเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยญาติมิตรสหายเพื่อนฝูงที่ดีงาม
ไปที่ไหนก็ไม่อดไม่อยาก มีผู้เมตตาเอ็นดูสงสาร


อันนี้คืออานิสงส์แห่งการให้ ในปัจจุบันมันย่อมปรากฏอย่างนี้
ทำให้ได้รับความอุ่นใจในปัจจุบันนี้แหละ แต่อนาคตนั้นมันก็ให้ผลหลายเท่าตัว
เหมือนอย่างผลต้นไม้ที่มีผล เมล็ดพืชมีเมล็ดเดียวเท่านั้น
แต่เอาเพาะลงในดิน เวลามันเจริญงอกงามขึ้นมา
มันผลิดอกออกผลแล้ว ไม้ต้นเดียวมีผลตั้งเป็นร้อยเป็นพันที่มันออกผล
ให้เจ้าของผู้ปลูกได้รับประทานหรือได้ซื้อได้ขาย
อันนี้ผลทานนี้ก็เช่นเดียวกันนั่นแหละที่มันจะอำนวยผลให้ในกาลต่อไป


นี่แหละในทางธรรม ข้อปฏิบัติในพุทธศาสนานะ
มันทำให้เกิดความอุ่นใจอย่างนี้
อีกอย่างหนึ่งผลทานที่บุคคลกระทำบำเพ็ญในอดีตมานู้น
เมื่อมาถึงปัจจุบันนี้ มันอำนวยผลให้ได้อะไรก็ได้มาอย่างง่ายดาย ไม่ลำบากเลย
ผลทานในอดีตมันดลบันดาลให้ไม่ลำบากลำบนแต่อย่างใด
ทรัพย์สมบัติอันใดที่หามาได้โดยน้ำพักน้ำแรง
ต้องออกแรงต้องอาบเหงื่อต่างน้ำจึงได้ทรัพย์สมบัติอันนั้นมา
อันนั้นไม่ใช่บุญบันดาล ได้มาด้วยกำลังกาย กำลังความคิด ปัญญา
ส่วนผลบุญที่บุคคลกระทำในอดีตนั้นมันมาอำนวยให้อะไรๆ ก็ง่ายขึ้นทุกอย่าง
ได้สมบัติอันใดมา ได้มาก็อย่างง่ายๆ ได้ทางบริสุทธิ์ด้วย


ผลแห่งการรักษาศีลในปัจจุบัน
ก็มองเห็นได้ชัดๆ คนมีศีลย่อมเป็นที่รักของคนทั้งหลาย
เพราะผู้มีศีลเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ
ระมัดระวังในความประพฤติทางกาย ทางวาจา ไม่ให้ผิดศีล
เมื่อไม่ผิดศีล มันก็ไม่ผิดใจคน ถ้าไปทำอะไรผิดศีลก็ผิดใจคนเหมือนกัน
ลองสังเกตดู เช่น ศีลข้อที่ ๑ อย่างนี้นะ ก็ไปทุบไปตีเขา เขาย่อมโกรธเอา
หรือไปด่าไปว่าเขา กล่าวคำเจ็บคำแสบเข้าไป เขาก็โกรธไม่พอใจ
นั่นแหละบุคคลผู้ทำผิดศีลก็ผิดใจคน
ไปถือเอาสิ่งของของผู้อื่นโดยที่เขาไม่อนุญาตให้
เมื่อเขารู้เข้า เขาก็ไม่พอใจ เขาก็โกรธเอา
สามีภรรยาของใครใครก็หวงแหนรักใคร่
คนเจ้าชู้มารยาไปตีสนิทหลอกลวงเข้าไป ให้เขาหลงเชื่อหลงรักใคร่ตน
ให้เขายอมทิ้งสามีเขาไปกับตน หรือว่าให้เขายอมทิ้งภรรยาของเขาไปกับตน
อย่างนี้นะเจ้าของเขารู้เข้าเขาก็ไม่พอใจ เขาก็โกรธเอา
การกล่าววาจาไม่ไพเราะหรือกล่าวคำเหลาะแหละเหลวไหล หาคำสัตย์คำจริงไม่ได้
ใครได้ยินได้ฟังเข้าไป ได้รู้ภายหลังว่า ผู้นี้มีวาจาเหลาะแหละ พูดไม่จริง
เขาก็เกลียด เขาก็ไม่พอใจ หรือชอบพูดคำหยาบกระทบกระทั่งผู้อื่นบ่อยๆ
ใครก็ไม่ชอบขี้หน้า มีแต่คนเกลียดชัง


การดื่มเหล้าเมาสุราของเสพติดต่างๆ หมู่นี้
ไอ้พวกซ่องเสพเหมือนกัน มันก็พอใจกัน ชอบพอกัน
แต่ว่ามันชอบพอกันเมื่อเวลาไม่มีเหตุนะ
แต่เมื่อเวลามีเหตุมาถึงเข้าแล้วกลายเป็นศัตรูกันไป
คนผู้ดีทั้งหลายยิ่งไม่ชอบคนดื่มของมึนเมา
เพราะแสดงกิริยาหยาบโลนต่างๆ นานา ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความรื่นเริงบันเทิงใจเลย
คำพูดคำจากิริยาท่าทางล้วนแต่ไม่น่าดูทั้งนั้น


อันนี้แหละ เพราะฉะนั้นถึงว่าคนเราเมื่อทำผิดศีล พูดผิดศีลแล้ว มันก็ผิดใจคนนั้นเอง
ทีนี้มันก็มาจากดวงจิตมัน เมื่อจิตไม่มีศีลแล้ว กาย วาจา มันจะมีศีลได้อย่างไร
จิตเจตนาที่จะล่วงละเมิดในพุทธบัญญัตินั้นๆ แล้วเช่นนี้นะ
มันก็ใช้กายทำ ใช้วาจาพูดไปในทางผิดศีลผิดธรรมไป
นั้นถึงว่าสำคัญมันอยู่ที่จิตนั้นแหละ
ถ้าจิตมีศีล มีหิริโอตตัปปธรรมอยู่ในใจ ละอายต่อการทำชั่วทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง
กลัวความชั่วนั้นมันจะตามสนองเป็นทุกข์
เมื่อมีคุณธรรมสองอย่างนี้อยู่ในใจแล้ว
ผู้นั้นก็มีศีลและไม่กล้าล่วงละเมิดพุทธบัญญัติต่างๆ


นี่ต้นศีลแท้ๆ มันจึงชื่อว่าอยู่ที่ใจไม่ใช่อยู่ที่อื่น
ผู้ใดรักษาใจของตนได้ ก็รักษากายรักษาวาจาได้ ก็มีศีลก็มีธรรม
ย่อมเป็นที่รักที่นับถือที่เคารพจากผู้อื่น
ใครก็ต้องการจะคบหาสมาคมคนที่มีศีลมีธรรมอย่างนั้น


(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จาก ธรรมโอวาท หลวงปู่เหรียญ ๗
ที่ระลึกงานทอดกฐินสามัคคี วัดป่าพิชัยวัฒนมงคล อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕. จัดพิมพ์โดยชมรมกัลยาณธรรม


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP