จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๗๕ เมตตาไม่ใช่ยอมให้ทุกอย่าง



375 talk


อภัยจริงจะโล่งเหมือนยกภูเขาออกจากอก
แกล้งยอมยกให้
จะเก็บกด อึดอัด หงุดหงิด ขัดแย้งกับตัวเอง
นี่คือสิ่งที่สามารถสำรวจตัวเองได้


พระพุทธเจ้าสอน
ให้ ‘อภัยไว้ก่อน’ แบบครอบจักรวาล
คือยังไม่ต้องมีเรื่อง
ก็ทำจิตให้เปิดแผ่ ไม่อยากเบียดเบียนใคร
อย่างที่เรียกว่า ‘แผ่เมตตา’


แต่การมีเมตตานั้น
ต่างกับการ ‘ยอมเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยไม่โต้ตอบ’
เมตตาเป็นอาการทางใจ
ที่ไม่คิดแค้น ไม่อยากให้ใครเจ็บปวด
ขณะที่การ ‘ป้องกันตัว’ และ ‘บทลงโทษ’
เป็นสิ่งที่ชาวพุทธก็ยังทำอยู่
เพื่อไม่ให้ต้องได้ชื่อว่าอยู่อย่างดูดาย


เหมือนเช่นที่พระพุทธเจ้า
ทรงตั้งเงื่อนไขไม่ให้บางคนบวช
เพราะบางคนบวชเข้ามาแล้ว
รังแต่จะก่อความปั่นป่วนยุ่งเหยิง
และแม้บวชเข้ามาแล้ว
ก็ไม่ได้ปล่อยให้ทำตามใจชอบ
ทรงวางกฎกติกาไว้ชัดเจนว่า
ทำผิดแค่ไหน ลงโทษสถานเบา
ขั้นทำให้อาย
ทำผิดแค่ไหน ลงโทษสถานกลาง
ขั้นเลิกคบ เลิกคุย เลิกยุ่งเกี่ยวด้วย
ทำผิดแค่ไหน ลงโทษสถานหนัก
ขั้นประหารจากความเป็นพระ


และถึงแม้จะบวชอย่างถูกต้อง
ถึงแม้จะรักษาวินัยครบทุกข้อ
ท่านก็ไม่เลี้ยงแบบทนุถนอม
ดังคำที่ท่านตรัสไว้กะพระอานนท์ คือ


“อานันทะ ดูก่อน อานนท์
เราจักไม่ปฏิบัติต่อเธออย่างทะนุถนอม
ประดุจช่างปั้นหม้อดินที่ยังเปียกยังดิบอยู่
แต่เราจักกระหนาบแล้วกระหนาบอีก
ชี้โทษแล้วชี้โทษอีก
ผู้มีมรรคผลเป็นแก่นสารเท่านั้น
จึงจักทนอยู่ได้”


สรุปคือเมตตาในทางพุทธ
แท้จริงคือจิตที่หวังดี ไม่คิดเบียดเบียน
แต่ก็ไม่ใช่ ‘ยอมให้ทุกอย่าง’
ดังที่หลายคนเข้าใจผิดและพูดๆกันครับ!


ดังตฤณ
ธันวาคม ๒๕๖๖





 

 

review


ผู้ที่รักษาใจของตนได้ ก็ย่อมรักษากายและวาจาได้
จึงมีชีวิตอยู่อย่างมีศีลและย่อมเป็นที่รักเคารพจากผู้อื่น
ดังความตามพระธรรมเทศนา โดย พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
เรื่อง "ไม่ผิดศีลก็ไม่ผิดใจคน (ตอนที่ ๑)" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" (-/
\-)


หากผู้ที่เป็นที่รักได้เสียชีวิตไปและเรายังทำใจไม่ได้
ควรทำอย่างไรเพื่อที่จะคลายจากความเศร้าหมอง
และสามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้ที่จากไปได้
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ผู้ที่เพิ่งสูญเสียคนในครอบครัว ควรทำอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ล่วงลับ"


ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องงานเกิดขึ้นได้เสมอ
และหลายครั้งก็นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
ดังเรื่่องราวจากกรณีศึกษา ในตอน "ส่งท้ายงานเก่า เข้ารับงานใหม่"
ที่คอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ" ค่ะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP