ธรรมะจากพระสูตร Dhamma from Sutta

ข้อเปรียบเทียบการทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาเหมือนการฟักไข่


กลุ่มไตรปิฎกสิกขา



บัดนี้ บัณฑิตควรเทียบเคียงคำอุปมาอุปไมย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า
เอวเมว โข อหํ พฺราหฺมณ แล้วพึงทราบโดยใจความ โดยนัยดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ : -


เหมือนอย่างว่า ข้อที่แม่ไก่นั้น ทำกิริยาทั้ง ๓ มีนอนกกอยู่บนฟองไข่ทั้งหลายเป็นต้นของตน ฉันใด
ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ประทับนั่งบนโพธิบัลลังก์
แล้วทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ในจิตสันดานของพระองค์ ก็ฉันนั้น.


ความไม่เสื่อมไปแห่งวิปัสสนาญาณ ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์
ทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม เปรียบเหมือนฟองไข่ทั้งหลายไม่เน่า
ก็เพราะแม่ไก่ทำกิริยาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อมฉะนั้น.


ความสิ้นไปแห่งความสิเนหา คือความติดใจไปตามไตรภพ
ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม
เปรียบเหมือนความสิ้นไปแห่งยางเมือกแห่งฟองไข่ทั้งหลาย ก็เพราะแม่ไก่ทำกิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น.


ความที่กระเปาะฟองคืออวิชชา เป็นธรรมชาติบาง
ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม
เปรียบเหมือนภาวะที่กระเปาะฟองไข่เป็นของบาง ก็เพราะแม่ไก่ทำกิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น.


ความที่วิปัสสนาญาณเป็นคุณชาติกล้าแข็ง ผ่องใสและองอาจ
ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม
เปรียบเหมือนภาวะที่เล็บเท้าและจะงอยปากของลูกไก่เป็นของหยาบและแข็ง
ก็เพราะแม่ไก่ทำกิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น.


ควรทราบเวลาที่วิปัสสนาญาณแก่เต็มที่ เวลาเจริญ (และ) เวลาถือเอาห้อง
ก็เพราะพระผู้มีภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม
เปรียบเหมือนเวลาที่ลูกไก่แก่เต็มที่ ก็เพราะแม่ไม่ทำกิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น.


เพราะเหตุนั้น ควรทราบเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้วิปัสสนาญาณถือเอาห้อง
แล้วทำลายกระเปาะฟองคืออวิชชาด้วยพระอรหัตมรรค ที่พระองค์ได้ทรงบรรลุโดยลำดับ
แล้วทรงปรบปีกคืออภิญญา จึงทรงทำให้แจ้งซี่งพระพุทธคุณทั้งหมด โดยความสวัสดี
ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม
เปรียบเหมือนแล้วเวลาที่ลูกไก่เอาปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปากกะเทาะกระเปาะฟองไข่
แล้วปรบปีกออกมาได้โดยความสวัสดี ก็เพราะแม่ไก่ทำกิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น.


ข้อว่า พราหมณ์ เรานั้นเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุดของโลก
(สฺวาหํ พฺราหฺมณ เชฏฺโฐ เสฏฺโฐ โลกสฺส) ความว่า
ดูก่อนพราหมณ์ บรรดาหมู่สัตว์ ผู้ตกอยู่ในอวิชชา
เรานั้นได้ทำลายกระเปาะฟองคืออวิชชานั้นแล้ว
ถึงความนับว่า เป็นผู้ที่เจริญที่สุด คือเจริญอย่างสูงสุด
เพราะเป็นผู้เกิดแล้วโดยอริยชาติก่อนกว่าเขา เปรียบเหมือนบรรดาลูกไก่เหล่านั้น
ลูกไก่ตัวที่กะเทาะกระเปาะฟองไข่ออกมาได้ก่อนกว่าเขา ย่อมเป็นไก่ตัวพี่ ฉะนั้น,
ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าถึงความนับว่า เป็นผู้ประเสริฐที่สุด
เพราะไม่มีใครทัดเทียมได้ด้วยพระคุณทั้งปวง.







พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ประเสริฐเพราะบำเพ็ญเพียร


พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งทรงประกาศความที่พระองค์เป็นผู้เจริญที่สุด
และประเสริฐที่สุดอย่างยอดเยี่ยม แก่พราหมณ์อย่างนั้นแล้ว
บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงปฏิปทา ที่เป็นเหตุให้พระองค์ทรงบรรลุความเป็นผู้เจริญที่สุดเป็นต้นนั้น
จำเดิมแต่ส่วนเบื้องต้น จึงตรัสว่า อารทฺธํ โข ปน เม พฺราหฺมณ เป็นต้น.


อีกอย่างหนึ่ง เพราะได้สดับข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐที่สุด อย่างยอดเยี่ยมนี้แล้ว
พราหมณ์จึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบรรลุความเป็นผู้เจริญที่สุด
และประเสริฐที่สุดด้วยปฏิปทาอะไรหนอแล?
ดังนี้, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความคิดของพราหมณ์นั้นแล้ว
เมื่อจะทรงแสดงว่า เราได้บรรลุความเป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐที่สุด อย่างยอดเยี่ยมนี้
ด้วยปฏิปทานี้ จึงได้ตรัสอย่างนั้น.


บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า พราหมณ์ เพราะความเพียรอันเราปรารภแล้วแล
(อารทฺธํ โข ปน เม พฺราหฺมณ วิริยํ อโหสิ) ความว่า
ดูก่อนพราหมณ์ ข้อที่เราเป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐที่สุด อย่างยอดเยี่ยมนี้
เราหาได้บรรลุด้วยความเกียจคร้าน ด้วยความหลงลืมสติ
ด้วยความมีกายกระสับกระส่าย (และ) ด้วยความเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านไม่.
อีกอย่างหนึ่งแล เพราะเราได้ปรารภความเพียรแล้วแล
เพื่อบรรลุความเป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐที่สุดนั้น คือ
เรานั่งอยู่แล้ว ณ โพธิมัณฑ์ ได้ปรารภความเพียรประกอบด้วยองค์ ๔
มีคำอธิบายว่า ได้ประคอง คือ ให้เป็นไปไม่ย่อหย่อน.
ก็แลความเพียรนั้น ได้ชื่อว่าเป็นคุณชาติไม่ย่อหย่อน เพราะเราได้ปรารภแล้วอย่างแท้จริง
ทั้งมิใช่แต่ความเพียรอย่างเดียวเท่านั้น
แม้สติ เราก็ได้เข้าไปตั้งไว้เฉพาะแล้ว
โดยความเป็นคุณธรรมบ่ายหน้าตรงต่ออารมณ์
และชื่อว่าเป็นความไม่หลงลืม เพราะปรากฏอยู่เฉพาะหน้าทีเดียว.


คำว่า กายสงบ (ปสฺสทฺโธ กาโย) ความว่า แม้กายของเราก็เป็นสภาพสงบแล้ว
ด้วยอำนาจแห่งความสงบกายและจิต.
เพราะเมื่อนามกายสงบแล้ว แม้รูปกายก็เป็นอันสงบแล้วเหมือนกัน,
ฉะนั้น ในพระบาลีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสให้พิเศษเลยว่า
“นามกาย รูปกาย” ตรัสเพียงว่า “กายสงบเท่านั้น”.


คำว่า ไม่กระสับกระส่าย (อสารทฺโธ) ความว่า
ก็กายนั้น ชื่อว่าหาความกระสับกระส่ายมิได้ เพราะเป็นกายอันสงบแล้วนั่นแล.
มีคำอธิบายว่า เป็นกายที่ปราศจากความกระวนกระวายแล้ว.


ข้อว่า จิตตั้งมั่นมีอารมณ์เป็นหนึ่ง (สมาหิตํ จิตฺตํ เอกคฺคํ)
ความว่า ถึงจิตของเราก็ตั้งอยู่แล้วโดยชอบ คือ ดำรงมั่นดีแล้ว
ได้เป็นราวกะว่าแน่นแฟ้นแล้ว, และจิตของเรานั้น ชื่อว่ามีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือไม่หวั่นไหว
ได้แก่ ไม่มีความดิ้นรน เพราะเป็นจิตตั้งมั่นดีนั่นแล.
ข้อปฏิบัติเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งฌาน เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ด้วยลำดับเพียงเท่านี้.


(เวรัญชกัณฑ์วรรณา พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๑)



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP