ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ทำอย่างไรจึงจะเป็นคนโกรธยากหายเร็ว



ถาม – ทุกครั้งที่ถูกผู้อื่นใช้คำพูดทิ่มแทง ดิฉันจะรู้สึกเจ็บจี๊ดและมีอารมณ์ขุ่นมัวไปอีกนาน
แม้จะรู้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่าและผู้ที่พูดก็ไม่ใช่คนดีอีกด้วย
มีวิธีที่ช่วยให้ปล่อยวางความทุกข์ทางใจนี้ได้อย่างรวดเร็วไหมคะ



อันนี้ผมเห็นใจนะ คือแต่ก่อนผมก็แบบนี้แหละ
คืออะไรนิดอะไรหน่อย พอมันกระทบใจ แม้แต่คำพูดเสียดแทงเล็กๆ น้อยๆ
ไฟมันลุกฮือขึ้นมาแบบควบคุมตัวเองไม่ได้
ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากจะโกรธ ไม่ได้อยากจะผูกใจเจ็บนาน
แต่ใจมันลุกพรึ่บขึ้นมาเป็นไฟของมันเอง ห้ามไม่ได้ ดับไม่ทัน
แล้วที่สำคัญมันมักจะเป็นฟืนเป็นไฟใหญ่โตขึ้นมาแทบทุกครั้ง
บางทีรู้ทั้งรู้ เขาไม่ได้ตั้งใจ แล้วก็เขาขอโทษแล้ว
ยิ่งขอโทษนี่ยิ่งเกิดความเจ็บจี๊ดแบบเหมือนกับใครเอาเข็มมาแทง
ผมเป็นมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นบอกได้ว่าเข้าใจแล้วก็เห็นใจ



การที่เรามีโทสะจริต หรือว่าความโมโหร้าย หรือว่าความโกรธง่ายหายช้า
มันเป็นเรื่องไม่บังเอิญ มันเป็นสิ่งที่สะสมพอกพูนมา ใช้เวลาอาจจะหลายชาติ
เพราะฉะนั้นอย่าคาดหวังว่าเราเจริญสติได้แค่วันสองวัน เดือนสองเดือน หรือปีสองปี
ความโกรธง่ายหายช้าแบบนี้มันจะออกไปจากตัวเราสักที
ขอให้คาดหมายอย่างนี้ ตั้งความคาดหมาย
ความคาดหมายที่ดีที่สุดที่จะรับมือกับความโกรธง่ายหายช้าแบบนี้
ก็คือเราจะใช้เวลาทั้งชีวิตนี้ในการรับมือกับมัน
ในการจัดการกับมัน ในการเจริญสติเพื่อรู้ทันมันว่ามันไม่ใช่ตัวเรา
พอเราไม่ไปคาดคั้นตัวเองว่าจะต้องหายให้ได้ภายในกี่วันกี่เดือน

ขอให้ได้ใช้ทั้งชีวิตนี้ทำให้มันทุเลาเบาบางลง
ก่อนตายขอให้กลายเป็นคนโกรธยากแล้วก็หายเร็ว


ด้วยความคาดหวังแบบนี้มันจะทำให้ใจเราเย็นลงทันที
เย็นลงในแง่ที่ไม่รีบร้อน ไม่คาดคั้นตัวเองให้ทำอะไรในสิ่งที่ยังทำไม่ได้
หรือหวังอะไรในสิ่งที่ยังเป็นไปไม่ได้ เกิดขึ้นไม่ได้
จำไว้นะ ใจที่ไม่คาดหวังอะไรที่มันเป็นไปไม่ได้
ใจที่ไม่เร่งร้อนเอาอะไรให้ได้เดี๋ยวนี้ จะเป็นใจที่มีธรรมดา เย็นลงๆ แล้วก็เย็นลง
แต่ใจที่มันมีความทุรนทุราย ทำไมทำไม่ได้สักที
นี่ทำมาหลายปีแล้วอะไรอย่างนู้นอย่างนี้
มีแต่กระวนกระวาย ด่าทอตัวเองหรือว่าคาดคั้นตัวเองหนักๆ
แบบนี้เป็นใจที่มันจะยิ่งร้อนขึ้น ยิ่งมีโทสะมากขึ้น
โทสะกับความรีบร้อน ไม่ได้อย่างใจ มันเป็นไปด้วยกัน
มันเป็นเกลอกัน มันเป็นสหาย มันเป็นเพื่อนสนิทที่แยกกันไม่ออก


พอเราทำความเข้าใจแบบนี้มันจะมีทิศทางที่ถูกต้อง
ที่วางใจก็คืออย่าไปอยากให้มันหายเร็ว
แต่เราตั้งมุมมองไว้ว่าจะใช้ชีวิตทั้งชีวิตนี้
มองดูสิว่าทุกครั้งที่มันเกิดขึ้น มันอยู่ได้นานแค่ไหน อยู่ได้กี่ลมหายใจ
นี่อันเดิมเลย คำตอบเดิมเลย นับอายุลมหายใจเอา
พอเราเฝ้าสังเกตอยู่ ทุกครั้งที่มันมีอาการไฟลุกพรึ่บขึ้นมา
ตอนนี้มันจะดูลมหายใจไม่ทันนะ แแล้วก็เตือนตัวเองไม่ทัน มีสติไม่ทันด้วย
มันจะจี๊ดแบบคือเหมือนกับตัวทั้งตัวร้าวราวกับจะปริแตก
มันทนไม่ไหวมันทนไม่ได้ อยากจะปรี๊ดใส่ทันที อยากจะกระแทกกระทั้นทันที


อาการพวกนี้ถ้าหากเรามีความเย็นอยู่เป็นทุน จากการสวดมนต์บ้าง
จากการที่เราทำบุญทำทานในทางที่จะสละออกบ้าง
มันจะเหมือนกับมีน้ำใสใจสะอาดหรือว่าน้ำเย็นที่เรากลับไปดื่มกินได้ตอนลุยไฟ
เวลาที่โกรธขึ้นมามันเหมือนการลุยไฟ
มันเหมือนกับการโดนเอาตัวโยนใส่ไฟ โยนใส่กองไฟ เหมือนกันทุกคนไม่มียกเว้น
แต่ใครจะมีน้ำเย็นกลับมาดื่มกลับมากิน กลับมาดับไฟได้แค่ไหน
ขึ้นอยู่กับที่ว่าเราสร้างทุนไว้เพียงใด

ถ้าคนที่สวดมนต์ทุกวัน สวดมนต์แบบไม่หวังอะไร
เอาแค่อยากจะถวายความสุขแด่พระพุทธรูป ด้วยการสวด อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมา
ถ้าสวดได้ทุกวัน นี่เรียกว่ามีน้ำเย็นเพิ่มขึ้นทุกวัน


หรือไม่ต้องสวดมนต์ก็ได้
เอาแค่ว่าตอนเช้าๆ จะออกกำลังกาย สูดอากาศสดชื่นอย่างไรก็แล้วแต่
แล้วมีแก่ใจ แค่ดูลมหายใจแค่ครั้งสองครั้ง
สูดเข้ามาลมหายใจสดชื่นนะ มีความสุขนะ แต่ความสุขนั้นไม่เที่ยง
แป๊บหนึ่งพอมันเป็นลมหายใจสั้นๆ มันก็กลายเป็นความรู้สึกแห้งๆ แล้งๆ
เห็นความไม่เที่ยงของความสุขได้
มันก็มีสิทธิ์เห็นความไม่เที่ยงของความทุกข์ได้เช่นกัน

ตอนที่มีโทสะปรี๊ดแตกขึ้นมา มันเป็นความทุกข์ชนิดหนึ่ง
มันเป็นความรู้สึกที่เป็นตรงข้ามกันกับน้ำใสใจเย็น
เป็นตรงข้ามกันกับตอนที่มันรู้สึกปล่อยวาง เออ ลมหายใจไม่เที่ยง
มันเป็นตรงข้ามกัน


ทีนี้ประเด็นคือว่าถ้าเราฝึก เอาแค่ทุกเช้านะ
หายใจครั้งหนึ่งแล้วดูมันสดชื่นไหม หายใจอีกทีหนึ่ง สดชื่นเท่าเดิมหรือเปล่า
ถ้าเห็นความแตกต่างในสองลมหายใจนี้ เราก็เอามาใช้ได้ตอนที่ปรี๊ดแตกเหมือนกัน
ตอนที่มันจี๊ด ตอนที่มันเหมือนเข็มทิ่มแทงเข้าไปกลางใจ
ถ้าเรานึกขึ้นได้ เมื่อเช้าเราหายใจทีหนึ่ง หายใจไว้เป็นทุน
เห็นความไม่เที่ยงของความสุขไว้เป็นทุนแล้ว
ตอนนี้เราก็จะเอามาใช้เห็นความไม่เที่ยงของความทุกข์เช่นกัน

คือมันแค่สลับขั้วกัน
เราจะรู้สึกว่าเรามีความสามารถ เรามีต้นทุนที่จะทำตรงนี้ได้อยู่
แล้วถ้าทำได้ทุกครั้ง คือการนับอายุลมหายใจ ถ้าใช้เป็น
ทำได้แค่ครั้งสองครั้ง ทั้งชีวิตที่เหลือมันทำต่อได้หมดเลย
แค่ครั้งสองครั้ง ไม่ต้องไปศึกษาอะไรละเอียดหรือว่าซับซ้อนแค่ไหน
แค่นับเอาว่าที่มันจี๊ดอยู่ มันอยู่ได้กี่ลมหายใจ เอาแค่นี้
แล้วถ้าทำได้ครั้งแรกนะ มันทำได้เรื่อยๆ และทุกครั้งที่ทำได้อีก
คุณจะมีความรู้สึกว่าไฟที่มันลุกพรึ่บอย่างง่ายดาย มันลุกยากขึ้น


ใจมันเหมือนกับตอนแรกอาจจะเป็นฟางที่ลุกพรึบได้ง่ายเหลือเกิน
แค่โดนความร้อนนิดเดียว
มันกลายเป็นกระดาษหนาๆ ที่มันไฟลุกยากขึ้น
แล้วต่อมามันเหมือนไม้ ไฟลุกได้แต่ว่ายากมาก คือมันต้องจ่อนานกว่ากระดาษเยอะ
แล้วต่อมามันอาจจะเหมือนกับเหล็กไหล มันร้อนได้แต่ไม่ลุกเป็นไฟ
แล้วต่อมาใจ ในที่สุดมันอาจจะเหมือนกับอากาศธาตุ
ไม่รู้ว่าจะให้ไฟมันลุกที่ไหน ไฟไม่สามารถลุกอยู่ในความว่างได้
คือถ้าตัวเชื้อเพลิงมันหมด ไฟก็หายไป มันไม่มีเชื้อเพลิงเป็นอากาศต่อ
อากาศว่างๆ มันไม่เป็นที่ตั้งของไฟ
ก็เหมือนกับจิตใจที่มันว่างแล้ว ที่มันสงบของมันออกมาจากข้างในจริงๆ
รักความสงบของมัน รักความว่างของมันอยู่ข้างในจริงๆ มันเหมือนกับไม่มีที่ให้ไฟลุก
คุณจะรู้สึกเป็นลำดับไปแบบนี้


สรุปคือหนึ่งอย่าคาดหวัง
สองหัดนับอายุลมหายใจไปว่าอาการจี๊ด
อาการโกรธเหลือเกิน ทนไม่ได้
มันอยู่ได้นานแค่ไหน

ปากคุณจะหลุดออกไปหรือเปล่าก็ช่างมัน
แต่ขอให้นับก็แล้วกันว่าความเจ็บจี๊ดมันอยู่ได้กี่ลมหายใจ
ทำไปเรื่อยๆ มันทำได้ทั้งชีวิต แล้วก็ไม่ต้องจำเลย ไม่ต้องทำอะไรซับซ้อน
คำว่านับลมหายใจมันชัดเจนอยู่แล้วนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP