สารส่องใจ Enlightenment

พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ (ตอนที่ ๔)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
เทศน์อบรมฆราวาส เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙




พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ (ตอนที่ ๑) (คลิก)
พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ (ตอนที่ ๒) (คลิก)
พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ (ตอนที่ ๓) (คลิก)



พ้นทุกข์น่ะ พ้นที่ไหน? ก็เวลานี้ทุกข์อยู่ที่ไหน
มันก็อยู่ที่หัวใจเรานี้แล มันจะอยู่ที่ไหน
ทุกข์ที่กายก็ไปรวมที่หัวใจ ถ้าใจไม่รอบคอบ ทุกข์ที่ตรงไหน
อวัยวะส่วนต่างๆ ที่ปรากฏเป็นความผิดปกติขึ้นมา ก็จะต้องไปทุกข์ที่หัวใจ
เพราะใจไปเที่ยวกว้าน เที่ยวกอบโกยเอาความทุกข์ที่เกิดขึ้น ณ สถานที่ต่าง ๆ
จาก “อาการต่าง ๆ ของร่างกาย” เข้ามาสู่ตัว แล้วก็เป็นไฟเผาตัวเองขึ้นมา
นั่นแหละ เลยทุกข์ไปหมด! ทุกข์ใจนั้นเป็นทุกข์สำคัญยิ่งกว่าทุกข์ใดๆ
และทุกข์มากยิ่งกว่าทุกข์ใดภายในร่างกายเรา


ถ้าใจมีความฉลาด ตามที่ได้เคยพิจารณาเห็นตามความจริงของมันแล้ว ก็ไม่ทุกข์
ร่างกายส่วนไหนเป็นทุกข์ ก็ทราบว่าเป็นทุกข์
เมื่อเกิดทุกข์ “อ้อ เกิดทุกข์ที่นี่” ก็รับทราบกัน
ทุกข์เพราะเหตุนั้น ทุกข์ที่ตรงนั้น ก็รับทราบกัน ด้วยสติปัญญาเป็นผู้กำกับ
ทุกข์มันจะดับไปก็ดับไป ไปปรุงแต่งมันทำไม
เรื่องของทุกข์ เวลามันจะเกิดเราก็ไม่ได้ปรุงแต่งให้มันเกิด
เวลามันเกิดขึ้นมา มันก็เป็นอยู่ตามธรรมชาติของมัน
มันตั้งอยู่ตามธรรมชาติของมัน มันดับไปตามเรื่องของมัน
นั่น! ความจริงเป็นอย่างนั้น ไปฝืนความจริงทำไม
การฝืนความจริง เป็นการฝืนธรรม และส่งเสริมกิเลสไปในตัว
การพิจารณา ก็ให้รู้ตามความจริงของมันทุกระยะ ทุกระยะ
เราก็ไม่ทุกข์ใจเสียใจ เอ้า มันจะทนไม่ไหวจริงเหรอ
?
เคยทนกันมาตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันนี้ ทีนี้จะทนต่อไปไม่ไหวเหรอ?
ทนไม่ได้ก็ปล่อยเสีย แน่ะ! นั่นแหละเรื่องของปัญญา ไม่ฝืนความจริง
เมื่อพอทนได้ก็ทนไป พิจารณาไป อย่าหลงขันธ์?


อย่างพระพุทธเจ้าท่านรับสั่งถามพระสาวก เช่น พระกัสสปะ เป็นต้น
ว่า “เป็นอย่างไร กัสสปะ
? ขันธปัญจกของเธอ พออดทนอยู่เหรอ?”
นี่ ท่านถามความสุขความสบายกัน ถามอย่างนั้นแหละ
ครั้งพุทธกาลเป็นยังไง ขันธปัญจกของเธอ พออดทนอยู่บ้างเหรอ?
นั่น! พอทนได้ก็ทนไป เพราะเคยทนมาแล้วแต่วันเกิด ไม่น่าตื่นเต้นตกใจ
เมื่อเหลือที่จะทนต่อไปได้ก็ปล่อยวางเสีย ให้หมดภาระความรับผิดชอบต่อไป


พวกเราก็ “สบายดีเหรอ ?” ถามเรื่องกองทุกข์ มันจะเอาความสบายมาจากไหน!
“ฮึ มันเป็นยังไง สบายดีเหรอ ? หลวงตาบัว ไม่อยากจะถามใคร
เพราะถามไป มันก็ฝืนภายในใจชอบกล
คำว่า “สบายๆ” ก็ฝืนว่าไปตามโลกอย่างนั้นเอง ทั้งๆ ที่ไม่สนิทใจว่าสบายดี
สบายอะไร กองทุกข์เต็มอยู่ภายในร่างกายไม่มีเวลาเบาบาง
“สบายดีเหรอ ภายในใจชำระกิเลสตัวก่อทุกข์ให้โลก ได้แค่ไหนแล้วเวลานี้?
ได้ผ่านอุปสรรคหรือได้ผ่านพ้นกองทุกข์ที่กลุ้มรุมอยู่ภายในใจไปได้มากน้อยเพียงไร
กิเลสตัวสำคัญๆ ที่เป็นภัยแก่จิตใจนั้น มันได้ตายไปบ้างหรือเปล่า
หลานๆ เหลนๆ มัน อย่างน้อยเหลนๆ มันได้ตายบ้างหรือเปล่า
ลูกมันตายบ้างหรือเปล่า ยังไม่ต้องพูดถึงพ่อถึงแม่มันตายหรือเปล่า?”
ถ้าพูดอย่างนั้น น่าฟัง! จนกระทั่ง “เป็นยังไง ปู่ย่าตายาย มันตายหรือยัง
ยิ่งหลานเหลนไม่ต้องว่านะ ถ้ามันตาย ฉิบหาย ไปหมดแล้ว
ปู่ย่าตายาย ตัวสำคัญได้ฆ่ามันแล้วหรือยัง?
“ฆ่าแล้ว ตายหมดแล้ว!” “อ้อ! สวัสดีนา!” ไม่ต้องถาม ก็สวัสดีอย่างสมบูรณ์ภายในใจแล้ว


นี่แหละ พระพุทธเจ้าท่านรับสั่งถาม พระกัสสปะ เป็นต้น
ว่า “เป็นยังไง กัสสปะขันธปัญจกของเธอ พออดพอทนอยู่เหรอ
?”
พระกัสสปะก็กราบทูลว่า “พระเจ้าข้า พออดพอทนกันไป”
นั่นฟังซินักปราชญ์ท่านตอบกัน โอ๊ย น่าฟังมาก! “พออดพอทนกันไป!”
ถ้าไม่พออดพอทนก็ทิ้งเสียเท่านั้น เรื่องมันก็มีอยู่เท่านั้นเอง
ต่อความยาวสาวความยืดให้วุ่นไปทำไม
ชาวพุทธผู้ปฏิบัติธรรมแท้ ถามความสวัสดีกัน ควรถามให้กิเลสสะเทือนบ้าง
ไม่ควรถามแบบกิเลสหัวเราะเยาะดังที่เคยเป็นมา


“เป็นยังไง สบายดีเหรอ? จิตใจเป็นยังไง? มีหลักมีเกณฑ์ยังไงบ้างหรือเปล่า?
พยายามรักษาใจอยู่บ้างหรือหรือเปล่า หรือรักษายังไม่ได้
วุ่นรักษากันแต่ภายนอก ลืมแล้วเหรอตัวสำคัญอยู่ภายในจิตนั้น
ได้รักษาบ้างหรือเปล่า? ได้มองดูบ้างหรือเปล่า?
ตัวสาระสำคัญคือใจนั่นน่ะ ถูกกิเลสพอกพูน
จนต้องเป็นมูลสดมูลแห้งหมดแล้วเวลานี้ ไม่ได้มองดูบ้างเหรอ?”
อยากให้ดูตรงนั้น แพทย์คือเรา รักษาพยาบาลใจเรา ดีอยู่หรือ?
ว่า “สบายดีเหรอ มันถึงเหมาะสมกับผู้ปฏิบัติไม่ลืมตัว
นี่นักปฏิบัติเรา ถามความสวัสดีกันให้ถามอย่างนี้ เหมาะสมที่สุดแล้ว
เพราะการพิจารณาแก้กิเลสต่างๆ ทุกวัน ทุกวันนี่


ยาแก้ลงไป “โอสถํ อุตฺตมํ วรํ” นี่!
สกฺกตฺวา พุทฺธรตนํ โอสถํ อุตฺตมํ วรํ
,
สกฺกตฺวา ธมฺมรตนํ โอสถํ อุตฺตมํ วรํ,
สกฺกตฺวา สงฺฆรตนํ โอสถํ อุตฺตมํ วรํ,


พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นโอสถอันใหญ่
เป็นโอสถอะไร ก็แก้กิเลสตัณหาอาสวะภายในใจของเรานี้เอง นั่น!
“พุทธะ” แปลว่า ผู้รู้ เอาผู้รู้ผู้ฉลาดนี้ละมาแก้
“ธรรมะ” ที่ปรากฏขึ้นภายในจิตใจเพราะความเพียร
ย่อมระงับดับโรคความวุ่นวายไปได้หมด
“สังฆะ” ผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมอัศจรรย์ ตามเสด็จพระพุทธเจ้าทัน


นี่เป็นโอสถแต่ละอย่าง ละอย่าง หรือแต่ละธรรมชาติ
จึงเป็นเครื่องพยุงจิตใจได้อย่างดีเลิศ
อยู่ที่ไหนอย่าลืม “พุทธะ ธรรมะ สังฆะ” ซึ่งมีความประเสริฐแท้อยู่ภายในใจนี้
จิตของเรานี้แลจะเป็นภาชนะสำคัญ
สำหรับรับ “พุทธะ” อันแท้จริงจากพระพุทธเจ้ามาเป็น “พุทธะ” ของเรา
“ธรรมะ” อันแท้จริงจากธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมะของเราด้วยการชำระได้
จากสังฆะของพระสงฆ์สาวกท่าน มาเป็น “สังฆะ” ของเรา
ผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ภายในใจ ด้วยการปฏิบัติธรรมของตน


นี้ “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ถึงที่จิตนี้แล้ว
อยู่ที่ไหนก็ได้เฝ้าพระพุทธเจ้า เฝ้าพระธรรม เฝ้าพระสงฆ์ อยู่ตลอดเวลา “อกาลิโก”
เพราะพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ รวมเป็นหลักธรรมชาติอยู่ในจิตของเราดวงเดียว
ท่านพูดไว้เป็นเพียงอาการเท่านั้นแหละ
เช่น “พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ จาติ นานาโหนฺตมฺปิ วตฺถุโต” เป็นต้น
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ถ้ากล่าวโดยอาการแล้วก็เป็นคนละอย่างจริง แต่อาศัยซึ่งกันและกัน
เมื่อพูดโดยธรรมตามหลักธรรมชาติแล้วเป็นอันเดียวเท่านั้น
ท่านว่าเป็นอันเดียว ก็คือ “ธรรมทั้งแท่ง” “ธรรมทั้งดวง”
คือ ใจดวงเดียวที่บริสุทธิ์นั้นแล เป็นธรรมแท้ของท่านผู้นั้น


“พุทธะอันใด ธรรมะอันนั้น ธรรมะอันใด สังฆะอันนั้น”
รวมลงไปในธรรมชาติ คือ จิตที่บริสุทธิ์ดวงเดียวเท่านั้น
“ความประเสริฐอยู่ที่ความรู้
ให้แก้สิ่งจอมปลอมทั้งหลายที่กดขี่บังคับใจจนหาคุณค่าไม่ได้ออกให้หมด
ด้วยอุบายแห่งสติปัญญาของเราเอง”
เอ้า แก้ลงไป แก้ลงไป สาระสำคัญจะค่อยๆ ปรากฏขึ้นโดยลำดับ
แล้วก็ถึง “บางอ้อ” ที่เขียนไว้ในประวัติท่านอาจารย์มั่น
บางคนเข้าใจว่าเป็น “หนองอ้อ” บึงนั้นบึงนี้ จริงๆ ก็มี
คำว่า “หนองอ้อ” นั้น ท่านเจอเข้าที่ภายในจิตใจนี้เอง
“อ้อๆ นี่เหรอ!” ไปถึงหนองอ้อแล้ว อ้อนี้เหรอ
ธรรมชาติที่เที่ยวหาแทบล้มแทบตาย มาปรากฏแล้วเหรอ
?
นี่อยู่ภายในจิตนี้ หมายถึงอันนี้ต่างหาก


คนที่ไปเที่ยวหาดู “หนองอ้อ” ก็มีนะ
ไปเที่ยวเชียงใหม่ ก็ไปเที่ยวหาดูหนองอ้อที่ท่านอาจารย์มั่นท่านเจอ ไปจนตายก็ไม่ได้เจอ
ความสำคัญของคน “ผิด” ขนาดนี้แล นี่ได้ยินต่อหูเจ้าของเองนะ
เราก็เกิดสลดสังเวชขึ้นมาที่ได้ฟังเขาพูดว่า
“เขาไปหาหนองอ้อ ที่ท่านอาจารย์มั่นท่านเจอ” ว่ายังงั้น
ท่านไปเจอ “ธรรม” อยู่ที่หนองอ้อ ไปหาตรงไหนๆ ก็ไม่เจอ
เราก็ยิ้มนิดหนึ่ง สลดสังเวช นี่ได้ยินด้วยหูตัวเองจริงๆ
ไม่ทราบจะอธิบายให้ฟังได้อย่างไร ขนาดนั้นแล้ว ทั้งๆ ที่มีความสนใจอยู่ก็จริง
แต่ถ้าเราจะพูดว่า “หนองอ้อนี้ต่างหาก” เขาก็ไม่พอจะเกิดความเข้าใจอะไรนัก
ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติแล้วจะถึงใจทันที “หนองอ้อที่ไหน” คำเดียวเท่านั้น
ปฏิบัติเพื่ออะไร ปฏิบัติเพื่อรู้อะไร รู้ที่ไหน เท่านั้นเข้าใจทันทีสำหรับผู้ปฏิบัติ


พวกเราเวลาพยายามให้เจอ “หนองอ้อ”
มีแต่หนองวุ่นหนองวาย หนองยุ่งไปหมด ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน
หนองอันนี้มันหนองอะไร
? ทำคนให้ล่มจมไปมากมาย
นอนจมอยู่กับหนองวุ่นหนองวายนี้ ความเดือดร้อนอยู่ที่นี่
ไม่เจอหนองอ้อ บึงอ้อ ภายในจิตใจสักที! เอ้า แกะออกให้หมด แก้ออกให้หมด
อะไรไม่ดีไม่งาม พิจารณาให้เข้าใจโดยถ่องแท้ เฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องขันธ์ห้า
อย่าปล่อยอย่าวาง จงพิจารณาให้รู้ นี่แหละเป็นตัวสำคัญ
ไม่มีอะไรเป็นข้าศึกยิ่งกว่าขันธ์ห้าเป็นข้าศึกต่อเรา เพราะความหลงมัน


การพิจารณาขันธ์ห้า จึงเป็นเรื่องบุกเบิกทางให้ถึงความเกษมได้อย่างไม่มีอะไรสงสัย
เอ้า พิจารณาลงไป รูป ดังที่เคยสอนแล้ว มันเป็นยังไง
กำหนดลงให้เห็นว่า รูป คือความจริงอันหนึ่ง เวทนา คือ ความจริงอันหนึ่ง
วันนี้มันก็จริง ขณะนี้มันก็จริง ขณะหน้ามันก็จริง
กาลใดๆ มันเกิดขึ้นมา มันก็เป็นความจริงของมันตลอดสาย
เราอย่าไปหลงความจริงของเขาให้เป็นความปลอมขึ้นมา
ว่านั้นเป็นเรา นี้เป็นของเราก็พอ
นี่ได้ชื่อว่า “ปัญญา” ให้ตามความจริงให้เห็น เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่กับตัวตลอดเวลา
สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ละอย่าง มันจริงของเขา
ปรากฏขึ้นมาเป็นระยะๆ แล้วดับไป ดับไป
โดยที่เขาเองก็ไม่มีความหมายกับเขาแต่อย่างใดเลย
มีแต่เราไปให้ความหมายเขาแล้วก็หลง พายุ่งไปหมด


ถ้าเห็นตามความจริงนี้แล้ว ก็ปล่อยกันสบายๆ เบิกออกๆ อะไรที่มาหุ้มห่อจิตใจ
ให้เหลือแต่จิตที่เป็นธรรมชาติ มีปัญญาเป็นเครื่องแก้ไขดัดแปลง และรักษาจิตใจ
สลัดออกได้จนหมดไม่มีอะไรเหลือ
ขันธ์กับจิตอยู่ด้วยกัน เขาจะเป็นอะไรไป เขาเคยอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่วันเกิดอยู่แล้วนี่
เราเคยอยู่ด้วยความพัวพัน ถือเขาว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตนมาเป็นเวลานาน
ทีนี้มาแยกกันได้แล้ว ต่างอันต่างอยู่ ต่างอันต่างจริง แล้วจะเป็นพิษเป็นภัยกันที่ไหน
นอกจากเป็นพิษเป็นภัยต่อกันเพราะความถือขันธ์ว่าเป็นเราว่าเป็นของเราเท่านั้น
เมื่อรู้ความเป็นจริงของกันและกันแล้ว จิตก็เป็นจิตด้วยความบริสุทธิ์ของตนแล้ว
ก็อยู่ด้วยกันได้อย่างสบายหายห่วง จนถึงวันตายด้วยกัน
ก็ตายไปอย่างผู้รู้ ผู้ปล่อยวาง


เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้ว ก็เป็น “วิมุตติ” ที่นั่นเอง วิมุตติ ไม่ต้องไปหาที่ไหน!
เอาละ การแสดงธรรม ก็เห็นว่าสมควรยุติ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก “พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ” ใน “ศาสนาอยู่ที่ไหน”
รวมพระธรรมเทศนาโดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน.



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP