สารส่องใจ Enlightenment

พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ (ตอนที่ ๓)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
เทศน์อบรมฆราวาส เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙




พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ (ตอนที่ ๑) (คลิก)
พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ (ตอนที่ ๒) (คลิก)



“กัมมัฏฐาน” แปลว่า อะไร? แปลว่า ที่ตั้งแห่งงาน
“ฐาน” แปลว่า ที่ตั้ง คือที่ตั้งแห่งงาน เป็นงานที่ชอบ
แต่งานนี้เป็นงานที่ใหญ่โตมากมาย เป็นงาน “รื้อวัฏสงสาร”ออกจากใจ
ได้แก่การพิจารณากัมมัฏฐาน คือร่างกายส่วนต่างๆ ตลอดขันธ์ห้า อวิชชา เป็นที่สุด
จึงเป็นงานที่หนักมาก “งานนี้เป็นงาน รื้อภพ รื้อชาติ รื้อวัฏสงสาร”
คือรื้อกิเลสตัณหาชนิดต่างๆ ออกจากใจ
จนกลายเป็น “วิวัฏฏะ” ขึ้นมา จึงเป็นงานที่ยาก
ต้องหาที่หาทำเลที่เหมาะสมเป็นที่ประกอบบำเพ็ญ เพื่องานนี้สะดวกและเร็วขึ้นตามใจหวัง
เมื่อหาไม่ได้ที่ไหนก็ให้พิจารณาลงไป ไม่ให้เสียเวลาความพากเพียรในวันหนึ่งคืนหนึ่ง
แต่ถ้าได้ทำเลที่เหมาะก็เป็นการดี
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระว่า “รุกฺขมูลเสนาสนํ ฯ” เป็นต้น


ทรงสอนให้ไปอยู่ตามป่า ตามเขา รุกขมูล ร่มไม้ ในถ้ำ ซอกเหว ที่ไหนก็ได้
ขอแต่สะดวกในการบำเพ็ญเพื่อแก้กิเลส
หรือปราบปรามกิเลสให้อยู่ในเงื้อมมือ หรือสิ้นซากไปจากจิตใจ
การเป็นอยู่ปูวาย ไม่ได้คำนึงว่าจะอดอยากขาดแคลนประการใด
มีแต่การประกอบความพากเพียรตามความมุ่งหมายอย่างเดียว


ไปอยู่ในสถานที่ใดที่เป็นไปเพื่อความสะดวกแก่การแก้กิเลสอาสวะ
ด้วยความพากเพียรโดยลำดับ
สถานที่นั้นเป็นที่เหมาะสมกับผู้ที่หวังรื้อถอนกิเลสด้วย “กัมมัฏฐาน” คือ งานอันใหญ่โตนี้
พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างเหมาะสมทุกประการแล้ว ทั้งวิธีการแก้กิเลส
ทั้งสถานที่อันเป็น “ชัยสมรภูมิ” สำหรับผู้ตั้งหน้าฆ่ากิเลสจริง ๆ


พระบวชมาแม้องค์หนึ่งก็ตาม อุปัชฌาย์ไม่สอนกรรมฐานห้า เป็นต้นให้ ไม่ถูก!
เมื่อบวชแล้วต้องสอน “กัมมัฏฐานห้าให้” และ “รุกขมูล ฯ” ร่มไม้ ให้เที่ยวตามป่าตามเขา
สอนให้บิณฑบาตที่หาด้วยกำลังปลีแข้งของตน
เป็นงานชอบธรรมอย่างยิ่ง ยิ่งกว่างานการแสวงหาด้วยวิธีอื่นๆ
ท่านสอนไว้ “อยนฺเต ปตฺโต” นั่น “นี่บาตรของเธอ” หรือ “ของเจ้านะ”
ท่านบอกไว้เลย ทั้งๆ ที่บาตรก็อยู่ในมือ ท่านก็รู้ ยังชี้บอกอีก
ว่า “นี่บาตรของเจ้านะ” เพื่อประทับใจลงไปอีกทีหนึ่ง
บอกซ้ำอีกว่า “นี่บาตรของเจ้านะ” ก็คือว่า “นี่คู่ชีวิตของเจ้านะ” นั่นเอง
ให้บิณฑบาตมาฉัน ได้มาแล้วเอาใส่ลงในบาตรนั่นแหละ
ไม่มีภาชนะใดที่ควร และเหมาะสมสำหรับสมณะยิ่งกว่าบาตร
สอนลงไปที่ตรงนั้น บาตรเป็นสิ่งที่สมที่ควรสำหรับพระ
เมื่อไปบิณฑบาต ก็เอาบาตรลูกนี้มาฉัน ก็ลงในบาตรนี่ เป็นกิจที่ควรและเหมาะสมที่สุด
ท่านจึงสอนว่า “อยนฺเต ปตฺโต” คือ ยุ้งข้าวของพระนั่นเอง


ถ้าไม่สำคัญ ท่านไม่สอน ท่านไม่บอก
อยํ สงฺฆาฏิ อยํ อุตฺตราสงฺโค (ผ้าห่ม) อยํ อนฺตรวาสโก (ผ้านุ่ง)”
“นี่ผ้าสังฆาฏิ
, นี่จีวร, นี่สบง” นี่บาตร ท่านบอกแล้ว
ราวกับย้ำว่า “นี่ๆ สมบัติของเธอผู้เป็นพระ”
บริขารนี้เป็นสมบัติที่ชอบธรรมสำหรับพระ
นอกนั้นท่านไม่ได้ว่าอะไร เช่น ให้สั่งสมนั้น สั่งสมนี้
ให้หานั้นหานี้มากอง หรือพอกพูนเต็มกุฏิ เต็มที่อยู่อาศัย ท่านไม่ได้ว่า
ท่านบอกลงในจุดสำคัญๆ ว่า “นี้เป็นที่เหมาะสมที่สุด” “ไปเถอะ” จะไปที่ไหน
แล้วชี้บอกสถานที่ “ไปรุกขมูล ตามร่มไม้ ชายป่า ชายเขา ไปหาอยู่
เพื่อความสะดวกสบายในการบำเพ็ญสมณธรรมเถิด
ครั้งพุทธกาลท่านสอนสาวกทั้งหลายให้ไปบำเพ็ญ
ด้วยความแกล้วกล้าสามารถในทางความเพียรและทางสติปัญญา
ให้รื้อถอนกิเลส กองทุกข์ที่มีอยู่ภายในใจ
และฝังจมกันมาเป็นเวลานานให้หมดสิ้นไปด้วยวิธีการนี้ ยุทธวิธีแบบนี้
ในสถานที่เช่นนั้น ซึ่งเป็นสถานที่เหมาะสมที่สุด นี่ท่านสอน!


สบง จีวร เครื่องบริขาร สำหรับใช้สอยก็มีเท่านั้น
ไม่ต้องมีมากมายเหลือเฟือพะรุงพะรัง น่าสังเวช เอือมระอา
มีบาตรใบเดียวเท่านั้น เป็นภาชนะที่เหมาะสมที่สุด
ไปเถอะ ไปไหนก็สบาย ไม่ต้องพะรุงพะรัง
ห่วงหน้าห่วงหลัง เตรียมการอยู่การกินให้ยุ่งไป ยุ่งกันแต่เรื่องอยู่เรื่องกิน
การยุ่งกับความพากเพียร ยุ่งกับการฆ่ากิเลส ทำลายกิเลสไม่มี!
มีแต่ยุ่งกับการสั่งสมกิเลส ด้วยการเตรียมนั้นเตรียมนี้วุ่นไปหมด
ราวกับแข่งพระตถาคตบรมศาสดาด้วยการสั่งสมกิเลสวัฏวน
ในอาการของผู้มักมาก เสริมความอยาก ไม่มีวันอิ่มพอ
ซึ่งเป็นการผิดจากหลักของศาสดาที่ได้สอนไว้แล้ว
คำที่ว่า “ฆ่ากิเลส” ก็ไม่ปรากฏ มีแต่สั่งสมกิเลสโดยไม่รู้สึกตัวเท่านั้น
จะมีกิเลสตัวไหนหายหน้าไป กิเลสตัวไหนตายไป
นอกจากจะแตกลูกแตกหลานออกมาจนเต็มหัวใจ
กระจายไปทั้งข้างนอกข้างในเต็มโลกเต็มสงสาร มีแต่กิเลส


การบวชมาบำเพ็ญเพื่อแก้กิเลส แต่กลายมาเป็นผู้สั่งสมกิเลส
ย่อมผิดกับโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “มัชฌิมาปฏิปทา”
คือ การปฏิบัติที่ถูกเป้าหมายของการทำลาย การสังหารกิเลสให้สิ้นไป
การทำลายกิเลสทั้งมวล ต้องดำเนินตามหลักของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอน
ไม่มีหลักใดที่จะเหมาะสมยิ่งกว่าหลักพระโอวาทที่ทรงสั่งสอนไว้แล้ว
ไม่ว่าพระ ไม่ว่าฆราวาสสอนลงที่หัวใจ ด้วยการประพฤติปฏิบัติและอุบายที่สอน
ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นล้วนแต่เป็นอุบายวิธีสอนเพื่อแก้กิเลสทั้งนั้น
ไม่ใช่เพื่อสั่งสมกิเลสเลย!


ถ้าการปฏิบัติปีนเกลียวกับพระโอวาทที่ทรงสอนนั้น
ก็เป็นการสั่งสมกิเลสขึ้นโดยไม่รู้สึกตัว แม้เจ้าของจะว่าไม่สั่งสมก็ตาม
ก็คือการสั่งสมโดยหลักธรรมชาติอยู่นั่นแล
การอยู่ป่า ถ้าจิตคิดเป็นเรื่องโลก เรื่องสงสาร เรื่องวุ่นวายต่างๆ
ก็เท่ากับอยู่ป่าธรรมดา เหมือนกระรอก กระแต ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร
อยู่ในบ้าน ถ้าคิดอรรถคิดธรรมก็ยังดีกว่า มันสำคัญอยู่ที่ใจที่คิดถูกหรือผิด


การพิจารณา เมื่อพิจารณาร่างกาย ก็เอาให้แหลกลงไปโดยลำดับ
ดูตั้งแต่ข้างบนลงไปข้างล่าง ข้างล่างขึ้นมาข้างบน
ดูภายใน ดูภายนอก ดูให้ตลอดทั่วถึง มันมีอะไรบ้างอยู่ภายในนี้
ที่ท่านว่า “กรรมฐานห้า” คือ อะไร
? คือ “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ”
ไปถึงนั่นท่านหยุดเสีย เพราะว่า “ตโจ” คือ หนัง หุ้มห่อไปหมดแล้วในร่างกาย
คนเราไม่มีหนัง ดูกันไม่ได้เลย ไม่ว่าสัตว์ ไม่ว่าบุคคล เมื่อถลกหนังออกแล้วดูไม่ได้เลย
ว่าเป็นหญิง เป็นชายที่ไหน ดูไม่ได้ นี่! มันครอบแล้ว ท่านจึงไม่ได้บอกต่อไป


เมื่อขยายออกไป ท่านก็ว่าไปถึง “อาการ ๓๒” เอ้า ให้ดูไป
อาการไหนก็ดูเถิดเป็นสัจธรรมทั้งนั้น เพื่อจะรื้อถอนกิเลสออกจากใจ
ให้พิจารณาจนมีความชำนิชำนาญ
แล้วดูอันไหน มันก็เป็นความจริงไปหมด ไม่ตื่นเต้น ไม่ตกใจ ไม่หวั่นไหว
จิตใจก็ปราศจากอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เป็นลำดับๆ จะว่ายังไงอีกล่ะ!
เมื่อมันปล่อยวางภาระออกมาด้วยการพินิจพิจารณาแล้ว
ทำไมจิตจะไม่เบา จิตจะฟุ้งซ่านไปไหน ฟุ้งซ่านก็ฟุ้งซ่านด้วยความหลง
เมื่อรู้แล้วจะฟุ้งซ่านไปทำไม หาความฟุ้งซ่านไม่มี มีแต่ความสงบตัวเข้าไปเรื่อยๆ
ทำไมจิตจะไม่เย็นไม่สบาย เย็นสบายอยู่ภายในจิตใจเท่านั้น
ถ้าจิตสงบตัวได้ ไม่วุ่นวายส่ายแส่ คนเราต้องมีความสุข
เท่าที่โลกมีความทุกข์ร้อนตลอดมา ไม่มีวันพักผ่อนหย่อนใจได้บ้าง
ก็เพราะจิตไม่ได้สงบตัวจากความคิดปรุงต่างๆ บ้างเลยนั่นเอง


ถ้าพิจารณาตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว มีแต่สอนให้ถอดถอนกิเลส
และความทุกข์ความทรมานภายในใจออกโดยถ่ายเดียว
ไม่มีพระโอวาทข้อใดที่สั่งสอนให้สั่งสมกิเลส ให้สัตว์โลกได้รับความทุกข์ความลำบากเลย
จึงเรียกว่าเป็น “สวากขาตธรรม” ตรัสไว้ชอบยิ่งแล้ว
เป็น “นิยยานิกธรรม” ธรรมเครื่องนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์ไปโดยลำดับ
จนถึงความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก “พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ” ใน “ศาสนาอยู่ที่ไหน”
รวมพระธรรมเทศนาโดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน.



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP