สารส่องใจ Enlightenment

พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ (ตอนที่ ๒)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
เทศน์อบรมฆราวาส เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙




พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ (ตอนที่ ๑) (คลิก)



ในข้อที่สามท่านว่า “นิโรธ อริยสจฺจํ” ที่พึงทำให้แจ้งซึ่ง “นิโรธ” ความดับทุกข์
อะไรจะเป็นเครื่องทำ “นิโรธ” ให้แจ้ง
ถ้าไม่ใช่ “มรรค” มีสมาธิ สติปัญญา เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมเกี่ยวโยงกัน
“มรรค” อะไรเป็นสำคัญ? คือ “สัมมาทิฏฐิ” “สัมมาสังกัปโป”
ได้แก่ “องค์ปัญญา” ต้องเป็นผู้นำเสมอ
คนฉลาดต้องเป็นหัวหน้างาน เอาคนโง่ไปเป็นหัวหน้างานไม่ได้
จะทำให้งานแหลกเหลวป่นปี้ไปหมด ผลได้ไม่ค่อยมี แล้วยังทำให้งานนั้นเสียไปด้วย
จึงต้องเอาคนฉลาดเป็นหัวหน้างาน
ใน “มรรคแปด” “สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป” ท่านก็เอา “ปัญญา” เป็นผู้นำหน้า


“สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ” ที่จะ “ชอบ” ไปได้ ก็ต้องมีปัญญาเป็นผู้ควบคุม
“สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ” ก็เหมือนกัน คือต้องมี “ปัญญา” เคลือบแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน
ไม่ยังงั้นจะเป็น “สมาธิหัวตอ” หรือเป็น “สมาธิมังกี้ (ลิง)”
โดดไปนอกโลก ไปสู่สวรรค์พรหมโลก กระทั่งนิพพาน
ทั้งๆ ที่กิเลสยังพอกพูนเต็มหัวใจ กลายเป็นสมาธิที่น่าสังเวชเอ็นดู
ทั้งที่เจ้าตัวภูมิใจ โอ่อ่า สง่าผ่าเผย แทบจะเหาะจะบิน ทั้งที่ไม่มีปีก


“สัมมาสติ” คือ ระลึกชอบ ระลึกชอบ ระลึกที่ไหน
ระลึกชอบ ใครๆ ก็ทราบว่าคืออะไร แล้วระลึกที่ไหน ถึงจะเรียกว่า “ชอบ”?
ระลึกใน “สติปัฏฐานสี่” คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
ก็ย้อนเข้ามาอยู่ที่นี่ (จิต) อีกนั่นแหละ สัจจะ ซ้อน สัจจะ!
ฉะนั้น “สัจธรรม” กับ “สติปัฏฐาน” จึงใช้แทนก็ได้ในวงปฏิบัติ
“สัมมาสมาธิ” เมื่อระลึกชอบแล้ว สัมมาสมาธิก็สงบโดยชอบ
ไม่ใช่เที่ยวรู้นั้นรู้นี้ หลอกลวงตนเองโดยไม่มี “สติ ปัญญา” เป็นเครื่องควบคุมคุ้มกัน
กลั่นกรองสิ่งเหล่านั้นว่าผิดหรือถูก


“มรรคแปด” เหล่านี้แล เป็นกุญแจเปิดพระนิพพาน!
ที่ว่า “การทำพระนิพพานให้แจ้ง” ก็ทำด้วยข้อปฏิบัติ
ด้วย “สัมมาทิฏฐิ
, สัมมาสังกัปโป จนกระทั่ง สัมมาสมาธิ”
อาการแห่งการกระทำทั้ง ๘ นี้ เป็นการทำพระนิพพานให้แจ้ง
“นิโรธ” คือ ความดับทุกข์ นั่นดับได้ ถ้าดับตามวิธีที่ถูกต้อง คือด้วย “มรรค” นี้
ถ้าไม่ใช่วิธีนี้แล้ว ทำอย่างไรทุกข์ก็ไม่ดับ ต้องบ่นวันยังค่ำคืนยังรุ่ง
ซึ่งเป็นการเพิ่มความทุกข์ความลำบากขึ้นอีก จนหาทางปลงวางจิตไม่ได้


การดับทุกข์ ตามความคล่องปาก คล่องใจ ของโลกปัจจุบัน มักดับด้วยวิธีเพิ่มเชื้อ
เช่น เวลาเกิดความกลัดกลุ้มขึ้นมา มักจะหาทางระบาย
หรือดับทุกข์ด้วยวิธีดื่มเหล้า เข้าโรงหนัง โรงบาร์ ซึ่งเป็นทางส่งเสริมให้คนเป็นบ้ายิ่งขึ้นไปอีก
แทนที่จะหาอุบายแก้โดยถูกต้องถูกทาง พอให้ทุกข์เบาบางลงไป สมกับมนุษย์เป็นสัตว์ฉลาด
แต่การระบายทุกข์แบบนี้กลับทำคนให้โง่ลงไปอีก จนไม่มีสิ้นสุดยุติ
ธรรมทั้งหมด สอนลงที่ใจ ใจนี้แล คือที่อยู่ของกิเลส ที่อยู่ของ “วัฏวน” ทั้งหลาย
คลังแห่งกิเลสคือใจ คลังแห่งธรรมก็คือใจ
เมื่อถ่ายเท “กองแห่งกิเลส” ออกหมด ธรรมก็เข้าแทนที่ ใจก็เป็นคลังแห่ง “ธรรม” ขึ้นมา


“วัฏฏะ” หรือ วิวัฏฏะ” ไม่นอกเหนือไปจากใจดวงเดียวนี้
เมื่อถ่ายเทสิ่งที่เป็น “วัฏฏะ” ออกแล้ว “วิวัฏฏะ” ก็ปรากฏตัวขึ้นมาเอง
เช่นเดียวกับสถานที่รกรุงรัง เมื่อถากถางและตัดฟันต้นไม้ใบหญ้าออกให้หมดแล้ว
ก็เตียนโล่งขึ้นมาในสถานที่รกรุงรังนั้นเอง
ความรกรุงรังนั้นเองปกคลุมสถานที่ ไม่ให้แสดงความเตียนโล่งขึ้นมาได้
ผู้ต้องการสถานที่ให้เตียนและสะอาด จำต้องถากถางสิ่งปกคลุมและปัดกวาดให้ดี
สถานที่นั้นก็เตียนและสะอาดขึ้นมาเอง


จิตเวลานี้กำลังรกรุงรังด้วยอะไร? ความโลภก็ทับถมจิต ปกคลุมจิต
ความโกรธ ความหลง กิเลสน้อยใหญ่ ก็ปกคลุมจิตดวงนั้นจนโงหัวไม่ขึ้น
ถ้าเป็นคนถูกอะไรทับถมปกคลุมขนาดนั้น ต้องตายไปนานแล้ว
กิเลสไม่ปกคลุมที่ไหนเลย ไม่ปกคลุมที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย
แต่มันปกคลุมที่ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัส
เป็นเพียงทางเดินของกิเลส ไม่ใช่กิเลสจริง ตัวกิเลสจริงมันปกคลุมอยู่ที่ใจ
ท่านจึงสอนลงที่ใจ ก็จิตใจมีความเกี่ยวเนื่องกับอะไร ท่านจึงสอนแยกแยะออกไป
ให้เห็นโทษเห็นภัยในสิ่งต่างๆ ตามที่จิตไปเกี่ยวข้อง
เช่น ให้พิจารณา รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ
ว่าเป็นเหมือนลูกศรทิ่มแทงจิตใจของบุรุษตาฟาง
ทำให้ใจติดพัน รักใคร่ ชอบใจ หรือเกลียดชังต่างๆ แยกสิ่งนั้นๆ
และแยกดูจิตของตัว ให้เห็นเป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ให้ระคนคละเคล้ากัน
อันเป็นการฝืนความจริงอย่างยิ่ง
เพราะสภาพที่รู้คือจิต ต่างกับ ตา หู ฯลฯ และ รูป เสียง ฯลฯ เหล่านั้น ยิ่งกว่าฟ้ากับดิน


ท่านสอนข้างนอก (เสียง) และข้างใน (หู) ก็เพื่อให้รู้ข้างนอก ให้รู้ข้างใน
สอนข้างใน ก็ให้รู้ข้างในโดยตลอดทั่วถึง ธรรมทั้งหลายจึงรวมอยู่ที่ใจ
สอนด้วยอุบายใดก็เพื่อใจทั้งนั้น เพราะใจเป็นตัวการสำคัญ
ที่เรียกว่า “จอมหลง” ก็คือใจ “จอมรู้” ก็คือใจ “จอมปราชญ์” ก็คือใจ
เมื่อชำระความโง่เขลาออกจากใจได้แล้ว ความฉลาดไม่ต้องบอกหากเกิดขึ้นเอง!
เมื่อกิเลสตัวพาให้โง่ออกจากใจโดยสิ้นเชิงแล้ว
ความเข้าใจว่าตนฉลาดที่กิเลสพาให้คิดโง่ๆ เช่นนั้น ก็หมดไป
สติปัญญาซึ่งเป็นธรรมช่วยให้ฉลาด ก็จะพาให้ผู้นั้นฉลาดขึ้น
และจะพาไม่ให้ลืมตัว เพราะความโง่กับความฉลาดอยู่ในฉากเดียวกัน
เหมือนกับมีด มีทั้ง “สัน” ทั้ง “คม” ตามแต่จะมีอุบายใช้มัน
จิตก็เช่นกัน ตามแต่ผู้เป็นเจ้าของจะพาให้เป็นไป ทั้งความโง่ ความฉลาด เป็นได้ทั้งนั้น


ขอย้ำอีกครั้ง “ชาติปิ ทุกฺขา” เกิด ก็คือกายของเรานี้
เกิดมาแล้วมันเป็นอย่างไรมันก่อความวุ่นวายอะไร
? แก่เราบ้าง
ที่เห็นได้ชัดเจน เปลี่ยนไปทั้งวัน ทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน มีแต่การเปลี่ยน
เป็นการบรรเทาทุกข์ทั้งนั้น นั่งนานก็ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไปเดิน
เดินก็เปลี่ยนไปยืน ยืนก็เปลี่ยนไปนอน เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างนั้น
ไม่เปลี่ยนไม่ได้ อยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งนานๆ ก็เป็นทุกข์ขึ้นมา
เพราะฉะนั้นอิริยาบถจึงเป็นวิธีการบรรเทาขันธ์ และปิดบังทุกข์ด้วยในตัว
ถ้าจะเปรียบเทียบดู ก็เหมือนเอาถ่านเพลิงมาไว้บนฝ่ามือ
จะให้มันค้างอยู่บนฝ่ามือข้างหนึ่งไปเรื่อยๆ ไม่ได้ ต้องร้อนมาก และฝ่ามือต้องพองไปหมด
จึงต้องโยนขึ้นไปบนอากาศ และตกลงบนฝ่ามือ แล้วโยนขึ้นไปอีก โยนขึ้น ตกลง
เช่นนี้จนถึงที่ปลง ความร้อนของถ่านเพลิง ก็ไม่รุนแรงมากนัก
ธาตุขันธ์ก็เหมือนกัน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
เรื่อยๆ ไปจนกระทั่งถึงวันตาย คิดดูซิ! วันตายของเรานั่นแหละ คือวันปล่อยวางธาตุขันธ์
ธาตุขันธ์ก้อนนี้จะพิจารณาอย่างไร จิตเรายังยึดยังถือ ไม่ยอมปล่อยวางเลย?


เอ้า พิจารณาลงที่นี่ เพื่อปลดปลงปล่อยวาง
ปัญญามีไว้เพื่ออะไร หุง ต้ม แกงกินก็ไม่ได้
?
เอาไว้สำหรับแก้สิ่งงมงาย สิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ ซึ่งมีอยู่ในใจของเรา
จงพยายามแก้ลงที่ตรงนี้ คือใจ
พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย ที่พ้นจากทุกข์ทั้งมวลไปแล้ว
ท่านพิจารณาแก้กันที่นี่ทั้งนั้น ไม่มีที่อื่นเป็นที่พิจารณาและปล่อยวาง
เอาธาตุขันธ์นี้แหละเป็นสนามรบ เป็นที่พิจารณา
ทุกข์เกิดขึ้นที่ไหนก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม
ให้เห็นตามสภาพแห่งความจริงของมันโดยสม่ำเสมอ
เมื่อทุกข์เกิดขึ้นก็ให้พิจารณาเรื่องทุกข์
เราเคยพิจารณามาแล้วเป็นอย่างไร มันเป็นความจริงอยู่ตลอดเวลา
การพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของมันอยู่อย่างนั้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งจิตมีความสม่ำเสมอตัว อะไรจะเกิดขึ้นก็รับทราบ รับทราบไปตามความจริง
เพราะความคล่องแคล่วแกล้วกล้าของสติ ปัญญา ที่เคยพิจารณาช่ำชองมาแล้ว
ความจริงมันเป็นอย่างนั้น ถ้ายังตื่นเต้นอยู่ ก็พิจารณาให้ชัดเจนลงไปจนแหลกละเอียด
ไม่ตื่นเต้นแล้วพอ! พอตัว พอตัวเรื่อยๆ จนพอเต็มที่แล้ว
ก็ปล่อยวางได้เด็ดขาด ไม่มีเงื่อนต่อกับสิ่งนั้น ๆ


การเรียนวิชาแก้ “วัฏวน” ภายในจิตใจ ท่านเรียนอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้
วิชานี้เป็นวิชาที่เลิศ วิชาที่ประเสริฐ แต่เป็นงานที่ทำได้ยาก
เพราะเป็นงานใหญ่ในวงศาสนา ท่านเรียกว่า “งานกรรมฐาน กัมมัฏฐาน”
ดังที่เขียนไว้ในหนังสือ “ปฏิปทาพระกรรมฐาน สายท่านอาจารย์มั่น” นั่นเอง



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก “พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ” ใน “ศาสนาอยู่ที่ไหน”
รวมพระธรรมเทศนาโดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน.



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP