จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๗๒ เป้าหมายของการทำทานแบบพุทธ



372 talk




แค่ไหนจึงเรียกว่าทำทานพอดีแล้ว?


เพื่อให้รู้ว่าพอดีแล้วหรือยัง
เราต้องมาดูเป้าหมายของการทำทาน
ตามอุดมคติของพระพุทธศาสนากันก่อนนะครับ
จุดใหญ่ใจความของทาน คือ


๑) เพื่อให้มีความสุขในปัจจุบัน
คือการทำลายความตระหนี่ถี่เหนียว
ความสุขอันประเสริฐนั้น
รินมาจากใจซึ่งเปี่ยมความเมตตากรุณา
หากเจอสิ่งอุดตันอย่างความตระหนี่ขวางทาง
ก็หมดสิทธิ์หลั่งรินมาทำความชุ่มฉ่ำให้ใจเราเป็นแน่
ถ้าตลอดทั้งชาติ
เกิดมาเพียงเพื่อได้รู้จักกับรสชาติของความหวงแหน
ชีวิตจะแร้นแค้นความสุขสักขนาดไหน


๒) เพื่อให้มีความสุขในอนาคต
คือการสั่งสมบุญสั่งสมกรรมดี
อันจะก่อให้เกิดผลหรือที่เรียก ‘วิบาก’ ในอนาคตกาล
ซึ่งอาจเป็นระยะใกล้ชนิดเห็นทันตาในชาติปัจจุบัน
หรืออาจเป็นระยะไกลที่ต้องรอดูกันยาวๆ
ด้วยดวงตาของคุณในชีวิตถัดไป
พระพุทธเจ้าตรัสเสมอว่า
ผู้ให้ทานเป็นนิตย์ย่อมเข้าถึงสุคติ
โลกสวรรค์และโลกมนุษย์อันมั่งคั่ง
ห่างไกลจากความอดอยากและความอัตคัดขัดสน
เนื่องจากบุญเป็นความสว่าง เป็นเหตุแห่งความสุขความเจริญ
เป็นธรรมชาติที่มีหน้าที่ตกแต่งรูปสมบัติและคุณสมบัติ
อันน่าใคร่ น่าพอใจ


คุณสามารถเห็นลางดีบอกอนาคตอันรุ่งเรือง
ได้จากหน้าตาและผิวพรรณในปัจจุบัน
ยิ่งคิดเสียสละมากขึ้นเพียงใด
ความผ่องใสก็ยิ่งปรากฏชัดเจนขึ้นเพียงนั้น


๓) เพื่อให้มีความสุขที่ยั่งยืน
คือการสร้างปัจจัยเกื้อกูลให้พบทางสู่นิพพาน


การหมั่นให้ทานทำให้เราลดความหวงแหน
ลดอุปาทานยึดมั่นถือมั่น
เมื่ออุปาทานเบาบางลงระดับหนึ่ง
บวกกับการรักษาศีลและเจริญสติให้ถูกต้องตรงทาง
ในที่สุดอุปาทานอันหนาเตอะ
ก็ถูกกะเทาะให้ร่วงกราวลงได้หมด


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


จาก ๓ เหตุผลของการให้ทาน
ตามอุดมคติของพระพุทธศาสนาดังกล่าวข้างต้น
ทำให้พระพุทธองค์ไม่ทรงสรรเสริญ
ทานอันเกิดจากการฝืนใจทำชั่วครั้งชั่วคราว
แต่พระองค์จะสรรเสริญผู้ที่มีความ ‘ตั้งมั่นในทาน’
หมายถึงการ ‘มีแก่ใจคิดให้’ ไปเรื่อยๆ
...เป็นนิสัย
...เป็นความเคยชิน
...เป็นธรรมชาติแท้จริง
ที่ไม่ได้เกิดจากการฝืนใจ หรือเล็งโลภหวังผลต่างๆนานา


พูดง่ายๆให้รวบรัด คือ เปลี่ยนแปลงตนเอง
จากความเป็นคน ‘ไม่ได้มีใจจริงที่คิดจะให้’
เป็นคน ‘มีใจจริงที่จะให้’


การทำทานที่ ‘พอดี’ คือ
ทำแต่ละครั้งไม่รู้สึกว่าตนต้องเดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง
ไม่ได้กู้ยืมใครเขามาทำทาน
แต่ทำบ่อยๆจนรู้สึกว่า
เป็นหน้าที่ที่ต้องให้อย่างสมควรแก่ฐานะ
คือไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป
ให้แล้วยังมีกินมีใช้อย่างสบาย


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


การทำทานแบบไม่ลืมหูลืมตาจน ‘เกินพอดี’ นั้น
คือทำด้วยจิตที่เล็งโลภอยู่ว่าจะได้ผลตอบแทนมากมาย
ยิ่งทำเกินตัว จ่ายทรัพย์มากหวังผลมากแบบนักลงทุน
อย่างนั้นแทนที่จะได้ดีอาจกลับกลายเป็นได้ร้าย
สวนทางเหตุผลของการให้ทาน คือ


๑) เป็นผู้ไม่มีความสุขในปัจจุบัน
คือสะสมความโลภ
วันๆคิดแต่เรื่องการ ‘ลงทุนทำทาน’
เพื่อให้รวยเร็ว หรือเพื่อให้ขึ้นสวรรค์ชั้นสูงส่ง
เมื่อกระวนกระวายเล็งรับผลอยู่
ใจย่อมไม่เป็นสุข ความตระหนี่ย่อมไม่หายไปไหน
ซ้ำร้ายอาจพอกพูนขึ้นกว่าเดิม!


๒) เป็นผู้ไม่มีความสุขในอนาคต คือ
สั่งสมบุญอันเจือด้วยความโลภ
แม้อนาคตกาลเมื่อเกิดใหม่ในตระกูลร่ำรวย
หรือได้เป็นพ่อค้าแม่ขายที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจแล้ว
ความร่ำรวยนั้นย่อมกระตุ้นให้ละโมบโลภมาก
ไม่ว่าจะมีกี่ร้อยกี่ล้าน
ความตระหนี่และความละโมบโลภมาก
ย่อมเป็นของหนัก ของดำ ของน่าเกลียดน่าอึดอัด
ติดจิตติดใจเขาไปทุกฝีก้าว
เขาได้ชื่อว่าครอบครองสมบัติ
เพื่อเป็นทุกข์ทางใจโดยแท้!


๓) เป็นผู้ไม่มีความสุขที่ยั่งยืน คือ
สวนทางกับการสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้พบนิพพาน
เพราะจะพบนิพพานได้นั้น จิตต้องบริสุทธิ์จากกิเลส
แต่นี่ทำบุญเพื่อบำรุงกิเลส
ผลแห่งบุญก็ย่อมมีความขัดแย้ง มีความขัดขืนฝืนต้าน
ไม่ยอมให้เข้าสู่ทางไปนิพพานได้เต็มตัว!


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


สรุปสั้นๆนะครับ
ผลอันทันตาทันใจของ ‘การให้ทานที่พอดี’ คือ
ความรู้สึกสบายใจในวันนี้ และอบอุ่นใจกับวันหน้า
ตราบใดยังไม่สบายใจในวันนี้ และยังไม่อบอุ่นใจกับวันหน้า
ก็แปลว่าคุณยังมีความไม่พอดีกับการทำทานนั่นเอง


ดังตฤณ
พฤศจิกายน ๒๕๖๖







review


งานกรรมฐานเป็นงานใหญ่ในพระพุทธศาสนา
เพราะเป็นไปเพื่อการดับทุกข์และพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
ดังความตามพระธรรมเทศนา
โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
เรื่อง "พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ (ตอนที่ ๒)"
ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" (-/
\-)


ในช่วงใดของวันที่ควรสวดมนต์ นั่งสมาธิ และเดินจงกรม
และจะทราบได้อย่างไรว่าเวลาไหนเหมาะสมที่สุด
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ควรเจริญภาวนาในช่วงเวลาใดของวัน"


เมื่อพบว่าอาจเป็นโรคร้ายแรงถึงชีวิต
จะมีวิธีทำใจและแก้ไขบรรเทาทางกรรมได้อย่างไร
ติดตามได้จากกรณีศึกษา ในตอน "อายุสั้น
?"
ในคอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ" ค่ะ


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP