สารส่องใจ Enlightenment

พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ (ตอนที่ ๑)



พระธรรมเทศนา โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
เทศน์อบรมฆราวาส เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙



คนแทบทั้งโลกมีความเห็นอันเดียวกัน และจากความเห็นอันเดียวกัน
คำพูดก็เป็นเหมือนๆ กันว่า “ถ้าชาติหน้ามี ขอให้เป็นอย่างนั้นๆ !”
ทำไมจึงพูดอย่างนั้น
? ก็เพราะเข้าใจว่า ชาติหน้าไม่มี ภพหน้าไม่มีนั่นเอง
มีแต่ความสิ้นหวังความหมดหวังเต็มหัวใจ
ทั้งๆ ที่ตัวจิต “ผู้พาให้เกิด ตาย” สืบเนื่องกันโดยลำดับ
ก็คือ “ตัวภพ, ตัวชาติ” เต็มตัวอยู่แล้ว เป็นเพียงจิตไม่ทราบความเป็นมาของตนเท่านั้น
จึงทำให้เกิดความรู้ความเห็นไปว่า “ถ้าภพหน้า ชาติหน้ามี ขอให้เป็นอย่างนั้นๆ”
ที่คิดหรือพูดอย่างนี้ก็เพราะเข้าใจว่า ภพหน้า ชาติหน้า ไม่มีนั่นเอง


นี่คือความคิดความสำคัญของคนส่วนมากเป็นอย่างนี้
โดยไม่มีหลักประกันรับรองแต่อย่างใด เป็นความคิดเห็นอย่างลอยๆ
แต่เชื่อเอาเป็นจริงเป็นจัง ไม่สนใจจะถอนเลย
จึงจัดว่าเป็นความเห็นที่ทำลายตัวเองอย่างช่วยไม่ได้
ถ้าไม่ค้นหาความจริงจาก “ศาสนธรรม” ที่ยืนยันความเกิด ความตายของสัตว์โลกอยู่แล้ว
ด้วยการปฏิบัติธรรมดังที่พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายดำเนินมา


ความจริง อัตภาพร่างกายของคนและสัตว์แต่ละราย
ก็คือตัวภพตัวชาติอยู่แล้ว ซึ่งเกิดตายถ่ายเทมาโดยลำดับจนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่พาให้โลกเกิด ตาย ไม่มีเวลาจบสิ้นลงได้ ก็คือ “อวิชชา”
แปลว่ารู้แบบงูๆ ปลาๆ ดังเราๆ ท่านๆ นี้แล
ไม่อาจรู้ความเป็นมาและความจะเป็นไปในภพชาติต่อไปของตน
รู้เพียงความเป็นอยู่นี้เท่านั้น ว่าตนเป็น “คน” แต่ไม่รู้ว่ามาจากภพใด กำเนิดอะไร
ทั้งนี้เพราะ “อวิชชา” พาให้หลง พาให้เกิด แต่มิได้พาให้สูญ
และมิได้ปิดทางภพหน้า ชาติหน้า ไม่ให้สัตว์ไปเกิด อวิชชาเปิดไว้เสมอ
แต่ปิดมิให้สัตว์โลกรู้ว่าภพหน้าชาติหน้ามีอยู่
การปิดมิให้สัตว์โลกรู้ว่าภพหน้าชาติหน้ามี ก็คือกลอุบายลวงสัตว์โลกอยู่โดยดี
ฉะนั้นจึงพากันเคลิ้มหลับตามเพลงลูกทุ่งของอวิชชากล่อม


ใจความของเพลง “อวิชชา” ที่สัตว์โลกเคลิบเคลิ้มและรับมา
เล่าสู่กันฟังว่า “ภพหน้า ชาติหน้าไม่มี ตายแล้วก็สูญพันธุ์กันไปเลย ไม่ได้เกิดอีก”
แต่กรุณาย้อนมาคิดดู สัตว์ที่เกิดมาเป็นประจำทุกเวลา
เฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์นับวันมากขึ้นทุกวันเวลา
เมื่อดูตามนี้มันขัดกันไหมกับความเห็นที่ว่าภพหน้า ชาติหน้าไม่มี ตายแล้วสูญพันธุ์น่ะ
?
ดูมันขัดมันขวางกันจนเกินกว่าจะหลงเชื่ออวิชชา
จนลืมนึกลืมฝัน ไม่ลืมหูลืมตาดูความจริง
คือใจอันเป็นตัวภพตัวชาติ พาให้เกิดตายกันบ้างเลย


“อวิชชา” ที่พาให้เกิดตาย อยู่กับใจผู้เป็นเชื้อ รังแห่งภพชาติจึงคือใจโดยแท้
รู้ “อวิชชา” เมื่อใด ถึงจะทราบโดยสมบูรณ์ว่า “ภพหน้า ชาติหน้า มีแก่สัตว์โลก”
เพราะมีเครื่องยืนยันว่า “อวิชชา” เป็นตัวการพาให้เกิดตาย
อวิชชาหมดจากใจ ใจก็บริสุทธิ์ ไม่มีผู้พาให้เกิดตาย แต่ไม่ได้สูญ
และไม่ใช่มีอยู่แบบโลกเข้าใจกัน แต่มีแบบ “วิมุตติ” ที่นอกสมมุติแล้ว
ซึ่งใครๆ ในไตรโลกธาตุไม่อาจคาดหมายและด้นเดาได้
เพราะไม่ใช่วิสัยจะคาดหมายเหมือนสมมุติทั่วๆ ไป


การปฏิบัติธรรมก็เพื่อรู้เรื่องของตัวโดยชัดแจ้งนั่นแล
สิ่งที่กล่าวมานี้ มี “อวิชชา” เป็นต้น เป็นของมีอยู่ในตัว ในใจเราทุกคน
มี “วิชชา” ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะสามารถเปิดสิ่งที่จอมปลอมทั้งหลาย
ซึ่งปิดบังจิตใจอย่างมิดชิดจนไม่รู้เนื้อรู้ตัวนี้ ให้เปิดเผยออกมาตามความเป็นจริงได้
และ “ละ” ได้ตามความจริงก็มี “ธรรมของพระพุทธเจ้า” นี่เท่านั้น
อย่างอื่นยังมองไม่เห็น ใครๆ อย่าไปหาญมองหาญคว้า
ถ้าไม่อยากเจอ “น้ำเหลว” น่ะ จะว่าไม่บอก


“มรรคแปด” ท่านเรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” คือทางสายกลาง
กลางต่อจุดมุ่งหมาย กลางต่อความจริง
จึงไม่เป็นธรรมที่ล้าสมัย ดังคนที่ไม่มีสมัยไร้สาระพูดอยู่เสมอ
แต่เป็นสิ่งที่ทันกับเหตุการณ์เสมอไป
ไม่เช่นนั้นท่านก็ไม่เรียกว่า “มัชฌิมา” คือ ศูนย์กลางที่พร้อมจะรับเหตุการณ์ดีชั่วอยู่เสมอ
ไม่มีคำว่า “ผิดพลาด หรือไม่ทันกิเลสชนิดใดชนิดหนึ่ง”
แต่ “มัชฌิมาปฏิปทา” ปราบได้ทุกชนิด
จนกิเลสทุกประเภทดับสนิทในพระทัยและสะเทือนโลก
จึงทรงประกาศธรรมนี้สอนสัตว์โลกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้


ท่านแสดงเรื่องความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็คือพูดเรื่องของทุกข์อันสำคัญ ที่เกิดขึ้นในสี่วาระ
ซึ่งล้วนเป็นเรื่อง “ทุกข์ในอริยสัจสี่” พูดอย่างนี้ก็กระเทือนไปทั่วโลกธาตุอยู่แล้ว
“ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ
,
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสาปิ ทุกฺขา”
นี้
ที่เป็นอยู่ในธาตุในขันธ์ของสัตว์ และบุคคลทั่วๆ ไป
เป็นแต่สัตว์ไม่ทราบเรื่อง “สมมุติ” กว้างขวางละเอียดลออเหมือนอย่างพวกมนุษย์เรา
ความจริงก็มีเต็มตัวเช่นเดียวกัน แต่เขาไม่ใช่สัตว์ “ขี้บ่น” เหมือนมนุษย์
ซึ่งเป็นจอมโลกในการบ่น แทบยาที่นำมารักษา สู้ไม่ได้


มนุษย์เราทราบในสิ่งเหล่านี้ได้ดี ศาสนาจึงควรแก่มนุษย์ที่จะพึงปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอนเรื่องของ “ทุกข์” เป็นอย่างนี้ๆ แก่มนุษย์ ใน “อริยสัจสี่”
ท่านแสดงไว้ใน “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” สมุทัย อริยสจฺจํ คืออะไร
?
“นนฺทิราคสหคตา ตตฺร ตตฺราภินนฺทินี เสยฺยถีทํ กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา”
ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจราคะตัณหาทั้งสามนี้
เป็นเหตุให้สัตว์ลุ่มหลงลืมตัว ไม่มีวันเวลาสร่างซา
ถ้าไม่บรรเทาหรือแก้มันเสียบ้าง พอมีความสงบเย็นใจ
ด้วยธรรมเครื่องซักฟอกหรือกำจัดให้หมดไป


สามอย่างนี้เป็นรากใหญ่ เป็นส่วนใหญ่ของกิเลสทั้งหลาย
ท่านก็แสดงว่าอยู่ที่จิตนี้ ไม่ได้แสดงว่าอยู่ที่ไหน
ผู้ฟังเมื่อเอาจิต คือผู้รู้ตั้งไว้ดีแล้ว
จะทราบความจริงที่ท่านแสดงเรื่องของกิเลส ซึ่งมีอยู่กับตัวไปทุกระยะ
มันเป็นอยู่ มีอยู่กับจิตกับกายของเรานี้ด้วยกันทั้งนั้น
เช่น “ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา” เป็นต้น
ก็คือ ร่างกายเป็นผู้เกิด ผู้แก่ แต่ใจเป็นผู้รับทุกข์ทั้งมวล
ความเกิดเป็นทุกข์ ก็หมายถึง จิตใจของผู้รับทราบนั้นเองเป็นทุกข์
ไม่ได้หมายถึงร่างกายเป็นทุกข์ ร่างกายไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร
นอกจากจิตจะเป็นผู้รับทราบให้เท่านั้น
ความรับทราบของจิต ในขณะเดียวกันก็รับความทุกข์ด้วย


ชาติปิ ทุกฺขา คือจิตผู้มาก่อกำเนิดเกิดขึ้นมา เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นผู้ทุกข์
แต่ท่านแยกออกมาว่า “สิ่งนี้เป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นทุกข์” ให้จิตได้เห็นโทษในสิ่งเหล่านี้เต็มที่
จะได้ไม่ลุ่มหลงและเป็นทุกข์ไปตาม “ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ”
คือ เกิดก็เป็นทุกข์ แก่ ชราภาพก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์
ให้เห็นโทษแห่งความทุกข์นี้
เพื่อจะได้ถอดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นนั่นเสีย ไม่ใช่เพื่ออะไร
ก็ร่างกายส่วนต่างๆ มิใช่ “ธาตุรู้” พอจะรับรู้ และเสวยเวทนา
ฉะนั้นที่ท่านว่า “ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา” จึงเพื่อจิต ผู้เป็นเจ้าของนั่นเอง
ให้รู้เท่าทันเหตุการณ์ระหว่างกายกับจิตที่เกี่ยวเนื่องกัน


ที่ท่านแสดงไว้ใน “อนัตตลักขณสูตร” ก็เหมือนกันว่า
สิ่งนั้นเสียดแทง สิ่งนี้เสียดแทง มันเป็นไปเพื่อความอาพาธ หรือเป็นไปเพื่ออะไรก็ตาม
ความเป็นไปนั้นๆ เมื่ออะไรผิดปกติ ก็เสียดแทงเข้ามาที่ใจ
เสียดแทงมาที่ใจ ใจเป็นผู้รับเคราะห์ทั้งหมด และให้เห็นโทษในสิ่งนั้นๆ ด้วย
ให้เห็นความหลงของตน ที่ไปเกี่ยวข้องผูกพันเขาด้วย


เทศน์นี้ไม่มีหนีจากจิต เทศน์อยู่ในจิตล้วนๆ เพราะเรื่องทั้งปวงเป็นเรื่องของจิต
ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้หลง ร่างกายมิใช่ผู้รู้ มิใช่ผู้หลง จึงไม่จำเป็นต้องสอนเขาให้เป็นอะไร
นอกจากเป็นร่างกาย ตามที่สมมุติให้เท่านั้น



(โปรดติดตามเนื้อหาต่อในฉบับหน้า)



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก “พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ” ใน “ศาสนาอยู่ที่ไหน”
รวมพระธรรมเทศนาโดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน.



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP