จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ตายตาไม่หลับ


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

 


370 destination


เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา
ผมได้ไปร่วมงานศพญาติธรรมท่านหนึ่งที่รู้จักกันมาหลายปีแล้ว
ซึ่งญาติธรรมท่านนี้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง
โดยที่ก่อนที่จะป่วยเป็นโรคมะเร็งนั้น เขาก็ประกอบอาชีพมีรายได้สูง
แต่ก็มีภาระทางครอบครัวที่ต้องดูแล กล่าวคือเขาหย่าร้างกับคู่สมรสแล้ว
และมีบุตรเล็กคนหนึ่งและมีพ่อแม่สูงวัยที่ต้องดูแล


เมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งแล้ว เขาได้เลือกใช้วิธีการรักษาทำคีโมและฉายแสง
ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมาก โดยจากเดิมที่มีรายได้ร่วมแสนบาทในแต่ละเดือน
และมีที่ดินส่วนตัวมูลค่าเป็นล้านบาท กลายเป็นต้องเที่ยวคอยยืมเงินเพื่อน ๆ ไปทั่ว
และต้องขายที่ดินส่วนตัวของตนเอง เพื่อนำเงินมาใช้ในการรักษา และใช้จ่าย
จนกระทั่งต่อมา เพื่อน ๆ ที่รู้จักก็หลีกหนีหาย และหลบเลี่ยงไม่รับโทรศัพท์ของเขา
เพราะว่าโทรคุยกันทีไร ก็มีแต่เรื่องยืมเงิน และช่วยกันไม่ไหวแล้ว
ในงานศพของเขานั้น คนในครอบครัวของญาติธรรมท่านนี้ได้เล่าให้ฟังว่า
ในช่วงเวลาสุดท้ายนั้น น้ำหนักตัวของเขาเหลือเพียงยี่สิบกว่ากิโลกรัม
และในเวลาที่ตาย เขาก็ตายแบบตาไม่หลับ คือตายังลืมโพลงอยู่ เอามือปิดให้ก็ไม่ปิด
โดยเข้าใจว่าเขาก็น่าจะยังเป็นห่วงบุตร และพ่อแม่ รวมทั้งปัญหาหนี้สินต่าง ๆ ที่สะสมอยู่
ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาก็ตั้งใจอย่างมากว่า ตนเองจะต้องหาย เพื่อมาทำงานใช้หนี้
และดูแลบุตรต่อไปให้เรียนจนจบ


แม้ว่าผมจะได้รู้จักญาติธรรมท่านนี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้วก็ตาม
แต่ก็เป็นแค่เพื่อนธรรมดาและไม่ได้สนิทมาก
โดยตอนที่ญาติธรรมท่านนี้เริ่มป่วย และทำคีโมและฉายแสงในช่วงแรกนั้น
ผมก็ได้ขอให้เพื่อนที่สนิทกับญาติธรรมท่านนี้
นำข้อมูลเรื่องวิธีการรักษาทางเลือกอื่นไปให้เขาด้วย
โดยได้ให้คำแนะนำว่าจะต้องวางแผนทางการเงินในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา
และค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบดูแลครอบครัวให้เหมาะสมด้วย
เพราะหากเราเลือกวิธีการรักษาที่ใช้ค่าใช้จ่ายสูงมาก
โดยที่ไม่ได้มีอะไรรับประกันได้ว่า เราจะหายแน่นอนแล้ว
ในกรณีที่เราเกิดรักษาไม่หายแล้ว ย่อมกลายเป็นว่าจะพาครอบครัวเดือดร้อนไปด้วย
แต่ว่าญาติธรรมท่านนี้ก็ไม่สนใจ และเลือกแนวทางการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงเช่นเดิม
ยกตัวอย่างว่า หากญาติธรรมท่านนี้เลือกวิธีการรักษาวิธีการอื่นที่ค่าใช้จ่ายน้อยแล้ว
แม้ว่าท้ายที่สุด เขาจะเสียชีวิตแล้ว แต่ว่าในครอบครัวก็ยังมีทรัพย์สินเหลือเป็นล้านบาท
ซึ่งก็ยังเพียงพอที่จะช่วยส่งลูกให้เรียนได้จนจบ
และแบ่งเบาภาระของพี่น้องที่เหลือในการดูแลพ่อแม่ที่สูงวัยต่อไปได้
โดยที่ไม่ได้มีหนี้สินยืมเพื่อน ๆ มาจำนวนมาก
และเพื่อน ๆ ก็จะมีกำลังช่วยนำเงินมาช่วยเหลือครอบครัวของญาติธรรมได้มากกว่านี้


แต่เมื่อตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากแล้ว
รายได้ที่หาได้มาในแต่ละเดือน ก็ต้องนำไปใช้ในการรักษา และใช้จ่าย
ที่ดินส่วนตัวที่มีอยู่ ก็ต้องนำไปขาย เพื่อนำเงินมารักษา และใช้จ่าย
โดยในช่วงที่รักษานั้น ก็มีหลายช่วงเวลาที่ทำงานไม่ได้ หรือทำงานได้น้อยมาก
ก็ทำให้รายได้ลดลง หรือไม่มีรายได้ ซึ่งก็ทำให้ต้องหยิบยืมเงินเพื่อน ๆ จำนวนมาก
ซึ่งหากย้อนเวลาได้ และทราบว่าในท้ายที่สุดแล้ว จะต้องประสบผลลัพธ์เช่นนี้
เชื่อว่าญาติธรรมท่านนี้น่าจะตัดสินใจอีกแบบหนึ่งครับ
แต่ว่าในเวลานั้น ญาติธรรมท่านนี้ก็เชื่อมั่นว่าแนวทางที่เลือกนั้นดีที่สุด และตนเองจะหาย


โดยเรื่องที่ได้เล่ามา ก็เป็นอุทาหรณ์นะครับว่า
การตัดสินเลือกแนวทางรักษาในยามเจ็บป่วยร้ายแรงนั้น
เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะหากตัดสินใจผิดแล้ว
ย่อมอาจทำให้ถึงขั้นสูญเสียทรัพย์สินเงินเก็บที่มี และนอนตายตาไม่หลับได้
ดังนี้ การที่ศึกษาข้อมูลวิธีการดูแลรักษาตัวเราไว้ล่วงหน้า
ย่อมจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากครับ


บางท่านอาจจะแย้งว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่า
พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะไม่ใช่หรือ
ผมขอตอบว่าใช่ครับ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนเช่นนั้น
แต่ว่าเราก็ต้องมีปัญญาพิจารณาสถานการณ์ด้วยว่า
สถานการณ์มันเป็นไปตามคำสอนหรือไม่
หากสละทรัพย์แล้ว สามารถรักษาชีวิตได้ ก็พึงกระทำ
แต่หากสละทรัพย์แล้ว ก็รักษาชีวิตไม่ได้อยู่ดี และนำพาครอบครัวเดือดร้อนไปด้วย
จะเป็นสิ่งที่พึงกระทำเช่นนั้นหรือ


ในกรณีนี้ หากเราได้เลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับฐานะ
และเหมาะสมกับแผนทางการเงินในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา
และค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบดูแลครอบครัวแล้ว ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
โดยท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าเราจะรักษาไม่หายก็ตาม
เราก็ยังอุ่นใจได้ว่าครอบครัวก็ยังมีทรัพย์สินเหลืออยู่ส่วนหนึ่งสำหรับใช้จ่ายต่อไป
โดยการที่เราจะตัดสินใจเลือกแนวทางรักษาเช่นนี้ได้
สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ เราพึงเจริญมรณานุสติครับ
โดยเราพึงเข้าใจว่าเราย่อมมีความตายเป็นธรรมดา
และควรเตรียมพร้อมสำหรับความตายของเรา
ไม่ใช่ว่าเราจะคิดหรือเชื่อแต่ว่า เราจะหาย เราจะรอด และเราจะไม่ตาย
โดยเราพึงคิดด้วยว่า แล้วถ้าเราไม่หาย เราไม่รอด และเราตายล่ะ จะเป็นยังไง
ดังนั้น ความรู้ในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ และวิธีการรักษาทางเลือกอื่น ๆ
รวมทั้งการพิจารณาวางแผนทางการเงินของชีวิตเรา
ซึ่งมีภาระต้องรับผิดชอบดูแลคนอื่น ๆ ในครอบครัวนั้น
ย่อมมีความสำคัญ โดยไม่ควรรอให้เกิดเหตุป่วยร้ายแรง
จึงค่อยมาศึกษา เพราะว่าย่อมจะไม่ทันการณ์เสียแล้ว


อนึ่ง ในเรื่องของการศึกษาเพื่อการพ้นทุกข์นั้น ก็เช่นกัน
ย่อมเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาไว้ล่วงหน้า เพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วน
โดยต้องใช้เวลาไม่น้อยในการศึกษา และปฏิบัติเพื่อให้เข้าใจ
ใน “เจลสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อผ้าหรือศีรษะถูกไฟไหม้แล้ว จะควรกระทำอย่างไร
?


ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อผ้าหรือศีรษะถูกไฟไหม้แล้ว
ควรจะกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความไม่ย่นย่อ
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะอย่างแรงกล้า เพื่อดับผ้าหรือศีรษะนั้น.


แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงวางเฉย
ไม่ใส่ใจถึงผ้าหรือศีรษะที่ถูกไฟไหม้ แล้วพึงกระทำความพอใจ ความพยายาม
ความอุตสาหะ ความไม่ย่นย่อ ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะอย่างแรงกล้า
เพื่อตรัสรู้อริยสัจ ๔ ที่ยังไม่ตรัสรู้ตามความเป็นจริง
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=19&A=10419&Z=10431&pagebreak=0


โดยจะเห็นได้ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปรียบเทียบให้เห็นความสำคัญเร่งด่วน
ของการใช้ความพยายามของเราในการศึกษาเรียนรู้อริยสัจ ว่ามีความเร่งด่วนอย่างยิ่ง
จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมารอให้เกิดความทุกข์ก่อนแล้วค่อยมาเรียนรู้ครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP