ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

ถ้าป่วยไม่หายเพราะเคยผิดคำอธิษฐาน จะแก้ไขได้อย่างไร



ถาม – ผมคิดว่าตัวเองป่วยเพราะเคยผิดคำอธิษฐาน
เนื่องจากเมื่อ ๒๐ ปีที่ก่อน เคยตั้งสัจจะว่าถ้าทำชั่วอีกก็ขอให้ป่วยไม่หาย
แต่แล้วก็ไปทำบาปอีกจนได้ จนต่อมาก็ป่วยไม่หายจริงๆ
อยากทราบว่าเราสามารถตัดรอนผลจากการผิดคำอธิษฐานได้ไหมครับ



ให้ตั้งความเชื่อไว้นะครับว่าการอธิษฐานมันเป็นพลังชนิดหนึ่ง
ผมเองก็เคยนะ เคยมีประสบการณ์มาเหมือนกัน
บอกว่าถ้าทำไม่ได้อย่างนั้นอย่างนี้ ขอให้ต้องรับความทุกข์
แล้วมันก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ เลยนะ คือได้เห็นความทุกข์สาหัสสากรรจ์ในชีวิต
เรื่องการอธิษฐาน เรามักเห็นเป็นเรื่องเล่นๆ
หรือว่าเป็นเรื่องที่สบาย เราผ่านได้ง่ายๆ ตอนที่อธิษฐาน
แต่ตอนที่เกิดผลแบบยืดเยื้อเป็นปีๆ นี่ เข็ดเลยนะ
คือมันไม่ใช่อย่างที่คิดนะ ชีวิตไม่ได้ง่ายอย่างนั้น


ให้ตั้งความเชื่อไว้อย่างนี้ก็แล้วกันว่าการอธิษฐาน การที่เราทำผิดอะไรไป
มันเป็นพลังชนิดหนึ่ง เป็นพลังฝ่ายลบ เป็นพลังฝ่ายอกุศล เป็นพลังฝ่ายมืด
ถ้าหากว่าเราเอาพลังที่เป็นกุศลเพิ่มเข้ามาในชีวิต
แล้วก็ขอ บอกว่าอันนี้นี่ขอสู้กับตัวเองนะ
สู้กับความผิดของตัวเอง สู้กับตัวตนที่มันไม่ดีของตัวเอง
เอาตัวตนที่มันดี เอาตัวตนที่มันมุ่งมั่นตั้งใจที่จะลบล้างความผิด
ทำให้มันเจริญขึ้นมาในตัวเรา กลายเป็นตัวจริงๆ ของเราก่อนตายให้ได้
ในที่สุดมันก็จะเห็นผลเหมือนกัน



คือเอาคำของพระพุทธเจ้าเป็นหลักยืนยันให้เกิดความสบายใจ ให้เกิดแรงบันดาลใจก็ได้
ท่านเคยตรัสไว้ว่าให้คิดว่าบาปเก่าเหมือนกับก้อนเกลือก้อนหนึ่ง
ถ้าหากว่าเราใส่ก้อนเกลือนั้นลงในแก้วเล็กๆ แล้วเทน้ำลงไป
เกลือก็ยังเค็มอยู่ น้ำกินเข้าไปมันยังเค็มปี๋อยู่
แต่ถ้าเปลี่ยนภาชนะให้ใหญ่ขึ้น เอาถังใหญ่ๆ มา ใส่เกลือก้อนเท่าเดิมลงไป
น้ำที่มีปริมาตรเท่ากับถังใหญ่ มันย่อมให้ความรู้สึกว่าเค็มน้อยลง
แต่ทีนี้ถ้าเราหนักขึ้นไปอีก เอาโอ่งมาโอ่งหนึ่งเลย แล้วใส่น้ำให้เต็ม
แล้วหย่อนเกลือก้อนเดียวกันลงไป
เราจะรู้สึกว่าแทบไม่ได้รสความเค็มเลย ได้อยู่แค่นิดๆ
แล้วถ้าหนักขึ้นไปกว่านั้นอีก มันใหญ่ขึ้นไปได้เรื่อยๆ ปริมาตร
เห็นไหมภาชนะที่มีปริมาตรที่มันมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างเช่นเอาแทงก์พันลิตรเลย เอามาใส่ก้อนเกลือลงไป
คราวนี้ไม่ได้รสเค็มแล้ว ทั้งๆ ที่เกลือก็ยังเป็นเกลือก้อนเดิม เกลือยังมีรสเค็มอยู่อย่างนั้น
แต่เนื่องจากว่าเราเอาปริมาตรของน้ำโถมทับเข้าไปจนกระทั่งมันเหมือนหายไป


อันนี้มันไม่ใช่ว่าทำให้ก้อนเกลือหายไป
แต่ทำให้รสเค็มของเกลือเจือจางจนกระทั่งไม่เหลืออยู่
อันนี้ก็เหมือนกันที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส
ถ้าหากว่าเรามีกำลังใจ มีแรงบันดาลใจมากพอ
เคยไปรู้สึกผิดอะไรมาก็แล้วแต่ เคยทำพลาดอะไรมาก็แล้วแต่
เคยผิดคำอธิษฐาน ผิดคำสัจจะของตัวเองอย่างไรก็แล้วแต่
ให้ตั้งความเชื่อไว้ว่านั่นเป็นก้อนเกลือก้อนหนึ่ง
ถ้าหากว่าชีวิตที่เหลืออยู่ของเราใช้ไปในทางที่จะทำให้ก้อนเกลือนั้นมันเจือจาง
ใส่น้ำเข้าไปเยอะๆ เอาความดี ทำความดีตั้งแต่เช้าจรดเย็นแบบไม่คิดชีวิต
แล้วก็ตั้งไว้ในใจว่าขอให้รสเค็มของก้อนเกลือนั้นมันจางลงๆ จนกระทั่งไม่เหลือ
ในที่สุดเราก็จะรู้สึกว่าความสุขความสดชื่นอันเกิดจากการทำบุญ
ตั้งหน้าตั้งตาชดใช้ความผิด มันเกินความรู้สึกเป็นทุกข์


คืออาการทางใจมันมาก่อน ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ธรรมทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ
เมื่อใจของเรารู้สึกเป็นสุขขึ้นมาได้จากการทำบุญเป็นปกติ
มีแต่คิดให้ ให้เปล่า มีแต่คิดจะรักษาศีลให้สะอาดหมดจด
จะจุกอกตายอย่างไร เราก็รักษาศีลก่อน
นอกจากนั้นก็เจริญสติบ้างเท่าที่จะทำได้

เมื่อบุญประกอบพร้อมทั้งทาน ศีล และการเจริญสติ
จนกระทั่งใจมันรู้สึกปลอดโปร่ง ใจมันรู้สึก มันเหมือนลืมๆ ความรู้สึกผิดตรงนั้นไป
คุณจะพบว่าอาการทางกาย อาการที่มันยืดเยื้อทางกาย
ถ้าหากว่ามันตรงกันจริงๆ ไม่ใช่เราเข้าใจไปเองนะ
ถ้ามันตรงกันจริงๆ ว่าตอนนี้เราป่วยไม่หายเพราะคำอธิษฐาน แล้วเราไปผิดคำอธิษฐาน
ร่างกายมันจะค่อยๆ แสดงความปลอดโปร่งมากขึ้น
อย่างถ้าอธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า
มันหลั่งสารดีๆ อะไรออกมา เอ็นดอร์ฟิน (
Endorphin) อะไรพวกนั้น
ให้ร่างกายมันมีความสุข กล้ามเนื้อมันผ่อนคลาย
พอกล้ามเนื้อผ่อนคลาย เลือดลมมันก็จะเดินดีทั่วร่างกาย
ตรงนี้โรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเวรโรคกรรม
มันก็จะค่อยๆ ถูกปลิดทิ้งไปทีละกระบิๆ จนกระทั่งมันหาย หายขาดได้


อันนี้ก็เป็นวิธีเดียวที่เราจะคิดได้แบบพุทธนะครับ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกรรมและผลแห่งกรรมเป็นอจินไตย วิบากกรรมเป็นอจินไตย
คือหมายถึงว่ารู้ได้ต่อเมื่อมีอภิญญา ชั่งน้ำหนัก ชั่งตวงวัดได้
ว่าอันไหนบุญ อันไหนบาป อันไหนหนักกว่ากัน
แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปไปนึกๆ คิดๆ เอา มันคิดไม่ออกนะ มันคิดไม่ได้
มันไม่สามารถพยากรณ์ได้ ไม่สามารถรับรองได้ว่าทำแค่ไหนมันถึงจะหาย
เอาเป็นว่าพยายามทำให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พยายามดีที่สุดเท่าที่จะดีได้
นี่ตรงนี้แหละคือที่สุดนะครับที่เราจะเติมน้ำตามหลักของพระพุทธเจ้า
เพื่อละลายหรือเจือจางรสเค็มของเกลือ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP