จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๖๙ ปล่อยวาง หรือ สร้างภาพ



369 talk


หลายคนอ่านธรรมะของครูบาอาจารย์
แล้วจำข้อสรุปสั้นๆได้ขึ้นใจข้อเดียว คือ ‘ปล่อยวาง!’
ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น พอเจอเรื่องหนักอก
ก็จะนึกถึงอาการที่ใจเคยปลดภาระ
หรือปลงตกกับปัญหาหนักอึ้งบางอย่างได้มาก่อน


แล้วพยายามเลียนแบบอาการนั้น
พูดง่ายๆ คือ พยายามเลียนแบบความเบาใจ
หรือความโล่งอกในอดีต
พอรู้สึกเบาลงได้นิดหนึ่ง
ก็สรุปว่าตนเองปล่อยวางแล้ว
ทำตามหลักการปฏิบัติธรรมขั้นสูงในพุทธศาสนาแล้ว


ที่จะปล่อยวางในแบบ ‘วางได้จริง’ นั้น
ไม่อาจเป็นไปได้ด้วยการนึกเอา
ไม่อาจเป็นไปได้ด้วยการแกล้งทำใจปลงตก
และไม่อาจเป็นไปได้ด้วยการสอนตัวเองด้วยเหตุผล
เพราะเหล่านั้น ยังเป็นเพียงการทำงานของสมอง
สมองปล่อยไป แต่ใจยึดอยู่ มันก็ไม่จบ
สำรวจใจตัวเองได้ รู้สึกด้วยใจตัวเองได้


ขอให้สังเกตจากของจริงในตน
สมองคนเรา ฉลาดคิดได้ชั่วคราว
เมื่อใดจัดระบบความคิดให้เป็นระบบได้
ก็รู้สึกดี รู้สึกเหมือนเข้าใจ รู้สึกเหมือนเข้าเป้าแล้ว
แต่เมื่อใดสมองเข้าโหมดคิดสุ่ม
ดึงเรื่องไม่ดีเก่าๆมาเข้าหัวให้สับสนอีก
ก็กลับไปกลับมา เปลี่ยนเป็นรู้สึกแย่
รู้สึกเหมือนไม่เข้าใจอะไรเลย
รู้สึกเหมือนย่ำอยู่กับที่ ไม่เคยออกจากจุดเริ่มต้นสักที


ในทางพุทธ เมื่อกล่าวถึงการเจริญสติ
พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าเป็นการ ‘ฝึกจิต’
ข้ามพ้นจากการฝึกสมอง
กล่าวคือ เมื่อใดสามารถดัดจิตให้ตรงด้วยศีลและสมาธิ
ก็จะสามารถใช้จิตที่ตรงแล้วนั้น
ไปรู้ความจริงทางกายใจที่กำลังปรากฏอย่างต่อเนื่อง
ลมหายใจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
สุขทุกข์เปลี่ยนไปเรื่อยๆในแต่ละลมหายใจ
สภาพจิตเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามอาการสุขทุกข์
ความนึกคิดปรุงแต่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามสภาพจิต
เรรวนบ้าง มั่นคงบ้าง สลับๆกันไป
ไม่เห็นอันไหนน่ายึดเป็นตัวเป็นตนสักอย่าง
นั่นแหละ! อาการปล่อยวาง เลิกยึดมั่นถือมั่น
จึงเกิดขึ้นจริง ไม่แอบหนัก ไม่แอบเก็บกด


กล่าวโดยย่นย่อ
ถ้านึกถึงความเบาชั่วอึดใจเดียว
แบบนั้นคือสมองคิดแกล้งปล่อยวางชั่วคราว
แต่ถ้าระลึกถึงความไม่เที่ยงในกายใจไปเรื่อยๆ
แบบนั้นจิตจะค่อยๆสว่าง ค่อยๆฉลาด
สะสมอาการรู้จริงทีละครั้ง ทีละหน
จนถึงจุดหนึ่งที่ปล่อยวางจริงได้ถาวร!


ดังตฤณ
ตุลาคม ๒๕๖๖







review

เราควรใช้เวลาในชีวิตให้มีประโยชน์สูงสุด
และควรประกอบการงานอย่างเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยด้วย
ดังความตามพระธรรมเทศนา โดย พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
เรื่อง "คุณค่าของเวลา" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" (-/
\-)


หากเจ็บป่วยเรื้อรังป่วยเพราะเคยผิดคำอธิษฐาน
จะสามารถตัดรอนผลกรรมนี้ได้ด้วยวิธีใด
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ถ้าป่วยไม่หายเพราะเคยผิดคำอธิษฐาน จะแก้ไขได้อย่างไร"


หากต้องพบภาวะตลาดคริปโตและตลาดหุ้นที่ไม่เป็นไปดังใจ
นักลงทุนจะวางใจอย่างไรให้ผ่านช่วงเวลาดังกล่าวไปได้
ติดตามได้จากกรณีศึกษาในตอน "โลกนี้มีทั้งหมีและกระทิง"
ในคอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ" ค่ะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP