จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว Lite Talk

ฉบับที่ ๓๖๘ แก้ปมจากคนที่คุณเกลียด



368 talk


ตาต่อตา ฟันต่อฟัน
จัดเป็นวิธีแก้ปมเก่าเพื่อสร้างปมใหม่
แก้ทุกข์ให้ตัวเองด้วยการสร้างทุกข์ให้คนอื่น
โดนมาอย่างไร ก็เล่นงานกลับไปอย่างนั้น
ด่ามาด่ากลับ เตะมาเตะกลับ
หรือโดนใครหักอกเจ็บใจ ถ้าไม่มีดีพอจะทำให้เจ็บใจคืน
ก็คิดทำให้เขาเจ็บตัวกลับอย่างสาสม
ผูกเวรกันไป จองเวรกันมา หาที่สุดไม่เจอ


ธรรมดาคนเราจะไม่คิดฝึกจิต
ถ้ามองอย่างเป็นเครื่องฝึกจิต
ความรู้สึกทั้งหมดจะพลิกกลับ
เมื่อใครบางคนกลายเป็นที่ตั้งของการฝึกหัด
ความตั้งใจนั้น จะช่วยให้มองย้อนเข้ามาที่ตัว
รู้สึกเข้ามาที่ใจ รู้จักเทียบวัด
เห็นจิตของตัวเองดีขึ้นหรือแย่ลงได้
อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


#วิธีที่ดีที่สุดที่จะรู้สึกดีขึ้นทันที
#คือมองคนที่คุณเกลียดเป็นเครื่องฝึกจิต


ฝึกจิต
ไม่ใช่การฝืนใจ ไม่ใช่การข่มใจ
ไม่ใช่การพยายามไปทำรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
ที่ไม่ถูกกับเรา


การฝึกจิตแบบพุทธ
มีบันไดให้ปล่อยวางเป็นขั้นๆ
รู้ว่าปล่อยจริงด้วยการใช้ ‘ใจ’ เป็นเครื่องชี้วัด


ที่พระพุทธเจ้าประทานแนวทางไว้ คือ
เมื่อใดที่รู้ตัวว่าเกิดความพยาบาท
คิดถึงใครบางคนแล้วเจ็บใจ อยากแก้แค้น
ให้พิจารณาว่า สภาพดังนั้น คือโรคเรื้อรังทางใจ
ถ้าหายจากโรคร้ายได้คงจะดี
เมื่อเกิดสติ คิดได้เช่นนั้นบ่อยๆ
ณ จุดเกิดทุกข์ทางใจ
ก็ย่อมมีแก่ใจอยากทิ้งความหวงทุกข์
อยากทิ้งพยาบาท
และนั่นเองคืออาการของ ‘อภัย’


ถ้าเห็นอาการหงุดหงิดงุ่นง่านอยากแก้แค้นเอาคืน
เป็นความป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง
แล้วละอาการป่วยเสียได้
เป็นสุขกับจิตที่หายป่วยได้
ไม่คิดเล็กคิดน้อยเรื่องเป็นฝ่ายถูกกระทำให้ช้ำใจ
คิดแต่เรื่องใหญ่คือใจไม่ทำร้ายตัวเองซ้ำ
อันนั้นถือเป็นการปล่อยวางเต็มขั้นในระดับอภัยทาน


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


คนอื่นเป็นแค่เครื่องล่อ
ให้คุณทำตัวเอง
เป็นขาว หรือเป็นดำ
เป็นสุข หรือเป็นทุกข์
ไม่มีใครเป็นเป้าฝึกจิตได้เหมาะเท่าคนที่คุณเกลียด


ดังตฤณ
กันยายน ๒๕๖๖









review


พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงไปยาวนาน
ตราบเท่าที่พุทธบริษัท ๔ ยังคงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตามพระธรรมคำสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ดังความตามพระธรรมเทศนา โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
ตอน "ช่วยกันรักษาวงศ์สกุลพระพุทธศาสนา" ในคอลัมน์ "สารส่องใจ" (-/
\-)


มีวิธีใดที่ทำให้ทราบว่าสิ่งที่เราเชื่อเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
และทำอย่างไรจึงจะมีวิธีคิดที่ดีกว่าเดิม
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "จะทราบได้อย่างไรว่าเรากำลังหลอกตัวเองอยู่หรือไม่"


หากสวดมนต์แล้วขอพรให้ได้สิ่งที่ต้องการ
แต่ก็ไม่ได้ตามที่ขอ ทำอย่างไรจึงจะไม่ทุกข์ใจ
ติดตามได้จากกรณีศึกษาในตอน "สุขได้ไม่ต้องขอ"
ในคอลัมน์ "โหรา (ไม่) คาใจ" ค่ะ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP