ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

จะทราบได้อย่างไรว่าเรากำลังหลอกตัวเองอยู่หรือไม่



ถาม - เราจะรู้ได้อย่างไรคะ ว่าเรากำลังหลอกตัวเองอยู่หรือเปล่า     


อันนี้จริงๆ เหมือนกับถ้าหากว่าดูเผินๆ มันเหมือนกับน่าจะรู้นะ มันก็น่าจะรู้ๆ อยู่
แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว สำหรับบางคนมันก็ไม่ง่ายเหมือนกัน
ทีนี้ผมให้หลักการไว้ ๒ ข้อคร่าวๆ
ข้อแรกคุณดูว่าคุณขัดแย้งกับคนทั่วไปแค่ไหน
คืออย่างเรื่องบางเรื่อง โอเค อาจเป็นเรื่องส่วนตัว
แต่ใครกี่คนที่ใกล้ชิดกับคุณ เอาเฉพาะที่เขารักคุณ หวังดีกับคุณ พูดเหมือนกันหมดเลย
มันไม่ตรงกับที่คุณคิดน่ะว่าเรากำลังคิดอย่างนี้นี่มันถูกต้อง
ยกตัวอย่างบอกว่าบางคนนะบอกว่าฉันทำบาปมา
ฉันแก้ตัวไม่ได้แล้วทั้งชีวิตนี้ ไม่มีทาง ฉันเป็นคนบาป
แต่คนอื่นเขามองว่าคุณนี่จริงๆ แล้ว โอ้โห! มันทำบุญมาก็ไม่ใช่น้อยๆ
แล้วบาปที่ทำก็ไม่ได้สาหัสสากรรจ์อะไร
มันยังสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ มันยังเหลือเวลาอีกตั้งเยอะ
เขาพูดแบบนี้เหมือนกันหมดเลยนะ แต่มีคุณอยู่คนเดียวคิดว่าเปลี่ยนไม่ได้แล้ว



อันนี้ก็คือตอนที่เชื่อตัวเองมันก็จะไม่ฟังใครหรอก
แต่คำถามนี้ตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรเราจะรู้ว่าเราหลอกตัวเองอยู่นะ
เราปักใจอะไรทึกทักอะไรที่มันเหลวไหลไปเองคนเดียว ก็ดูจากตรงนี้
อันนี้ข้อแรกก่อนเลยนะว่าคนที่เขาใกล้ชิดคุณจริงๆ เขาหวังดีกับคุณจริงๆ
เขาเห็นต่างจากที่คุณคิดคุณเชื่อแค่ไหน

เพราะบางทีสายตาภายนอกมันเห็น เห็นได้ชัดว่าคิดแบบนี้เพี้ยนแล้ว คิดแบบนี้ไม่ถูกแล้ว
แต่เราเองไม่สามารถที่จะเห็นด้วยใจที่มันแยกออกไปราวกับบุคคลที่สองมองเข้ามา
เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ลองดูว่าคนอื่นเขาพูดอย่างไร



อันที่สองคือคุณต้องมีความสามารถในการเจริญสติ
ถึงระดับหนึ่งที่จิตมีความเป็นกลางจริงๆ
เหมือนเปรียบเทียบเรายืนอยู่ที่เนินเขาหรือว่าเชิงเขา อยู่ในที่ราบที่ต่ำ
เราจะเห็นมุมมองหนึ่งแล้วมันไม่สามารถเห็นมุมมองอื่นได้
แต่พอย้ายขึ้นไปยืนอยู่บนยอดเขา อ้าว! มันผิดกับที่คิดเยอะเลย
บอกว่าสถานที่หรือว่าภูมิทัศน์รอบด้านนี่มันน่าจะอย่างนั้นอย่างนี้
พอไปยืนอยู่บนยอดเขา ไม่ใช่อย่างที่คิดเลย ไม่ใช่อย่างที่เดาไว้ตั้งแต่ต้น
มันมีรูปมีร่างอะไรที่แตกต่างไป มันมีความกว้าง
มันมีความเวิ้งว้างอะไรบางอย่างที่คุณไม่เคยสัมผัสมาก่อน
อันนี้ก็เหมือนกันถ้าเรามีความสามารถที่จะเจริญสติ
จนกระทั่งจิตมันเข้าสู่โหมด (
mode) เป็นกลาง ไม่เข้าข้างตัวเอง
ไม่มีอคติคิดตามที่ใจมันเหมือนกับหลอกให้คิดเราจะเห็นอะไรอีกอย่างหนึ่ง


ยกตัวอย่างนะครับบางคนเชื่อจริงๆ นะว่าความทุกข์สาหัสที่เกิดขึ้น
บางคนเชื่อว่ามาจากกรรมเก่า แก้ไม่ได้
บางคนเชื่อว่ามาจากเคมีในสมองต้องกินยาเท่านั้น
แล้วก็คือจะไปมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอะไรแค่ไหน ไม่มีผลเลย ต้องยาอย่างเดียว
มันมีสาเหตุมาจากสมองฉันผิดปกติ ฉันก็เลยแก้ไขอะไรไม่ได้
ฉันไม่สามารถที่จะเอาชนะข้อจำกัดหรือว่าเพดานของตัวเองได้ ต้องทนอยู่อย่างนี้ท่าเดียว
หรือบางคนไปปักใจเชื่อว่านี่มันเป็นเรื่องของภูติผีปีศาจ มันเป็นเรื่องของไสยศาสตร์
อันนี้คือตัวอย่างแบบง่ายๆ นะ
ว่าบางทีเราไปปักใจเชื่ออะไรบางอย่างที่มันไม่ตรงกับต้นตอปัญหาทั้งหมด
ต้นตอปัญหาทั้งหมดบางทีมันมาจากวิธีคิด


ซึ่งถ้าเราเจริญสติไปจนกระทั่งจิตเลิกหลงยึดวิธีคิดตรงนี้
คือมีสติมีความสว่างของจิตเห็นว่าความคิดมันเป็นเพียงสิ่งห่อหุ้ม
มันเป็นเพียงของเข้ามากระทบชั่วคราวแล้วหายไป
จนกระทั่งจิตมันมีความเด่นดวงอยู่ ไร้ความคิด
พอความคิดกลับเข้ามามันถึงเห็นว่าความคิด จริงๆ เดิมมันไม่ต้องเป็นของเราก็ได้
มันเป็นของข้างนอกเข้ามากระทบจิตแล้วเรายึด เราไปเชื่อตามวิธีคิดแบบนั้น
มันถึงเกิดความเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา
ราวกับว่าเราเองเป็นเจ้าของความคิด แล้วความคิดนั้นคือตัวเราแน่ๆ
แต่พอถึงจุดที่จิตมันเกิดความชัดเจนแจ่มกระจ่างว่าความคิดไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน
ไม่จำเป็นต้องเป็นของเราเสมอไปก็ได้ ไม่จำเป็นต้องคิดแบบนี้เสมอไปก็ได้ คิดทางอื่นก็ได้
ตัวนี้แหละมันเหมือนถูกปลดปล่อย เหมือนนกที่เป็นอิสระจากกรงแคบๆ ขึ้นมา
แล้วจะเห็นไปอีกอย่างหนึ่งเลยว่าที่คิดมาทั้งหมด จริงๆ มันไม่ตรงความจริง



เพราะฉะนั้นคือถ้าจะรู้ว่าเราหลอกตัวเองหรือไม่หลอกตัวเอง
เปรียบเทียบเอาจากตรงนั้น
ถ้าหลอกตัวเองนะมันจะเห็นด้วยจิตที่เป็นกลางแล้วนะครับ
ว่าความคิดแบบนี้ วิธีคิดแบบนี้มันพาไปสู่ความหลงผิด มันพาไปสู่ความรู้สึกอึดอัด
ทุกครั้งที่คิด มันจะเป็นการคิดด้วยความรู้สึกที่สุขเกินๆ หรือไม่ก็ทุกข์เกินๆ ไม่สมเหตุสมผล
แล้วก็พอเรามีสติ เห็นว่าวิธีคิดอีกแบบหนึ่งมันทำให้สบายใจกว่ากัน
มันทำให้รู้สึกว่า เออ
! ที่เรียกว่าความจริงมันต้องอย่างนี้
เป็นความจริงที่ปลดปล่อยจิตจากความอึดอัดได้
คือข้อสองที่ผมว่าเรื่องใช้การเจริญสติเข้ามาช่วยเป็นไม้บรรทัดวัด
มันไม่ใช่ว่าทำแป๊บเดียวแล้วได้
มันไม่ใช่ว่าทำแป๊บเดียวแล้วรู้ว่าที่ผ่านมาเราหลอกตัวเองมาตลอด
มันต้องถึงขั้นที่จิตนี่เปลี่ยนแปลงไประดับหนึ่ง
อย่างที่ผมยกเปรียบเทียบอุปมาอุปไมย
เหมือนกับย้ายตัวเองจากเนินเขาไปสู่ยอดเขาให้ได้ก่อน
มันถึงจะเห็นอะไรที่แตกต่างไปนะครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP