สารส่องใจ Enlightenment

เหตุใดท่านที่บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว จึงยังคงปฏิบัติข้อวัตรต่างๆ



วิสัชนาธรรม โดย หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร




ปุจฉา (๑) – หลวงปู่ครับ... ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว
ผ่านความยากลำบากทุกข์แสนสาหัสแล้ว
แต่ท่านยังขยันในการปฏิบัติข้อวัตร มีสมาธิภาวนาเดินจงกรม บิณฑบาต เป็นต้น
ท่านทำเพื่ออะไรครับ ในเมื่อจิตท่านบริสุทธิ์แล้ว
และการที่ท่านครองธาตุขันธ์อยู่นี้
ท่านเป็นผู้มีสติสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ใช่ไหมครับ ท่านจะหลงลืมได้ไหมครับ



วิสัชนา (๑) – ท่านผู้พ้นทุกข์แล้วเช่นครูบาอาจารย์
ท่านทำข้อวัตร เดินจงกรม ภาวนา รักษาข้อวัตรไว้ ท่านทำเพื่ออะไร...
ทำเพื่อเป็นที่อยู่ของขันธวิบาก และทอดสะพานให้อนุชนรุ่นหลังโดยโต้งๆ
ไม่ได้หวังว่าจะละกิเลสไปในตัว เพราะข้ามไปหมดแล้ว
… เออ … ท่านอยู่ด้วยวิหารธรรมนั้นใช่แล้ว
และท่านก็มีการหลงลืมอยู่บ้าง เช่น ลืมปราศจากไตรจีวรเป็นต้น
และลืมเก็บเภสัชไว้เกิน ๗ วัน แต่ก็ห่างที่สุดเท่ากับไม่บ่อย
ในเวลาท่านลืมอย่างนั้นท่านไม่ได้เป็นอาบัติอะไรเลย
ถ้าหากว่ามีผู้โจทก์ฟ้องท่าน คณะสงฆ์ก็ให้สติวินัย แล้วก็หมดเรื่องไป
แต่สติของท่านสมบูรณ์กว่าคนธรรมดาหาที่เปรียบไม่ได้
แต่ถึงอย่างนั้นก็ลืมสติดังกล่าวแล้วนั้น
เหตุนั้นวิธีระงับอธิกรณ์พระอรหันต์ จึงให้สติวินัยดังกล่าวแล้วนั้น
คำว่าให้สติวินัยนั้นให้อย่างไร
คณะสงฆ์ให้ว่าท่านจงมีสติเน้อ … เท่านั้นก็เป็นใช้ได้




- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -




ปุจฉา (๒) - มีผู้สอนศาสนาบางคนเขาสอนว่าเฉยๆ เป็นโมหะ
แล้วเฉยอย่างไรเจ้าค่ะ จึงจะเป็นเฉยในโลกุตร
ถ้าเราชอบความว่างก็จะกลายเป็นอรูปฌานอีกใช่ไหมเจ้าค่ะ



วิสัชนา (๒) – คำว่าเฉยก็ดี ก็คือใจเป็นผู้เฉย
ไม่สำคัญว่าตนเป็นเฉย เฉยเป็นตน เป็นแต่สักว่าเฉย
แล้วมันก็ปล่อยเฉยอยู่ในตัวแล้วเพราะรู้เท่าทัน
ถ้าไม่ว่าเรารู้เท่าทัน ก็ใช้คำว่า “ปัญญารู้ทัน”
และบางแห่งพระบรมศาสดาก็บอกว่ามีสติกับอุเบกขาวางเฉยต่อสังขารทั้งปวง
เป็นการทำลายความโง่ไปในตัวที่เรียกว่า อวิชชา เป็นทางโลกุตรด้วย



อนึ่ง มันก็มีเฉยหลายอย่าง เฉยเกียจคร้านทำงานทำการมันก็เป็นโมหะ
การงานในที่นี้หมายเอาปัญญาภาวนาที่เรียกว่า “วิปัสสนา”
เห็นสังขารเกิดดับพร้อมกับลมออกเข้าแล้ววางเฉย
จะเรียกว่าโมหะไม่ถูกเพราะพักปัญญาชั่วคราว ไม่ได้หวังว่าจะแอบกินอยู่ที่นั้น


และเมื่อเราชอบความว่าง เป็นอรูปฌาน เป็นก็มีไม่เป็นก็มี
ที่ไม่เป็นนั้นคือความว่างจากเรา จากเขา จากสัตว์ จากบุคคลนั้น
มันเป็นว่างที่มีปัญญา รู้ชอบ เรียกว่ารู้ตามเป็นจริงแห่งปัญญา
และก็ไม่สำคัญว่าว่างนั้นเป็นตน ตนเป็นว่างด้วย
ถ้าไม่สำคัญอย่างนั้นกิเลสก็แตกกระเจิงไปหมดแล้ว ไม่ใช่อรูปฌานเลย....



ที่เป็นอรูปฌานนั้น
เพราะไม่มีปัญญาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สัมปยุตอยู่ในขณะเดียว
ก็เลยกลายเป็นอรูปฌาน
อรูปฌาน ๔ นั้นโดยใจความคือไม่เห็นอนัตตาธรรมนั้นเอง
และก็เข้าใจว่าอรูปฌานนั้นเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนอยู่
เหมือนพวกอาฬารดาบส เป็นต้น




- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


คัดจาก หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓


แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP