ดังตฤณวิสัชนา Dungtrin's Answer

วิธีเจริญมรณสติก่อนนอนอย่างถูกต้อง



ถาม – เมื่อนานมาแล้วดิฉันเคยฝึกดูลมหายใจก่อนนอน
โดยจะมีอยู่ ๒-๓ ครั้งที่สะดุ้งตื่นเพราะเสียงรบกวนภายนอก
และบางครั้งก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้หายใจ
ซึ่งไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่ที่แน่ๆ ก็คือรู้สึกกลัวตายขึ้นมา
พอเกิดแบบนี้ ๒-๓ ครั้ง ดิฉันจึงไม่ดูลมหายใจอีกเลย
จนเมื่อได้อ่านบทความของคุณดังตฤณ ที่มีใจความว่า
“ลมที่กำลังเข้ากำลังออกอยู่ มันจะมีอยู่วันหนึ่งที่มันออกไปแล้ว แล้วมันจะไม่เข้ามาอีกเลย”
ทำให้ดิฉันอยากจะฝึกเจริญมรณสติอีกครั้ง
จึงขอเรียนถามว่าการเจริญมรณสติก่อนนอน ต้องปฏิบัติอย่างไรคะ


เริ่มต้นขึ้นมาด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องก่อน
อย่าคาดหวังว่าเราจะได้เห็นอะไรแบบพิสดาร
หรือว่ามีความตายปรากฏให้ดูเป็นภาพกระจ่างชัด
ตั้งความคาดหวังแค่นี้ก่อนว่า เราจะค่อยๆ หยอดกระปุกคืนละบาท
คำว่าหยอดกระปุกหมายถึงอะไร คือเห็นไปแค่นิดๆ หน่อยๆ พอ
เอาแบบที่เราสามารถเห็นได้ชัดๆ ตอนนี้เลย
เราเอาแค่ความเห็นว่า นี่ หายใจเข้าแล้วถ้าไม่หายใจออก
มันอาจจะเป็นสภาพเดียวกันกับที่เราจะต้องเจอ
ไม่ใช่อาจจะหรอก มันต้องมีภาวะที่ว่าเราหายใจเข้าครั้งสุดท้าย
หายใจออกครั้งสุดท้าย แล้วจะไม่หายใจเข้ามาอีกเลย
แค่คิดอย่างนี้ว่าวันหนึ่งมันจะต้องมีภาวะอย่างนี้เกิดขึ้น
แค่นี้เรียกว่าหยอดกระปุกแล้ว



หรือถ้าคืนต่อๆ มาเกิดความรู้สึกว่าร่างที่ทอดนอนอยู่อย่างนี้
มันเป็นท่าเดียวกันกับท่าของร่างกายที่มันไม่มีวิญญาณอยู่แล้ว
แบบที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าพอวิญญาณดับไป เราทิ้งร่างนี้ไป
มันก็วางเป็นขอนไม้นอนอยู่บนโลกนี้ นอนอยู่บนแผ่นดิน นอนทับแผ่นดินอยู่
โดยที่ไม่สามารถกระดุกกระดิก ไม่สามารถที่จะขยับเขยื้อนอะไรได้อีก
แค่นึกถึงภาวะของศพ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้หายใจอีก
หรือว่าท่านอนที่ไม่สามารถกระดุกกระดิกได้อีก
เท่านี้ก็จัดว่าเป็นการจำลองภาพความตายขึ้นมาในห้วงมโนทวารแล้ว

ซึ่งจิตลึกๆ มันรู้ว่ายังไม่ตาย แต่มันจะได้นึกถึงบรรยากาศ
ของภาวะทางกายและภาวะทางจิตของคนตาย ว่ามันจะประมาณนี้


ทีนี้คือเรื่องของเรื่องนะ อย่างหลวงพ่อพุธ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) เคยเล่าให้ฟังว่า
ท่านก็เจริญมรณสติ เจริญสมาธิตามปกติ
พอคืนหนึ่งท่านนอนไป ท่านก็ได้ดี ท่านก็ได้ดิบได้ดี
จากการที่จิตมันเข้าฌาน พอถึงฌานแล้ว มันก็ลอยขึ้นเหนือร่าง
แล้วมองย้อนกลับมาเห็นร่างนี่แสดงความเน่าเปื่อยผุพัง
คือนิมิตนั้นไม่ใช่ของที่มันเกิดขึ้นจริงๆ
แต่ว่ามันเป็นภาวะธรรมชาติของกาย ที่มันจะต้องเป็นไปอย่างนั้นจริงๆ
คือไม่ใช่ของจริงที่เน่าเปื่อยผุพังเดี๋ยวนี้ แต่เป็นธรรมชาติที่มันจะต้องเกิดขึ้น
แล้วแสดงให้จิตเห็น แล้วจิตของท่านพอเห็นร่างกายเน่าเปื่อยผุพัง
แล้วก็กลับรวมร่างเข้ามาใหม่ แล้วก็เน่าเปื่อยผุพังอีก
ย้อนไปย้อนมา ย้อนไปย้อนมา จนกระทั่งจิตของท่านอิ่ม
อิ่มในธรรมชาติภาวะของร่างกายที่จะต้องเน่าเปื่อยผุพังเป็นธรรมดา
เดี๋ยวก็ต้องเกิดมาใหม่ รวมร่างขึ้นมาใหม่
จิตท่านก็พ้นจากความยึดว่าร่างกายนี้เป็นของท่าน
ตรงนี้ก็คือสิ่งที่ท่านเล่าบ่อยมาก ผมไปบวชกับท่าน ได้ยินบ่อยมาก
คือบวชกับท่านแค่สองเดือนแต่ว่าได้ยินบ่อยมากเลย
ท่านก็เล่าเป็นประจำ เล่ามาตลอด


ทีนี้อย่างถ้าอยู่ในช่วงเริ่มฝึก
คือไม่ต้องไปคาดหมายถึงจุดสุดท้ายตรงนั้น เอาแค่ตรงที่เราสามารถรู้สึกได้
ถึงบรรยากาศของสภาพกายสภาพใจที่วันหนึ่งมันจะต้องตาย มันจะต้องดับ
แค่คิดอะไรแค่เล็กๆ น้อยๆ แค่นี้ อย่าไปพยายามทำให้เกิดสมาธิ
เพราะว่าไปเพ่งมากๆ เดี๋ยวมันนอนไม่หลับ






ถาม - ก็คือให้เริ่มจากคิดเบาๆ แบบนี้


หยอดกระปุกก่อน คิดว่าหยอดกระปุก






ถาม - แล้วคำพูดที่บอกว่าซ้อมตายก่อนตาย มันมีความหมายว่าอย่างไรคะ


แล้วแต่ใครจะคิดออกนะ
ซ้อมตายอะไรต่างๆ ก่อนตายจริงอะไรต่างๆ มันก็เป็นคำพูดหนึ่ง
คือจริงๆ แล้วก็มาจินตนาการเอา คนส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีสมาธิดีพอ
ทีนี้อย่างที่บอกคุณก็คือว่าถ้าเริ่มหยอดกระปุกด้วยวิธีนี้
มันเอาสภาวะทางกายจริงๆ เป็นเครื่องตั้ง เป็นเครื่องอ้างอิง
เอาลมหายใจจริงๆ ที่มันเกิดขึ้นเป็นเครื่องอ้างอิง
เพราะฉะนั้นถ้ามันจะคลี่คลาย มันจะพัฒนาต่อไป
มันก็จะอิงจากของจริงไม่ใช่จากจินตนาการ


ส่วนใหญ่ที่บอกซ้อมตายก่อนตาย
คือมาจากครูบาอาจารย์ใหญ่ ท่านพุทธทาสบ้าง อะไรบ้าง
ซึ่งระดับจิตของท่านก็จะเห็นได้มากกว่าคนปกติทั่วไป
แต่ว่าพอมาพูดๆ กัน จริงๆ มันก็คือการนึกเอา จินตนาการเอา
ซึ่งบางทีนึกถึงความตายว่าภาพวันสุดท้ายของตัวเอง
จะต้องพรากจากไปจากบุคคลอันเป็นที่รัก แล้วก็ร้องห่มร้องไห้
อย่างนี้ก็คือใช้จินตนาการในการนึกถึงภาพความตาย
ที่ไม่เกี่ยวกับสภาพอิริยาบถปัจจุบัน
หรือว่าร่างกายในปัจจุบัน หรือว่าลมหายใจในปัจจุบัน
แบบนั้นมันจะเป็นการซ้อมตาย ในแบบที่ใช้จินตนาการของตัวเองบีบคั้นหัวใจตัวเองเฉยๆ
โดยที่บางทีอาจจะไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไรเท่าไร


แต่ถ้าหากว่าเราใช้สติที่มันรู้อยู่กับอิริยาบถปัจจุบันเป็นตัวตั้ง
เวลาที่ร่างกายนี้มันแสดงนิมิตให้จิตเห็น แสดงขึ้นมาในห้วงมโนทวาร
มันจะรู้สึกไปอีกแบบหนึ่งเลย
คือเวลาที่ถอนออกมาจากสมาธิแบบนั้น หรือว่านิมิตแบบนั้น
มันจะรู้สึกว่าการยึดหรือว่าการถือไว้แบกไว้
ว่ากายนี้จะต้องเป็นของฉัน กายนี้จะต้องไม่จากไป
กายของคนอื่นจะต้องอยู่กับฉัน เป็นที่รักของฉันตลอดไป มันเรื่องไร้สาระ
มันจะรู้สึกเลยว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันออกมาจริงๆ นะ เหมือนกับแต่ที่ใจเรารู้สึก
ที่คุณเล่าให้ฟังว่าลมหายใจที่มันหายไป ที่มันจะต้องแตกดับไป เป็นเรื่องธรรมดา
จิตเราจะเข้าถึงความเป็นธรรมดา แล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรพิสดารเกิดขึ้น
ตรงข้ามอะไรที่มันปรุงแต่งพิสดารทั้งหลาย มันหายไปจากใจเราต่างหาก






ถาม - แล้วตอนที่จิตเข้าภวังค์หลับ เราจะต้องมีความรู้สึกถึงลมหายใจไหมคะ


ตอนที่หลับมันก็คือหลับ
การที่เราหลับแล้วเราจะรู้สึกหรือไม่รู้สึกถึงลมหายใจ ไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์สติ
เครื่องพิสูจน์สติคือมันจะต้องเกิดขึ้นระหว่างที่เราลืมตาตื่น



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP