จุดหมายปลายธรรม Destination@Dharmma

ครูกายแก้ว


งดงาม
This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it



366 destination



ในช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๖ นี้ หลายท่านคงได้พบข่าวเรื่องของครูกายแก้ว
ซึ่งตามข่าวได้เล่าว่า จริง ๆ แล้วเรื่องครูกายแก้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่
แต่เป็นเรื่องที่มีคนกลุ่มหนึ่งนับถือกันมาหลายปีแล้ว
โดยมีสถานที่สักการะ ยกตัวอย่างเช่น เทวาลัยพระพิฆเนศบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
เทวาลัยพระพิฆเนศ สี่แยกห้วยขวาง กรุงเทพฯ
หรือศาลพระพิฆเนศ อาเขต จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น


แต่เหตุที่เป็นข่าวดังในช่วงนี้ก็เพราะในวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา
ได้มีการขนย้ายรูปหล่อครูกายแก้วขนาดใหญ่ คือสูง ๔ เมตร กว้าง ๓.๕๐ เมตร
ขนาดหน้าตัก ๑๐๘ นิ้ว เพื่อมานำมาติดตั้งที่บริเวณลานโรงแรม เดอะ บาซาร์ แบงค็อก
ถนนรัชดาภิเษก แต่ว่าในระหว่างขนย้ายนั้น รูปหล่อได้ไปติดคานสะพาน
จนทำให้รถติดยาวเหยียดจากถนนรัชดาภิเษกสะสมยาวไปถึงสะพานพระราม ๗
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ประมาท หรือว่าจงใจเพื่อการตลาดก็ตาม
แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้ประสบความสำเร็จทางการตลาดอย่างมาก
เพราะทำให้ชื่อเสียงครูกายแก้วโด่งดังกว้างขวางเป็นที่รู้จักของคนไทยจำนวนมาก
ผ่านข่าวทางสื่อมวลชนภายในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน
https://mgronline.com/travel/detail/9660000073908


ในเรื่องนี้ หากเราได้เคยทราบข่าวสายมูสำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิต่าง ๆ มาตั้งแต่อดีต
เช่นตั้งแต่สมัยของจตุคามรามเทพเรื่อยมา
ก็จะมีข่าวดัง ๆ ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ออกมาเรื่อย ๆ
เช่น ตุ๊กตาลูกเทพ ไอ้ไข่ ไอ้ส้มฉุน พญานาค เทพทันใจ พระราหู พระพิฆเนศ ฯลฯ
ซึ่งในการที่แต่ละท่านจะนับถือศรัทธาอย่างไรแล้ว
ก็เป็นเรื่องความเชื่อและความศรัทธาส่วนบุคคลของแต่ละคน
แต่หากเรามีความเชื่อและศรัทธาในศาสนาพุทธ
ซึ่งยึดถือพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นศาสดาแล้ว
การที่จะไปมัวสนใจศรัทธาหรือยึดถือสิ่งศักดิ์สิทธิสายมูต่าง ๆ
โดยคาดหวังว่าสิ่งศักดิ์สิทธิสายมูนั้นจะอำนวยให้สิ่งต่าง ๆ ที่ขอแล้ว
ย่อมถือว่าเป็นการเสียเวลา และจะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร
ในเมื่อเราได้ยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะหรือเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว
เราก็ควรมุ่งบูชาพระรัตนตรัย เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด


นอกจากการบูชาพระรัตนตรัยด้วยการนอบน้อมไหว้กราบแล้ว
เราก็ควรพิจารณาการบูชาพระรัตนตรัยโดยวิธีการ ดังต่อไปนี้
ในการบูชาพระพุทธเจ้านั้น สามารถแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
๑. อามิสบูชา ได้แก่การบูชาสักการะด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ของหอมต่าง ๆ
๒. ปฏิบัติบูชา ได้แก่การประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน
ปฏิบัติตนเพื่อให้เป็นผู้มีศีล สมาธิ และปัญญา
ซึ่งระหว่างบูชาทั้ง ๒ ประเภทนี้ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า
ปฏิบัติบูชา ประเสริฐกว่า อามิสบูชา


ในส่วนของพระธรรมนั้น อาจแบ่งได้เป็นปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ
โดย ปริยัติ หมายถึง การศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ปฏิบัติ หมายถึง การนำพระธรรมคำสอนนั้นมาประพฤติปฏิบัติ
ปฏิเวธ หมายถึง การปฏิบัติให้ถึงซึ่งมรรคผล และทำให้แจ้งพระนิพพาน
ในการบูชาพระธรรมนั้น ก็คือการศึกษา และปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน
เพื่อให้ถึงซึ่งมรรคผล และทำให้แจ้งพระนิพพานนั่นเอง


ในการบูชาพระสงฆ์นั้น ก็คือการเห็นคุณของพระสงฆ์ว่า
เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
และสืบทอดนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสั่งสอน
จึงยึดถือพระสงฆ์เป็นตัวอย่างที่ดี และมุ่งประพฤติปฏิบัติดีตามพระสงฆ์นั้นครับ



แบ่งปันบทความนี้ให้เพื่อนๆ
Facebook! Twitter! Del.icio.us! Free and Open Source Software News Google! Live! Joomla Free PHP